ลายอาหรับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อะราเบสก์)
“ลายอาหรับ” ที่อาลัมบรา

ลายอาหรับ หรือ ลายอะราเบสก์[1] (อังกฤษ: Arabesque) คือลวดลายตกแต่งที่มีลักษณะเป็นลวดลายเรขาคณิต หรือลวดลายวิจิตรที่ทำซ้ำซ้อนเรียงกันเป็นแนวที่มักจะเลียนแบบพรรณไม้หรือสัตว์[2] “ลายอาหรับ” หรือ “Arabesques” ตามชื่อแล้วคือลักษณะลวดลายของศิลปะอิสลามที่พบในการตกแต่งผนังมัสยิด ลวดลายที่เป็นทรงเรขาคณิตเป็นลวดลายที่เลือกใช้จากพื้นฐานทัศนของอิสลามที่มีต่อโลก สำหรับชาวมุสลิมแล้วลวดลายทรงการตกแต่งดังว่าเป็นลวดลายที่ต่อเนื่องเลยไปจากโลกที่เราอยู่ หรือเป็นลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของความไม่สิ้นสุด ฉะนั้นศิลปินอาหรับจึงสื่อความหมายของจิตวิญญาณโดยไม่ใช้ไอคอนเช่นที่ใช้ในศิลปะของคริสต์ศาสนา

ถ้ามีลวดลายที่ผิดไปก็อาจจะเป็นการจงใจทำของศิลปินเพื่อที่จะแสดงถึงความถ่อมตัวของศิลปินผู้ที่มีความเชื่อว่าอัลลอฮ์เท่านั้นที่จะทรงเป็นผู้ที่สามารถสร้างความสมบูรณ์แบบได้ แต่สมมุติฐานนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่[3][4][5]

ประวัติ[แก้]

งานศิลปะเชิงเรขาคณิตในรูปแบบเชิงอาหรับไม่ได้ใช้กันโดยทั่วไปในตะวันออกกลาง หรือบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนมาจนกระทั่งถึงสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของยุคทองของอิสลาม ในช่วงนั้นหนังสือคณิตศาสตร์ของกรีกโบราณและอินเดียได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับที่ “บ้านแห่งมันตา” (بيت الحكمة‎ - House of Wisdom) หรือ “บัยต อัล หิกมะห์” ในแบกแดดที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาการปรัชญาของโลกมุสลิม เช่นเดียวกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรปที่ตามมา ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, วรรณกรรมและประวัติศาสตร์เผยแพร่เข้าไปในสังคมของมุสลิมอย่างแพร่หลาย

งานของนักปราชย์โบราณเช่นเพลโต, ยูคลิด, อารยภาตะ (Aryabhata) และพราหมคุปตะ (Brahmagupta) ได้รับการศึกษากันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้มีการศึกษา และมีการทำการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของศาสนาอิสลามในการคำนวณกิบลัต เวลาประกอบกิจละหมาดและรอมะฎอน[6] ปรัชญาของเพลโตที่เกี่ยวกับการมีอยู่ของความเป็นจริงที่แยกออกไปจากสิ่งอื่นที่เป็นความเป็นจริงอันสมบูรณ์แบบทั้งในทางรูปทรงและลักษณะ, ทฤษฎีเรขาคณิตของยูคลิดที่ขยายความโดยอัล-อับบาส อิบุน ซาอิด อัล-ยาวารี (العباس بن سعيد الجوهري‎ - Al-Abbās ibn Said al-Jawharī) (ราว ค.ศ. 800ค.ศ. 860) ใน “ความเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีของยูคลิด”, ตรีโกณมิติโดยอารยภาตะและพราหมณคุปตะที่ขยายความโดยอัลคอวาริซมีย์ (محمد بن موسی خوارزمی - Al-Khwārizmī) (ค.ศ. 780[7][8][9]-ค.ศ. 850) และการพัฒนาทฤษฎีเรขาคณิตทรงกลม[6] โดยอะบู อัลวาฟา บัซจานี (ابوالوفا بوزجانی‎ - Abū al-Wafā' Būzjānī) (ราว ค.ศ. 940ค.ศ. 998)

