อัจฉราวดี วงศ์สกล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัจฉราวดี วงศ์สกล
Head and shoulders photo of Tan Ajan
เกิดอัจฉราวดี วงศ์สกล
(1965-09-28) 28 กันยายน ค.ศ. 1965 (58 ปี)
กรุงเทพ, ประเทศไทย
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากอดีตเจ้าของกิจการเพชร St.Tropez Diamond, วิปัสสนาจารย์สายธรรมเตโชวิปัสสนา, ประธานองค์กร โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา, ประธานองค์กรเคบีโอ เอิร์ธ
ผลงานเด่นมีศีล..ก่อนจะสาย, เตโชวิปัสสนา เปิดประตูนิพพาน, รู้..แล้วลุย, สิ้นชาติ ขาดภพ, ฆราวาสบรรลุธรรม เล่ม 1 และ 2, Top Ideas in Buddhism and Famous Stories in Buddha's Time
บุตร3 คน
เว็บไซต์https://www.masteracharavadee.com/

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2508 ปัจจุบันอายุ 56 ปี เคยเป็นนักออกแบบและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงของสังคม ได้รับรางวัลนักธุรกิจยอดเยี่ยม เกียรติคุณคนดี รางวัลผู้หญิงคิดบวก และรางวัล Boss of the Year สาขาอัญมณีและเครื่องประดับปีพ.ศ. 2548 ต่อมาได้ประกาศอำลาชีวิตทางธุรกิจเพื่อสอนธรรมะอย่างเต็มตัว ในปีพ.ศ. 2552 และได้สละเงินส่วนตัวก่อตั้งโรงเรียนแห่งชีวิต เพื่อสอนธรรมะให้กับเด็กและเยาวชน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

จากวันที่อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลได้เริ่มออกเดินทางตามหลักคำสอนของพระบรมศาสดาโดยมีท่านโกเอ็นก้าเป็นวิปัสสนาจารย์คนแรก และได้ปฎิบัติวิปัสสนามากกว่า 10,000 ชั่วโมง ได้ค้นพบการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ส่วนลึกภายในจิตใจที่มีผลส่งต่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงภายนอก แบบสัมผัสเห็นความต่างได้ด้วยตน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการมองโลกแบบเห็นถึงความลวงของชีวิตได้อย่างชัดเจน และเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า และเกิดมีจิตกตัญญูต่อพระบรมศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง กอปรกับได้เห็นการลบหลู่พระสัญลักษณ์ของพระบรมศาสดาเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก โดยไม่มีใครกล้าหาญออกมาแก้ไขหรือยับยั้ง จึงได้รวบรวมศิษย์และผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาร่วมตัวก่อตั้งองค์กรโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาขึ้น ในปีพ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน และได้รับการสนับสนุนจากศิษย์และชาวพุทธกว่า 20,000 คนจากร่วม 20 ประเทศทั่วโลก

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลได้ยึดถือปณิธานในการทำงานปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อให้พระธรรมของพระพุทธองค์ยืนยง 5,000 ปี ดังประโยคที่ว่า “Not only we protect Buddhism. But we awaken the morality of mankind.” หรือ “เราไม่เพียงแต่ปกป้องพระพุทธศาสนา แต่เราปลุกจิตสำนึกที่ดีงามในความเป็นมนุษย์”

ประวัติส่วนตัว[แก้]

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล วิปัสสนาจารย์ผู้ก่อตั้งสายธรรมเตโชวิปัสสนา เป็นประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา และมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2508 ที่เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรสาวคนที่สอง บิดา ไชยยงค์​ วงศ์สกล มารดา สมจิตต์​ วงศ์สกล และมีพี่ชาย 1 คนคือ วรวิทย์​ วงศ์​สกล

การศึกษา[แก้]

ประวัติการทำงาน[แก้]

เริ่มต้นการทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน เคยทำงานฝ่ายโปรโมชั่น บริษัท ซีบีเอสเรคคอร์ด เป็นคอลัมนิสต์เขียนวิจารณ์เพลงและสกู๊ปแนะนำศิลปินหน้าใหม่จากต่างประเทศลงในหนังสือ ไอ.เอส. ซองฮิต เคยทำงานฝ่ายโฆษณาที่นิตยสารอินเวสเตอร์ เคยเป็นเจ้าของบริษัทโปรดักชั่นรับทำโฆษณาและสิ่งพิมพ์ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทอันดามันฟิล์ม ผลิตภาพยนตร์ ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ด้วยความชอบในด้านเครื่องประดับและการออกแบบ จึงได้เปิดบริษัทและร้านเพชร St.Tropez Diamond ในปี พ.ศ. 2543

