อ่าวหางโจว

พิกัด: 30°17′07″N 120°55′26″E / 30.2852°N 120.924°E / 30.2852; 120.924
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ่าวหางโจวทอดยาวจากทะเลจีนตะวันออก (ขวา) ไปสู่เมืองหางโจว (ซ้าย) ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออ่าว และเป็นจุดระบายน้ำไหลออกทางปากน้ำเฉียนถาง (ซ้ายล่าง) เส้นสีแดงคือ สะพานอ่าวหางโจว กลุ่มเกาะประปราย (ขวาสุด) คือ กลุ่มเกาะโจวชานที่ตั้งนอกฝั่งเมืองหนิงปัวทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของอ่าวหางโจว

อ่าวหางโจว (จีนตัวย่อ: 杭州湾; จีนตัวเต็ม: 杭州灣; พินอิน: Hángzhōu Wān; สำเนียงหางโจว: han-tsei uae) เป็นปากแม่น้ำรูปสามเหลี่ยมกว้าง (รูปกรวย) ในทะเลจีนตะวันออก ล้อมรอบด้วยมณฑลเจ้อเจียง และนครเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ทางเหนือของอ่าว อ่าวนี้ทอดยาวจากทะเลจีนตะวันออกในเขตปกครองของโจวชานไปยังปากแม่น้ำเฉียนถังที่เมืองหางโจว ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออ่าวแห่งนี้

แม่น้ำเฉียนถัง (钱塘江) ไหลลงสู่อ่าวหางโจวที่เมืองหางโจว โดยระบายน้ำจืดจากทางทิศตะวันตกในขณะเดียวกันผสมกับน้ำทะเลเข้ามาทางทิศตะวันออก ดังนั้นบางครั้งเในทางธรณีสัณฐานวิทยา อ่าวหางโจวโดยเฉพาะส่วนตะวันตกจึงถูกเรียกว่า "ชะวากทะเลเฉียนถาง"[1]

ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของอ่าวหางโจวนอกฝั่งหนิงปัว เป็นเกาะเล็ก ๆ จำนวนมากที่เรียกรวมกันว่า "กลุ่มเกาะโจวชาน" (Zhoushan Archipelago) กลุ่มเกาะนี้ปัจจุบันได้แบ่งการปกครองออกให้มีสถานะการบริหารของเมืองระดับจังหวัดในจังหวัดเจ้อเจียง

อ่าวหางโจวเป็นอ่าวที่ค่อนข้างตื้น ด้วยความลึกน้อยกว่า 15 เมตร ดังนั้นท่าเรือหลักในบริเวณอ่าวจึงถูกสร้างที่หนิงปัวและโจวชาน ทางตะวันออกสุดของอ่าวของชายฝั่งทะเลจีนตะวันออก

กระแสคลื่นน้ำขึ้นน้ำลง[แก้]

กระแสคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงที่หยานกฺวาน (ภาพปี 2017)

อ่าวหางโจวเป็นที่รู้จักดีโดยเฉพาะเรื่องกระแสคลื่นน้ำขึ้นน้ำลง (tidal bore) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก สูงถึง 9 เมตร (30 ฟุต) และเดินทางได้เร็วถึง 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) ต่อชั่วโมง

จุดชมวิวของกระแสคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงมีหลายแห่ง หนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดในการชมคือที่ หยานกฺวาน (盐官观潮景区)[2] บนชายฝั่งของอ่าวหางโจวด้านทิศเหนือ ห่างจากเมืองหางโจวไปทางตะวันออกประมาณ 50 กิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 18 ของเดือน 8 ทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ[1][3] ตารางเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเก่าที่สุดที่เป็นที่รู้จักย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1056[4]

กระแสคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงที่อ่าวหางโจว ยังเป็นที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า มังกรเงิน (หรือมังกรดำ)ซึ่งคุกคามการขนส่งสินค้าในท่าเรือ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2013 กระแสน้ำรุนแรงเกินคาดเนื่องจากไต้ฝุ่นทรามี ซึ่งสูงกว่าระดับปกติถึงสองเท่า ได้พังทลายบนแนวกั้นน้ำท่วม กวาดล้างและทำให้ผู้ชมบาดเจ็บจำนวนมาก

สะพานข้ามอ่าว[แก้]

