เกรทโอลด์วัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เกรตโอลด์วัน)

เกรทโอลด์วัน หรือ เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นศัพท์ซึ่งใช้เรียกสิ่งสมมุติในวรรณกรรมกลุ่มตำนานคธูลู ซึ่งมีที่มาจากบทประพันธ์ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ แม้เกรทโอลด์วันที่มีชื่อเสียงที่สุดจะมาจากผลงานของเลิฟคราฟท์เอง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวละครจากงานเขียนของนักประพันธ์คนอื่น

โดยรวมแล้ว เกรทโอลด์วัน (ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า โอลด์วัน[1] โดยนักประพันธ์) มีอำนาจที่ด้อยกว่าเอาเตอร์ก็อด แต่ก็ได้รับการบูชาจากลัทธิต่างๆทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์

ลักษณะโดยทั่วไป[แก้]

ไม่ใช่ความตายที่สามารถคงอยู่ได้ตลอดกาล,
และหลังห้วงเวลาอันแปลกประหลาด แม้ความตายก็อาจมรณาได้
—อับดุล อัลฮาเซรด, นีโครโนมิคอน

เกรทโอลด์วันเป็นสิ่งโบราณจากต่างดาวซึ่งมีอำนาจมหาศาลและส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่โต มีร่างกายเป็นสสารซึ่งไม่เข้ากับความเข้าใจของมนุษย์เพราะมาจากมิติเวลาที่แตกต่างกัน เกรทโอลด์วันได้รับการบูชาจากลัทธิต่างๆทั้งมนุษย์โลกและเหล่าอมนุษย์

เกรทโอลด์วันทั้งหมดอยู่กักขังไว้ในอาณาเขตต่างๆกัน ตั้งแต่ใต้มหาสมุทร ใต้พื้นโลก ไปจนถึงดวงดาวอันไกลโพ้น ซึ่งมีทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ไว้สองแนว คือ

  1. เกรทโอลด์วันถูกเนรเทศโดยเหล่าเอลเดอร์ก็อดเนื่องจากกระทำผิดบางอย่าง
  2. เกรทโอลด์วันเข้าสู่สภาวะจำศีลเนื่องจากสภาวะบางอย่างในจักรวาล[2] และรอคอยเวลาที่เหมาะสมเพื่อจะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง[3]

ตัวอย่างของเกรทโอลด์วัน[แก้]

กลาคิ[แก้]

(อังกฤษ: Glaaki) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Inhabitant of the Lake ประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปี พ.ศ. 2507 กลาคิมีลักษณะเป็นทากขนาดยักษ์และมีเงี่ยงอยู่ทั่วตัว ซึ่งเงี่ยงนี้ดูคล้ายโลหะแต่ก็เป็นอวัยวะของกลาคิ กลาคิยังสามารถยืดสายระยางซึ่งมีดวงตาอยู่ที่ปลายออกจากร่างเพื่อใช้มองภายนอกขณะที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำ เชื่อกันว่าเดิมทีกลาคิถูกขังไว้ในอุกกาบาตซึ่งตกลงมาบนโลก ทำให้เกิดทะเลสาบในหุบเขาเซเวิร์นซึ่งกลาคิอาศัยอยู่

กลาคิจะหาสาวกของตนโดยการใช้เงี่ยงเสียบสังหารมนุษย์และฉีดสารเคมีซึ่งทำให้ฟื้นขึ้นมาเป็นทาสผีดิบ กลาคิเป็นเกรทโอลด์วันซึ่งทรงความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเกรทโอลด์วันตนอื่นๆ ลัทธิของกลาคิมีคัมภีร์สำคัญคือ The Revelations of Glaaki ซึ่งสาวกผีดิบได้เขียนในขณะที่กลาคิหลับใหลและไม่ถูกควบคุม

กอล กอรอธ[แก้]

(อังกฤษ: Gol-goroth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Gods of Bal-Sagoth ประพันธ์โดยโรเบิร์ต อี. โฮเวิร์ดในปี พ.ศ. 2474มีลักษณะเป็นคางคกยักษ์สีดำมีผิวเป็นไทเทเนียมและมีหนวดมากมายปกคลุมหลังของมัน อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนมองมัน มันจะกลายร่างเป็นสิ่งที่คนกลัวหรืออาจเป็นสิ่งที่แย่กว่านั้น

กาทาโนธอ[แก้]

