อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ

พิกัด: 76°N 30°W / 76°N 30°W / 76; -30
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่ตั้ง กรีนแลนด์
 เดนมาร์ก
พิกัด76°N 30°W / 76°N 30°W / 76; -30
พื้นที่972,000 ก.ม.2 (375,000 ต.ร.ไมล์)
จัดตั้ง21 พฤษภาคม ค.ศ. 1974

อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ (กรีนแลนด์: Kalaallit Nunaanni nuna eqqissisimatitaq, เดนมาร์ก: Den Nordøstlige Grønlands Nationalpark, อังกฤษ: Northeast Greenland National Park) เป็นอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 9 ของโลก (พื้นที่คุ้มครองอื่นที่ใหญ่กว่ามักมีพื้นที่ส่วนมากเป็นทะเล)[1] ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1974 และขยายพื้นที่เท่ากับปัจจุบันในปี ค.ศ. 1988 ครอบคลุมพื้นที่บริเวณตอนในและชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ 972,000 ก.ม.2 (375,000 ต.ร.ไมล์)[2] โดยอุทยานแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 29 ของโลกหากเปรียบเทียบพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกับอีก 195 ประเทศ อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก และเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในกรีนแลนด์ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือที่สุดของโลกและเป็นพื้นที่การปกครองระดับที่ 2 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากภูมิภาค Qikiqtaaluk ในดินแดนนูนาวุต ประเทศแคนาดา

ภูมิศาสตร์[แก้]

อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ติดต่อกับเทศบาล Sermersooq ทางตอนใต้และติดต่อกับเทศบาล Avannaata ทางตะวันตามเส้นเมริเดียนที่ 45° ตะวันตก พื้นที่ตอนในส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นส่วนหนึ่งของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ อย่างไรก็ตามพบพื้นที่ปราศจากน้ำแข็งตามแนวชายฝั่งและบริเวณแพร์รีแลนด์ทางตอนเหนือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฟรเดอริกที่ 8 แลนด์และคริสเตียนที่ 10 แลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งนี้ อุทยานแห่งนี้เผชิญกับการสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้[3]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ฟยอร์ดไคเซอร์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ

อุทยานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1974 ในบริเวณตอนเหนือของอดีตเทศบาลอิตตอกกอร์ตอมีตในเทศมณฑลตูนู (กรีนแลนด์ตะวันออก) ในปี ค.ศ. 1988 อุทยานได้รับพื้นที่เพิ่มเติมจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเทศมณฑลอาวันนา (กรีนแลนด์เหนือ) อีก 272,000 ก.ม.2 (105,000 ต.ร.ไมล์) ซึ่งมีขนาดพื้นที่เท่ากับในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1977 ได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ค่ายวิจัยพืดน้ำแข็งในอดีตอย่าง Eismitte และ North Ice ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ ปัจจุบันแผนกสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของกรีนแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่

ประชากร[แก้]

สถานีซัคเคนเบิร์ก

อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ไม่มีประชากรมนุษย์ที่อาศัยอยู่อย่างถาวร อย่างไรก็ตามมีกว่า 400 จุดที่มีการใช้งานบ้างในฤดูร้อน ในปี ค.ศ. 1986 เคยมีประชากร 40 คน อาศัยอยู่ที่ Mestersvig ประชากรส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดและดำเนินการยุติการสำรวจแหล่งทำเหมือง จากนั้นได้ออกจากพื้นที่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่มีประชากรที่อาศัยอยู่อย่างถาวรอีก เมื่อไม่นานนี้มีประชากรเพียง 31 คนและสุนัขประมาณ 110 ตัวที่อยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ในฤดูหนาว กระจายอยู่ตามสถานีต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง (ยกเว้นค่ายซัมมิต):[4][5]

ในช่วงฤดูร้อน จะมีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาเพิ่มจำนวนจากจำนวนข้างต้น สถานีวิจัย ZERO (Zackenberg Ecological Research Operations; 74°28′11″N 20°34′15″W / 74.469725°N 20.570847°W / 74.469725; -20.570847) สามารถรองรับนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ได้มากกว่า 20 คน

สัตว์ท้องถิ่น[แก้]

ภูเขาน้ำแข็งในอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งนี้มีวัวมัสค์ประมาณ 5,000–10,000 ตัว รวมถึงหมีขั้วโลกและวอลรัสจำนวนมาก ซึ่งพบได้ในบริเวณชายฝั่งของอุทยาน ในปี ค.ศ. 1993 จำนวนของวัวมัสค์ในอุทยานคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรวัวมัสค์ในโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่พบ เช่น สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก เออร์มิน หนูเลมมิง กระต่ายป่าอาร์กติก ซึ่งรวมถึงประชากรขนาดเล็กแต่มีความสำคัญอย่าง หมาป่ากรีนแลนด์ นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น แมวน้ำวงแหวน แมวน้ำเครา แมวน้ำลายพิณ รวมไปถึงวาฬนาร์วาลและวาฬเบลูกา เป็นต้น[6]

สปีชีส์ของนกที่พบในอุทยานแห่งนี้ เช่น นกน้ำลายดำทั่วไป ห่านเพรียง ห่านเท้าชมพู เป็ดทะเลคอมมอนไอเดอร์ เป็ดทะเลคิงไอเดอร์ เหยี่ยวไจร์ฟัลคอน นกเค้าแมวหิมะ นกซันเดอร์ลิง นก Rock ptarmigan และนกเรเวน เป็นต้น[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The National Park". Greenland.com. สืบค้นเมื่อ 2013-06-18.
  2. Statistics Greenland, Greenland in Figures, 2009
  3. Ramskov, Jens. "Climate models underestimate the melting of the ice cap " In English Ingeniøren, 26 December 2014. Accessed: 26 December 2014.
  4. "The Sirius Sledge Patrol". Destination EastGreenland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-21. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  5. NOAA Research เก็บถาวร 2008-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. 6.0 6.1 "Kalaallit Nunaat high arctic tundra". Terrestrial Ecoregions. World Wildlife Fund. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]