อ่าวอุดม

พิกัด: 13°07′12″N 100°54′03″E / 13.120071°N 100.900933°E / 13.120071; 100.900933
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ่าวอุดม
ชุมชน
ชายหาดบ้านอ่าวอุดม
ชายหาดบ้านอ่าวอุดม
อ่าวอุดมตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี
อ่าวอุดม
อ่าวอุดม
พิกัด: 13°07′12″N 100°54′03″E / 13.120071°N 100.900933°E / 13.120071; 100.900933
จังหวัดชลบุรี
อำเภอศรีราชา
ตำบลทุ่งสุขลา
ประชากร
 • ทั้งหมด20,000 คน
รหัสไปรษณีย์20230

อ่าวอุดม เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ประวัติ[แก้]

อ่าวอุดม เป็นชุมชนเก่าแก่มีการตั้งรกรากมานาน แต่เริ่มมีประชากรมาอาศัยหนาแน่น ราวพ.ศ. 2450-พ.ศ. 2485 โดยจะมีครอบครัวดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมทะเล ครอบครัวคนจีนที่มาโล้สำเภามาตั้งรกรากอยู่กันเป็นกงสีที่หนองกระสือ และครอบครัวดั้งเดิมอีกครอบครัวตั้งอยู่ท้ายหนองกระสือ ซึ่งเป็นหมอยา ชาวบ้านเรียกติดปากว่า หมอสด เดิม อ่าวอุดม เรียกว่า อ่าวกระสือ เพราะ สมัยก่อนมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ชื่อ หนองกระสือ ซึ่งโดยบริเวณนั้นเป็นที่ดินของกงสีของนายลู่ แซ่เจ็ง กับ นางอิ้ว แซ่ลิ้ม ปัจจุบัน หนองกระสือ เป็นพื้นที่ของบริษัทเคอรี่ สยามซีพอร์ต ปัจจุบันหนองกระสือไม่มีแล้ว เพราะโดนถมกลายเป็นที่ตั้ง โกดังบริษัทเคอรรี่ สยามซีพอร์ต มีเพียงชื่อเรียกบริเวณกงสีนายลู่กับนางอิ้ว ว่า บ้านหนองกระสือ และในรอบๆ หนองน้ำ ก็จะมีต้นพยอม อันเป็นต้นไม้ที่สวยงามมาก เลยพลอยสูญหายไปหมดด้วย และเป็นที่มาของชื่อวัดใหม่เนินพยอม นั่นเอง พื้นที่กว่าครึ่งของอ่าวอุดมเป็นที่ตั้งของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นภาคอุตสาหกรรมเข้ามาสร้างความเจริญให้กับพื้นที่และชาวบ้านทั้งในบ้านอ่าวอุดม และเขตแหลมฉบัง ทำให้ชุมชนขยายตัวมีการอพยพเข้ามาทำงาน อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ตามลักษณะของเขตเมืองที่พัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นเมืองท่า.

อาณาเขต[แก้]

อ่าวอุดมตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูเขาล้อมรอบและเป็นที่ลาดเนิน บ้านอ่าวอุดมอยู่ห่างจากถนนสุขุมวิท เริ่มจากเลี้ยวลงสี่แยกไฟแดง หรือแยกเข้าตลาดอ่าวอุดม-ก้นอ่าวชายทะเล ไปประมาณ 3 กิโลเมตร พอไปสุดถนนจะพบทางลงสะพานปลาอ่าวอุดม วัดใหม่เนินพยอม จะตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงสี่แยกเล็กๆ ก่อนลงสะพานปลา ห่างจากตัวจังหวัดชลบุรี 29 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 110 กิโลเมตร พื้นที่ในการปกครองของอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียงดังต่อไปนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับเทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลหนองขาม ทิศใต้ ติดต่อกับแหลมฉบัง ทิศตะวันตก จรดอ่าวไทยและเขตอำเภอเกาะสีชัง.

