อำเภอหนองบัวระเหว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อำเภอหนองบัวละเหว)
อำเภอหนองบัวระเหว
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Nong Bua Rawe
ทุ่งดอกปทุมมาในอุทยานแห่งชาติไทรทอง
ทุ่งดอกปทุมมาในอุทยานแห่งชาติไทรทอง
คำขวัญ: 
บึงระเหวกว้างใหญ่ เจ้าพ่อหลวงอภัยคุ้มบ้าน
น้ำตกไทรทองสวยตระการ มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ทุ่งบัวสวรรค์เสียดฟ้า มีทอผ้าทุกสมัย
สืบสานกีฬาพื้นบ้านไทย งามวิไลเหวน้ำโตน
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอหนองบัวระเหว
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอหนองบัวระเหว
พิกัด: 16°4′54″N 101°48′12″E / 16.08167°N 101.80333°E / 16.08167; 101.80333
ประเทศ ไทย
จังหวัดชัยภูมิ
พื้นที่
 • ทั้งหมด841.8 ตร.กม. (325.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด38,548 คน
 • ความหนาแน่น45.79 คน/ตร.กม. (118.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 36250
รหัสภูมิศาสตร์3608
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอหนองบัวระเหว ถนนเทศบาล 5 ตำบลหนองบัวระเหว อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 36250
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

หนองบัวระเหว [หฺนอง-บัว-ระ-เหฺว][1] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอหนองบัวระเหวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

ประวัติ[แก้]

  • อำเภอหนองบัวระเหว เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่ง ขึ้นอยู่กับตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส ราษฎรดั้งเดิมอพยพมาจากท้องถิ่นอื่นเป็นชนชาวเผ่าละวัง ซึ่งมี นายทับ น้อยจัตุรัส และนายเคน กุลแย้ม เป็นหัวหน้า อีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากบ้านผ้าขาวพันนา มีนายด้วง ภิรมย์ภักดิ์ เป็นหัวหน้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นที่โนนบ้านเล่า (สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 145 ปีเศษมาแล้ว อยู่ที่บ้านโนนเก่าได้ประมาณ 5-6 ปี ได้เกิดเป็นโรคทรพิษระบาด มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้พากันอพยพหนีไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งลำน้ำชี ซึ่งเรียกว่า "ท่าผักเฉด" ห่างจากที่เดิมประมาณ 5 กิโลเมตร แต่อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกการทำมาหากินลำบาก จึงย้ายจากบ้านท่าผักเฉดมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ที่โนนที่ตั้งโรงเรียนชุมชนบ้านหนองบัวระเหว ในปัจจุบัน โดยขยับขยายหมู่บ้านใหญ่ขึ้น และให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหนองบัว" โดยถือเอาชื่อหมู่บ้านเดิมที่ตั้งอยู่ที่โนนบ้านเก่า มาเป็นชื่อหมู่บ้านเพราะหมู่บ้านเดิมอยู่ติดกับหนองบัว อาศัยน้ำจากหนองบัว ซึ่งเป็นหนองน้ำอยู่ทิศตะวันตกของอำเภอหนองบัวระเหว เป็นแหล่งน้ำของหมู่บ้าน
  • ต่อมาผู้นำในหมู่บ้านเห็นว่าชื่อ "บ้านหนองบัว" มีซ้ำกันอยู่หลายหมู่บ้านด้วยกันเช่น บ้านหนองบัวบาน บ้านหนองบัวใหญ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเสียใหม่ว่า "บ้านหนองบัวระเหว"
  • สาเหตุที่ตั้งชื่อว่า หนองบัวระเหว ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าลือ กันต่อมามีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ
    • ประเด็นแรก ทหารได้เข้ามาส่องกล้องถางป่าเป็นทางเล็กๆ ลากเส้นกระแสวัดไปตามลำห้วยที่ผ่านหมู่บ้าน (เรียกว่า เซอร์เวย์) แต่ชาวบ้านเรียกว่า "ระเว" ซึ่งหมายถึงการแทรก หรือวัด และจึงเรียกลำห้วยที่ทหารเข้ามาเซอร์เวย์ว่า "ระเว" ต่อมาหลายปีเข้ามาจึงมีเสียงเรียกเพี้ยนไปเป็น "ห้วยระเหว"
    • ประเด็นที่สอง ลำห้วยระเหวตั้งต้นมาจากเขาสามพัก ไหลคู่กันมากับลำห้วยส้มป่อย มาทางทิศตะวันออกเรื่อยมาตามลำดับจนถึงบ้านวังกุงในปัจจุบัน ลำห้วยเกิดไหลวกขึ้นทางทิศเหนือไปเสียดื้อๆ จนถึงลำห้วยเชียงทา (ทางข้ามไปบ้านละหานค่ายเดิม) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อลำห้วยนี้ว่า "ห้วยไหลเว" เพราะไหลหนีไปทางทิศเหนือ ต่อมาคำว่าไหลเวเพี้ยนเป็น "ระเหว" ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านจึงให้เอาชื่อของลำห้วยมาต่อท้ายชื่อหมู่บ้าน ละเปลี่ยนชื่อจาก "บ้านหนองบัว" มาเป็น "บ้านหนองบัวระเหว" จนถึงปัจจุบัน
  • บ้านหนองบัวระเหว เดิมขึ้นอยู่กับบ้านหนองบัวบาน เป็นบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เมื่อมีหมู่บ้านมากขึ้น ทางราชการจึงตั้งเป็นตำบล เรียกว่า ตำบลหนองบัวระเหว ต่อมาทางราชการเห็นว่าตำบลหนองบัวระเหวเป็นตำบลใหญ่ จึงได้แยกตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่งเรียกว่า "ตำบลวังตะเฆ่" ขึ้นกับอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
  • ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2517 นายชวลิต โรจนากร นายอำเภอจัตุรัส ได้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ขอแบ่งเขตท้องที่ตำบลหนองบัวระเหว ตำบลวังตะเฆ่ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า "กิ่งอำเภอหนองบัวระเหว" มีอาณาเขตปกครอง 2 ตำบล คือ ตำบลหนองบัวระเหว ตำบลวังตะเฆ่ และกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศตั้งถิ่นอำเภอหนองบัวระเหว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2521 ที่ว่าการอำเภอหนองบัวระเหว ตั้งอยู่บ้านหนองบัวระเหว ตำบลหนองบัวระเหว อยู่ในเขตการปกครองของ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้แต่งตั้งนายวีระ ทิพย์รักษ์ ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครอง 5) ดำรงตำแหน่ง ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหนองบัวระเหว เป็นคนแรก ต่อมาได้มีการประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 30 ธันวาคม 2530 ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอหนองบัวระเหว เป็น "อำเภอหนองบัวระเหว" มีนายสุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเป็นคนแรก

