อินทร สิงหเนตร
อินทร สิงหเนตร | |
---|---|
สมาชิกวุฒิสภา | |
ดำรงตำแหน่ง 18 พฤศจิกายน 2490 – 29 พฤศจิกายน 2494 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 มกราคม พ.ศ. 2441 นครเชียงใหม่ |
เสียชีวิต | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 (50 ปี) วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ |
ศาสนา | คริสต์ |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ |
คู่สมรส | เสงี่ยม ชุณหศิริ |
อินทร สิงหเนตร เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 3 สมัย[1] ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง ในปี พ.ศ. 2489[2]
ประวัติ
[แก้]อินทร เป็นบุตรของดวงชื่น กับบัวจันทร์ สิงหเนตร เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2440 (นับแบบปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2441) ที่นครเชียงใหม่[3] มีพี่น้องรวม 7 คน ได้แก่ อินทร ศรีวิไล นายแพทย์ จินดา (เจ้าของโรงพยาบาลจินดา สิงหเนตร) ร้อยโท ราศรี สิงหเนตร อดุลย์ ดวงเลื่อน และเทอดศักดิ์
อินทรเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ต่อมาย้ายไปเรียนที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต่อมาได้ศึกษาจนจบปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย และประกอบอาชีพเป็นทนายความ จากนั้นจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองในประเทศไทย และได้รับเลือกอีก 2 สมัยต่อมา
อินทรเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทในการคัดค้านการเสนอให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติตามข้อเสนอของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ร่วมกับเลียง ไชยกาล ด้วยเหตุผลว่านั่นเป็นวันปฏิวัติ และไม่เป็นการเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้อินทรและเลียงถูกจับโยนลงในสระน้ำพระที่นั่งอนันตสมาคม และถูกสภาผู้แทนราษฎรขับออกจากสภาผู้แทนราษฎร[4] ในปี พ.ศ. 2481[5] โดยสี่หมื่น วณีสอน ได้รับเลือกตั้งแทน
ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 ในสมัยรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการอภิปรายนานถึง 7 วัน 7 คืน ที่เรียกกันว่า "มหกรรม 7 วัน" ในระหว่างนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายคนถูกลอบยิงหรือลอบทำร้าย เช่น สุวิชช พันธเศรษฐ ถูกลอบยิงแต่รอดมาได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หลังเลิกอภิปรายในช่วงเวลาค่ำคืน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคได้ใช้รถยนต์มินิยี่ห้อมอร์ริสที่ยืมมาจากพลตำรวจตรี พระพินิจชนคดี พี่เขย พา ส.ส. ของพรรคนั่งรวมกันแล้วไปส่งถึงบ้านพักของแต่ละคนจนครบ คืนหนึ่งที่บริเวณหน้าวัดมกุฏกษัตริยารามซึ่งเป็นที่มืดและเปลี่ยว มีรถยนต์สีดำยี่ห้อเรย์โนลต์วิ่งตามมาด้วยท่าทีไม่ประสงค์ดี อินทรซึ่งนั่งข้างหม่อมราชวงศ์เสนีย์ อาสาจะต่อสู้ด้วยปืนพกกระบอกเล็กที่มีความยาวไม่ถึง 4 นิ้วฟุตที่พกมาในกระเป๋า แต่ปรากฏว่าพอรถวิ่งถึงหน้าสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งเป็นที่สว่าง มีผู้คนสัญจรไปมา รถเรย์โนลต์สีดำคันนั้นก็วิ่งแซงหน้าหายไป[6]
ต่อมาอินทรถูกลอบสังหารในขณะเดินออกกำลังกายในตอนเช้าที่หน้าวัดศรีดอนไชย[7][3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- ↑ "วุฒิสมาชิกชุดที่ 2" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-03-25.
- ↑ 3.0 3.1 อินทร สิงหเนตร : ผู้ถูกขับจากสภาเดลินิวส์
- ↑ 7 พฤศจิกายน
- ↑ วันที่ 28 มีนาคม[ลิงก์เสีย] จาก เดลินิวส์
- ↑ หน้า 146, ชีวลิขิต โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (2548) ISBN 974-9353-50-1
- ↑ นักการเมืองถิ่นจังหวัดเชียงใหม่[ลิงก์เสีย]สถาบันพระปกเกล้า
- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่August 2021
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2441
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2491
- คริสต์ศาสนิกชนชาวไทย
- ทนายความชาวไทย
- นักการเมืองจากจังหวัดเชียงใหม่
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- สมาชิกวุฒิสภาไทยแบบแต่งตั้ง
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- บุคคลจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- บุคคลจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เสียชีวิตจากอาวุธปืน
- นักการเมืองไทยที่ถูกลอบสังหาร