อูกมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อูกมหาราช (ฝรั่งเศส: Hugues le Grand) หรือ อูกขาว (Hugues le Blanc; สิ้นพระชนม์ 16/17 มิถุนายน ค.ศ. 956) ดำรงตำแหน่งเป็นดยุคของชาวแฟรงก์, เคานต์แห่งปารีส และเป็นต้นตระกูลของกษัตริย์ฝรั่งเศสราชวงศ์กาแปเตียง พระองค์เป็นชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในราชอาณาจักรฝรั่งเศส (ราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก) ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 ผู้อยู่ต่างแดนและต้นรัชสมัยของพระเจ้าโลแทร์

พระราชประวัติ[แก้]

อูกเป็นพระโอรสของพระเจ้ารอแบร์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสกับเบียทริซแห่งแวร์ม็องดัว บุตรสาวของแอร์แบร์ที่ 1 แห่งแวร์ม็องดัว ทรงเป็นพระภาติยะของเอิดที่ 1 เคานต์แห่งปารีส พระมารดาของพระองค์เป็นลูกหลานของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ บุตรชายคนโตของพระองค์ คือ อูก กาแป ซึ่งกลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 987[1] เป็นที่รู้กันว่าครอบครัวของพระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์รอแบเตียง[2] บางครั้งพระองค์ถูกเรียกว่า "อูกขาว" เนื่องจากสีผิวที่ขาวซีด

ในปี ค.ศ. 922 เหล่าบารอนของราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ผู้เรียบง่ายแห่งราชวงศ์การอแล็งเฌียง (ซึ่งหนีการโจมตีออกไปนอกประเทศ) และเลือกพระเจ้ารอแบร์ที่ 1 บิดาของอูกเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก เมื่อพระเจ้ารอแบร์ที่ 1 สิ้นพระชนม์ที่สมรภูมิซัวส์ซงส์ในปี ค.ศ. 923 อูกปฏิเสธที่จะรับบัลลังก์ มันจึงถูกส่งต่อให้กับพระเจ้ารูดอล์ฟแห่งฝรั่งเศส พระเชษฐภรรดา ทว่าพระเจ้าชาร์ลหันไปขอความช่วยเหลือในการกอบกู้บัลลังก์กลับคืนมากับแอร์แบร์ที่ 2 เคานต์แห่งแวร์ม็องดัว ลูกพี่ลูกน้องที่จับพระองค์จำคุกแทนที่จะช่วยพระองค์ แอร์แบร์ใช้นักโทษของตนเป็นเครื่องมือไล่ตามความทะเยอทะยาน ด้วยการข่มขู่ว่าจะปล่อยตัวพระเจ้าชาร์ลจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 929[3] จากนั้นแอร์แบร์ที่ 2 แห่งแวร์ม็องดัวก็ต่อสู้กับพระเจ้ารูดอล์ฟและอูกมหาราช ข้าราชบริพารของกษัตริย์ ท้ายที่สุดพระเจ้ารูดอล์ฟกับแอร์แบร์ที่ 2 ก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันในปี ค.ศ. 935[4]

ในปี ค.ศ. 936 เมื่อพระเจ้ารูดอล์ฟสิ้นพระชนม์ อูกได้ควบคุมอาณาเขตทั้งหมดที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำลัวร์กับแม่น้ำเซน ยกเว้นอาณาเขตที่ถูกยกให้ชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 911[5] ทรงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 4 เดินทางกลับมาจากอังกฤษในปี ค.ศ. 936[6] แต่ในปีเดียวกันนั้นเมื่อทรงแต่งงานกับเฮดวิกแห่งซัคเซิน พระธิดาของพระเจ้าไฮน์ริชที่ 1 นักล่านกแห่งราชอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก (เยอรมนี) และพระขนิษฐาของจักรพรรดิออทโทที่ 1 มหาราช ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพระองค์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 4[7] หลังการสิ้นพระชนม์ของพระมหากษัตริย์ในปี ค.ศ. 954 ดยุคของชาวแฟรงก์และเคานต์แห่งปารีสผู้ทรงอำนาจเป็นบุคคลแรกที่สนับสนุนและยอมรับพระเจ้าโลแทร์เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์

การแต่งงานและทายาท[แก้]

อูกแต่งงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 922 กับจูดิธ บุตรสาวของโรเชร์ เคานต์แห่งเมนกับภรรยา โรธิล์เดอ จูดิธเสียชีวิตโดยไร้ซึ่งทายาทในปี ค.ศ. 925

ภรรยาคนที่สองของอูกคืออีดฮิลด์ พระธิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส กษัตริย์ของชาวแองโกลแซ็กซัน ทั้งคู่แต่งงานกับในปี ค.ศ. 926 อีดฮิลด์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 938 โดยไร้ซึ่งทายาท

ภรรยาคนที่สามของอูกคือเฮดวิกแห่งซัคเซิน พระธิดาของพระเจ้าไฮน์ริชที่ 1 นักล่านกกับมาธิล์เดอแห่งริงเกิลไฮม์ อูกกับเฮดวิกมีบุตรชายด้วยกันสามคนและบุตรสาวอีกสองคน คือ

  • เบียทริซ (ค.ศ. 938 – 987) แต่งงานกับฟรีดริชที่ 1 เคานต์แห่งบาร์และดยุคแห่งโลร์เรนบน
  • พระเจ้าอูก กาแป (ค.ศ. 940 – 996) ดยุคของชาวแฟรงก์และกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในชื่อ พระเจ้าอูกที่ 1
  • เอ็มมา (ค.ศ. 943 – 968) แต่งงานกับริชาด์ที่ 1 ดยุคแห่งนอร์ม็องดี
  • ออทโท อองรี (เสียชีวิต ค.ศ. 965) ดยุคแห่งบูร์กอญ สืบทอดตำแหน่งต่อจากชิลแบร์ เดอ ชาลงผู้เป็นพ่อตา
  • อูด อองรี (เสียชีวิต ค.ศ. 1002) ดยุคแห่งบูร์กอญ สืบทอดตำแหน่งต่อจากพี่ชาย

อูกเสียชีวิตในดูร์ด็องในวันที่ 16/17 มิถุนายน ค.ศ. 956

อ้างอิง[แก้]

  1. Jim Bradbury, The Capetians: Kings of France, 987-1328 (Hambledon Continuum, London & New York, 2007), p. 69
  2. Lucien Bély, The History of France (JP Gisserot, Paris, 2001), p. twenty-one
  3. Pierre Riché , The Carolingians; A Family who Forged Europe , Trans. Michael Idomir Allen (University of Pennsylvania Press, Philadelphia, 1993), pp.250-1
  4. Pierre Riché , The Carolingians; A Family who Forged Europe , Trans. Michael Idomir Allen (University of Pennsylvania Press, Philadelphia, 1993), p.250
  5. Elizabeth M. Hallam, Capetian France; 987-1328 (Longman Group Ltd., London & New York, 1980), p. 89
  6. The Annals of Flodoard of Reims: 919-966 , Ed. & Trans. Stephen Fanning & Bernard S. Bachrach ( University of Toronto Press , 2011), p. xvii
  7. Pierre Riché , The Carolingians; A Family who Forged Europe , Trans. Michael Idomir Allen (University of Pennsylvania Press, Philadelphia, 1993), p.262