อำเภอปะเหลียน
อำเภอปะเหลียน | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ: ชาวปะเหลียน รักศักดิ์ศรี มีวินัย น้ำตกใส ทะเลกว้าง สร้างความดี | |
พิกัดภูมิศาสตร์: 7°10′18″N 99°41′12″E / 7.17167°N 99.68667°E | |
อักษรไทย | อำเภอปะเหลียน |
อักษรโรมัน | Amphoe Palian |
จังหวัด | ตรัง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 973.13 ตร.กม. (375.73 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2560) | |
• ทั้งหมด | 67,523 |
• ความหนาแน่น | 69.38 คน/ตร.กม. (179.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 92120, 92140 (เฉพาะตำบลบางด้วน บ้านนา และท่าพญา), 92180 (เฉพาะตำบลทุ่งยาว ลิพัง ปะเหลียน แหลมสอม และสุโสะหมู่ที่ 5) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 9204 |
ที่อยู่ ที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอปะเหลียน หมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 92120 |
![]() |
ปะเหลียน เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตรัง
เนื้อหา
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
ที่ว่าการอำเภอปะเหลียนตั้งอยู่บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าม พิกัด NH927762 ห่างจากตัวจังหวัดตรังไปทางทิศใต้ 44 กิโลเมตรตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 404 (ตรัง-ปะเหลียน) และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 900 กิโลเมตร ท้องที่ปกครองของอำเภอมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอย่านตาขาว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอกงหราและอำเภอตะโหมด (จังหวัดพัทลุง)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทุ่งหว้า (จังหวัดสตูล) และทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอหาดสำราญและอำเภอกันตัง
ที่มาของชื่ออำเภอ[แก้]
มีผู้พยายามค้นหาความหมายและความเป็นมาของคำว่า "ปะเหลียน" จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะเมืองปะเหลียนมีประวัติยาวนานหลายชั่วอายุคน ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่สามารถค้นหาได้จึงเป็นเพียงแต่คำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาและเป็นข้อสันนิษฐานที่พอจะรับฟังได้ คือ
- "ปะเหลียน" เป็นสถานที่ที่มีทรัพยากรมาก มาจากคำว่า "ปะ" แปลว่า พบหรือเจอ และ "เหลียน" แปลว่า สิ่งที่มีค่า เพี้ยนมาจากคำว่า เหรียญ คือของมีค่า
- "ปะเหลียน" เพี้ยนมาจากคำในภาษามลายูจากเดิมว่า "ปราเลียน" แปลว่า ทอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่มีผู้ใดทราบถึงความหมายอันแท้จริงของคำว่าปะเหลียน แต่ปะเหลียนก็เป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอที่ติดต่อกับทิวเขาบรรทัดซึ่งกั้นแดนระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง ในสมัยก่อนชาวพัทลุงได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตำบลปะเหลียนเป็นจำนวนมาก สำหรับที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านท่าข้าม หมู่ที่ 1 ตำบลท่าข้าม ซึ่งสมัยก่อนเป็นท่าเรือสำคัญที่ใช้ติดต่อคมนาคมกับจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันและมลายูหรือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน
ประวัติ[แก้]
ในสมัยก่อนท้องที่อำเภอปะเหลียนมีการปกครองขึ้นกับเมืองพัทลุง เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ส่งบุตรมาปกครองเมืองตรังและขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช พื้นที่แถบนี้มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานกันแล้ว เจ้าเมืองพัทลุงจึงส่งกรมการเมืองมาปกครองเพื่อเป็นการสกัดกั้นอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไว้ ขณะนั้นท้องที่อำเภอปะเหลียน มีประชากรน้อยมาก ไม่เหมาะสมที่จะยกฐานะเป็นเมืองดี ดังนั้น ตำแหน่งผู้ปกครองจึงเป็นเพียง "จอม" คำว่าจอมใช้กันเฉพาะที่มีชายไทยมุสลิมอยู่ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
ในสมัยต่อมาเมื่อประชากรมากขึ้นจึงยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เมื่อ พ.ศ. 2341 เรียกว่า เมืองปะเหลียน เจ้าเมืองปะเหลียนคนสุดท้ายคือพระปริยันต์เกษตรานุรักษ์ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏตัวเมืองครั้งแรกตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลปะเหลียนในปัจจุบัน ต่อมาได้ย้ายไปตั้งบริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลท่าพญาในปัจจุบันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2430
ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า เมืองปะเหลียนทรุดโทรมมาก จึงยุบให้เป็นแขวงขึ้นตรงกับเมืองตรัง และในปี พ.ศ. 2438 ได้จัดตั้งที่ว่าการอำเภอเป็นครั้งแรกที่ตำบลท่าพญา ใช้ชื่อว่า อำเภอท่าพญา ครั้นได้จัดรูปแบบอำเภอขึ้นตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม ในปี พ.ศ. 2460 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอหยงสตาร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอปะเหลียน ตามชื่อเดิมจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองปะเหลียนไว้ ขณะนี้อำเภอปะเหลียนได้ก่อตั้งมาครบ108 ปี นับว่าเป็นอำเภอเก่าแก่อำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง
ภูมิศาสตร์[แก้]
อำเภอปะเหลียนมีพื้นที่ 973.13 ตารางกิโลเมตร (608,266.25 ไร่) พื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงริมทิวเขาบรรทัด ส่วนตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ส่วนตอนกลางเป็นที่ราบ ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง อยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซนติเกรด ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูร้อนอยู่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 32 องศาเซนติเกรด ปริมาณน้ำฝน 500 มิลลิเมตรต่อปี
การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
อำเภอปะเหลียนแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 85 หมู่บ้าน ได้แก่
|
![]() |
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
ท้องที่อำเภอปะเหลียนประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าข้าม
- เทศบาลตำบลทุ่งยาว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลทุ่งยาว
- เทศบาลตำบลท่าพญา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าพญาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้าม (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลท่าข้าม)
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งยาว (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลทุ่งยาว)
- องค์การบริหารส่วนตำบลปะเหลียน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปะเหลียนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบางด้วน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางด้วนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านนาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสุโสะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสุโสะทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลลิพัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลิพังทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะสุกรทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมสอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแหลมสอมทั้งตำบล
สถานศึกษา[แก้]
- โรงเรียนคันธพิทยาคาร (ม.1-ม.6)
- โรงเรียนทุ่งยาวผดุงศิษย์ (ม.1-ม.6)
- โรงเรียนปะเหลียนผดุงศิษย์ (ม.1-ม.6)
ทรัพยากร[แก้]
- ป่าไม้ อำเภอปะเหลียนมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถึง 315,025 ไร่ หรือร้อยละ 42 ของพื้นที่อำเภอปะเหลียน แต่ในปัจจุบันป่าสงวนแห่งชาตินั้นได้ถูกบุกรุกจับจองตัดไม้เพื่อเอาที่ดินไปทำการเกษตรไปมากแล้ว ซึ่งในบริเวณป่าไม้นี้ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น น้ำตกโตนเต๊ะ น้ำตกช่องเขาบรรพต ภูเขาเจ็ดยอด น้ำตกพ่าน เป็นต้น
- เต่าทะเล ชาวบ้านตำบลเกาะสุกรได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ มีการดูแลไข่เต่าที่มาฟักตัวบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้ในบริเวณนี้ยังมีรังนกนางแอ่น ซึ่งทางราชการจัดให้มีสัมปทานอยู่ที่เกาะเหลาเหลียง เกาะเภตรา ตำบลเกาะสุกร
- หญ้าทะเล พื้นที่อำเภอปะเหลียนบางส่วนเป็นชายฝั่งทะเลและเป็นเกาะบริเวณทะเลน้ำตื้น โดยเฉพาะชายฝั่งเกาะสุกร เป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์หญ้าทะเลขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์เพื่อเป็นสถานที่วางไข่และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล
เผ่าซาไก[แก้]
เงาะซาไกหรือ "มันนิ" ซึ่งแปลว่า พวกเรา อาศัยอยู่ตามแนวทิวเขาบรรทัดในเขตตำบลลิพังและตำบลปะเหลียน ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 30-35 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทั้งหมด 4 กลุ่ม มันนิใส่เสื้อผ้าแบบสมัยใหม่ที่ชาวบ้านบริเวณนั้นบริจาคให้ พูดภาษาไทยถิ่นใต้ได้ชัดเจน แต่ยังชอบอยู่ในป่า มันนิถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เข้าใจวิถีทางธรรมชาติในป่ามากที่สุดเผ่าพันธุ์หนึ่ง
ภาพ[แก้]
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
พิกัดภูมิศาสตร์: 7°13′54″N 99°47′20″E / 7.23175°N 99.78882°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อำเภอปะเหลียน
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย
|