ฮเหวี่ยน เจิน
ปรเมศวรี/ฮเหวี่ยน เจิน | |
---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งจามปา เจ้าหญิงแห่งด่ายเหวียด | |
พระราชินยานุสรณ์ในเมืองเว้ | |
พระราชสมภพ | ค.ศ. 1289 ทังลง จักรวรรดิด่ายเหวียด |
สวรรคต | ค.ศ. 1340 (ราว 50–51 พรรษา) เทียนบ๋าน จักรวรรดิด่ายเหวียด |
คู่อภิเษก | พระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 (1306–1307) |
ราชวงศ์ | เจิ๊น (ประสูติ) จามปาที่ 11 (อภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | เจิ๊น เญิน ตง |
ศาสนา | พุทธ |
พระนางปรเมศวรี (จาม: Paramecvari; ค.ศ. 1289–1340) หรือพระนามเดิม เจ้าหญิงฮเหวี่ยน เจิน (เวียดนาม: Huyền Trân Công chúa, 玄珍公主) เป็นเจ้าหญิงแห่งจักรวรรดิด่ายเหวียด พระราชธิดาในจักรพรรดิเจิ๊น เญิน ตง ที่ต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีในพระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 แห่งอาณาจักรจามปา เรื่องราวของพระองค์ปรากฏทั้งในรูปแบบกวี งานศิลป์ ดนตรี[1] และตามเมืองต่าง ๆ มักตั้งชื่อถนนสายหลักตามพระนามของพระองค์[2]
พระราชประวัติ
[แก้]พระนางปรเมศวรี หรือพระนามเดิม เจ้าหญิงฮเหวี่ยน เจิน ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1289 เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิเจิ๊น เญิน ตง (Trần Nhân Tông, 陳仁宗) ไม่ปรากฏนามพระมารดา[3]: 211 และเป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีในจักรพรรดิเจิ๊น อัญ ตง (Trần Anh Tông, 陳英宗) ทั้งนี้เรื่องราวพระชนม์ชีพช่วงต้นของเจ้าหญิงไม่เป็นที่ปรากฏมากนัก
ต่อมาจักรพรรดิเจิ๊น เญิน ตง พระชนก สละราชสมบัติแก่เจิ๊น อัญ ตง ซึ่งเป็นเชษฐาต่างพระชนนีของฮเหวี่ยน เจิน เมื่อ ค.ศ. 1293 เพื่อบำเพ็ญพรตภายในอารามบนเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดกว๋างนิญ หลังสละราชสมบัติ อดีตจักรพรรดิเจิ๊น เญิน ตง เสด็จเยือนอาณาจักรจามปานานถึงเก้าเดือนเมื่อ ค.ศ. 1301 ระหว่างนั้นพระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 หรือเอกสารเวียดนามเรียกว่า เจ๊ เมิน (Chế Mân, 制旻) ได้ถวายการต้อนรับพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาการเสด็จเยือน ครั้นจะเสด็จนิวัตจักรวรรดิด่ายเหวียด เจิ๊น เญิน ตง ทรงให้สัตย์ว่าจะถวายพระราชธิดาเป็นมเหสีแก่พระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 เป็นการตอบแทนไมตรีจิตที่มีให้ แม้ว่าพระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 จะมีพระมเหสีอยู่แล้วคือ พระนางภาสกรเทวีและพระนางตาปาซีแห่งชวา หลังจากนั้นพระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 ส่งทูตเข้าไปยังจักรพรรดิแห่งด่ายเหวียดหลายครั้งเพื่อทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้ ทว่าจักรพรรดิด่ายเหวียดทรงปฏิเสธ
ครั้น ค.ศ. 1306 พระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 เสนอที่จะมอบดินแดนจังหวัดโอและจังหวัดเล๊ เป็นสินสอด[4] ในปีเดียวกันนั้นจักรพรรดิเจิ๊น อัญ ตง ทรงรับข้อเสนอดังกล่าว และมีพระราชานุญาตให้พระเจ้ากรุงจามเสกสมรสกับพระขนิษฐภคินีได้[4] เจ้าหญิงฮเหวี่ยน เจิน จึงได้รับพระนามใหม่ว่า "ปรเมศวรี" ในที่พระมเหสีพระเจ้าแผ่นดินจาม ส่วนจังหวัดโอและเล๊ถูกยกให้เป็นของแผ่นดินญวนในฐานะสินสอด (ปัจจุบันคือจังหวัดกว๋างบิ่ญ, กว๋างจิ และเถื่อเทียนเว้)[5][6]
กระทั่งเดือนพฤษภาคมปีถัดมา พระเจ้าชัยสิงหวรรมันที่ 3 เสด็จสวรรคต มกุฎราชกุมารแห่งจามปาส่งทูตไปแจ้งข่าวพร้อมกับถวายช้างเผือกแก่พระเจ้ากรุงญวน โดยทรงเชิญไปร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งตามธรรมเนียมจาม พระมเหสีทั้งหมดจะถูกเผาไปด้วยทำนองเดียวกับประเพณีสตี จักรพรรดิเจิ๊น อัญ ตง มีพระราชโองการให้นายพลเจิ๊น คัก จุง (Trần Khắc Chung, 陳克終) เป็นตัวแทนเข้าร่วมในพระราชพิธีดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วเขามีภารกิจชิงตัวเจ้าหญิงฮเหวี่ยน เจินกลับด่ายเหวียดโดยทางเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาราวหนึ่งปี บางตำนานก็เล่าว่านายพลเจิ๊น คัก จุง ตกหลุมรักเจ้าหญิงผู้นิราศพระองค์นี้ ทั้งสองหายตัวไปด้วยกันและไม่มีใครพบเห็นอีก อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ สนับสนุนเรื่องเล่านี้เลย
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ Văn Kiễm Thái La Princesse Huyền-Trân et l'influence sino-chàme sur la musique 1950
- ↑ Vietnam Country Map. Periplus Travel Maps. 2003. ISBN 0-7946-0070-0.
- ↑ Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ 4.0 4.1 Chapius, p. 85.
- ↑ Bruce M. Lockhart, William J. Duiker Historical Dictionary of Vietnam republished The A to Z of Vietnam 2010 Page 172 "Huyền Trân... A 14th-century princess of the Trần dynasty who was the center of an abortive attempt at marriage diplomacy between Vietnam and Champa. Promised in marriage to the Cham ruler by her father, the retired Emperor Trần Anh Tông, Huyén Trân..."
- ↑ Dông Phong Monts et merveilles au pays du Bois d'Aigle 2009 Page 44 "...Trần Anh Tông en échange de la main de la sœur de ce dernier, la princesse Trần Huyền Trân."
- บรรณานุกรม
- Oscar, Chapius (1995). A History of Vietnam: From Hong Bang to Tu Duc. Greenwood Publishing Group. ISBN 0-313-29622-7.