คำขวัญ[แก้]

  • คำขวัญเก่า คือ หนองบัวระเหวกว้างใหญ่ เจ้าพ่อหลวงอภัยคุ้มบ้าน กอรอยักษ์ตั้งตระหง่าน ทุกหมู่บ้านร่วมใจพัฒนา เร่งรัดไร่สวนผสม 12 เมษาชมกีฬาพื้นบ้าน เย็นซาบซ่านน้ำตกไทรทอง ผองพี่น้องรู้รักสามัคคี ชื่นชมคนดีทุกชีวีมีสุข
  • คำขวัญใหม่ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2553) คือ บึงระเหวกว้างใหญ่ เจ้าพ่อหลวงอภัยคุ้มบ้าน น้ำตกไทรทองสวยตระการ มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทุ่งบัวสวรรค์เสียดฟ้า มีทอผ้าทุกสมัย สืบสานกีฬาพื้นบ้านไทย งามวิไลเหวน้ำโตน

ส่วนราชการ[แก้]

ส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในที่ว่าการอำเภอหนองบัวระเหว (หลังใหม่) ประกอบด้วยที่ทำการปกครองอำเภอ (ฝ่ายสำนักงานอำเภอ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรม ฝ่ายโครงการชุมชนพอเพียงและเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายอำนวยความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายการเงินและบัญชี ฝ่ายทะเบียนและบัตร ทั้งนี้ บางฝ่ายจัดตั้งเป็นการภายใน) สำนักงานท้องถิ่นอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สำนักงานสรรพากรอำเภอ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานสัสดีอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานที่ดินอำเภอ สำนักงานประสานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอ สำนักงานประสานงานป่าไม้อำเภอ สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอ สำนักงานการกีฬาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอ ส่วนราชการอื่นซึ่งมีที่ทำการแยกอาคารต่างหาก ประกอบด้วยสำนักงานเกษตรอำเภอ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัยหรือ กศน. ห้องสมุดประชาชน ศูนย์ประสานงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ทำการไฟฟ้า ธนาคาร ธกส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ฯลฯ

