อำเภอห้วยยอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอห้วยยอด
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Huai Yot
คำขวัญ: 
ห้วยยอดเมืองตรัง เค้กลือเลื่องทั่วทิศ งามวิจิตรถ้ำเล เสน่ห์โตนคลาน ตำนานเขาปินะ กรุพระวัดหาร เล่าขาน
เลสองห้อง ถิ่นทองแดนธรรม
แผนที่จังหวัดตรัง เน้นอำเภอห้วยยอด
แผนที่จังหวัดตรัง เน้นอำเภอห้วยยอด
พิกัด: 7°34′18″N 99°20′42″E / 7.57167°N 99.34500°E / 7.57167; 99.34500
ประเทศ ไทย
จังหวัดตรัง
พื้นที่
 • ทั้งหมด747.25 ตร.กม. (288.51 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด93,996 คน
 • ความหนาแน่น125.79 คน/ตร.กม. (325.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 92130, 92190 (เฉพาะตำบลปากแจ่มและตำบลลำภูรา) , 92210 (เฉพาะตำบลนาวง ตำบลบางดี ตำบลบางกุ้ง และตำบลวังคีรี)
รหัสภูมิศาสตร์9206
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง 92130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ห้วยยอด เป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง ที่มีชื่อเรียกว่า "ห้วยยอด" เนื่องมาจากภูมิประเทศของอำเภอห้วยยอด โดยคำว่า "ห้วย" หมายถึง ลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำตรัง อันเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดที่พาดผ่านพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของอำเภอ ส่วนคำว่า "ยอด" หมายถึง ยอดเขาที่เรียงรายตลอดแนวทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอ ซึ่งเรียกว่า ภูเขาบรรทัด โดยพื้นที่ห้วยน้ำและยอดเขาสลับกันไปมา จึงได้เรียกว่าห้วยยอดมาจนปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

จากข้อมูลที่ค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2355 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่ปกครองของอำเภอห้วยยอดถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรัง ได้แก่ บ้านเขาปินะ บ้านบางกุ้ง บ้านท่าประดู่ บ้านควน บ้านหนองหงษ์ บ้านเขาขาด บ้านหนองไม้แก่น บ้านหนองแค และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรังบางส่วน ได้แก่ บ้านในเตา ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรังส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับเมืองตรัง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จประพาสเมืองตรัง ปรากฏว่ามีกรรมกรจีนจำนวนมากจากเกาะปีนัง เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกที่บ้านท่ามะปราง ทำให้ชุมชนบริเวณนั้นเจริญมากขึ้น และเกิดตลาดแห่งแรกที่บ้านท่ามะปราง ต่อมามีเรือขุดแร่ของฝรั่งมาทำการขุดแร่แถวหน้าวัดห้วยยอด จึงทำให้ชุมชนบริเวณอำเภอห้วยยอดเจริญขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ต่อมา พ.ศ. 2423 ทางราชการได้โอนเมืองตรังไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ จึงได้โอนพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังมาขึ้นกับเมืองตรังด้วย ทำให้เกิดแขวงขึ้น 4 แขวง คือ แขวงบางกุ้ง แขวงบ้านนา แขวงปากคม แขวงเขาขาว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2430 จึงได้รวมท้องที่บ้างส่วนของเมืองนครศรีธรรมราชทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรังเป็น อำเภอเขาขาว ขึ้น โดยตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลเขาขาว ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำการอำเภอมาตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำพราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอในปัจจุบันนี้ แต่ยังเป็นชื่ออำเภอเขาขาว ต่อมาได้แยกพื้นที่ตำบลน้ำพรายบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอออกมาตั้งเป็นตำบลใหม่ ให้ชื่อว่า "ตำบลห้วยยอด" ดังนั้นในปี พ.ศ. 2455 จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น อำเภอห้วยยอด เพื่อให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเขาขาวอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอห้วยยอดจนกระทั่งปัจจุบัน[1]

