อิซูมิ ชิกิบุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิซูมิ ชิกิบุ
ชื่อท้องถิ่น
和泉式部
เกิดค.ศ. 976 (?)
ญี่ปุ่นยุคเฮอัง
อาชีพนางสนองพระโอษฐ์, ภิกษุณี, นักเขียน
ช่วงเวลายุคเฮอัง
แนวอนุทิน, กลอน (คาชู)
ผลงานที่สำคัญอิซูมิชิกิบุนิกกิ
คู่สมรสทาจิบานะ โนะ มิจิซาดะ
ฟูจิวาระ โนะ ยาซูมาซะ
คู่อาศัยเจ้าชายทาเมตากะ ดันโจะโนะมิยะ
เจ้าชายอัตสึมิจิ
บุตรโคชิกิบุ โนะ ไนชิ

อิซูมิ ชิกิบุ (ญี่ปุ่น: 和泉式部โรมาจิIzumi Shikibu, เกิด ค.ศ. 976 ?) เป็นกวีชาวญี่ปุ่นช่วงยุคเฮอังตอนกลาง เป็นหนึ่งใน สามสิบหกอมตกวียุคกลาง (三十六歌仙) ร่วมสมัยกับมูราซากิ ชิกิบุ และอากาโซเมะ เอมง ยอดกวีหญิงแห่งราชสำนักจักรพรรดินีโชชิ ในยุคเฮอัง หญิงชั้นสูงจะไม่เปิดเผยชื่อจริงของตัว โดยชื่ออิซูมิ ชิกิบุ มาจากเขตปกครองของสามี คือ "อิซูมิ" (任国) กับหน้าที่การงานของบิดาในกรมราชพิธี คือ "ชิกิบุ" (式部)

อิซูมิ ชิกิบุเป็นกวีหญิงผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคเฮอัง มีผลงานเป็นบทกวี 242 บท และคาชูอีก 2 บท[1] เธอทิ้งบทกลอนร้อนรักไว้มากมาย ทั้งทางกายและทางโลก กล่าวกันว่าเธอเป็นหญิงงามอันตรายที่มีแต่ชายหลงรัก มีสามีสองคนและมีคนรักเป็นเจ้าชายอีกสององค์[2]: 155 

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

อิซูมิ ชิกิบุ เป็นธิดาของโอเอะ โนะ มาซามูเนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเอจิเซ็ง กับมารดาไม่ปรากฏนาม ซึ่งเป็นบุตรสาวของไทระ โนะ ยาซูฮิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดเอ็ตจู แรกเริ่มอิซูมิเริ่มถวายตัวเข้าราชสำนักเกียวโต เธอมีเพื่อนชาย (บ้างว่าเป็นสามี) นามว่าโอโมโตมารุ ข้าราชบริพารของจักรพรรดินีโชโกะ ครั้น ค.ศ. 995 อิซูมิในวัย 20 ปี สมรสกับทาจิบานะ โนะ มิจิซาดะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอิซูมิ อันเป็นที่มาของชื่อเธอ ทั้งสองมีธิดาด้วยกันคนหนึ่งชื่อ โคชิกิบุ โนะ ไนชิ เกิดใน ค.ศ. 997 และเป็นกวีเช่นมารดา ในขณะที่ยังคงสถานะภรรยาอยู่นั้น นางคบหาและลอบสังวาสกับเจ้าชายทาเมตากะ ดันโจะโนะมิยะ (弾正宮為尊親王, ค.ศ. 977-1002) พระราชโอรสลำดับที่สามในจักรพรรดิเรเซ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว ทำให้สามีและครอบครัวตัดขาดจากอิซูมิ ลงเอยด้วยการหย่ากับทาจิบานะ แต่ไม่นานหลังจากนั้นอดีตสามีก็ถึงแก่กรรม[3]: 4, 7, 9 [4] หลังจากการหย่าไม่นานนัก เจ้าชายทาเมตากะก็ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ลง เองะโมโนงาตาริ (栄花物語) กล่าวไว้เป็นนัยเกี่ยวกับการประชวรนี้ว่า "เพราะหนีออกไปข้างนอกหลายต่อหลายคืนเป็นอาจิณ"[3]: 8–9, 11 [4]