ประชากรและชุมชน[แก้]

อ่าวอุดมมีประชรกรอาศัยในชุมชนราว 20,000 คน แบ่งเป็น 4 ชุมชน คือ

  • ชุมชนตลาดอ่าวอุดม ตั้งอยู่บริเวณตลาดอ่าวอุดมและพื้นที่โดยรอบ จรดโรงกลั่นน้ำมันไทยออยส์ ด้านตะวันออก ประกอบด้วยชุมชนย่อย 5 แห่งคือ
    • ชุมชนย่อยตลาดอ่าวอุดม
    • ชุมชนย่อยศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ (บ้านป่ามะพร้าว)
    • ชุมชนย่อยบ้านเขาพุบน
    • ชุมชนย่อยบ้านเขาหิน (เขาอุตพงษ์)
    • ชุมชนย่อยบ้านสะเดางาม (บ้านสะเดาด้วน)
  • ชุมชนบ้านอ่าวอุดม ตั้งอยู่บริเวณวัดใหม่เนินพยบอม จรดโรงกลั่นนำมันไทยออยส์ด้านตะวันตก. ประกอบด้วยชุมชนย่อย 4 แห่งคือ
    • ชุมชนย่อยหนองกระสือ
    • ชุมชนย่อยไซโล
    • ชุมชนย่อยเขาพุล่าง
    • ชุมชนย่อยต้นเลียบ

ประชากรส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรดปอด หรือ ระบบทางเดินหายใจ[ต้องการอ้างอิง] โดยมีกมีอาการแน่นหน้าอกแต่ก็ยังอาศัยกันอยู่แบบรุ่นสู่รุ่น.

ศาสนสถาน[แก้]

วัดใหม่เนินพยอม (อ่าวอุดม)[แก้]

วัดใหม่เนินพยอม สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีชื่อนำว่า วัดใหม่ ก็เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นครั้งหลัง โดยห่างออกไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร บริเวณหนองกระสือก็มีวัดอยู่วัดหนึ่ง โดยชาวบ้านออกนามว่า วัดเก่า วัดใหม่เนินพยอมตั้งอยู่ ใน หมู่ 1 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อ พระเมือง สุโข โดยบริเวณวัดมีศาสนสถานสำคัญ อาทิ พระอุโบสถประดับลายปูนปั้น มณฑปรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปประจำวัน ศาลาหมอสด ซึ่งเดิมโยมอุปฐากของวัดนี้ คือ หมอสด - นางปุ้ย ด้วงศิริ และ นางจู มงคล

วัดเก่า[แก้]

บริเวณหนองกระสือก็มีวัดอยู่วัดหนึ่ง โดยชาวบ้านออกนามว่า วัดเก่า ต่อมาพื้นที่บริเวณวัดเก่าถูกอธิบดีในสมัยนั้นยักยอกไปปลูกเป็นบ้านพัก ชาวบ้านบริเวณโดยรอบเรียกว่า บ้านอธิบดี โดยต่อมาเกิดอาถรรพ์ต่ออธิบดีผู้นั้นถึงแก่กรรมอย่างอนาถใจ และชาวบ้านมักจะเห็นเปรตร้องโหยหวน โดยเรียกว่า เปรตอธิบดี เป็นเรื่องเล่าแก่เด็กในสมัยนั้นว่า บ้านอธิบดีผีดุ[ต้องการอ้างอิง] ในปัจจุบันถ้าเข้าไปในบริเวณหนองกระสือประมาณ 800 เมตร ก็จะพบป้ายวัดเก่า โดยในปัจจุบันหลงเหลือรากฐาน เจดีย์ของวัดเก่าและฐานของบ้านอธิบดีอยู่

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม[แก้]

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม หรือ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ สร้างเมื่อราวๆ พ.ศ. 2496 นำโดยนายยู่ชั้น แซ่เซียว ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นหลานของนางจู มงคล และ นายกังวาล อุดมชัยประเสริฐกุล (เหล่าแปะลิ้มจื้อกัง) ซึ่งมีความผูกพันกับหลวงพ่อโอภาสีแห่งอาศรมบางมด โดยแปะกังเป็นลูกบุญธรรมของหลวงพ่อโอภาสี จึงได้เชิญผงธูปจากศาลเจ้าหลวงพ่อโอภาสีซำเทียนไกล่ มายังบ้านอ่าวอุดม (ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าบ้านป่ามะพร้าว) และสร้างศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่อ่าวอุดม โดยวิหารหลังปัจจุบันเป็นหลังที่ 3 สร้างแทนหลังเดิมแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 ภายในวิหารมีเจ้าพ่อโกมินทร์ (หน่าจาซาไท้จื้อ) เจ้าพ่อโกเมศ (กิมจาตั่วไท้จื้อ) และเจ้าพ่อโกมล (บักจาหยี่ไท้จื้อ) เป็นองค์ประธาน นอกจากนี้ในศาลยังประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิม มหาเทพไท้อิกกิวโค่วเทียนจุน พระพุทธไตรรัตนะ (ซำเสี่ยฮุก) และ พ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์

