อัมพปาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระอัมพปาลีเถรี
"อัมพปาลีไหว้พระพุทธเจ้า", งาช้างแกะสลัก, พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดลี
ส่วนบุคคล
เกิดป. 500 BCE
มรณภาพ
รู้จักจากนครวธู (นางบำเรอหลวง) ประจำแคว้นเวสาลี
อาชีพนางระบำ, โสเภณี

อัมพปาลี (บาลี: อมฺพปาลี; การสะกดแบบอื่น: อามราปาลี, อัมพปาลิกา, อัมราปาลี, หรือ อมรา) เป็นนครวธู (นางบำเรอหลวง) ประจำแคว้นเวสาลี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1][2][3] ต่อมานางอัมพปาลีได้เรียนรู้คำสอนของพระโคตมพุทธเจ้า จึงบวชเป็นภิกษุณี และในภายหลังได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เรื่องของนางปรากฏในคัมภีร์ภาษาบาลีและอาคม ส่วนใหญ่มักกล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับในอามราปาลีวัน สวนมะม่วงของนาง และต่อมานางได้บริจาคที่ส่วนนี้ให้กับพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่แสดงธรรมเทศนาเรื่อง อัมพปาลิกาสูตร[4][5][6][7]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตข่วงต้น[แก้]

อัมพปาลีเกิดเมื่อราว 600-500 ปีก่อนคริสต์ศักราช บิดาชื่อมหานามะ (Mahanama) ส่วนมารดาไม่ปรากฏนาม ชื่อของนางในทางศัพทมูลมาจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ อามร (มะม่วง) กับ ปลฺลว (ต้นอ่อน)[8] กล่าวกันว่านางคลอดออกมาเองที่โคนต้นมะม่วงต้นหนึ่งในราชอุทยานในแคว้นเวสาลี จึงเป็นที่มาของชื่อนาง[9]

นางอัมพปาลีมีโฉมงามตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กล่าวกันว่าเจ้านายนามว่า มหานามัน หลงในความงามของเด็กหญิงอามราปาลีมากจนยอมทิ้งแคว้นของตนเพื่อไปอาศัยอยู่กับนางในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของเวสาลี (ปัจจุบันคืออมุซซัฟฟารปุระ)[10]

นางบำเรอ[แก้]

ในเวลานั้น เวสาลีเป็นราชธานีพวกเจ้าลิจฉวี หนึ่งในแปดตระกูลกษัตริย์ที่รวมกันตั้งแคว้นวัชชี[11] ตามธรรมเนียมแล้ว สตรีที่โฉมงามที่สุดในดินแดนจะถวายตัวเป็นนางบำเรอให้กับผู้ชายหลายคน มากกว่าที่จะเลือกแต่งงานกับขายคนเดียว[12]

อัมพปาลีเติบโตมาด้วยโฉมที่งดงามและมีความสามารถมากในศิลปะแขนงต่าง ๆ[12] บรรดาขุนนางหนุ่ม ๆ ล้วนหมายปองนาง เมื่อมนูเทพ (Manudev) กษัตริย์แห่งเวสาลี ได้ชมนางร่ายรำในนคร มนูเทพได้วางแผนที่จะมีนางไว้ครอบครองเอง เขาสังหารคู่รักวัยเด็กและว่าที่เจ้าบ่าวของอัมพปาลี ชื่อว่า บุษปกุมาร (Pushpakumar) ในวันที่ทั้งสองจะแต่งงานกัน และประกาศให้นางแต่งงานเป็นเจ้าสาวของนครเวสาลี — หรือคือเป็น นครวธู และนางได้รับยศเป็น "เวสาลีชนบทกัลยาณี" (Vaishali Janpad Kalayani)

หลังได้รับสถานะนครวธู นางได้กลายมาเป็น "ราชนารฏิกี" (Rajanartiki) หรือนางรำประจำราชสำนัก[13] ค่าเข้าชมการร่ายรำของเธออยู่ที่ห้าสิบกหาปณะต่อคืน เธอจึงร่ำรวยมาก จนอาจมากกว่ามหาราชาบางพระองค์[12]

พบพระพุทธเจ้า[แก้]

ตามเอกสารของพุทธ อัมพปาลีมีโอกาสได้ถวายเพลแก่พระโคตมพุทธเจ้าขณะพระองค์เสด็จเยือนเวสาลีเป็นคืนสุดท้าย ไม่นานก่อนเสด็จปรินิพพาน[14] อัมพปาลีได้เข้าฟังเทศนาของพระพุทธองค์ในป่ามะม่วง (อัมพวัน) และซึ้งในรสพระธรรมมาก นางจึงได้นิมนต์พระพุทธองค์มาฉันที่บ้านของนาง[15] ในงานเขียนบางส่วนระบุว่าพระพุทธองค์เสด็จประทับในสวนมะม่วงของนางก่อน แล้วอัมพปาลีจึงได้ร้องขอให้ประทับต่อ[16] พระพุทธองค์ทรงรับโดยดุษณีภาพ[15] ขณะที่นางกำลังเดินทางกลับ รถของนางชนเข้ากับรถของเจ้าชายองค์หนึ่งของเวสาลี ซึ่งกำลังเดินทางไปนิมนต์พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารกับตนเช่นกัน เขาก่นด่าและเหยียดเธออย่างรุนแรงว่า 'คณิกา' (กะหรี่) เพื่อให้เธอถอยทางให้เขาผ่าน จากนั้นจึงมีการประกาศว่าพระพุทธองค์จะเสด็จฉันภัตตาหารที่บ้านของนางอัมพปาลี เจ้าชายผู้นั้นผิดหวังและเสนอที่จะมอบทองให้กับนางเพื่อขอแลกสิทธิ์ในการรับเสด็จพระพุทธเจ้า แต่เธอปฏิเสธ[16][17]

