อาร์คัมฮอเรอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาร์คัมฮอเรอร์ (อังกฤษ: Arkham Horror) เป็นเกมกระดานซึ่งออกแบบโดยริชาร์ด ลอเนียส และวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) โดยบริษัทเคโอเซียม ก่อนเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายเป็นบริษัทแฟนตาซีไฟลท์เกมและได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

ในทั้งสองรุ่นนั้น ตัวละครของผู้เล่นจะรับบทบาทเป็นนักสืบสวนในเมืองอาร์คัม รัฐแมสซาชูเซตส์ จากงานประพันธ์ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ ซึ่งมีประตูมิติเปิดอยู่ทั่วเมือง ซึ่งเมื่อประตูมิติเหล่านี้มีจำนวนมากพอก็จะเรียกสิ่งทรงอำนาจมาทำลายเมืองหรือโลกไป ผู้เล่นจะต้องหลีกเลี่ยงหรือต่อสู้กับสิ่งที่มายังอาร์คัมทางประตูมิติเหล่านี้และเดินทางเข้าไปในโลกต่างมิติ ก่อนจะกลับมาอาร์คัมเพื่อปิดประตูมิติลง

ลักษณะทั่วไป[แก้]

อาร์คัมฮอเรอร์

กระดานของเกมนั้นจะแสดงสถานที่ต่างๆในเมืองอาร์คัม รวมทั้งถนนและอาคารต่างๆ นอกจากนั้นยังมีสถานที่ประหลาดซึ่งนักสืบสวนสามารถเดินทางไปได้ ผู้เล่นแต่ละคนจะมีตัวแทนเป็นนักสืบสวน ซึ่งปรากฏเป็นไพ่แทนตัวละคร ค่าพลัง และไพ่แทนสิ่งต่างๆ เมื่อเกมดำเนินไป ก็จะมีประตูมิติเปิดขึ้นในเมืองและมีสัตว์ประหลาดจากต่างมิติเข้ามาในเมือง ผู้เล่นต้องต่อสู่หรือหลบเลี่ยงสัตว์ประหลาดเหล่านี้พร้อมกับรวบรวมอุปกรณ์จากสถานที่ต่างๆแล้วเข้าไปในประตูมิติ หลังจากที่เดินทางในโลกต่างมิติและกลับมาแล้ว ผู้เล่นก็จะสามารถปิดประตูมิติได้ โดยขณะที่เล่นอยู่นั้นก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ขณะที่ประตูมิติเปิดอยู่นั้น ค่า"ความหายนะ" (Doom Track) ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อค่านี้ไปถึงขีดสุดก็จะมีสิ่งอันน่าสะพรึงกลัวออกมายังอาร์คัม ซึ่งในฉบับปี 1987นั้นจะทำให้เกมจบลงทันทีโดยนับว่าผู้เล่นพ่ายแพ้ แต่ในฉบับปี 2005 นั้นผู้เล่นสามารถจะสู้กับสัตว์ประหลาดตัวสุดท้ายได้

ความเป็นมา[แก้]

เดิมทีนั้นริชาร์ด ลอเนียส ได้เสนอ อาร์คัมฮอเรอร์ ให้บริษัทเคออเซียม โดยใช้ชื่อว่า คอลออฟคธูลู: เดอะบอร์ดเกม โดยดัดแปลงมาจากเกมเล่นตามบทบาท เสียงเรียกของคธูลู ของเคออเซียมเอง ซึ่งเคออเซียมได้แก้ไขโดยเพิ่มกฎบางอย่าง เช่น ค่าความหายนะ เข้าไป และจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า อาร์คัมฮอเรอร์ ในปี 1987 ซึ่งเกมนี้ได้รับรางวัลออริจินอวอร์ดประเภท "เกมกระดานแนวแฟนตาซีหรือนิยายวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1987"[1]

อาร์คัมฮอเรอร์ นั้นนับเป็นเกมกระดานรุ่นแรกๆที่เป็นแบบให้ผู้เล่นร่วมมือกันเพื่อเอาชนะระบบของเกม และยังสามารถผสมรูปแบบของเกมเล่นตามบทบาทเข้าไปได้อย่างดีจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว อาร์คัมฮอเรอร์ หลังจากที่ฉบับดั้งเดิมขายหมดไปจากท้องตลาดก็มีเสียงเรียกร้องให้ผลิตเพิ่มหลายครั้ง แต่แม้เคออเซียมจะประกาศการผลิตเพิ่มอีกหลายครั้งก็ไม่เคยมีการจำหน่ายใหม่อีกเลย