ศาลเจ้าพ่อโกมินทร์ฯ จะมีการจัดงานประจำปี 4 ครั้ง คือ

  1. งานเทศกาลตรุษจีนและไหว้รับเสด็จเทพเจ้าโชคลาภ (ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ) ในยามแรกของวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินทางจันทรคติจีน หรือคืนวันไหว้สิ้นปีจีน
  2. งานฉลองวันเทวประสูติเจ้าพ่อโกมินทร์ (หน่าจาซาไท้จื้อ) และพิธีโปรดวิญญาณไร้ญาติ-แจกทานมหากุศล ในวันที่ 7-9 ของเดือน 4 ตามปฏิทินทางจันทรคติจีน หรือในช่วงเดือนพฤษภาคม
  3. งานเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งทางศาลเจ้าจะมีการเปิดโรงทานอาหารเจ ให้สาธุชนได้เข้ามารับประทานอาหารเจ และมีพิธีสวดมนต์เดินธูป ตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 10 วัน 10 คืน
  4. งานประเพณีไหว้ขอบคุณเทพเจ้าประจำปี (เซี่ยซิ้ง) และพืธีรำลึกวันเทวประสูติมหาเทพไท้อิกกิวโค่วเทียนจุน (ไท้อิกจิงยิ้ง) ในวันที่ 11 เดือน 11 ตามปฏิทินทางจันทรคติจีน หรือในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี

ศาลเจ้าแม่เซียะบ้อเนี้ยเนี้ยอ่าวอุดม[แก้]

ศาลเจ้าแม่เซียะบ้อเนี้ยเนี้ยอ่าวอุดม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2504 บนที่ดินของนางจู มงคล มารดาคุณประพิศ ซึ่งคืนหนึ่งคุณประพิศเจ้าของตลาดศรีอ่าวอุดม ได้นิมิตเห็นเทพหญิงน่าเกรงขาม บอกว่าเป็น องค์เซี๊ยะบ้อเนี้ย ท่านได้มีเทวบัญชาให้คุณประพิศไปอัญเชิญผงธูป และสร้างศาลเจ้าขึ้น เช้าวันต่อมาคุณประพิศได้ไปปัวะปวย (เสี่ยงทาย) ดูผลปรากฏว่าเป็นจริง เมื่อสร้างศาลเจ้าสำเร็จคุณพยนต์สามีคุณประพิศได้ไปเชิญผงธูปเทพเจ้าปุงเถ่ากง จากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่เกาะสีชัง และผงธูปเทพเจ้ากวนอู จากศาลกวนอูไร่ไหหลำ ศาลเจ้าเดิมสร้างด้วยไม้ชั้นเดียว ต่อมาได้สร้างเป็นศาลก่ออิฐถือปูนสองชั้น เมื่อปี พ.ศ. 2539 และมีงานประจำปีฉลองวันเทวประสูติเจ้าแม่เซียะบ้อเนี้ยเนี้ย ในวันที่ 27 เดือน 11 จีน ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม

สถานศึกษา[แก้]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา[แก้]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตั้งอยู่บนที่ดินของบิดานางสมจิตร ทวีผล ซึ่งท่านได้ยกที่ดินจำนวน 400 กว่าไร่ พร้อมสุสาน ตั้งแต่บ้านเขาน้ำซับจรดสี่แยกอ่าวอุดม แก่ทางราชการ เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางราชการจึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นสถานศึกษาให้แก่บุคคลในพื้นที่และใกล้เคียง ต่อมาเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งภายในมีสุสานของเจ้าของที่ดิน ทางมหาวิทยาลัยได้ปรึกษากับทางญาติ เชิญศพไปบรรจุที่วัดมโนรม คงไว้แต่เพียงตำนานว่าที่ดินมหาวิทยาลัยนี้เป็นสุสานมาก่อน[ต้องการอ้างอิง]

โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม[แก้]