พระพุทธเจ้ารับรู้ถึงโฉมงามของนาง และตรัสกับพุทธสาวกไม่ให้หลงไหลไปกับความงามของนาง[17] นางอัมพปาลีนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยผู้ติดตามของนาง ให้เสด็จเข้าประทับในที่พำนักของนางที่ตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตาเป็นพิเศษ[18] หลังพระองค์ฉันภัตตาหารเสร็จสิ้น นางอัมพปาลีได้ถวายสวนมะม่วงและที่พำนักของนางทั้งหมดให้แก่พระพุทธศาสนา และเพื่อให้ทรงใช้เป็นที่แสดงเทศนา[18] ไม่นานนับจากนั้น นางอัมพปาลีได้ออกจากการเป็นนางบำเรอ และบวชเป็นภิกษุณี[18] ระบุกันว่าท้ายที่สุดนางได้บรรลุเป็นอรหันต์

นางมีบุตรชายชื่อวิมลโกณฑัญญะ ซึ่งได้อุปสมบทและต่อมาเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่ง[14]

การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์[แก้]

เรื่องราวของนางอัมราปาลีมีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจมุมมองร่วมสมัยต่อนางบำเรอและโสเภณี ถึงแม้นางจะมีชื่อเสียงมากในฐานะศิลปินที่มีฝีมือ[12] นางก็ยังถูกด่าและเหยียดโดยเจ้าชายแห่งเวสาลีคนหนึ่ง ที่ด่านางว่าเป็น 'คณิกา' ซึ่งเป็นคำเรียกโสเภณีที่มีความหยาบคายมาก[16] (เทียบเท่าภาษาไทย "กะหรี่") ส่วนพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงท่าทีใด ๆ ต่อนางเป็นพิเศษ จึงมักถือเรื่องราวตอนนี้มาใช้ระบุว่าพระพุทธเจ้าทรงปราศจากอคติต่อสตรี[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Sunday Tribune - Spectrum". tribuneindia.com. สืบค้นเมื่อ 4 July 2016.
  2. History of Vaishali
  3. "The Sunday Tribune - Spectrum". www.tribuneindia.com. สืบค้นเมื่อ 2017-04-18.
  4. Ambapaali vana Pali dictionary
  5. Khanna, p. 45
  6. Ambapaali Sutta Pali dictionary
  7. "Amrapali's Encounter with The Handsome Renunciate". The Times of India. June 30, 2006.
  8. "Ambapali or Amrapali c 600 BC - India". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-09.
  9. "The Sunday Tribune - Spectrum". tribuneindia.com. สืบค้นเมื่อ 4 July 2016.
  10. "Here's something different". thehindubusinessline.in. สืบค้นเมื่อ 4 July 2016.
  11. "Another historical serial on DD". The Hindu. Chennai, India. 2002-07-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-21.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Channa, Subhadra Mitra (2013). Gender in South Asia: Social Imagination and Constructed Realities. Daryaganj: Cambridge University Press. pp. 21–22. ISBN 978-1-107-04361-9.
  13. "Inside programming: On the sets of Aamrapali". indiantelevision.com. สืบค้นเมื่อ 4 July 2016.
  14. 14.0 14.1 Buswell Jr.1, Lopez Jr.2, Robert E.1, Donald S.2 (2014). The Princeton Dictionary of Buddhism. Oxfordshire: Princeton University Press. pp. 36–37. ISBN 978-0-691-15786-3.
  15. 15.0 15.1 15.2 Garling, Wendy (2016). Stars at Dawn: Forgotten Stories of Women in the Buddha's Life. Boulder: Shambhala Publications, inc. pp. 268–269. ISBN 9781611802658.
  16. 16.0 16.1 16.2 Verma, Archana (2011). Performance and Culture: Narrative, Image and Enactment in India. Newcastle: Cambridge Scholars Publishing. p. 109. ISBN 978-1-4438-2735-5.
  17. 17.0 17.1 Strong, John S. (2001). The Buddha: A Beginner's Guide. Oxford: One World Publications. ISBN 978-1-78074-054-6.
  18. 18.0 18.1 18.2 Gupta, N.L. (2000). Women Education Through the Ages. New Delhi: Concept Publishing Company. p. 92. ISBN 978-81-7022-826-4.

บรรณานุกรม[แก้]