เดิมเขตการปกครองในจังหวัดตรังมีเพียง 6 อำเภอ และอำเภอห้วยยอดเป็นอำเภอเดียวที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล เนื่องพื้นฐานเศรษฐกิจของอำเภอห้วยยอดมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้น จึงได้มีการแยกส่วนการปกครองของจังหวัดเพิ่มขึ้น และเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2534 ได้แยกส่วนหนึ่งของอำเภอห้วยยอด ได้แก่ ตำบลควนเมา ตำบลคลองปาง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองปรือ และตำบลเขาไพรออกไปเป็นอำเภอรัษฎา ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย[2]

ภูมิศาสตร์[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอห้วยยอดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ภูมิประเทศ[แก้]

สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นที่ดอนลาดจากเทือกเขาบรรทัดทางทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศเหนือ

ภูเขา เป็นภูเขาจากทิวเขาบรรทัด ส่วนใหญ่อยู่ในตำบลในเตา ตำบลท่างิ้ว ตำบลเขาปูน และตำบลปากแจ่ม

แม่น้ำ ได้แก่ แม่น้ำตรัง ซึ่งต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ไหลผ่านตำบลต่าง ๆ ของอำเภอห้วยยอด หลายตำบล ผ่านอำเภอเมืองตรังและอำเภอกันตังออกทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย ราษฎรสามารถใช้ในเกษตรกรรม และในฤดูฝนเมื่อฝนตกหนักทำให้น้ำหลากผ่านแม่น้ำตรังทำให้เกิดอุทกภัยในตำบลต่าง ๆ ของอำเภอ

อำเภอห้วยยอดอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดตรัง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยยอดในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด ตัวอำเภอมีพื้นที่ประมาณ 762.63 ตารางกิโลเมตร[3]

ภูมิอากาศ[แก้]

พื้นที่อำเภอห้วยยอดได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออก ฝนจะเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคม และจะมีฝนตกระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม เป็นการเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะย่างเข้าสู่ฤดูร้อนไปจนถึงเดือนมิถุนายน

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอห้วยยอดแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 16 ตำบล 133 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ห้วยยอด (Huai Yot) 05 หมู่บ้าน 9. ปากคม (Pak Khom) 07 หมู่บ้าน
2. หนองช้างแล่น (Nong Chang Laen) 12 หมู่บ้าน 10. ท่างิ้ว (Tha Ngio) 08 หมู่บ้าน
3. บางดี (Bang Di) 12 หมู่บ้าน 11. ลำภูรา (Lamphu Ra) 10 หมู่บ้าน
4. บางกุ้ง (Bang Kung) 09 หมู่บ้าน 12. นาวง (Na Wong) 11 หมู่บ้าน
5. เขากอบ (Khao Kop) 12 หมู่บ้าน 13. ห้วยนาง (Huai Nang) 08 หมู่บ้าน
6. เขาขาว (Khao Khao) 07 หมู่บ้าน 14. ในเตา (Nai Tao) 04 หมู่บ้าน
7. เขาปูน (Khao Pun) 07 หมู่บ้าน 15. ทุ่งต่อ (Thung To) 08 หมู่บ้าน
8. ปากแจ่ม (Pak Chaem) 07 หมู่บ้าน 16. วังคีรี (Wang Khiri) 06 หมู่บ้าน
 แผนที่ตำบล

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอห้วยยอดประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 19 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลห้วยยอด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลห้วยยอด และบางส่วนของตำบลเขาปูน
  • เทศบาลตำบลนาวง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบางดี บางส่วนของตำบลบางกุ้ง บางส่วนของตำบลนาวง และบางส่วนของตำบลวังคีรี
  • เทศบาลตำบลลำภูรา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลลำภูรา
  • เทศบาลตำบลท่างิ้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่างิ้วทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลห้วยนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยนางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยอด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยยอด (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองช้างแล่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองช้างแล่นทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางดี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางดี (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาวง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางกุ้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกุ้ง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาวง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขากอบทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาขาวทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเขาปูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาปูน (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปากแจ่ม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากแจ่มทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปากคม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากคมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลลำภูรา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลำภูรา (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลลำภูรา)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาวง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาวง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลในเตา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเตาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งต่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งต่อทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังคีรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังคีรี (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลนาวง)

ประชากร[แก้]

อำเภอห้วยยอดมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 90,931 คน ชาย จำนวน 45,487 คน หญิงจำนวน 45,444 คน ความหนาแน่นของประชากร 121.69 คน/ตารางกิโลเมตร (สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2548) [3]