ในปี 2004 บริษัท สโคทอส ได้ลิขสิทธิ์ของอาร์คัมฮอเรอร์จากริชาร์ด ลอเนียส และได้ติดต่อบริษัทแฟนตาซีไฟลท์เกมเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ สโคทอส ลอเนียส และ เควิน วิลสัน จากแฟนตาซีไฟลท์เกมได้ร่วมกันปรับปรุงรูปแบบการเล่นหลายๆอย่าง ก่อนจะเริ่มจำหน่ายในปี 2005

เกมฉบับปี 1987[แก้]

อาร์คัมฮอเรอร์ ฉบับปี 1987 นั้นมีลักษณะเรียบง่ายกว่าฉบับ 2005 มาก โดยไพ่และเบี้ยสัญลักษณ์นั้นใช้ภาพประกอบแบบขาวดำ แผนที่ของอาร์คัมนั้นประกอบด้วยถนนที่ตัดกันและเป็นช่องต่างๆ ซึ่งข้างถนนนั้นมีสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยมิสคาทอนิค ซึ่งตัวละครของผู้เล่นสามารถแวะไปได้ และประตูมิติก็อาจเปิดในสถานที่เหล่านี้ โลกต่างมิตินั้นถูกแสดงเป็นแถวยาวด้านบนของกระดาน เหตุการต่างๆที่เกิดขึ้นในอาร์คัมนั้นจะคำนวณจากการโยนลูกเต๋าและเทียบกับตารางของสถานที่

ปกติแล้ว ตัวละครจะเดินไปตามช่องด้วยจำนวนที่สุ่มจากการทอยเต๋าหน้าหกสองลูก ไพ่ของนักสืบสวนนั้นจะมีค่าพลังสี่ค่าอยู่ก่อนแล้ว คือ พูดคุย ต่อสู้ ความรู้ และ หลบซ่อน ซึ่งในการกระทำต่างๆนั้นจะวัดความสำเร็จได้โดยการทอยเต๋าหน้าหกให้ได้ค่าที่เท่ากันหรือต่ำกว่าค่าพลังนั้นๆ และมีคลิปกระดาษสำหรับใช้แสดงค่า สติ กับ กำลัง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงบ่อยระหว่างการเล่น

ก่อนจะขึ้นรอบของผู้เล่นนั้นจะเป็น "มีธอสเฟส" ซึ่งอาจมีประตูหรือสัตว์ประหลาดออกมา โดยทุกครั้งที่มีประตูเพิ่มขึ้น ค่าความหายนะก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย และเมื่อมีประตูมิติมากกว่า13ประตู ก็จะเกิด "หายนะแห่งอาร์คัม" ทำให้เกมจบลงโดยผู้เล่นทุกคนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สัตว์ประหลาดนั้นจะเคลื่อนที่ไปทั่วเมืองและโจมตีนักสืบสวนทุกคนที่พบ และได้พบสัตว์ประหลาดบางชนิดก็จะทำให้ค่าสติลดลง นักสืบสวนที่เสียค่ากำลังหรือสติไปจนหมดจะถูกส่งไปที่สถาบำบัดจิตหรือโรงพยาบาลตามแต่กรณีเพื่อรับการรักษา แต่ตัวละครที่เสียค่าพลังจนหมดในโลกต่างมิตินั้นจะถือว่าตาย และผู้เล่นต้องเริ่มใช้ตัวละครใหม่แทน

ผู้เล่นจะชนะเกมได้โดยการปิดประตูมิติทั้งหมด ซึ่งทำได้โดยการเข้าไปทางประตูนั้นๆไปยังโลกต่างมิติ ผ่านเหตุการณ์สองเหตุการณ์ แล้วจึงกลับมาอาร์คัมเพื่อทำลายประตู ทุกครั้งที่ประตูถูกปิดนั้นค่าความหายนะก็จะลดลง

เกมฉบับปี 2005[แก้]

ผู้เล่นแต่ละคนต้องเลือกตัวละครนักสืบสวนตามที่เกมมีให้ ตัวละครแต่ละตัวนั้นจะมีค่าสถานะสามคู่บ่งบอกถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคน ผู้เล่นสามารถจะปรับค่าพลังในแต่ละคู่ให้เน้นไปที่ด้านหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่าความสามารถคู่หนึ่งนั้นคือ ความรู้ กับ โชค ถ้าผู้เล่นเลือกที่จะให้ค่าความรู้สูงขึ้นก็จะทำให้ค่าโชคต่ำลงเช่นกัน ตัวละครต่างๆจะมีอุปกรณ์เริ่มต้นและความสามารถพิเศษที่แตกต่างกัน และค่า สติ กับ พลังกาย ด้านหลังของไพ่ตัวละครนั้นจะมีประวัติย่อๆสำหรับผู้เล่นที่ต้องการเพิ่มลักษณะของเกมเล่นตามบทบาทระหว่างการเล่น