ผลงานด้านธุรกิจ[แก้]

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักธุรกิจ และ นักออกแบบเครื่องประดับชื่อดังชั้นแนวหน้าของเมืองไทย  ก่อตั้งบริษัท St.Tropez Diamond ในปีพ.ศ. 2543 เครื่องประดับของ St.Tropez Diamond ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่น หรูหรา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบของเมือง เมือง Saint-Tropez ประเทศฝรั่งเศส โชว์เปิดตัวเครื่องเพชรของ St. Tropez มีชื่อเสียงในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ล้ำสมัย หรูหรา และเป็นศูนย์รวมของเหล่าบรรดาคนดังเซเลบทั่วเมืองไทยในยุคนั้น ส่งผลให้อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้รับรางวัลนักธุรกิจยอดเยี่ยมสาขาธุรกิจเครื่องประดับ Boss of the year ในปีพ.ศ. 2551 ได้รับเกียรติคุณคนดี รางวัลผู้หญิงคิดบวก ได้รับเลือกเป็นบุคคลชั้นนำ 1 ใน 500 คน จากนิตยสาร Thailand Tatler 5 ปีต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มออกปฏิบัติธรรมจริงจัง อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลได้ปลีกตัวออกจากชีวิตในวงสังคมและวงธุรกิจ เพื่ออุทิศตนให้งานด้านพระศาสนาและสังคมโดยใช้เวลามากขึ้นเรื่อยๆ มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จนในที่สุดได้หยุดกิจการบริษัท เพื่อมาทำงานด้านธรรมะและเพื่อพุทธศาสนาแบบเต็มตัว [1][2]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • Boss of the The Year สาขาธุรกิจเครื่องประดับ ปีพ.ศ. 2548
  • นักธุรกิจยอดเยี่ยม เกียรติคุณคนดี และได้รับเลือกเป็นบุคคลชั้นนำ 1 ใน 500 คนจากนิตยสาร Thailand Tatler เป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2551- 2555
  • ผู้หญิงคิดบวก "Positive Thinking Award" ปีพ.ศ. 2551 จาก BSC Cosmetology
  • เสาอโศกผู้นำศีลธรรม รับประทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในปีพ.ศ. 2560

จุดพลิกผันสู่ทางธรรม[แก้]

แม้ว่าโดยพื้นฐานจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความดีและเป็นผู้มีความกตัญญูต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ แต่เนื่องจากการงานที่รัดตัว ทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ห่างไกลตัว แม้ว่ากัลยาณมิตรจะพยายามชักชวนให้ออกปฏิบัติธรรมเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งวันหนึ่ง กัลยาณมิตรได้พาอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ไปกราบหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระสุปฏิปันโนผู้บรรลุอรหัตผล หลังจากที่ได้สนทนากันแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า “นั่งสมาธิจะยากอะไร ก็ท่องพุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ เร็วเข้าไว้ เดี๋ยวจิตก็สงบ...มีเงินฝากธนาคาร เบิกใช้ทุกวันเมื่อไหร่ก็หมด” 

โดยสาเหตุที่ท่านเปรียบเทียบคำสอนกับการเงินฝากนั้นเป็นเพราะท่านเห็นว่า คนทำธุรกิจมักสนใจเรื่องหาเงิน สะสมเงิน เมื่อกัลยาณมิตรได้อธิบายให้ฟังว่า หลวงปู่เจี๊ยะท่านเปรียบบุญเหมือนเงินฝากในธนาคาร เบิกใช้ทุกวัน เมื่อไหร่ก็หมด ด้วยความกลัวว่า ‘บุญเก่า’ จะหมด ทำให้เกิดความตั้งใจไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเติมบุญ โดยหลักสูตรเข้มข้นครั้งแรกในชีวิตเมื่อเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2543 ที่สถานปฏิบัติธรรม ธรรมกมลา ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์ชื่อดังแห่งยุคชาวอินเดีย เป็นเวลา 10 วัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำธรรมะมาสู่ชีวิตประจำวัน คือ การมีวินัยในการปฏิบัติ โดยทุกวันนี้ อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ยังคงปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน[3]