(อังกฤษ: Ghatanothoa) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Out Of The Aeons ซึ่งประพันธ์ร่วมกันโดยเอช. พี. เลิฟคราฟท์และเฮเซล เฮรัลด์ ในปี พ.ศ. 2478 มีขนาดใหญ่โตและรูปร่างอันน่าหวาดกลัว ผู้ที่จ้องมองกาทาโนธอจะกลายเป็นมัมมี่ที่มีชีวิต โดยที่ร่างกายจะกลายเป็นหนังแห้งๆและไม่สามารถขยับได้ แต่อวัยวะภายในรวมถึงสมองจะยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทำให้ยังมีสติรับรู้ตามปกติ ผู้ที่กลายสภาพเป็นมัมมี่จะเสียสติและมีเพียงการทำลายสมองเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้[4] กาทาโนธอถูกพามาจากดาวยุกกอธ (ดาวพลูโต) โดยสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวในยุคโบราณและและขังไว้ในภูเขายาดิธ-โกในทวีปมูด้วยประตูกลขนาดใหญ่และสร้างป้อมปราการทับไว้ ซึ่งพลังที่เปลี่ยนมนุษย์เป็นมัมมี่ทำให้ชาวมูทั้งเคารพและหวาดกลัวกาทาโนธอ

ในงานประพันธ์ชุดตำนานโซธิคของลิน คาเตอร์ ระบุว่ากาทาโนธอเป็นทายาทตนแรกของคธูลูและอิด ยาห์

ในเรื่องอุลตร้าแมนทีก้า สัตว์ประหลาดตัวสุดท้าย เทพแห่งความชั่วร้าย กาทาโนโซอา (邪神 ガタノゾーア) มาจากชื่อของกาทาโนทอซึ่งเมื่อเขียนเป็นอักษรคาตากานะจะเขียนได้ทั้ง ガタノトーア และ ガタノゾーア

กลูน[แก้]

(อังกฤษ: Gloon)​ปรากฏตัว​ในเรื่องสั้นชื่อ The temple ประพันธ์​โดย เอช.พี. เลิฟคราฟท์​ มีลักษณะ​เป็นหนอนตัวเป็นเมือกแต่มันปกปิดร่างที่แท้จริงของมันในรูปปั้นของเทพไดอะไนซัส​ที่งดงามสะดุดตา อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทร​ในวิหารที่มีศิลปะแบบกรีซ​โบราณ​ มีความสามารถทำให้ผู้คนรู้สึกหลงใหลในตัวของมันจนเกิดเป็นความบ้าคลั่ง

คธิลลา[แก้]

(อังกฤษ: Cthylla) กล่าวถึงครั้งแรกในนิยาย The Transition Of Titus Crow ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ในปี พ.ศ. 2518โดยไม่ได้กล่าวถึงลักษณะแต่อย่างใด จนกระทั่งทีนา แอล เจนส์ ได้ระบุลักษณะของคธิลลาไว้ในเรื่องสั้น In His Daughter's Darkling Womb (พ.ศ. 2540) ว่าเป็นปลาหมึกยักษ์ขนาดใหญ่ มีความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่าง โดยจะมีตาตั้งแต่สามถึงหกดวง มีครีบซึ่งสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นจนเป็นปีกบินได้ โดยปกติจะมีหนวดหกเส้นแต่สามารถยืดออกมาได้อีกเป็นสิบสองเส้น ซึ่งหนวดแต่ละเส้นจะมีกงเล็บที่แหลมคมอยู่เป็นจำนวนมาก

คธิลลาเป็นทายาทตนที่สี่ของคธูลูและอิด ยาห์ คธิลลาอยู่ในร่องลึกเยห์และได้รับการคุ้มกันโดยเหล่าอมุษย์ดีพวันและยุกก์ เนื่องจากคธิลลาจะให้กำเนิดคธูลูอีกครั้งเมื่อถูกทำลายในอนาคต

คธุกกา[แก้]

(อังกฤษ: Cthugha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The House on Curwen Street ซึ่งประพันธ์โดยออกัสต์ เดอเลธในปี พ.ศ. 2487 มีลักษณะเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ คธุกกาถูกขังไว้ในดาวฟอมัลโฮต์(Fomalhaut) ในกลุ่มดาวปลาใต้ ใน The Dweller in Darkness ซึ่งเป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องของเดอเลธที่แต่งในปีเดียวกัน ตัวเอกของเรื่องได้พยายามเรียกคธุกกามาเพื่อขับไล่ร่างอวตารของไนอาลาโธเทป คธุกกามีบริวารเป็นดวงไฟขนาดเล็กซึ่งเรียกว่า แวมไพร์เพลิง

คธูลู[แก้]

ควาชิล อุททาอุส[แก้]

(อังกฤษ: Quachil Uttaus) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Treader of the Dust ซึ่งประพันธ์โดยคลาก แอชตัน สมิธ มีรูปร่างคล้ายกับเด็กตัวเล็กๆ แต่เหี่ยวแห้งเหมือนมัมมี่ มีส่วนคอที่เล็กเหมือนข้อกระดูกและใบหน้าเรียบๆที่เต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่น มือของควาชิล อุททาอุสเป็นกงเล็บ ซึ่งเนื้อของสิ่งมีชีวิตที่ถูกควาชิล อุททาอุสสัมผัสจะแตกสลายเป็นฝุ่นผง