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ทำสวนปาล์ม และทำนา อาชีพเสริม ได้แก่ ทำไร่และทำสวนผลไม้

สถานที่ที่น่าสนใจ[แก้]

สถานีรถไฟห้วยยอด
โรงพระ (ศาลเจ้า)
วัดถ้ำพระพุทธ
ขนมเค้กตรัง

ตำบลห้วยยอด[แก้]

สถานีรถไฟห้วยยอด เดิมเป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาทำการขยายต่อเติมที่พักผู้โดยสารเมื่อ พ.ศ. 2510 บริเวณลานจอดรถด้านหน้าสถานีและที่ทำการแขวงบำรุงทางห้วยยอด มีรถซ่อมบำรุงทางของเก่าตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกจอดเป็นอนุสรณ์อยู่กลางวงเวียนขนาดเล็ก

อำเภอห้วยยอดมีการจัดเทศกาลกินเจซึ่งถือปฏิบัติกันมายาวนาน โดยมีศาลเจ้า (โรงพระ) ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ศาลเจ้าแม่กวนอิมและศาลเจ้ากิมอ๋องซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกัน ที่นี่จะมีการกินเจปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณเดือนสิงหาคม กินเจเนื่องในโอกาสวันเกิดเจ้าแม่กวนอิม โดยมีระยะเวลา 7 วัน ส่วนครั้งที่สองก็คือช่วงเทศกาลกินเจที่เรารู้จักกันทั่วประเทศ คนห้วยยอดจะเรียกกินเจนี้ว่ากินเจของกิวอ๋อง

  • น้ำตกโตนคลาน

น้ำตกโตนคลาน เป็นน้ำตกขนาดเล็ก เกิดขึ้นจากป่าต้นน้ำในแนวเทือกเขาบรรทัด มีน้ำไหลตลอดปี ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร

  • เขาพระยอด

เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่เพิ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ราวปี พ.ศ. 2545 เนื่องจากสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขาขนาดเล็ก สามารถมีความเงียบสงบ และมองเห็นทิวทัศน์ของตัวอำเภอห้วยยอดจากมุมสูงได้ จึงเป็นอีกสถานที่ ที่ได้รับความนิยมทั้งจากนักปฏิบัติธรรม และนักท่องเที่ยวในการแวะขึ้นไป

ตำบลเขากอบ[แก้]

ถ้ำเลเขากอบเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ทำให้เกิดธารน้ำไหลตลอดถ้ำบนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นภูเขาผาหินสูงชันสลับซับซ้อน มีลำคลองที่ไหลมาจากทิวเขาบรรทัด เมื่อไหลมาถึงบริเวณเขากอบจะแยกออกเป็น 3 สาย โดย 2 สายจะไหลอ้อมภูเขาและอีกสายหนึ่งจะไหลลอดถ้ำใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ระยะทาง 4 กิโลเมตร องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบได้จัดเรือพายบริการนำเที่ยวชมความงามของถ้ำ ถือเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนในท้องถิ่น ค่าบริการเรือลำละ 200 บาทต่อ 6 คน หรือคนละ 30 บาท ใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ล่องเรือได้ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ โทร. 0 7520 6620, 0 7550 0088

การเดินทาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยยอดไปตามถนนเพชรเกษมประมาณ 7 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าบ้านเขากอบประมาณ 700 เมตร

ตำบลนาวง[แก้]

  • วัดถ้ำเขาปินะ

ห่างจากถ้ำเลเขากอบไปบนถนนเพชรเกษม เป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเขาปินะ บริเวณเขาปินะนี้ มีถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งเดิมเป็นแหล่งที่อยู่ของค้างคาว ต่อมาได้มีพระภุดงค์มาพำนักและได้รับศรัทธาจากชาวบ้านสร้างกุฎิถวายบริเวณเชิงเขาแทน จึงได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ และยกระดับเป็นวัดในเวลาต่อมา

ตำบลบางดี[แก้]