เสาตอม่อพักสายเคเบิลสองเสาของสะพานอ่าวหางโจว
ศูนย์บริการของสะพานอ่าวหางโจว

สะพานแรกที่ข้ามอ่าวหางโจวคือ สะพานข้ามอ่าวหางโจว (杭州湾大桥; Hangzhou Bay Bridge) ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2007[5] และเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2008 มีความยาว 35.7 กิโลเมตร (22.2 ไมล์) เป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสาย G15 มีสามเลนแต่ละด้าน โดยมีเสาตอม่อพักสายเคเบิลสองเสาแยกกัน และมีศูนย์บริการอยู่ที่ช่วงกึ่งกลางสะพาน ทอดข้ามปากอ่าวหางโจวโดยเชื่อมเขตเทศบาลของเจียซิงและหนิงปัวในมณฑลเจ้อเจียง เป็นหนึ่งในสะพานที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งย่นระยะทางระหว่างส่วนตะวันออกของเจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้ จาก 400 ให้เหลือ 80 กิโลเมตร (249 เป็น 50 ไมล์)

เสาตอม่อพักสายเคเบิลหกเสาของสะพานเจียเช่า

สะพานเจียเช่า (嘉绍跨海大桥; Jiaxing-Shaoxing Sea Bridge) เป็นสะพานที่สองที่ข้ามอ่าว มีเสาตอม่อพักสายเคเบิลหกช่วงติดต่อกัน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของสะพานอ่าวหางโจว แล้วเสร็จในปี 2013 ข้ามปากแม่น้ำเฉียนถังเป็นระยะทาง 10.14 กิโลเมตร (6.30 ไมล์) ให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วน G15W มีสี่เลนแต่ละด้าน[6][7] สะพานเจียเช่าเชื่อมต่อเช่าซิงจากชายฝั่งทางใต้ของอ่าวไปยังชายฝั่งทางเหนือของอ่าวทางใต้ของเจียซิง และเป็นเส้นทางที่สั้นกว่าสำหรับการขนส่งระหว่างเช่าซิงกับเซี่ยงไฮ้

มีการวางแผนสะพานข้ามอ่าวแห่งที่สาม ซึ่งให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหนานทง–หนิงปัว

หางโจวเกรทเบย์แอเรีย[แก้]

ในปี 2018 รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียงได้เดินตามรอยของมณฑลกวางตุ้ง ได้เปิดเผยแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวหางโจว (Hangzhou Great Bay Area) โดยมุ่งเป้าไปที่แผนการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เป็นสองเท่าภายในปี 2022 และพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจ "ระดับโลก" บริเวณรอบอ่าวในเขตมณฑลเจ้อเจียงภายในปี พ.ศ. 2578 ปัจจุบันบริเวณรอบอ่าวหางโจวซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจและแนวเขตอุตสาหกรรมที่มีประชากรประมาณ 40 ล้านคน และ ณ ปี 2017 มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 87 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของมณฑล ซึ่งอาจเป็นวิสัยทัศน์เชิงปฏิสัมพันธ์กับการพัฒนาของเซี่ยงไฮ้[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Li, Ying; Pan, Dong-Zi; Chanson, Hubert; Pan, Cun-Hong (July 2019). "Real-time characteristics of tidal bore propagation in the Qiantang River Estuary, China, recorded by marine radar" (PDF). Continental Shelf Research. Elsevier. 180: 48–58. Bibcode:2019CSR...180...48L. doi:10.1016/j.csr.2019.04.012. S2CID 155917795.
  2. 盐官观潮景区 百度百科 (baidu.com). สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565.
  3. "Qiantang River Tidal Bore". rove.me. สืบค้นเมื่อ 20 May 2020.
  4. Zuosheng, Y.; Emery, K.O. & Yui, X. (1989). "Historical development and use of thousand-year-old tide-prediction tables". Limnology and Oceanography. 34 (5): 953–957. Bibcode:1989LimOc..34..953Z. doi:10.4319/lo.1989.34.5.0953.
  5. "World's longest trans-sea bridge linked up successfully". People's Daily Online. สืบค้นเมื่อ 2008-05-03.
  6. Nicolas Janberg, Chief Editor (2008-12-15). "Jia-Shao Bridge (Jiaxing, 2012) | Structurae". En.structurae.de. สืบค้นเมื่อ 2013-12-31. {{cite web}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  7. Wang, Rengui; Lin, Daojin (January 2013). "The Design and Construction for Steel Box Girder of Jiashao Bridge". trid.trb.org. Washington DC, USA: Transportation Research Board 92nd Annual Meeting Compendium of Papers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-04. สืบค้นเมื่อ 20 May 2020.
  8. Wang, Orange (May 2018). "Chinese province Zhejiang jumps on the Greater Bay Area bandwagon with its own ambitious regional blueprint". scmp.com. สืบค้นเมื่อ 22 May 2020.

30°17′07″N 120°55′26″E / 30.2852°N 120.924°E / 30.2852; 120.924