ชอกนาร์ ฟาวกน[แก้]

ชอกนาร์ ฟาวกน

(อังกฤษ: Chaugnar Faugn) ปรากฏตัวครั้งแรกในนิยาย The Horror from the Hills (พ.ศ. 2474) ของแฟรงก์ เบลค์นาพ ลอง มีลักษณะคล้ายรูปปั้นที่ผสมลักษณะของมนุษย์ ช้างและหมึกเข้าด้วยกัน ชอกนาร์ ฟาวกนจะใช้งวงดูดเลือดของเหยื่อเป็นอาหาร

ชาร์ และ ลอยกอร์[แก้]

(อังกฤษ: Zhar and Lloigar) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Lair of the Star-Spawn (พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ร่วมกันของออกัสต์ เดอเลธและมาร์ค สคอเรอร์ เป็นเกรทโอลด์วันที่มาจากดาวอาร์คตุรุส ถูกขังไว้ใต้นครอลาโอซาร์ในที่ราบแห่งสุงในประเทศพม่า เกรทโอลด์วันทั้งสองนั้นมีร่างกายที่เชื่อมต่อกัน ทั้งคู่เป็นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่โตของหนวดระยางจำนวนมากแต่ลอยกอร์จะมีปีกอยู่ด้วย ทั้งสองเป็นเทพที่ มนุษย์โจโจ บูชา ชาร์นั้นสามารถสร้างกายทิพย์ได้เมื่อสาวกสวดมนต์เรียก ส่วนลอยกอร์นั้นจะสร้างกายทิพย์ได้เมื่อดาวอาร์คตุรุสอยู่บนท้องฟ้า ชาร์นั้นมีโทรจิตสำหรับสื่อสารกับเหล่าสาวก ส่วนลอยกอร์มีพลังในการควบคุมลมซึ่งใช้จับเหยื่อ

ชุดด์ เมล[แก้]

(อังกฤษ: Shudde M'ell) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Burrowers Beneath (พ.ศ. 2517)ของไบรอัน ลัมลีย์ ชุดด์ เมลเป็นคโธเนียนที่มีความยาวถึงหนึ่งไมล์

โซธ โอมมอก[แก้]

(อังกฤษ: Zoth-Ommog) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง Out of the Ages ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ โซธ โอมมอกเป็นทายาทตนที่สามของคธูลูและอิด ยาห์ มีรูปร่างเป็นทรงกรวย หัวเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีฟันแหลมคมเหมือนไทรันโนซอรัส เร็กซ์ บนหัวมีหนวดระยางจำนวนมากเหมือนเส้นผม ที่คอมีแขนขนาดใหญ่แบบปลาดาวสี่แขนยื่นออกมารอบด้าน โซธ โอมมอกถูกขังไว้ที่ก้นทะเลใกล้กับพอนเปย์และรุลูเยห์และมีเผ่าพันธุ์รูปร่างคล้ายหนอนตัวแบนที่เรียกว่ายุกก์คอยรับใช้

แซมมานัส[แก้]

(อังกฤษ: Summanus) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น What Dark God? ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ในปี พ.ศ. 2518 โดยได้แนวคิดมาจากเทพเจ้าชื่อเดียวกันของชาวโรมัน แซมมานัสมีฉายาว่า กษัตริย์แห่งราตรี และ ความน่าสะพรึงกลัวที่ย่างกรายในความมืด (Monarch of Night, The Terror that Walketh in Darkness) แซมมานัสมีลักษณะเป็นมนุษย์ไม่มีปากและสวมเสื้อผ้าปิดบังหนวดระยางซึ่งใช้ดูดเลือดจากเหยื่อ

ไซโนโธกลีส[แก้]

(อังกฤษ: Cynothoglys) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Prodigy of Dreams ซึ่งประพันธ์โดยโธมัส ลิกอทติ มีฉายาว่าเทพสัปเหร่อ ปรากฏตัวเป็นสิ่งไร้รูปร่างที่มีแขนข้างเดียว ซึ่งไซโนโธกลีสจะใช้จับผู้ที่เรียกมันมาและทำให้ตายโดยไร้ความเจ็บปวด

ซูชาคอน[แก้]

(อังกฤษ: Zushakon) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The bells of horror ซึ่งประพันธ์โดย Henry Kuttner ซูชาคอนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างเป็นกระแสน้ำวนสีดำขนาดใหญ่ ถูกเคารพบูชาโดยกลุ่มชนพื้นเมืองของอเมริกันที่ได้นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความตายที่น่ากลัว ซูชาคอนยังมีผู้รับใช้เป็นกลุ่มคนลึกลับที่เรียกตัวเองว่า Hidden one

ทซาธอกกวา[แก้]

ดูบทความหลักที่ ทซาธอกกวา

เทพเจ้าสีเขียว[แก้]