  • ทะเลสองห้อง

ทะเลสองห้องตั้งอยู่ที่ตำบลบางดี ห่างจากตัวอำเภอห้วยยอดประมาณ 27 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม สายห้วยยอด-กระบี่ ถึงสามแยกท่ามะพร้าว แยกขวาไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติกว้างใหญ่คล้ายทะเลสาบโอบล้อมด้วยภูเขาหลายลูก ดูสลับซับซ้อนและอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้นานาชนิด ตอนกลางของแอ่งน้ำมีเขายื่นออกมาเกือบติดต่อกัน แบ่งแอ่งน้ำออกเป็น 2 ตอน จึงเป็นที่มาของชื่อทะเลสองห้อง

  • ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ

ทะเลสองห้องยังเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่ายลูกเสือระดับชาติประจำภาคใต้อีกด้วย ค่ายลูกเสือแห่งนี้มีทัศนียภาพสวยงามของภูเขา และทะเลสาบสองห้อง มีอาคารประชุม ที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่ค่ายพักแรมพร้อม ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดตรังเพียง 60 นาที สถานที่ติดต่อค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติบ้านทะเลสองห้อง หมู่ที่ 10 ตำบลบางดี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โทร. 0 7521 0258

วัดถ้ำเขาสายเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นที่ตั้งเมืองตรังครั้งแรก มีบันทึกในประวัติศาสตร์เป็นหนังสือที่เขียนโดยทอเลมี นักปราชญ์ชาวกรีกซึ่งได้กล่าวถึง แม่น้ำไครโลนาส หมายถึง แม่น้ำตรัง แม่น้ำอัตตาบาส์ หมายถึง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปะลันดา หมายถึง คลองโอ๊ก และคลองมีนในจังหวัดตรัง เป็น 1 ในแหล่งมวลสารวัตถุจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา

ตำบลลำภูรา[แก้]

เดิมชื่อวัดถ้ำพระ ตั้งอยู่เลขที่ 5/1 หมู่ที่ 6 บ้านถ้ำพระ ตำบลหนองบัว สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินทั้งวัดเนื้อที่ 84 ไร่ 60 ตารางวา เป็น 1 ในแหล่งมวลสารวัตถุจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา

ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านชายเขา ตำบลลำภูรา ทางเข้าอยู่ตรงข้ามกับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ที่ตั้งของวัดเป็นภูเขาสูงมีทางเดินขึ้นภูเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของจังหวัดตรังโดยทั่วไปได้อย่างชัดเจน ภายในถ้ำสามารถเดินเข้าไปชมหินงอกหินย้อยได้ และถายในบริเวณวัดมีสถานที่กว้างสามารถจอดรถได้อย่างสะดวก ทั้งยังอยู่ในบริเวณเดียวกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพรายอีกด้วย

  • หมู่บ้านขนมเค้ก

ตำบลลำภูราเป็นแหล่งกำเนิดของเค้กขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง ซึ่ง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้เคยมาแวะชิมและแนะนำให้คนไทยได้รู้จัก เค้กขึ้นชื่อของลำภูรามีลักษณะที่ไม่เหมือนเค้กทั่วไปคือ ตรงกลางของขนมเค้กจะมีช่องว่างตรงกลางเป็นวงกลม ร้านจำหน่ายขนมเค้ก ได้แก่ เค้กขุกมิ่ง เค้กนำเก่ง เค้กศรียง เค้กศิริวรรณ เค้กช่อลดา ลำภูรา เป็นต้น

ธนาคาร[แก้]

  • ธนาคารกรุงเทพ สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารทหารไทย สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารธนชาต 1 สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารธนชาต 2 สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารออมสิน สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาห้วยยอด (ตรัง)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาย่อยลำภูรา (ตรัง)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขานาวง (ตรัง)
  • ธนาคารกรุงไทย สาขาห้วยยอด (ตรัง)

สถานศึกษา[แก้]

  • มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาคารห้วยยอด (ศูนย์ตรัง ห้วยยอด)
  • วิทยาลัยการอาชีพห้วยยอด
  • โรงเรียนห้วยยอด
  • โรงเรียนห้วยยอด (กลึงวิทยาคาร)
  • โรงเรียนเทศบาลห้วยยอดวิทยา
  • โรงเรียนวิวัฒน์วิทยา
  • โรงเรียนธาดาอนุสรณ์
  • โรงเรียนสามัคคีศึกษา
  • โรงเรียนห้วยนางราษฎร์บำรุง
  • โรงเรียนในเตาพิทยาคม
  • โรงเรียนบางดีวิทยาคม
  • โรงเรียนลำภูราเรืองวิทย์
  • ฯลฯ