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอหนองบัวระเหวแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 5 ตำบล 58 หมู่บ้าน ได้แก่

1. หนองบัวระเหว (Nong Bua Rawe) 09 หมู่บ้าน
2. วังตะเฆ่ (Wang Takhe) 18 หมู่บ้าน
3. ห้วยแย้ (Huai Yae) 14 หมู่บ้าน
4. โคกสะอาด (Khok Sa-at) 09 หมู่บ้าน
5. โสกปลาดุก (Sok Pla Duk) 08 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอหนองบัวระเหวประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลหนองบัวระเหว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวระเหวทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลห้วยแย้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยแย้ทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลโคกสะอาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกสะอาดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังตะเฆ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังตะเฆ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโสกปลาดุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโสกปลาดุกทั้งตำบล

แหล่งน้ำสำคัญ[แก้]

  • แม่น้ำชี เป็นลำน้ำสายหลักของอำเภอ
  • ลำห้วยระเหว ไหลผ่านตำบลหนองบัวระเหว
  • ลำเชียงทา เป็นลำน้ำตั้งต้นจากตำบลวังตะเฆ่ ผ่านตำบลโคกสะอาดและตำบลหนองบัวระเหว
  • ลำห้วยแย้ เป็นลำน้ำสำคัญของตำบลห้วยแย้
  • ลำห้วยตะโก เป็นลำน้ำที่ไหลผ่าน ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่และตำบลโคกสะอาด
  • อ่างเก็บน้ำท่าช้าง เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญในเขตตำบลโสกปลาดุก
  • บึงหนองบัวระเหว พื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ เป็นแหล่งประปา แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งประมง ซึ่งมีกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ (ขนาด 3 ตัว น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ดูรายละเอียดในเว็บของอำเภอ)

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

อุทยานแห่งชาติไทรทอง[แก้]

อุทยานแห่งชาติไทรทองมีพื้นที่หลักและทางเข้าอยู่ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว มีอาณาเขตครอบคลุมอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 199,375 ไร่ หรือ 319 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผืนป่าบนทิวเขาพังเหย ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า "ทุ่งบัวสวรรค์" มีน้ำตกไทรทองที่สวยงาม

ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำหลายลูกเรียงรายสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถึงสูงสุดที่ยอดเขาพังเหย 1,008 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำห้วยโป่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ล้ำน้ำเจา ลำน้ำเจียง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำชี หมู่บ้านสำคัญที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ในเขตอำเภอหนองบัวระเหวคือหมู่บ้านหลังสันและหมู่บ้านปากดง ซึ่งสามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้หลากหลายชนิด เช่น แมคาเดเมีย อาโวคาโด ชาโยเตหรือฟักแม้วหรือมะระหวาน เสาวรส และกาแฟ

พื้นที่ป่าแห่งนี้จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

  1. ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ลักษณะของฝนที่ตกส่วนมากจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง อิทธิพลของพายุดีเปรสชันจะได้รับไม่มากนัก ฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน
  2. ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
  3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ป่าดิบแล้ง พบทางตอนเหนือของทิวเขาพญาฝ่อ และตอนกลางของทิวเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก กระบาก ตะเคียนหิน มะค่าโมง มะม่วงป่า ประดู่ นนทรีป่า สาธร และเขล็ง ฯลฯ
  2. ป่าเต็งรัง พบมากบริเวณพื้นที่สันเขาและพื้นที่ลอนลาดตอนล่างในทิวเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ พะยอม เต็ง รัง พลวง ตีนนก กว้าว แดง รัก กระบก ส้าน ไผ่ และหญ้าชนิดต่าง ๆ
  3. ป่าเบญจพรรณ พบไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่าง ๆ

สัตว์ป่าที่พบเห็นได้ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้แก่ หมูป่า อ้น อีเห็น ชะมด เก้ง กระจง กระรอก กระแต กระต่ายป่า นกตะขาบทุ่ง นกกระปูด อีกา เหยี่ยว ไก่ป่า ตะกวด แย้ ตุ๊กแก กิ้งก่า งู กบ ปาด เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ และพบปลาบางชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ

ภายในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ประกอบด้วยจุดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ได้แก่