(อังกฤษ: The green god) ปรากฏตัวในเรื่อง The horror unter warrendawn ซึ่งประพันธ์โดย Ramsey Campbell เทพเจ้าสีเขียวมีลักษณะคล้ายพืชบางชนิดที่เกาะติด​อยู่รูปปั้นหินรูปหน้ามนุษย์​อาศัยอยู่ในถ้ำใต้ดิน และได้รับเครื่องเส้นตลอดเวลาจากเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างคล้ายกระต่าย

นุก และ เยบ[แก้]

(อังกฤษ: Nug and Yeb) ปรากฏตัวครั้งแรกใน The Last Test ซึ่งประพันธ์โดยเอช. พี. เลิฟคราฟท์ มีฉายาว่า ความเหลวไหลแฝด นุก และ เยบ เป็นหนึ่งในลูกๆของชุบ นิกกูรัธกับยอก โซธอท มีลักษณะคล้ายกับชุบ นิกกูรัธผู้เป็นมารดา นุกนั้นเป็นผู้ให้กำเนิดคธูลู คธานิดกับฮัสเทอร์ และเป็นหนึ่งในเทพที่เหล่ากูลนับถือ ส่วนเยบนั้นเป็นเหมือนนักบวชผู้นำลัทธิที่บูชาแอบฮอธ[5]

ชื่อของเกรทโอลด์วันทั้งสองนั้นคล้ายกับ นุตและเกบ ในตำนานของไอยคุปต์

เนียกธา[แก้]

(อังกฤษ: Nyogtha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Salem Horror ของเฮนรี คัทเนอร์ (พ.ศ. 2480) มีลักษณะเป็นเงามืดที่ไม่มีรูปร่างแน่ชัด

บอครุก[แก้]

(อังกฤษ: Bokrug) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The Doom That Came to Sarnath ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ (พ.ศ. 2463) มีรุปร่างคล้ายกิ้งก่าขนาดยักษ์ เป็นเทพที่สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เรียกว่า ธุมฮา แห่งอิบ ในดินแดนแห่งมนาร์ นับถือ บอครุกนั้นหลับอยู่ในทะเลสาบซึ่งกั้นระหว่างอิบและเมืองซานาธ ในวันครบรอบหนึ่งพันปีหลังจากที่อิบถูกมนุษย์ในซานาธทำลาย บอครุกก็ได้ขึ้นมาจากทะเลสาบและเรียกภูติผีของธุมฮาขึ้นมาทำลายซานาธก่อนจะหายตัวไป

บาออท ซัคคามอกก์[แก้]

(อังกฤษ: Baoht Z'uqqa-Mogg) ปรากฏตัวครั้งแรกในเกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhuของบริษัทเคโอเซียม เป็นเกรทโอลด์วันที่อยู่บนดาวแชกไก มีรูปร่างเหมือนแมงป่องขนาดยักษ์ ส่วนหัวมีดวงตาและหนวดประสาทจำนวนมาก มีกรามเหมือนมดซึ่งชุ่มไปด้วยพิษ และมีปีกขนาดใหญ่ ฝูงแมลงมีพิษมักอยู่ใกล้กับบาออท ซัคคามอกก์

เบียทิส[แก้]

(อังกฤษ: Byatis) ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในเรื่องสั้น The Shambler From the Stars ของโรเบิร์ต บลอค (พ.ศ. 2478) แต่ไม่มีรายละเอียดใดๆมากกว่าเป็น อสรพิษมีเครา เบียทิสมีบทบาทสำคัญในเรื่อง The Room in the Castle ของแรมซีย์ แคมเบล (พ.ศ. 2507) ซึ่งระบุว่าเบียทิสมีตาเดียวเหมือนไซคลอปส์ มีก้ามแบบปู จมูกยาวเหมือนงวงช้างและมีระยางงอกจากใบหน้าเหมือนเครา เบียทิสมีขนาดใหญ่โตมากและระยางที่งอกมานั้นบางเส้นก็หนาพอๆกับตัวมนุษย์ ผู้ที่มองดวงตาของเบียทิสจะถูกสะกดให้เข้าไปใกล้และจับกิน และเบียทิสก็จะมีขนาดใหญ่โตขึ้นทุกครั้งที่ได้กินเหยื่อ เบียทิสนั้นถูกขังไว้ใต้ประตูกลใต้ปราสาทในหุบเซเวิร์น

ผู้ฝังกายในอ่าว[แก้]