หลังการปฎิบัติด้วยตนเอง ผลจากการหมั่นเพียรปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางของอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นประจำมิได้ขาดเป็นเวลา 3 ปี ก็เกิดอัศจรรย์เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สื่อจิตมาสอนหลักปฏิบัติที่ไม่เคยมีใครได้รู้หลักการภาวนานี้มาก่อน อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐานสี่ ด้วยการตั้งสติเพ่งดูกาย เวทนา จิต ธรรม มีความเพียรภาวนาเผากิเลสอันเป็นวิธีปฏิบัติวิปัสสนาทางลัดตัดตรงสู่นิพพาน จนได้เข้าถึงธรรมอันกระจ่างอย่างรวดเร็วด้วยความอัศจรรย์ จึงเกิดความปรารถนาที่จะถ่ายถอดเทคนิควิธีการปฏิบัติวิปัสสนาขั้นสูงนี้ให้แก่บุคคลทั่วไป ที่มีเป้าหมายมุ่งมั่นในพระนิพพาน จึงได้ก่อตั้งสายธรรมเตโชวิปัสสนา ทำการสอนอยู่ที่เตโชวิปัสสนาสถาน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยเปิดสอนบุคคลทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

งานด้านการสอนธรรม[แก้]

พ.ศ. 2549 - ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต[แก้]

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้สละทรัพย์ส่วนตัวหลายสิบล้านบาทก่อสร้างโรงเรียนแห่งชีวิตขึ้น[4] เพื่ออบรมธรรมะสำหรับเด็กและเยาวชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรมโดยยึดหลักการสอนธรรมจากบทเรียนในชีวิตของนักเรียนเอง แทนการท่องจำตำรา สอนให้เยาวชนมีแนวทางและทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต มองโลกอย่างถูกต้อง ผ่านการทำความเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของศีล 5 ในการมีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ  โดยโรงเรียนแห่งชีวิตได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นที่กล่าวขานถึงในสังคมเป็นวงกว้าง และเป็น 1 ในโรงเรียนและแคมป์ธรรมะสำหรับเยาวชน ที่ได้รับการแนะนำมากที่สุดแห่งหนึ่งตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย [5]

พ.ศ. 2554 – ก่อตั้งสายธรรมเตโชวิปัสสนา[แก้]

หลังจากที่ปฏิบัติเตโชวิปัสสนาอย่างเข้มข้นภายใต้การชี้แนะจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาเป็นเวลา 9 ปี อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้สละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อซื้อที่ดินเชิงเขาพระพุทธบาทน้อย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สำหรับก่อสร้างเตโชวิปัสสนาสถาน[6]  และเปิดอบรมเตโชวิปัสสนากรรมฐาน[7] ถ่ายทอดวิชาธรรมะขั้นสูงที่เห็นผลจริง ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด คือ ผู้เข้ารับการอบรมต้องฝากโทรศัพท์ไว้กับเจ้าหน้าที่ ห้ามพูดคุยสื่อสารกันโดยเด็ดขาดตลอดเวลาที่เข้ารับการอบรม 7 วัน โดยเตโชวิปัสสนากรรมฐาน เปิดอบรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 จนกระทั่งถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 11 ปี ท่านได้สอนธรรมขั้นต้นและขั้นสูงจำนวน 380 คอร์ส ให้แก่ศิษย์ร่วม 6,000 คน มีทั้งที่เป็นบรรพชิต และฆราวาส

พ.ศ. 2557 – ก่อตั้งนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ หรือ 5000s Magazine[แก้]

เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า โลกของธรรมไม่ใช่เส้นขนานกับโลกในชีวิตจริง ยิ่งมีธรรมสถิตอยู่กับใจมากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นผู้มีไลฟ์สไตล์ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล จึงได้ก่อตั้งนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ หรือ ชื่อภาษาอังกฤษว่า 5000s Magazine[8] อันสื่อถึงความปรารถนาเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบ 5,000 ปี เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นนิตยสารราย 2 เดือน สองภาษา เน้นการนำเสนอธรรมะผ่านภาพที่สวยงามสะดุดตา ที่มาพร้อมกับเรื่องราวในชีวิตประจำวันและทั่วโลกที่สะท้อนธรรมะ ในภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายทุกวัย เป้าหมายของนิตยสาร คือ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งทางโลก และทางธรรม เพื่อผู้อ่านได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตที่สมดุล และก่อเกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตอย่างลงตัวทั้งโลกภายนอก และภายในจิตใจของผู้อ่าน โดยนิตยสารยังได้รับเกียรติให้จัดวางในเลาจ์ของการบินไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก[9]

พ.ศ. 2560 - ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม “แสงธรรมโพธิญาณ” อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา[แก้]

หลังจากได้รับบริจาคที่ดิน และอาคารเรือนไม้หลังใหญ่ จาก ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ ศิษย์เตโชวิปัสสนา ท่านอาจารย์จึงมีโครงการสร้างสถานปฏิบัติธรรม อบรมหลักสูตรอานาปานสติ และเตโชวิปัสสนากรรมฐาน ให้แก่สาธุชนชาวหาดใหญ่และจังหวัดใกล้เคียงทางภาคใต้ ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมขั้นกลางและขั้นสูง อีกทั้งเพื่อให้ธรรมอันเข้มแข็งนี้แผ่ขยายสู่แดนใต้ของประเทศไทย  สถานปฏิบัติธรรมแสงธรรมโพธิญาณ เปิดสอนคอร์สแรกเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