  • น้ำตกไทรทอง อยู่ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยาน ตัวน้ำตกสูงประมาณ 5 เมตร ลานหินกว้างประมาณ 80 เมตร มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่บริเวณหน้าน้ำตก เรียกว่า "วังไทร" สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกขึ้นไปมีวังน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า "วังเงือก" น้ำจะไหลลงมาตามความคดเคี้ยวของลานหินลงสู่น้ำตก ยาวประมาณ 150 เมตร เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชวนชมมีเส้นทางเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติ ระหว่างทางมีจุดที่เด่นน่าชมคือ ผาพิมพ์ใจ ดงเฟิร์น น้ำตกบุษบากร และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สวยงามตลอดเส้นทาง
  • ต้นไม้พันปี ตามเส้นทางไปสู่น้ำตกทางด้านซ้ายมือลึกเข้าไปประมาณ 50 เมตร จะมีต้นกระบากใหญ่ขนาดประมาณ 5 คนโอบ เรียกว่า ต้นไม้พันปี นับว่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่มากต้นหนึ่งของประเทศไทย สำหรับความสูงยังไม่มีผู้ใดประมาณไว้ เนื่องจากต้นไม้พันปีขึ้นอยู่ในหุบ เมื่อมองจากด้านบนจึงไม่เห็นความเด่น
  • น้ำตกชวนชม อยู่เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตัวน้ำตกสูงประมาณ 20 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร อยู่ภายใต้แมกไม้ที่ร่มรื่น และมีน้ำตกไหลตลอดปี
  • ทุ่งดอกกระเจียว (ทุ่งบัวสวรรค์) มีอยู่มากบริเวณสันเขาพังเหยทางด้านทิศตะวันตก มีอยู่ 5 ทุ่งใหญ่ ๆ ด้วยกัน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 12 กิโลเมตร ดอกกระเจียวมีทั้งดอกสีชมพูและสีขาวซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายนัก ในช่วงฤดูฝนระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคม จะออกดอกสวยงามเต็มท้องทุ่ง ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บริเวณทุ่งดอกกระเจียวจะมีพันธุ์ไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่ให้ดอกสีม่วง ชมพู ส้ม และเหลืองสวยงาม เช่น ดอกดุสิตา สร้อยสุวรรณ จุกนารี กระดุมเงิน กระดุมทอง เอื้องนวลจันทร์ หงอนไก่แจ้ สามพันตึง และดาวเรืองภู เป็นต้น
  • ผาพ่อเมือง' อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 10 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปสู่ทุ่งบัวสวรรค์ ลักษณะเป็นแนวหน้าผาตามสันเขาพังเหย ทางด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เมื่อมองลงไปทางเบื้องล่างจะเห็นตัวอำเภอภักดีชุมพล และทิวเขาพญาฝ่อซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดชัยภูมิ มีเส้นทางเดินชมธรรมชาติลัดเลาะไปตามแนวหน้าผา มีจุดชมวิวอยู่หลายจุดด้วยกันคือ ผาเพลินใจ ผาอาทิตย์อัสดง ผาสวนสวรรค์ และผาหำหด
  • ผาหำหด ได้ชื่อว่าเป็นหน้าผาที่น่าหวาดเสียวที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุด เมื่อขึ้นไปอยู่บนชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา

วัดเขาตาเงาะ[แก้]

เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอหนองบัวระเหวและใกล้เคียง จะมีพิธีทำบุญมุทิตาจิตพระอาจารย์จื่อ การแสดงธรรมเทศนา การเลี้ยงและแจกจ่ายอาหาร เครื่องดื่มฟรี ประมาณปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี มีทัศนียภาพสวยงาม ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีภาพวาดพระเวสสันดรชาดกที่ประณีตสวยงาม มีพิพิธภัณฑ์ไม้สักทองที่มีพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ติดต่ออำเภอหนองบัวระเหวที่ rawehappiness@hotmail.com

ศาลเจ้าพ่อหลวงอภัยและเจ้าแม่อรพิม[แก้]

เป็นศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอหนองบัวระเหว ปกติจะมีพิธีแห่เจ้าพ่อและพิธีบวงสรวงสักการะประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี ถือเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญของอำเภอหนองบัวระเหว ในการจัดงานประจำปีจะจัดขึ้นในต้นเดือนธันวาคมของทุกปี

สวนสาธารณะและสวนสุขภาพบึงหนองบัวระเหว[แก้]

เป็นสถานที่ที่มีทิวทัศน์บึงหนองบัวระเหวที่สวยงาม ร่มรื่น เย็นสบาย เป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานประเพณีลอยกระทง รวมทั้งการทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2557, หน้า 55.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]