(อังกฤษ: Dweller in the Gulf) ปรากฏตัวในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของคลาก แอชตัน สมิทซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2475 ผู้ฝังกายในอ่าวอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พิ้นผิวของดาวอังคารและได้รับการบูชาโดยนิกายของเผ่าพันธุ์ตาบอด ไอไฮ (Aihai) ซึ่งสามารถทำพิธีเรียกมาได้โดยการลูบคลำรูปเคารพ ผู้ฝังกายในอ่าวมีลักษณะเป็นเต่าขนาดใหญ่ที่มีกระดองอ่อนนุ่ม ส่วนหัวเป็นทรงสามเหลี่ยมและไม่มีดวงตา มีหางสองหางซึ่งส่วนปลายเป็นปุ่มดูด ผู้ฝังกายในอ่าวจะใช้ปุ่มดูดนี้ควักดวงตาของผู้ที่พบเห็นและทำให้กลายเป็นข้ารับใช้ของตน

ยวนเดห์[แก้]

(อังกฤษ: Yhoundeh) ปรากฏตัวในเรื่องสั้น The Door to Saturn ของคลาก แอชตัน สมิท เป็นเทพีที่มีส่วนหัวเป็นกวาง ลัทธิของยวนเดห์นั้นเป็นศัตรูกับทซาธอกกวา ซึ่งนักบวชของยวนเดห์เคยทำการกวาดล้างลัทธิของทซาธอกกวาไปจากดินแดนไฮเปอบอเรีย แต่เมื่อลัทธิของยวนเดห์เสื่อมลงก็ทำให้ลัทธิของทซาธอกกวากลับมาอีก

ในจดหมายของสมิทถึงโรเบิร์ท บาโลวนั้นระบุว่ายวนเดห์เป็นภรรยาของไนอาลาโธเทป[6]

ยิก[แก้]

(อังกฤษ: Yig) หรือ ยิก อสรพิษเทพ ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Curse of Yig ซึ่งเอช. พี. เลิฟคราฟท์ ประพันธ์ร่วมกับซีเลีย บิชอปในปี พ.ศ. 2471 สามารถปรากฏร่างเป็นงูขนาดใหญ่ งูมีปีกค้างคาว หรือมนุษย์ครึ่งงูก็ได้ ยิกนั้นเป็นที่มาของเทพงูในตำนานทั่วโลก เช่นเกวตซัลโกอัตล์ ยิกมีอำนาจเหนืองูทั้งปวง ผู้ที่ทำร้ายงูจะถูกยิกทรมานก่อนแปลงร่างให้เป็นงูตัวหนึ่ง

ยิโกลูนัค[แก้]

(อังกฤษ: Y'golonac) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Cold Print ซึ่งประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปี พ.ศ. 2514 ยิโกลูนัคเป็นเทพแห่งความวิปริตและลามก ถูกกักขังไว้หลังกำแพงอิฐในซากโบราณสถานลึกลับ แต่สามารถเรียกมาได้โดยการอ่านชื่อของยิโกลูนัคที่เขียนไว้ในคัมภีร์ Revelations of Glaaki บางครั้งยิโกลูนัคจะสิงร่างของมนุษย์และปรากฏตัวเป็นชายร่างอ้วนไม่มีหัวและมีปากอยู่ที่ฝ่ามือทั้งสองข้าง ยิโกลูนัคเป็นหนึ่งในเกรทโอลด์วันไม่กี่ตนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ได้ ยิโกลูนัคจะตามหามนุษย์ที่ชมชอบเรื่องวิปริตลามกเพื่อให้เป็นบริวาร ผู้ที่เรียกยิโกลูนัคมาอาจจะได้รับข้อเสนอให้เป็นนักบวชของยิโกลูนัคหรือถูกกินเป็นอาหาร

ยิทธอกธา[แก้]

(อังกฤษ: Ythogtha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง Out of the Ages ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ ยิทธอกธาเป็นทายาทตนที่สองของคธูลูและอิด ยาห์ มีรูปร่างคล้ายอมุษย์ดีพวัน หรือครึ่งกบครึ่งมนุษย์ แต่มีขนาดใหญ่โต ส่วนหัวมีหนวดระยางจำนวนมากยื่นออกมาเหมือนแผงคอและเคราโดยมีตาเดียวอยู่ตรงกลาง ง่ามนิ้วเป็นพังผืดและปลายนิ้วมือเป็นปากแบบดูดเลือด[7] ยิกธอกธาถูกขังไว้ในร่องลึกเยห์ โดยมีเผ่าพันธุ์รูปร่างคล้ายหนอนตัวแบนที่เรียกว่ายุกก์คอยรับใช้

ยิบ ทสตลล์[แก้]

(อังกฤษ: Yibb-tstll) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่อง The Sister City ซึ่งประพันธ์โดยไบรอัน ลัมลีย์ (พ.ศ. 2512) มีลักษณะคล้ายมนุษย์ที่มีร่างกายใหญ่โตและปกคลุมด้วยกลุ่มหนวดระยาง ส่วนหัวนั้นมีดวงตาที่สามารถแยกออกมาได้ มีปีกค้างคาวที่ดูคล้ายกับผ้าคลุมที่มีเหล่าไนท์กอนท์จำนวนมากดูดน้ำนมอยู่ ผู้ที่สัมผัสกับเลือดสีดำของยิบ ทสตลล์จะถูกแปลงสภาพไปโดยที่ไม่อาจคาดเดาได้