โรงเรียนวัดใหม่เนินพยอม ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านอ่าวอุดม บริเวณด้านตะวันตกของวัดใหม่เนินพยอม ก่อตั้งเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดยพระอาจารย์ขาบ ธรรมธิโร เจ้าอาวาสในขณะนั้น กับนายอำเภอศรีราชา เปิดสอน อนุบาล-ประถมศึกษา ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างคือ อาคารเรียนแบบ ป.1ข อาคารเรียน สปช.2/28 บ้านพักครู แบบองค์การฯ ห้องน้ำและ หอพระ แบบมาตรฐาน มีเขตพื้นที่บริการ คือ หมู่ 1 บ้านอ่าวอุดม และ หมู่ 7 ตลาดอ่าวอุดม

องค์กรสาธารณประโยชน์[แก้]

มูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่[แก้]

มูลนิธิเจ้าพ่อโกมินทร์ซำเทียนไกล่ (หน่าจาเสี่ยงตึ๊ง)

แหล่งเรียนรู้[แก้]

ห้องสมุดประชาชนอำเภอศรีราชา[แก้]

ห้องสมุดประชาชนอำเภอศรีราชา ตั้งอยู่ข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา บนที่ดินผืนเดียวกันกับที่บิดานางสมจิตร ทวีผล ยกให้ทางราชการ เป็นอาคารสองชั้น เปิดให้บริการเป็นห้องสมุดประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2556

สาธารณสุข[แก้]

โรงพยาบาลแหลมฉบัง (อ่าวอุดม)[แก้]

โรงพยาบาลแหลมฉบัง (เดิมชื่อ โรงพยาบาลอ่าวอุดม) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2531 โดยมีชื่อเดิมว่า สถานีอนามัยบ้านอ่าวอุดม หลังจากนั้นต่อมาจึงได้ถูกยกระดับขึ้นเป็น โรงพยาบาลชุมชน และเป็นโรงพยาบาลอ่าวอุดม จนถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงพยาบาลแหลมฉบังเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอของทางอำเภอศรีราชา ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลแหลมฉบัง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา ซึ่งอำเภอศรีราชานั้น เดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางละมุง ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างดีเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมทะเล

ตลาด[แก้]

ตลาดสดศรีอ่าวอุดม[แก้]

ตลาดสดศรีอ่าวอุดม หรือที่เรียกติดปากว่า ตลาดอ่าวอุดม ตั้งอยู่บนที่ดินของ นางจู มงคล (ขาจู แซ่ลิ้ม) โดยท่านได้ซื้อที่ดินบริเวณตลาด และโดยรอบทั้งหมด 32 ไร่ ด้วยเงิน 240 บาท ซึ่งนับว่ามากในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อท่านถึงแก่กรรม ที่ดินทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ คุณไซ้ลั้ง มงคล (คุณประพิศ กษีรสกุล) ธิดาคนโต ต่อมาได้ร่วมกับสามีจัดทำเป็นตลาด และคุณประพิศได้จดทะเบียนเป็นตลาดถาวร โดยต่อมาตลาดมีปัญหาหนี้สินกับธนาคารในเวลานั้น คุณสานิต ยมาพัฒน์ สามีของ คุณพวงเพชร มงคล ธิดาคนสุดท้อง ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไถ่ที่ดินจากธนาคารสำเร็จ คุณประพิศจึงแบ่งตลาดออกอย่างละครึ่ง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม โดยครึ่งแรกฝั่งบ้านคุณประพิศนั้นตกเป็นของคุณประพิศเอง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณพวงเพชร มงคล โดยตลาดนี้ได้รับรางวัลตลาดสดน่าซื้อระดับ 3 ดาวอีกด้วย

ศาลาประชาคมอ่าวอุดม[แก้]

ศาลาประชาคมอ่าวอุดม เป็นอาคารตรีมุข ภายในประกอบด้วยห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ ห้องน่ำ และห้องแสดงนิทรรศการ และมีลานจอดรถ

อุตสาหกรรม[แก้]

อุตสาหกรรมสำคัญ คือ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2504 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2505 อุตสาหกรรมประเภทนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคลในชุมชน ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจเสียเป็นส่วนใหญ่[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งผลกระทบครั้งร้ายแรงที่สุด คือ เหตุการณ์ระเบิดของถังน้ำมัน

ไปรษณีย์อ่าวอุดม[แก้]

ไปรษณีย์อ่าวอุดม ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดมโนรม ตรงข้ามศูนย์ศึกษาวิทยาศาสตร์ดาวเทียม GISTDA ซึ่งเป็นศูนย์ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ รับส่งพัสดุทุกชนิดขนาด และให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ธนาณัติ เช่นเดียวกับไปรษณีย์ทั่วไป

บรรณานุกรม[แก้]