โครงการสร้างสถานปฏิบัติธรรมอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนและดำเนินการ[แก้]

-  วัดป่าวงกฏคีรี จ.ขอนแก่น

-  วัดป่าอรัญญวิเวก จ.ขอนแก่น

-  ธรรมสถาน จ.ภูเก็ต

-  ธรรมสถาน จ.เชียงราย

งานด้านปกป้องพระพุทธศาสนา[แก้]

ก่อตั้งมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา (Knowing Buddha Foundation)[แก้]

แรงบันดาลใจของการก่อตั้งองค์กรโนอิ้ง บุดด้า นั้นเริ่มต้นจาก เมื่อ 17 ที่แล้วระหว่างที่กำลังเดินอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้เห็นบาร์แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Buddha Bar ซึ่งภายในตกแต่งด้วยเศียรพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเต็มไปหมด แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างที่สุดคือ กลางฟลอร์เต้นรำของบาร์มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ท่ามกลางนักเที่ยวที่แต่งตัวล่อแหลมกำลังวาดลวดลายกันอย่างเมามันสนุกสนาน พร้อมกระป๋องเบียร์ในมือ ณ วินาทีนั้นเอง อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล จึงตั้งปณิธานว่า สักวันหนึ่ง จะต้องปกป้องพระพุทธศาสนาจากการถูกกระทำย่ำยี และหยุดการนำเอาพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์ไปใช้ในทางไม่เหมาะสมให้ได้

หลังจากที่สั่งสอนธรรมได้ระยะหนึ่ง อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ก็ได้ก่อตั้ง องค์กรโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา (Knowing Buddha Organization - KBO) โดยมีจุดประสงค์ คือ ให้ความรู้ความเข้าใจหลักปฏิบัติที่ถูกต้องต่อพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์ ป้องกันและยับยั้งการกระทำลบหลู่ต่อพระพุทธเจ้าก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2555 สโลแกนของ KBO คือ “เราไม่เพียงแต่ปกป้องพระพุทธศาสนา แต่เราปลุกจิตสำนึกที่ดีงามในความเป็นมนุษย์”

ต่อมา องค์กรโนอิ้ง บุดด้า (ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นมูลนิธิแล้ว) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อรณรงค์และให้ความรู้ ป้องกันและยับยั้งการลบหลู่พระพุทธรูป และสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะประสานความร่วมมือกัน เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยการทำกิจกรรมเพื่อรณรงค์ ให้ความรู้ ป้องกันและยับยั้งการลบหลู่พระพุทธรูป รวมถึงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา KBO ยืนหยัดทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์ เนื่องจากในปัจจุบัน มีการนำพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์มาลดทอนคุณค่าให้เป็นเพียง “งานพุทธศิลป์” เพื่อการประดับตกแต่งหรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ บดบังคุณค่าที่แท้จริงที่มีไว้เป็นเครื่องรำลึกถึงพระพุทธคุณด้วยความกตัญญูและความเคารพ และได้เขียนจดหมายไปยังธุรกิจต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่ได้ผลตอบรับที่ดีและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ผลงานที่ผ่านมาของ KBO[แก้]

ร่วมจัดงาน “แนวทางป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา”[แก้]