ยิบ ทสตลล์เฝ้ามองสรรพสิ่งจากศูนย์กลางของจักรวาล ในบรรดาเทพทั้งหมดจึงมีเพียงยอก โซธอทที่มีความรู้มากกว่ายิบ ทสตลล์

รลิม ไชคอธ[แก้]

(อังกฤษ: Rlim Shaikorth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Coming of the White Worm ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องชุดไฮเปอร์บอเรียน ของคลาก แอชตัน สมิธ รลิม ไชคอธเป็นหนอนสีขาวขนาดใหญ่ ในปากไม่มีลิ้นหรือฟัน ดวงตากลวงโบ๋และมีหยดเลือดไหลออกมาเป็นระยะ รลิม ไชคอธนั้นอยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ยิคลิธ ซึ่งลอยไปในมหาสมุทร เมื่อเข้าใกล้เรือหรือแผ่นดิน รลิม ไชคอธก็จะทำให้เกิดความเย็นจัดและแช่แข็งมนุษย์ ศพที่ถูกรลิม ไชคอธแช่แข็งนั้นจะไม่อุ่นขึ้นแม้จะใช้ไฟให้ความร้อน

ราห์น เทกอธ[แก้]

(อังกฤษ: Rhan-Tegoth) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Horror in the Museum (พ.ศ. 2475) ซึ่งเอช. พี. เลิฟคราฟท์เขียนในนามของเฮเซล ฮีลด์ มีลักษณะเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดมหึมา มีขาเป็นหนวด 6 เส้น ส่วนปลายของหนวดเป็นก้ามปู มีหัวทรงกลมที่ปกคลุมด้วยขนหรือเส้นใย มีปากเป็นหนวดคล้ายงวง

Rhan-Tegothเดิมอาศัยอยู่ในตัวหนอนทะเลบนดาวYuggothก่อนที่จะมาโลกเมื่อ 3 ล้านปีก่อนคริสตกาล บนโลกมันได้อาศัยอยู่ใต้ผืนแผ่นดินอลาสก้าและทำการจำศีลอย่างยาวนานที่นั่น หลังจากนั้นร่างของมันก็ถูกค้นพบโดย จอร์จ โรเจอร์ และได้ย้ายร่างของ Rhan-Tegoth ไปในพิพิธภัณฑ์ในลอนดอนในปี1926 (เป็นเหตุการณ์ในเรื่อง the Horror in the Museum) จนมันหายตัวไปแล้วปรากฏตัวอีกครั้งใน Sheffield ในสหราชอาณาจักรในประมาณยุค 1980s และเดินทางไปเรื่อยๆจนถึงอเมริกาในประมาณยุค 1990s ต่อมาได้รับการบูชาจากมนุษย์กินคน Gnoph-keh แต่คนส่วนใหญก็ไม่รู้ถึงการมีตัวตนของ Rhan-Tegoth อยู่ดี

โรกอก[แก้]

(อังกฤษ: Rhogog) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Sacristans of Rhogog (พ.ศ. 2534) ของไมเคิล เซนท์ พอล โรกอกเกิดจากเลือดของคธูลูที่กระเซ็นลงบนพื้นขณะที่ต่อสู้กับฮัสเทอร์ มักปรากฏกายเป็นเหมือนต้นไม้สีดำขนาดใหญ่และมีความร้อนสูง

วุลธูม[แก้]

(อังกฤษ: Vulthoom) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของคลาก แอชตัน สมิทในปี พ.ศ. 2478มีลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดยักษ์ที่มีดอกรูปร่างคล้ายมนุษย์เพศหญิง แต่แท้จริงแล้ววุลธูมเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ถูกเนรเทศออกจากเผ่าพันธุ์ของตัวเอง วุลธูมนั้นอาศัยอยู่บนดาวอังคารและคอยเฝ้ารอวันที่มันจะได้ครอบครองโลกอย่างช้าๆ

หนอนผู้กัดกินในยามราตรี[แก้]

(อังกฤษ: The Worm that Gnaws in the Night) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Shaggai ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ในปี พ.ศ. 2514มีลักษณะเป็นหนอนขนาดใหญ่มหึมาซึ่งมันอยู่ใต้พื่นผิวของดาวShaggaiและค่อยๆกัดกินดาวดวงนี้มานาน จนกระทั่งมี Outer god ตนนึงมาทำการกวาดล้าง ทำให้เผ่าพันธุ์แมลงชานศูนย์พันธุ์แล้วหนอนผู้กัดกินในยามราตรีก็ได้ถูกปลุกขึ้นมา

อฟูม ชาห์[แก้]