การเดินทาง[แก้]

  • ทางรถยนต์
    • เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯ ลงมาจนถึงแยกปฐมพร จังหวัดชุมพร แล้วแยกเข้าจังหวัดระนอง ลงมาตามถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ อำเภอวังวิเศษ เข้าสู่อำเภอห้วยยอด จนกระทั่งถึงแยกห้วยยอด ตรงเข้ามาทางเส้นทางเก่า จะถึงที่ว่าการอำเภอห้วยยอด เส้นทางนี้เป็นถนนสายหลักดั้งเดิม แต่จะมีความคดเคี้ยวของถนนมากและค่อนข้างเปลี่ยวโดยเฉพาะในช่วงเส้นทางจากชุมพร-ระนอง-พังงา การขับขี่ต้องอาศัยความระมัดระวัง แต่จะเป็นเส้นทางที่ผู้ขับขี่ได้สัมผัสอำเภอได้มากและผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญต่าง ๆ ของอำเภอ
    • เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯ ลงมาถึงจังหวัดชุมพร จึงใช้เส้นทางสายเอเชียเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณทางแยกเข้าอำเภอทุ่งสง จะต้องกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟเพื่อเข้าสู่อำเภอห้วยยอด เส้นทางดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 812 กิโลเมตร เป็นถนน 4 ช่องทางจราจรตลอดเส้นทาง การเดินทางค่อนข้างสะดวกสบาย และเป็นเส้นทางที่รถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ-ตรัง ใช้เดินทางในปัจจุบัน
  • ทางรถไฟ
    ปัจจุบันมีรถไฟ 2 ขบวน เดินทางโดยตรงจากกรุงเทพ ถึงจังหวัดตรัง โดยทั้งสองขบวนจะแวะรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟห้วยยอด ได้แก่
    • ขบวนรถด่วนขบวนที่83 กรุงเทพฯ-ตรัง ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 17.30 น. ถึงสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 8.00 น. โดยประมาณ
    • ขบวนรถด่วนขบวนที่84 ตรัง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางจากสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 18.00 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 8.35 น. โดยประมาณ
    • ขบวนรถเร็วขบวนที่167 กรุงเทพฯ-กันตัง ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 18.20 น. ถึงสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 11.40 น. โดยประมาณ
    • ขบวนรถเร็วขบวนที่168 กันตัง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางจากสถานีรถไฟห้วยยอด เวลา 14.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 5.35 น. โดยประมาณ

บุคคลสำคัญ[แก้]

  • ขุนกอบ คีรีกิจ (นายอิน วรรณบวร) ผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่งกำนันตำบลเขากอบ[4]
  • นายทวี สุระบาล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดตรังหลายสมัย
  • นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดตรังคนปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เรื่องน่ารู้[แก้]

  • ที่จังหวัดตรังเป็นจังหวัดเดียวที่ยังคงเรียกปาท่องโก๋ ว่า จาโก้ว ซึ่งเป็นชื่อเรียกภาษาจีนที่ถูกต้อง
  • อำเภอห้วยยอด มีขนมปาท่องโก๋ ต้นตำรับวางจำหน่ายในตลาดเช้าทุกวัน โดยมีจำหน่ายมากเป็นพิเศษทุกวันพระ
  • ตามบันทึกประวัติศาสตร์ อำเภอห้วยยอดเป็นที่ตั้งเมืองตรังครั้งแรก ตั้งแต่สมัยอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาจึงได้มีการย้ายเมืองอีกหลายลงใต้ไปตามแม่น้ำตรัง ที่สุดจึงย้ายไปอยู่ ณ ที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.huaiyot.dopatrang.go.th/history.php
  2. http://www.dmcr.go.th/dclm/DownloadAlldata/doc/trang.doc
  3. 3.0 3.1 http://www.huaiyot.dopatrang.go.th/general1.php
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-01.

พิกัดภูมิศาสตร์: 7°47′22″N 99°36′17″E / 7.78931°N 99.60480°E / 7.78931; 99.60480