องค์กร โนอิ้งบุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาได้รับเกียรติจากคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรมวุฒิสภา และ 9 องค์กรหลักของพุทธศาสนาในประเทศไทย ร่วมจัดงาน “แนวทางป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา” ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556 นับเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวขององค์กรพุทธศาสนาหลัก ๆ เพื่อถกประเด็นนี้โดยเฉพาะ ภายในงาน มีผู้เข้าร่วมมากมายทั้งจากภาครัฐ เอกชน กลุ่มการศึกษา ตัวแทนทหารจาก 3 เหล่าทัพ กลุ่มองค์กรการกุศล และชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตจาก 4 ประเทศ และเอกอัครราชทูตจากประเทศสเปน รวมทั้งหมด 350 ท่าน นอกจากงานจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลัก ๆ อาทิ เช่น เดลินิวส์ มติชน ไทยรัฐ และทีวีข่าวช่อง 7 แล้ว ผู้จัดยังได้รับเกียรติจากผู้หลักผู้ใหญ่และบุคคลอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านทั้งทางโลกและทางธรรมมาร่วมงาน อาทิเช่น พระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการสำนักงานปกป้องพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย  ประธานวุฒิสภาคุณนิคม ไวยรัชพานิช  ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรมวุฒิสภา คุณอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน อาทิเช่น โรงแรม บริษัทตกแต่งและออกแบบชั้นนำต่าง ๆ ภายในงาน ยังได้มีการเปิดตัว www.5000s.org อันเป็นเว็บไซต์เฉพาะกิจสำหรับรณรงค์ต่อต้านการลบหลู่รูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว มีรูปแบบการทำงานและรณรงค์คล้ายคลึงกับองค์กร Change.org คือเชื้อเชิญให้คนทั่วไปเข้าร่วมลงรายชื่อเป็นสมาชิกแนวร่วมในการรณรงค์ปกป้องและหยุดยั้งการดูหมิ่นพระพุทธศาสนาอย่างสันติ เมื่อมีกรณีละเมิดใดที่ต้องการเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทางองค์กรจะส่งจดหมายแจ้งข่าวและความคืบหน้าให้กับสมาชิกทางอีเมล การลงชื่อของสมาชิกทุกครั้งจะถูกระบบแปรไปเป็นอีเมลร้องขอส่งตรงถึงตัวบุคคลหรือบริษัทผู้ละเมิดให้หยุดการกระทำหรือการผลิตภายในเวลาไม่กี่วินาที

การผลิตสื่อหนังสั้นและการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก[แก้]

องค์กร โนอิ้งบุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาได้ผลิตหนังสั้นเพื่อปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักในศีลธรรมและให้เห็นข้อมูลการลบหลู่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังต่อไปนี้

1. The Truth [10] ความจริงที่ต้องหลั่งน้ำตา

2. Respect [11] เป็นวิดีโอรณรงค์ไม่สนับสนุนการสักรูปพระพุทธเจ้าซึ่งวีดีโอนี้สร้างความประทับใจให้ชาวพุทธและชาวต่างประเทศทั่วโลก

3. Buddha is our father[12] เป็นวิดีโอรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงการเคารพพระพุทธเจ้าดุจดังพ่อเพราะพระองค์ทรงเป็นพระพุทธบิดาของชาวพุทธทุกคน

4. Do they really have to do this?[13] เป็นวิดีโอที่แสดงให้เห็นความรู้สึกของผู้ที่รักและเคารพพระพุทธเจ้าแต่กลับต้องมาพบการลบหลู่ที่เกิดขึ้นมากมายทำให้เกิดความสลดใจอย่างยิ่ง

5. ที่ไปของชายเจ้าชู้[14] เป็นภาพยนตร์หนังสั้นเพื่อสังคมตระหนักถึงการรักษาศีล 5 โดยนำเสนอให้เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

6. ไม่อายเหรอ[15] เป็นภาพยนตร์หนังสั้นเพื่อสังคมตระหนักถึงการรักษาศีล 5 โดยนำเสนอให้เว้นจากการฉ้อโกง

ป้ายโฆษณาบิลบอร์ดขนาดใหญ่ใจกลางเมือง[แก้]

โฆษณาบนบิลบอร์ดขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่มีผู้เห็นจำนวนมาก รวมทั้งจุดยุทธศาสตร์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะได้เห็นเป็นสิ่งแรกเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ได้แก่ บิลบอร์ดปากทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ[16] สนามบินจังหวัดภูเก็ต และสนามบินจังหวัดเชียงใหม่

สื่อสิ่งพิมพ์[แก้]

การพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น โบรชัวร์ Buddhism 101 ที่ให้ความรู้สำคัญเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าและการปฏิบัติตนให้ถูกต้องต่อพระสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ โดยประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ[17]

การเดินรณรงค์ต่าง ๆ[แก้]

การเดินรณรงค์ประจำปีเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการไม่ลบหลู่พระสัญลักษณ์ขององค์พระบรมศาสดาแก่ชาวต่างประเทศ ณ จุดท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ตลาดนัดสวนจตุจักร, ถนนข้าวสาร[18]

การจัดนิทรรศการ[แก้]

การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ ณ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ คือ นิทรรศการ Spiritual Life Exhibition ณ แหล่งชอปปิ้งชื่อดังใจกลางสมุยและกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการเผยแผ่ความรู้เกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา และให้ความเข้าใจหลักประพฤติปฏิบัติต่อพระพุทธสัญลักษณ์ด้วยความเคารพ รวมทั้งหยุดยั้งการลบหลู่ในทุกรูปแบบผ่านการนำเสนอภาพยนตร์สั้นใน VDO Room นอกจากนี้ KBO ยังได้มีการจัดนิทรรศการขนาดย่อม ตั้งบอร์ดข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ณ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ อาทิ สนามหลวง, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หลายครั้งต่อปี[19]