(อังกฤษ: Aphoom-Zhah) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Acolyte of the Flame ซึ่งประพันธ์โดยลิน คาเตอร์ในปี พ.ศ. 2528 แต่คาเตอร์ได้กล่าวถึงอฟูม-ชาห์ครั้งแรกในเรื่อง The Horror in the Gallery ปีพ.ศ. 2519 อฟูม-ชาห์เป็นเชื้อสายของคธุกกาและมีฉายาว่า ผู้ปกครองแห่งขั้วโลก (Lord of the Pole) เพราะถูกเอลเดอร์ก็อดกักขังไว้ในขั้วโลกเหนือ อฟูม-ชาห์มีลักษณะเป็นเปลวไฟสีเทาซึ่งทำให้ทุกอย่างที่สัมผัสแข็งตัว เมื่อเอลเดอร์ก็อดได้กักขังนั้นอฟูม-ชาห์ได้พยายามดิ้นรนจนขั้วโลกเหนือกลายเป็นน้ำแข็งไป

อาร์วัซซา[แก้]

(อังกฤษ: Arwassa) ปรากฏตัวครั้งแรกในเกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhuของบริษัทเคโอเซียม มีฉายาว่า ผู้ตะโกนอันไร้เสียง อาร์วัซซามีลำตัวคล้ายมนุษย์ที่ลอยอยู่กลางอากาศ แต่แขนขาจะเป็นสายระยางสี่เส้น มีคอยาวและส่วนหัวจะเป็นปากกว้างที่ไม่มีฟัน อาร์วัซซาจะส่งเสียงร้องออกมาตลอดเวลา ซึ่งเสียงของอาร์วัซซานั้นทำให้สัตว์ต่างๆตื่นกลัวแต่มีความถี่สูงเกินกว่าที่มนุษย์จะได้ยิน ถึงกระนั้นผู้ที่อยู่ในบริเวณของเสียงก็จะค่อยๆเสียสติไป อาร์วัซซาจะใช้โทรจิตสื่อสารกับสาวกซึ่งจะหาเครื่องสังเวยรวมถึงมนุษย์มาให้อาร์วัซซากินทั้งเป็น

อิธาควา[แก้]

(อังกฤษ: Ithaqua) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันซึ่งประพันธ์โดยออกัสต์ เดอเลธโดยรับอิทธิพลมาจากเรื่อง The Wendigo ของอัลเจอร์นอน แบล็กวูดซึ่งมีที่มาจากเรื่องเล่าของอินเดียนแดงอีกที[8] มีฉายาว่า ผู้เดินกับสายลม (Wind Walker) อิธาควาเป็นยักษ์รูปร่างคล้ายมนุษย์ที่มีดวงตาเรืองแสงสีแดง อิธาควาอยู่ในพื้นที่อาร์กติกและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่มาของตำนานเวนดิโกตามความเชื่อของชาวอินเดียนแดง อิธาควาจะล่านักเดินทางและสังหารอย่างโหดเหี้ยม แม้ลัทธิที่บูชาอิธาควาจะมีสาวกเพียงจำนวนน้อย แต่ผู้คนที่หวาดกลัวก็จะมอบเครื่องสังเวยแก่อิธาควาเพื่อมิให้ถูกทำร้าย สาวกของอิธาควาจะได้รับอำนาจทำให้ทนต่อความหนาวเย็นได้ อิธาควายังมีเผ่าพันธุ์ แชนแทค ซึ่งมีลักษณะคล้ายมังกรเป็นผู้รับใช้

ในงานประพันธ์ของไบรอัน ลัมลีย์ อิธาควาเป็นผู้ปกครองของโบเรีย ดินแดนแห่งน้ำแข็งและมักเดินทางมายังโลกเพื่อจับตัวมนุษย์ไปเป็นสาวก อิธาควาพยายามมีลูกกับมนุษย์เพื่อให้ได้ทายาทซึ่งมีอำนาจมากกว่าตนเองที่ถูกเอลเดอร์ก็อดสะกดไว้และช่วยปลดปล่อยเกรทโอลด์วันตนอื่นๆ แต่ทายาททั้งหมดของอิธาควานั้นเมื่อโตขึ้นมาแล้วก็ล้วนแต่ต่อต้านอิธาควาทั้งสิ้น

ไอฮอร์ท[แก้]

(อังกฤษ: Eihort) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น Before the Storm ซึ่งประพันธ์โดยแรมซีย์ แคมเบลในปีพ.ศ. 2523 แต่ถูกกล่าวถึงก่อนหน้านั้นในเรื่อง The Franklyn Paragraphs (พ.ศ. 2516) มีฉายาว่า เทพแห่งเขาวงกต