ตัวละครของผู้เล่นแต่ละตัวจะถูกวางบนกระดานตามตำแหน่งของสถานที่ตามที่ระบุไว้ในการ์ด รวมทั้งมีอุปกรณ์เริ่มต้นและค่าสติกับพลังกาย จากนั้นจึงเลือก Ancient One ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องพยายามเอาชนะ หรืออาจจะใช้วิธีสุ่มจับไพ่ของ Ancient One แทนก็ได้

ระบบของเกมที่ใช้ในการคำนวณความสำเร็จในการกระทำต่างๆนั้นจะใช้การทอยลูกเต๋าหกหน้าตามค่าความสามารถ โดยจะนำไปบวกหรือลบกับค่าปรับแต่งอีกที ถ้าค่าออกมาเป็นห้าหรือหกก็นับว่าประสบความสำเร็จ การกระทำส่วนใหญ่นั้นต้องการความสำเร็จจากการคำนวณเพียงครั้งเดียว โดยปกติแล้วจะมีข้อยกเว้นคือค่าสติและการต่อสู้ขณะที่สู้กับสัตว์ประหลาด ยกตัวอย่างเช่น ไพ่ที่ต้องการให้ทอยค่า ความรู้ -1 ถ้าตัวละครมีค่าความรู้เท่ากับ 4 ก็ต้องทอยเต๋าสามลูก และถ้ามีเต๋าอย่างน้อยหนึ่งลูกที่ขึ้นหน้าห้าหรือหก ก็จะนับว่าตัวละครนั้นกระทำการสำเร็จ (และอาจได้ผลดีตอบแทน) แต่ถ้าไม่มีเต๋าลูกใดออกหน้าห้าหรือหกเลย ก็ถือว่าล้มเหลว (และอาจได้รับผลเสียด้วย)

ตัวละครอาจจะได้รับ การอวยพร (Blessed) ซึ่งทำให้กระทำการสำเร็จโดยที่ได้เต๋าหน้าสี่ขึ้นไป หรือ ถูกสาป (Cursed) ซึ่งทำให้ต้องได้หน้าหกเท่านั้น ระหว่างที่เล่นเกมนั้น ตัวละครก็จะได้เบี้ย เงื่อนงำ (Clue) ซึ่งสามารถใช้จ่ายไปแลกกับการโยนเต๋าระหว่างการวัดความสำเร็จได้ ทั้งยังมีไพ่ ฝีมือ (Skill) ซึ่งช่วยเพิ่มค่าความสามารถหรือเพิ่มเต๋าพิเศษให้เมื่อใช้เบี้ยเงื่อนงำในกรณีที่กำหนด

ในแต่ละรอบ ผู้เล่นจะเคลื่อนตัวละครของตนไปบนกระดาน และพบเหตุการณ์ในสถานที่ต่างๆ (โดยการหยิบไพ่ตามที่กำหนดไว้)หรือต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ในบางสถานที่นั้น ผู้เล่นสามารถซื้ออุปกรณ์หรือได้รับผลพิเศษอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ตัวละครที่อยู่ที่สถานบำบัดจิคอาร์คัมก็จะได้รับการฟื้นฟูค่าสติหนึ่งแต้ม หรืออาจจ่ายเงินสองเหรียญเพื่อฟื้นค่าสติสูงสุด ไม่ว่ากรณีไหน ในรอบนั้นผู้เล่นก็ต้องหยิบได้ไพ่เหตุการณ์ปกติในรอบนั้น

ตัวละครที่เจอสัตว์ประหลาดนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะแอบหลบผ่านไปหรือต่อสู้ด้วย การต่อสู้กับสัตว์ประหลาดนั้นต้องทอยเต๋าวัดค่าสติก่อน ซึ่งถ้าทอยไม่ผ่านตัวละครก็จะเสียค่าสติตามที่ระบุไว้ตามที่ระบุไว้ในไพ่สัตว์ประหลาด หลังจากนั้น ตัวละครจะสามารถใช้คาถาหรืออาวุธเพื่อช่วยในการต่อสู้ได้ ถ้าสัตว์ประหลาดไม่ถูกทำลายทันทีก็ต้องทอยเต๋าเพื่อวัดผลการต่อสู้โดยบวกกับค่าที่เพิ่มมาจากอุปกรณ์ คาถา และอาวุธที่ใช้ สัตว์ประหลาดบางประเภทนั้นต้องทอยเต๋าวัดผลการต่อสู้ให้ผ่านเพียงครั้งเดียว แต่บางประเภทก็ต้องใช้หลายครั้ง