การจัดธรรมบรรยายเพื่ออบรมศีลธรรม จริยธรรม และการฝึกสมาธิ[แก้]

การจัดบรรยายโดยทีมงานอาสาที่ประกอบไปด้วยผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทางโลกจากหลากหลายอาชีพ เข้าไปจัดการบรรยายธรรมและพูดคุยกับเยาวชนตามสถานศึกษา หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่าง ๆ เพื่อแชร์เรื่องราวด้านธรรมะในแง่มุมการทำงานและในชีวิตประจำวัน[20]  [21]


ทั้งหมดนี้เพื่อจะนำธรรมแท้ของพระพุทธองค์กลับคืนมา เพื่อความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็น “ศาสนาแห่งการตื่นรู้”

ผลงานด้านการเขียนหนังสือ[แก้]

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้มีผลงานการเขียนหนังสือที่เป็น Bestsellers หลายเล่ม โดยผลงานหนังสือทั้งหมดเริ่มต้นในปี 2548 ด้วย ‘ล้า...แต่ไม่ล้ม’  จากนั้นเป็นหนังสือแนวธรรมะทั้งหมดตั้งแต่  ‘เรือธรรม..ลำสุดท้าย’  ‘มีศีล..ก่อนจะสาย’  ‘เตโชวิปัสสนา เปิดประตูนิพพาน’ ‘รู้..แล้วลุย’  ‘สิ้นชาติขาดภพ’ และ ‘ฆราวาสบรรลุธรรม’ 1 และ 2 โดยผลงานการเขียนทั้งหมดมียอดพิมพ์ 250,000 เล่ม

หนังสือภาษาไทย[แก้]

  • ล้า...แต่ไม่ล้ม, Date : 5/2005, 224 หน้า, Thai,
  • เรือธรรม..ลำสุดท้าย, Date : 5/2005, 144 หน้า, Thai, ISBN 974-93531-7-X (paperback)
  • มีศีล..ก่อนจะสาย, Date : 3/2008, 185 หน้า, Thai, ISBN 9789749898864 (paper back)
  • เตโชวิปัสสนา เปิดประตูนิพพาน, Date : 2010, 228 หน้า, Thai, ISBN 9786169110187 (paperback)
  • วิปัสสนา...ฆ่ากิเลส, Date : 3/2011, 104 หน้า, Thai, ISBN 9789744968760 (paperback)
  • รู้..แล้วลุย, Date : 5/2012, 216 หน้า, Thai, ISBN 9786169110101 (paperback)
  • สิ้นชาติ...ขาดภพ (รู้..แล้วลุย 2), Date : 1/2012, 263 หน้า, Thai, ISBN 9786169110125 (paperback)
  • ฆราวาสบรรลุธรรม , Date : 3/2016, 340 หน้า, Thai, ISBN 9786169110170 (paperback)
  • ฆราวาสบรรลุธรรม เล่ม 2 , Date : 7/2017, 426 หน้า, Thai, ISBN 9786168125007 (paperback)
  • มหันตภัยโลกร้อน กับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง , Date : 3/2019 , 296 หน้า , Thai , ISBN 9786168125076 (paperback)
  • ธรรมะตามใจ ถามธรรม-ตอบธรรม
  • คำถามที่พบคำตอบ ธรรมะกับการใช้ชีวิตที่ถูกสงสัยมาตลอดกาล
  • พลังศักดิ์สิทธิ์ จากพระพุทธรูป กับจิตสำนึกที่หายไป ความจริงที่ชาวพุทธทุกคน..ต้องรู้
  • ปุจฉา-วิปัสสนา และ ผลกรรมจากการลบหลู่พระพุทธเจ้า
  • รวมธรรมคำสอน จากท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลที่ระลึกงานเททองหล่ององค์พระพุทธรูป พระบรมโลกนาถและทอดผ้าป่าสามัคคี 2564
  • คู่มือเลี้ยงลูกเทวดา
  • คือละอองธาตุที่มุ่งหน้าข้ามสังสารวัฏ
  • รวมคำสอนธรรม เล่มที่ 1
  • รวมคำสอนธรรม เล่มที่ 2
  • รวมคำสอนธรรม เล่มที่ 3
  • รวมธรรมคำสอน ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ในวาระ 7 ปี
  • ธรรมเอกอุกึ่งพุทธกาลพุ่งตรงสู่นิพพาน
  • ทางสู่ธรรมแท้ของผู้ไม่หวนคืน

หนังสือภาษาอังกฤษ[แก้]

งานสาธารณกุศลอื่น ๆ[แก้]