ไอฮอร์ทอยู่ในอุโมงอันซับซ้อนใต้หุบเขาเซเวิร์น มีลักษณะเป็นเยลลีไร้สีรูปร่างคล้ายไข่ใบใหญ่ซึ่งตั้งบนขาจำนวนมาก ในลำตัวทรงไข่นี้จะมีไข่ใบเล็กอัดแน่นและจะปรากฏดวงตาออกมาเป็นระยะ เมื่อจับมนุษย์ได้ ไอฮอร์ทจะต่อรองให้ฝังตัวอ่อนไว้ในตัวหรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย ซึ่งถ้ายอมให้ไอฮอร์ทฝังตัวอ่อนไว้ในที่สุดแล้วตัวอ่อนก็จะโตและทำให้เสียชีวิตอยู่ดี คัมภีร์Revelations of Glaaki ระบุว่าตัวอ่อนของไอฮอร์ทจะปรากฏบนโลกหลังจากที่มนุษย์ชาติล่มสลายไปแล้ว[9]

แอทลัค นาชา[แก้]

(อังกฤษ: Atlach-Nacha) ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น The Seven Geases ซึ่งประพันธ์โดยคลาก แอชตัน สมิทในปีพ.ศ. 2477 บางครั้งก็เรียกว่า แอทลัค นาคา

แอทลัค นาชาเป็นหนึ่งในเทพซึ่งอยู่ใต้ภูเขาวูรมิธาเดรธ มีลักษณะเป็นแมงมุมขนาดใหญ่แต่มีใบหน้าคล้ายกับมนุษย์และดวงตาสีแดง แอทลัค นาชานั้นชักใยทำรังอยู่เหนือหุบเหวที่แยกโลกภายนอกกับโลกแห่งความฝันไว้ เชื่อว่าเมื่อแอทลัค นาชาสร้างรังจนสมบูรณ์ก็จะทำให้เหล่าอสุรกายในโลกแห่งความฝันมายังโลกภายนอกได้อย่างอิสระ แมงมุมทั้งมวลนั้นเชื่อฟังแอทลัค นาชาและมีเหล่าแมงมุมสีม่วงขนาดยักษ์แห่งเลงซึ่งอยู่ในโลกแห่งความฝันเป็นเผ่าพันธุ์รับใช้

แม้ว่าเรื่อง The Seven Geases จะกล่าวถึงแอทลัค นาชาเป็นเพศชาย แต่ในงานประพันธ์หลังจากนั้นมักระบุว่าแอทลัค นาชาเป็นหญิงมากกว่า

ฮัสเทอร์[แก้]

{{บทความหลักที่ฮัสเทอร์}}

อ้างอิง[แก้]

  • Harms, Daniel (1998). The Encyclopedia Cthulhiana (21nd ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-119-0.
  • Lovecraft, H.P. (1982). The Best of H. P. Lovecraft: Bloodcurdling Tales of Horror and the Macabre (1st ed.). Ballantine Books. ISBN 0-345-35080-4.
  • Price, Robert M. (1996). "Introduction". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The New Lovecraft Circle. New York, N.Y.: Random House. ISBN 0-345-44406-X.
  • Price, Robert M. (1998). "Introduction: Ghost Riders in the Sky". ใน Robert M. Price (บ.ก.). The Ithaqua Cycle: The Wind-Walker of the Icy Wastes (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-124-7.
  • H. P. Lovecraft; Adolphe de Castro (1989) [1928]. "The Last Test". ใน S. T. Joshi (บ.ก.). The Horror in the Museum and Other Revisions. Sauk City, WI: Arkham House. ISBN 0-87054-040-8.
  • Scott David Aniolowski; Sandy Petersen; Lynn Willis (2006). Malleus Monstrorum: Creatures, Gods & Forbidden Knowledge. Hayward, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-179-4.

หมายเหตุ[แก้]

  1. ศัพท์ "Old Ones" มีความหมายหลายอย่างในเรื่องของเลิฟคราฟท์ แม้ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงเกรทโอลด์วัน แต่บางครั้งก็ใช้ระบุถึงสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวที่เรียกว่าเอลเดอร์ธิงแทน (Harms, "Old Ones", The Encyclopedia Cthulhiana, pp. 228-9).
  2. Harms, "Great Old Ones", pp. 126-7.
  3. Lovecraft, "The Call of Cthulhu" (1928) , The Best of H. P. Lovecraft, p. 88.
  4. Lovecraft & Heald, "Out of the Aeons", The Horror in the Museum and Other Revisions, p. 272.
  5. Harms, "Nug and Yeb", Encyclopedia Cthulhiana, pp. 216-7.
  6. http://www.eldritchdark.com/writings/correspondence/59/from-clark-ashton-smith-to-robert-barlow-(1934-09-10)
  7. Harms, "Ythogtha", The Encyclopedia Cthulhiana, p. 349. (Note: Ythogtha's physical appearance is never described in any of the five stories of the Xothic legend cycle.)
  8. Price, "Ghost Riders in the Sky", "Who Has Seen the Wind?", The Ithaqua Cycle, pg. xi
  9. Harms, "Eihort", Encyclopedia Cthulhiana, p. 96.