ในตอนที่หมดรอบ ผู้เล่นคนแรกต้องจั่วไพ่จากกองมีธอส ซึ่งจะเปิดประตูมิติและเพิ่มสัตว์ประหลาดเข้าไปบนกระดานและทำให้สัตว์ประหลาดเดิมบนกระดานย้ายตำแหน่งและบางครั้งก็มีผลอื่นๆกับเกมด้วย เมื่อมีสัตว์ประหลาดมากถึงระดับหนึ่ง ก็จะนับว่าเมืองอาร์คัมเต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดและทำให้ค่าความสะพรึงกลัวเพิ่มขึ้น เมื่อค่าความสะพรึงกลัวเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้ร้านค้าในเกมปิดทำการ ตัวละครที่คอยช่วยเหลือจะหนีไปจากเมือง และ Ancient One ก็จะตื่นเร็วขึ้น สภาพอากาศในเกมอาจทำให้การเคลื่อนที่ตัวละครลำบากขึ้น และข่าวลือซึ่งผู้เล่นต้องพยายามกระทำการบางอย่างในจำนวนรอบที่กำหนดเพื่อไม่ให้เหตการณ์เลวร้ายเกิดชึ้น หลังจากที่ไพ่มีธอสส่งผลแล้ว ก็จะขึ้นรอบใหม่โดยที่ผู้เล่นคนถัดไปตามเข็มนาฬิกาเริ่มเล่นก่อน

เหตุการณ์บางครั้งจะเพิ่มเบี้ยบนไพ่ Ancient One ซึ่งแทนเวลาที่ Ancient One จะตื่น โดยปกติแล้ว เมื่อมีประตูมิติใหม่เปิดขึ้น ก็จะมีเบี้ยเพิ่มบนไพ่ Ancient One ตัวละครของผู้เล่นสามารถปิดประตูมิติได้โดยการทอยเต๋า หรือใช้เบียเงื่อนงำ หรืออุปกรณ์ ปุราณลักษณ์ (Elder Sign) การปิดประตูมิติจะทำให้ไม่มีประตูมิติใหม่เปิดในสถานที่นั้นอีก และถ้าใช้ปุราณลักษณ์ก็จะลดเบี้ยบนไพ่ Ancient One ด้วย

เมื่อไพ่ Ancient One มีเบี้ยถึงจำนวนที่กำหนด Ancient Oneก็จะตื่นขึ้น โดยนอกจากอซาธอทซึ่งทำให้เกมจบลงทันทีเหมือนฉบับดั้งเดิมแล้ว นักสืบสวนทั้งหมดต้องเข้าต่อสู้กับ Ancient One ทันที การต่อสู้กับ Ancient One นั้นมีหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วก็คือผู้เล่นต้องทอยเต๋าเพื่อพยายามเอาเบี้ยออกจากไพ่ Ancient Oneให้หมด ขณะที่ Ancient One จะลดความสามารถหรือเอาเบี้ยไปจากตัวละคร โดยตัวละครที่เสียเบี้ยทั้งหมดไปจะถูกกินและออกจากเกมไป ถ้าผู้เล่นสามารถเอาชนะ Ancient One ได้ก็จะนับว่าผู้เล่นเป็นฝ่ายชนะเกมนี้

ภาคเสริม[แก้]

อาร์คัมฮอเรอร์ยังมีภาคเสริมต่างๆออกมาอีกหลายชุด โดยภาคเสริมภาคแรกนั้นคือ Curse of the Dark Pharaoh ออกจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2006 โดยภาคเสริมนี้ได้เพิ่มไพ่ต่างๆเข้าไปในเกม โดยเน้นไปที่ไนอาลาโธเทป เนื้อหาของภาคนี้ก็คือได้มีพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่จากอียิปต์มายังอาร์คัมพร้อมกับพาวัตถุอาถรรพ์ที่ทำให้เกิดเรื่องประหลาดมาด้วย