องค์กรโนอิ้งบุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาได้จัดกิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ โดยงานหลัก ๆ มีดังนี้

โครงการ ผ้าป่า “โนอิ้งบุดด้า ช่วยซับน้ำตาชาวนาไทย”[แก้]

อันเป็นโครงการระดมทุนของมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้าเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว  โครงการได้ประกาศเร่งระดมทุนตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557 โดยได้รับการสนับสนุนของสมาชิกและคนในกลุ่มขอบข่ายช่วยกันกระจายข่าวจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2557 และได้จัดงานทอดผ้าป่าชาวนาไทยขึ้นที่เตโชวิปัสสนาสถาน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยได้ยอดเงินทั้งสิ้นกว่า 4,700,000 บาท[22] โดยก่อนหน้านี้องค์การได้นำเงินบริจาคออกช่วยเหลือชาวนาแล้วตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ มีเกษตรกรจำนวน 310 ครัวเรือนจากจังหวัดสุรินทร์ สิงห์บุรี และบุรีรัมย์ ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งหลักการช่วยเหลือคือนำเงินที่ได้มาตั้งเป็นกองทุนประทั้งชีพให้เป็นขวัญกำลังใจยืนหยัดสู้ชีวติต่อไปและให้เกิดกำลังใจว่ามีคนร่วมชาติที่ห่วงใยและไม่ทอดทิ้งกัน

โครงการจัดทำ กล่องประทังชีพ เพื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19[แก้]

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเบาภาระผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคระบาด ทาง KBO ได้เปิดโครงการนี้ขึ้นมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563[23]  ต่อมาเมื่อมีผู้แสดงความจำนงขอรับกล่องมากขึ้น ทางมูลนิธิจึงเปิดรับเงินบริจาค ทำให้ยอดการแจกกล่องประทังชีพทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเมื่อจบโครงการมีผู้ได้รับกล่องประทังชีพทั้งหมด 15,000 กล่อง และโอนเงินช่วยฉุกเฉินรายละ 500 บาท 9,318 ราย รวมยอดบริจาคทั้งสิ้น 15,378,117  บาท[24]  

KBO Earth[แก้]

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลได้ก่อตั้ง ทีมงาน KBO Earth ขึ้นเพื่อทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นการรณรงค์ลดโลกร้อน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดงานสัมมนาเรื่องโลกร้อนไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ชื่อ “ทางออกจากวิกฤตโลกร้อน กับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง” จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก โดยได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ เป็นประธานในพิธี และอธิบดีกรมป่าไม้ คุณอรรถพล เจริญชันษา มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความหวังผืนป่าไทย สู้วิกฤตภาวะโลกร้อน”  มีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาชน มาร่วมรับฟังงานสัมมนากว่าร้อยคน[25]

ประเด็นความขัดแย้ง[แก้]

การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล เกี่ยวกับความมีศีลธรรมในหมู่ชาวพุทธได้ทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับตัวท่าน และการที่อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ได้วิจารณ์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับพระสงฆ์ไทยบางรูปที่ไม่ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและพระวินัยอย่างเคร่งครัด ได้ก่อให้เกิดการดูหมิ่นให้ร้ายท่านทั้งจากสื่อมวลชนและองค์กรพุทธบางแห่งซึ่งควบคุมบริหารโดยผู้ชาย เนื่องจากในวัฒนธรรมของไทย ผู้หญิงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนรองรับก็ตาม นอกจากนี้ สื่อมวลชนไทยยังได้กล่าวหาว่าอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ทำตนเหนือพระสงฆ์และกล่าวหาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์วิปัสสนากรรมฐานของท่านว่าได้แสดงความเคารพอาจารย์ซึ่งเป็นผู้หญิง เนื่องจากมีข้อห้ามพระสงฆ์ทำความเคารพผู้หญิง

สื่อมวลชนยังได้วิจารณ์ถึงการปฏิบัติกรรมฐานสายเตโชวิปัสสนา และในส่วนของผู้กล่าวหายังได้ระบุว่าการปฏิบัติเตโชวิปัสสนากรรมฐานไม่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มใด จึงสมควรที่จะยกเลิกการปฏิบัติแนวทางนี้ และยังได้กล่าวร้ายอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ที่ทำการสอนวิปัสสนากรรมฐานด้วยวิธีนี้ บางคนถึงขนาดจัดประเภทของเตโชวิปัสสนาว่าเป็นเพียงลัทธิหนึ่ง[26]

