หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อินทรีย์ จันทรสถิตย์)
อินทรี จันทรสถิตย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดำรงตำแหน่ง
8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520
นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร
ก่อนหน้าพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร
ถัดไปปรีดา กรรณสูต
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดำรงตำแหน่ง
15 เมษายน พ.ศ. 2501 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2508
ก่อนหน้าหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ
ถัดไปหม่อมหลวงชูชาติ กำภู
ดำรงตำแหน่ง
21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 – 30 เมษายน พ.ศ. 2512
ก่อนหน้าหม่อมหลวงชูชาติ กำภู
ถัดไปพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ดำรงตำแหน่ง
กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – ตุลาคม พ.ศ. 2479
ก่อนหน้าพระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)
ถัดไปพระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 กันยายน พ.ศ. 2442
อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต1 มกราคม พ.ศ. 2532 (89 ปี)
เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสสำเนียง อิงคศรีกสิการ

ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ หรือ หลวงอิงคศรีกสิการ (14 กันยายน พ.ศ. 2442 - 1 มกราคม พ.ศ. 2532) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัย อดีตอธิบดีกรมเกษตร และเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

ประวัติ[แก้]

อินทรี จันทรสถิตย์ เดิมมีชื่อว่า เอี้ยง จันทรสถิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2442 ที่ตำบลเตาปูน อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของนายอุ่น และนางเหม จันทรสถิตย์ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมจากโรงเรียนวัดคฤหบดี และระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งท่านได้รับบรรจุเป็นครูฝึกหัดสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาการเกษตรจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ลอส บันยอส และปริญญาโทในสาขาการเกษตรจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล โดยได้รับทุนรัฐบาลไทยในการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งท่านเป็นคนแรกของประเทศไทยที่จบปริญญาโททางการเกษตรในต่างประเทศ

ภายหลังจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2466 ท่านได้เข้ารับราชการครูสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมพระประโทน จังหวัดนครปฐม ก่อนจะย้ายไปประจำหลายแห่ง โดยไปที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2467 พร้อมกับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอิงคศรีกสิการ ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวาง จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2470 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2471 ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์หัวหน้าคณะที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2473 และดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2477

ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้ทำการยุบโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ท่านได้โอนราชการจากกระทรวงธรรมการไปสังกัดกรมเกษตรและการประมง โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านมีบทบาทในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2582 และได้ขอพระบรมราชานุญาตให้ถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2485 โดยใช้ชื่อและนามสกุลว่า อินทรี จันทรสถิตย์ และได้เป็นอธิบดีกรมเกษตรในเวลาต่อมา ก่อนจะลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2499 และเข้ารับราชการใหม่ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในปี พ.ศ. 2512 นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2515 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[1] ในปี พ.ศ. 2519

อินทรี จันทรสถิตย์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 ในระหว่างการรักษาโรคความดันต่ำ ณ โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 89 ปี

ผลงาน[แก้]

ด้านการเกษตร[แก้]

อินทรี จันทรสถิตย์ได้ดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญและได้ส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรตลอดที่ได้ทำงานราชการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่พื้นเมืองและนำเข้าพืชพรรณต่าง ๆ จากต่างประเทศมาเผยแพร่ เช่น ดอนย่า ต้นอินทนิลสีชมพู นุ่นพันธุ์โต มะรุมผักยาว พู่จอมพล เป็นต้น ท่านริเริ่มส่งเสริมการผลิตใบยายาสูบ ขยายงานส่งเสริมการเกษตรในระดับภาคให้มีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในส่วนภูมิภาค และได้พัฒนาปรับปรุงพืชพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร เช่น การต่อตาพันธุ์ทุเรียนที่ใกล้สูญพันธุ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมของจังหวัดนนทบุรีในปี พ.ศ. 2485 รวมถึงส่งเสริมกิจการการประมงโดยจัดสรรที่ดินให้กรมประมงและส่งเสริมโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสาขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ ภายหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้พัฒนางานทางด้านการเกษตรในมหาวิทยาลัยด้วยการทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมด้านวิชาการ เช่น จัดพิมพ์วิทยาสารเกษตรศาสตร์ จัดประชุมวิชาการเกษตรในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งยุวกสิกร เป็นต้น

ด้านการศึกษา[แก้]

อินทรี จันทรสถิตย์ได้ริเริ่มพัฒนาการเรียนการสอนและวางรากฐานการศึกษาทางการเกษตรให้กับประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่ของสถานศึกษาเพื่ออำนวยการเรียนการสอน เช่น การก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาขณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ การก่อสร้างสถานีเกษตรกลางบางเขนซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้พัฒนามหาวิทยาลัย จัดตั้งคณะใหม่ ๆ และพัฒนาอาคารสถานที่ให้พอเพียงกับการเรียนการสอนและการวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ริเริ่มให้มีการตั้งชื่ออาคารของมหาวิทยาลัยตามชื่อบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการเกษตร รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมนิสิตและก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

การเชิดชูเกียรติ[แก้]

ปริญญากิตติมศักดิ์[แก้]

สถานที่[แก้]

  • อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์พิเศษอินทรี จันทรสถิตย์ เนื่องในวาระการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับอนุสาวรีย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และอนุสาวรีย์พระช่วงเกษตรศิลปการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่หน้าอาคารสถาบันเกษตราธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ถนนจันทรสถิตย์ เป็นชื่อถนนภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจุดเริ่มตั้งแต่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรจนถึงแยกประตูงามวงศ์วาน 1
  • สนามอินทรีจันทรสถิตย์ ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2508 เป็นสนามกีฬากลางแจ้งเพื่อใช้เป็นที่แข่งขันกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยสนามฟุตบอลและกรีฑา และสนามวอลเลย์บอลชายหาด
  • อาคารอินทรีจันทรสถิตย์ หรือ ศูนย์เรียนรวม 1 เป็นอาคารศูนย์เรียนรวมหลังแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๑๗ ราย)
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๔๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๔๗๙, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