และทฤษฎีตรีโกณมิติทรงกลม[6] โดย อัล-ไจยานี (Al-Jayyani) (ราว ค.ศ. 989ค.ศ. 998)[10] ในการกำหนกิบลัต เวลาประกอบกิจละหมาดและรอมะฎอน[6] ต่างก็เป็นพื้นฐานที่เป็นแรงผลักดันในการสร้าง “ลวดลายอาหรับ” ด้วยกันทั้งสิ้น

ลักษณะลวดลายและสัญลักษณ์[แก้]

ลวดลายอาหรับประกอบด้วยลวดลายเรขาคณิตที่ต่อเนื่องติดกันไป บางครั้งก็จะสลับด้วยอักษรวิจิตร ริชาร์ด เอ็ททิงเฮาเซนบรรยายลวดลายอาหรับว่าเป็น “ลวดลายพืชพรรณที่ประกอบด้วยลายใบปาล์มครึ่ง...และเต็ม ที่เป็นลวดลายที่ต่อเนื่องติดต่อกันไปอันไม่จบไม่สิ้น...ที่แต่ละใบงอกออกมาจากปลายใบก่อนหน้านั้น”[11] สำหรับผู้ที่ถือปรัชญาของอิสลามลวดลายอาหรับคือสัญลักษณ์ของสหศรัทธาและวัฒนธรรมของหลักปรัชญาของศาสนาอิสลาม

ลวดลายเรขาคณิตอาหรับภายใต้โดมของหลุมศพของฮาเฟซที่ชิราซ

องค์ประกอบสองประการ[แก้]

“ลวดลายอาหรับ” มีองค์ประกอบสององค์ องค์ประกอบแรกคือหลักการที่ใช้ในการรักษาความเป็นระบบของโลก หลักการนี้รวมทั้งหลักการพื้นฐานที่ทำให้วัตถุมีโครงสร้างที่ดีและมั่นคง นอกจากนั้นก็เพื่อความสวยงาม องค์ประกอบแรกลายเรขาคณิตแต่ละลายที่ทำซ้ำก็จะมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ในตัว เช่นสี่เหลี่ยมที่มีด้านเท่ากันสี่ด้านเป็นสัญลักษณ์ของธาตุหลักสี่อย่างที่มีความสำคัญต่อธรรมชาติเท่า ๆ กัน: ดิน, น้ำ, ลม และ ไฟ ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปโลกที่เราเห็นอยู่ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลมภายในสี่เหลี่ยมก็จะสลายตัวและไม่อาจจะดำรงตัวอยู่ได้ องค์ประกอบที่สองมีรากฐานมาจากรูปทรงธรรมชาติของพืชพรรณต่าง ๆ องค์ประกอบนี้คือคุณสมบัติของความเป็นสตรีของการเป็นผู้ให้กำเนิด นอกจากนั้นจากการสำรวจลวดลายอาหรับแล้วบางครั้งก็อาจจะกล่าวได้ว่านอกจากองค์ประกอบสองประการดังกล่าวแล้วก็ยังอาจจะมีองค์ประกอบที่สามซึ่งก็คืออักษรวิจิตรอาหรับ

อักษรวิจิตร[แก้]