อย่างไรก็ตาม เสียงวิจารณ์ต่าง ๆ ก็สงบลง หลังจากที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำการตรวจสอบทั้งทางด้านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกลและด้านมูลนิธิโนว์อิ้งบุดดาแล้ว และให้การรับรองความถูกต้อง หลังจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยเข้ารับการอบรมปฏิบัติเตโชวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล และได้ยืนยันว่าการปฏิบัติสายนี้เป็นหนทางอันถูกต้องสายหนึ่งที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้[27]

เมื่อต้นปีพ.ศ. 2561 อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล และมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาได้ตัดสินใจฟ้องร้องกลุ่มผู้ปล่อยข่าวใส่ร้าย ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายนี้ อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล กล่าวว่า ไม่ได้เพื่อต้องการแก้แค้นแต่อย่างใด  แต่เป็นการออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสาธารณชน แต่เพื่อการธำรงความยุติธรรม  และปกป้องความดีงามให้มีที่ยืนได้อย่างสง่างาม  อีกทั้งยังป้องกันผู้หลงเชื่อ  ไม่ให้หลงกระทำบาปดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นเพราะถูกลวงด้วยถ้อยความเท็จ แต่ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูล [28]

อ้างอิง[แก้]

  1. “อัจฉราวดี วงศ์สกล” จากเจ้าแม่เครื่องเพชร สู่ผู้ละกิเลสในโลกฆราวาส | ผู้จัดการออนไลน์
  2. อัจฉราวดี อำลาแล้ว St.Topez ชีวิตนี้พบเพชรแท้ในทางธรรม | www.dhammajak.net
  3. "จากเจ้าแม่เครื่องเพชร สู่ผู้ละกิเลสในโลกฆราวาส "อัจฉราวดี วงศ์สกล"". mgronline.com. 2016-02-11.
  4. “อัจฉราวดี วงศ์สกล” เทขายของแบรนด์เนม ร่วมสร้างสถานวิปัสสนา | ผู้จัดการออนไลน์
  5. "อัจฉราวดี วงศ์สกล" ประกาศอำลาชีวิตการเป็นดีไซเนอร์จิวเวลรี่มาเป็นครูสอนธรรมะ | คม ชัด ลึก
  6. "เตโชวิปัสสนาสถาน - Techo Vipassana Meditation Retreat". www.facebook.com.
  7. "เตโชวิปัสสนา | techovipassana | คอร์สวิปัสสนา". techovipassana.
  8. "5000s Magazine". 5000s Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  9. "นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-06. สืบค้นเมื่อ 2019-01-11.
  10. Knowing Buddha - ความจริงที่ต้องหลั่งน้ำตา, สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  11. KBO SHORT FILM " RESPECT", สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  12. ภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ Buddha is our Father, สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  13. "Do they really have to do this?" ทำกันขนาดนี้เลยหรือ?, สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  14. "ที่ไปของชายเจ้าชู้", สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  15. หนังสั้นส่งท้ายพ.ศ.นี้ ที่คนคิดโกงและคน”โดนโกง”ต้องดู!, สืบค้นเมื่อ 2022-06-23
  16. "์New Buddhist Protection billboard set run by Knowing Buddha Organization". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2019-06-05.
  17. "KBO Exhibition at Thailand Grand Festival 2019, Sydney, Australia". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2019-04-25.
  18. "A Walk Campaign to Stop Disrespecting Buddha Images at Chatuchak Market". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2018-11-10.
  19. "Spiritual life Exhibition at Wat Arun". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2018-07-24.
  20. "Dhamma lecture to college students". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2019-04-21.
  21. "Special Moral Lecture to Foreign Students at Mahidol University". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2018-12-05.
  22. "'อัจฉราวดี'ชวนทอดผ้าป่าซับน้ำตาชาวนา". คมชัดลึกออนไลน์. 2014-02-12.
  23. อ.อัจฉราวดี แจกกล่อง ยังชีพผู้ลำบาก จัดส่งทางไปรษณีย์, สืบค้นเมื่อ 2022-06-24
  24. "เข้าสู่ระบบ Facebook". Facebook.
  25. "Solutions to Global Warming : Unlock the unspoken truth". knowingbuddha (ภาษาอังกฤษ). 2019-06-19.
  26. เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ 'อัจฉราวดี' ตั้งโต๊ะแถลงเคลียร์ทุกประเด็นดราม่า ยันไม่เคยทำตัวเหนือสงฆ์, สืบค้นเมื่อ 2022-06-24
  27. เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยยืนยันเตโชวิปัสสนากรรมฐานเป็นหนทางอันถูกต้องสายหนึ่งที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้
  28. ดร.ณัฐนันท์" พิทักษ์พระพุทธศาสนา ต่อสู้ "อ.อ้อย เตโช" พ่ายไม่เป็นท่า หลังศาลพิพากษายกฟ้อง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]