หลังเจ้าชายทาเมตากะสิ้นพระชนม์ อิซูมิก็ไปติดพันกับเจ้าชายอัตสึมิจิ (敦道親王, ค.ศ. 981–1007) พระอนุชาของเจ้าชายทาเมตากะ ปรากฏเรื่องราวนี้ในอนุทินกึ่งชีวประวัติของเธอในปีแรก อิซูมิอธิบายถึงแรงบันดาลใจในการเขียนไว้ว่า "เป็นการบันทึกบทกวีที่ทั้งสองส่งให้แก่กัน ซึ่งเขียนเพื่อเอาอกเอาใจเธอ" จากนั้นอิซูมิจึงย้ายไปพำนักในพระตำหนักของเจ้าชายอัตสึมิจิ ทั้งสองมักเกี้ยวพาราสีต่อธารกำนัล จนกระทั่งเจ้าชายอัตสึมิจิสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1007 เมื่อพระชันษาเพียง 27 ปี[3]: 12–13 [4] เรื่องราวระหว่างนางกับเจ้าชายทั้งสองปรากฏในเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เองะโมโนงาตาริ (栄花物語 "เรื่องราวแห่งความงดงาม") เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ โอกางามิ (大鏡 "กระจกบานใหญ่") เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11

ราว ค.ศ. 1009 อิซูมิเข้าเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในจักรพรรดินีโชชิ ธิดาของฟูจิวาระ โนะ มิจินางะ และพระมเหสีในจักรพรรดิอิจิโจ[3]: 14  ร่วมสมัยกับมูราซากิ ชิกิบุ, อากาโซเมะ เอมง และอิเซะ โนะ ทายู ซึ่งเป็นกวีมีชื่อเช่นกัน[3]: 14 

ปัจฉิมวัย[แก้]

อิซูมิสมรสใหม่กับฟูจิวาระ โนะ ยาซูมาซะ (ค.ศ. 958–1036) นายทหารระดับบัญชาการผู้มีชื่อเสียงด้านความกล้าหาญ จากนั้นนางจึงทูลลาออกจากราชสำนักเพื่อติดตามสามีไปจังหวัดทังโงะ นางมีอายุยืนยาวกว่าบุตรสาว บทกวีสุดท้ายถูกเขียนใน ค.ศ. 1027 เองะโมโนงาตาริ ได้รวบรวมบทกวีนี้ไว้ด้วย กล่าวถึงการถวายเครื่องเพชรพลอยของยาซูมาซะถวายแก่พระพุทธรูป "เพื่อเป็นอนุสรณ์คำนึงถึงพระพันปีโยชิโกะ"[3][5][4]: 13 [2]

อิซูมิอุทิศตนแก่พระพุทธศาสนา ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดชีวิต ได้ฉายาทางธรรมว่า เซชินอินเซโฮนิ (誠心院専意法尼)[6]

อนุทิน[แก้]

อิซูมิชิกิบุนิกกิ เขียนขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างอิซูมิกับเจ้าชายอัตสึมิจิ เรื่องดำเนินไปเป็นระยะเวลาเก้าเดือน (ค.ศ. 1003–1004) อนุทินนี้เขียนในลักษณะที่ถูกถ่ายทอดจากบุคคลที่สาม เขียนด้วยบทร้อยกรองวากะ และอีกร้อยบทเป็นเร็งงะ โครงเรื่องกล่าวถึง "ความเร่าร้อนและความไม่เอาใจใส่ของเจ้าชาย กับความขลาดและความใคร่ของอิซูมิ"[3]: 25–26  ผลงานสำคัญอีกชิ้นของเธอคือ อิซูมิชิกิบุชู (和泉式部集) และ นิจูอิจิไดชู (二十一代集)

จากชีวิตรักหลายคราวของนาง ฟูจิวาระ โนะ มิจินางะจึงให้สมญาแก่อิซูมิว่า "นางลอย" (浮かれ女)

อ้างอิง[แก้]

  1. McMillan, Peter (2008). One Hundred Poets, One Poem Each. Columbia University Press. p. 142. ISBN 9780231143998.
  2. 2.0 2.1 Mulhern, Chieko (1994). Japanese Women Writers: A Bio-Critical Sourcebook. Greenwood Press. p. 154. ISBN 0313254869.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Cranston, Edwin (1969). The Izumi Shikibu Diary. Harvard University Press. p. 15,17,203,205. ISBN 978-0674469853.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Diaries of Court Ladies of Old Japan. แปลโดย Omori, Anne Shepley; Doi, Kochi. The Riverside Press Cambridge. 1920. p. 13. ISBN 9781515057383. Introduction by Amy Lowell.
  5. Sato, Hiroaki (1995). Legends of the Samurai. Overlook Duckworth. p. 30. ISBN 9781590207307.
  6. 柴佳世乃「和泉式部」 / 小野一之・鈴木彰・谷口榮・樋口州男編 『人物伝小辞典 古代・中世編』 東京堂出版 2004年 26ページ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]