ภาคเสริมชุดที่สองคือ Dunwich Horror นั้นจำหน่ายในงาน Gen Con 2006 ในภาคนี้นั้นมีกระดานเสริมที่ให้เอามาต่อกับกระดานเดิมของอาร์คัม โดยเป็นสถานที่ต่างๆในเมืองดันวิช ซึ่งตัวละครสามารถเคลื่อนที่จากกระดานทั้งสองได้ทางสถานีรถไฟหรือใช้พาหนะที่ระบุไว้ นอกจากนั้นเกมยังได้เพิ่มไพ่ต่างๆเข้ามาและมีกฎเกณฑ์พิเศษเพิ่มขึ้นอีก เช่นการเคลื่อนไหวของสัตว์ประหลาดที่กำลังสะกดรอย เมื่อตัวละครเสียค่าสติทั้งหมดไปจะสามารถเลือกจั่วไพ่ วิปลาส (Madness) ซึ่งทำให้ความสามารถต่างๆถูกจำกัดแต่จะฟื้นค่าสติให้จนเต็ม แทนที่จะไปยังสถานบำบัดจิตอาร์คัม ส่วนในกรณีของพลังกายนั้นก็มีไพ่ บาดเจ็บ (Injury) ซึ่งมีผลคล้ายกันอยู่เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีสัตว์ประหลาด Dunwich Horrorซึ่งจะเปลี่ยนความสามารถที่จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เล่นเกม

ภาคเสริมชุดที่สามก็คือ The King in Yellow วางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2007 ซึ่งคล้ายกับ Curse of the Dark Pharaoh คือเป็นภาคเสริมเฉพาะไพ่ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับละครลึกลับที่มีการแสดงในอาร์คัม ไพ่ใบหนึ่งที่เพิ่มมาในภาคนี้ก็คือ The King in Yellow ซึ่งเป็นไพ่แบบใหม่ที่เรียกว่า Herald ซึ่งจะเปลี่ยนกฎการเล่นของเกมให้ยากขึ้นไปจนจบเกม

ภาคเสริมชุดที่สี่ Kingsport Horror วางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2008 ซึ่งเพิ่มกระดานของเมืองคิงส์พอร์ทคล้ายกับภาค Dunwich Horror ระบบใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ Dimensional Rifts และสัตว์ประหลาดซึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปตามสถานที่ที่เป็นน้ำใดๆได้แทนการเคลื่อนที่ตามปกติ ไพ่แบบใหม่ที่เพิ่มมาในชุดนี้ก็คือไพ่ Guardians ซึ่งมีผลตรงข้ามกับ Herald คือทำให้เกมง่ายขึ้น

ภาคเสริมชุดที่ห้า Black Goat of the Woods จำหน่ายในงาน Gen Con สิงหาคม 2008 เป็นชุดเสริมเฉพาะไพ่ โดยเพิ่มกฎ Corruption และมีไพ่ปรับระดับความยากของเกมเพิ่มเข้ามา

ชุดที่หก Innsmouth Horror จำหน่ายในเดือนพฤษภาคม 2009[2] เพิ่มกระดานของเมืองอินส์เมาธ์และไพ่ต่างๆ โดยมีไพ่เรื่องราวประกอบเพิ่มเข้ามาด้วย

ชุดที่เจ็ด The Lurker at the Threshold จำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2010[3] เป็นภาคเสริมเพิ่มไพ่ต่างๆเข้ามา และมีไพ่ ความสัมพันธ์ (Relationship) ซึ่งระบุความสัมพันธ์กับตัวละครของผู้เล่นคนอื่นซึ่งจะส่งผลดีระหว่างการเล่นเกม และมีกฎเกี่ยวกับการทำสัญญากับ Lurker เพิ่มเข้ามาด้วย

ชุดที่แปด Miskatonic Horror จำหน่ายในเดือนมิถุนายน 2011[4] โดยเพิ่มไพ่ Institution ซึ่งทำให้เกมง่ายขึ้นคล้ายกับ Guardians

กระแสตอบรับ[แก้]

อาร์คัมฮอเรอร์ เป็นเกมที่ได้รับคำวิจารณ์ในด้านดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เล่นจำนวนมากรู้สึกว่าตัวเกมนั้นค่อนข้างเข้าใจยากในการเล่นครั้งแรกๆ และต้องใช้เวลากับพื้นที่ในการเล่นแต่ละเกมมากกว่าเกมกระดานทั่วๆไป[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "1987 List of Winners". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-28. สืบค้นเมื่อ 2007-07-22.
  2. "Innsmouth Horror is now on sale!". สืบค้นเมื่อ 2009-05-28.
  3. "Cross the Threshold 3". สืบค้นเมื่อ 2010-07-16.
  4. "Miskatonic Horror, an expansion for Arkham Horror, is now available". สืบค้นเมื่อ 2011-10-23.
  5. Kuchera, Ben (2010-08-05). "700 pieces, 5 hours, 1 Elder God: Hands-on with Arkham Horror". Ars Technica. สืบค้นเมื่อ 2010-08-05.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]