ตัวอย่างของอักษรวิจิตรอาหรับ
บทเขียนจากอัลกุรอานที่เดลี

แทนที่จะแสวงหาสิ่งที่นำมาซึ่ง “ความเป็นจริงอันแท้จริง” (True Reality หรือ ความเป็นจริงในโลกทางจิตวิญญาณ) สำหรับมุสลิมแล้ว อักษรวิจิตรอาหรับคือการแสดงออกที่มองเห็นได้ของศิลปะที่เหนือศิลปะใด หรือศิลปะของคำอ่าน (หรือการเผยแพร่ความคิดและประวัติศาสตร์) ในศาสนาอิสลามเอกสารชิ้นที่สำคัญที่สุดที่ใช้เล่าขานกันคืออัลกุรอาน สุภาษิตและบทอ่านจากจากอัลกุรอานจะเห็นได้ในศิลปะอาหรับ

องค์ประกอบสามอย่างที่มารวมเข้าด้วยกันเป็น “ลวดลายอาหรับ” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบสามอย่างที่แตกต่างกันซึ่งเป็นรากฐานของศาสนาอิสลาม

บทบาท[แก้]

ลวดลายอาหรับอาจจะเป็นได้ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ งานศิลปะในขณะเดียวกันก็เป็นงานทางคณิตศาสตร์ที่ลงตัวที่ดูแล้วมีความงดงามและเป็นสัญลักษณ์ ความเป็นสองภาคของลวดลายอาหรับทำให้แบ่งได้อีกเป็นศิลปะทางศาสนาและศิลปะของสาธารณชน แต่สำหรับชาวมุสลิมบางท่านสองสิ่งนี้ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะศิลปะทุกรูปทุกแบบ โลกที่เราอยู่ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่างก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งเดียวกัน คือพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงแสดงออกมาจากสิ่งที่ทรงสร้าง หรืออีกแนวคิดหนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่ามนุษย์เราอาจจะเขียนรูปทรงเรขาคณิตที่ประกอบขึ้นเป็นลวดลายอาหรับขึ้น แต่รูปทรงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น

ความมีแบบแผนและความเป็นเอกภาพ[แก้]

งานลวดลายอาหรับที่สร้างในบริเวณต่าง ๆ จะมีความคล้ายคลึงกัน อันที่จริงแล้วความคล้ายคลึงกันดังว่าเห็นได้อย่างชัดเจนจนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นลวดลายอาหรับประเภทใดหรือสมัยใด ซึ่งมีสาเหตุมาจากคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการสร้างงานดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นสากล

ฉะนั้นสำหรับมุสลิมโดยทั่วไปงานศิลปะที่ดีที่สุดสามารถสร้างขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้ในมัสยิดคืองานศิลปะที่แสดงความมีแบบแผนและความเป็นเอกภาพเป็นพื้นฐาน ความมีแบบแผนและความเป็นเอกภาพของโลกที่เราอยู่เชื่อกันว่าเป็นเพียงเงาสะท้อนของโลกของจิตวิญญาณซึ่งตามความเชื่อของมุสลิมแล้วคือสถานที่ที่ความเป็นจริงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เท่านั้น ฉะนั้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตจึงเป็นการแสดงออกความเป็นจริงอันสมบูรณ์เพราะสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างถูกบดบังด้วยบาปของมนุษย์

อ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานใช้คำว่า 'ลายอะราเบสก์'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
  2. http://dictionary.reference.com/browse/Arabesque
  3. Thompson, Muhammad. "Islamic Textile Art: Anomalies in Kilims". Salon du Tapis d'Orient. TurkoTek. สืบค้นเมื่อ 25 August 2009. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthor= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. Alexenberg, Melvin L. (2006). The future of art in a digital age: from Hellenistic to Hebraic consciousness. Intellect Ltd. p. 55. ISBN 1841501360.
  5. Backhouse, Tim. ""Only God is Perfect"". Islamic and Geometric Art. สืบค้นเมื่อ 25 August 2009.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Gingerich, Owen (April 1986), "Islamic astronomy", Scientific American, 254 (10): 74, สืบค้นเมื่อ 2008-05-18{{citation}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)
  7. Hogendijk, Jan P. (1998). "al-Khwarzimi". Pythagoras. 38 (2): 4–5. ISSN 0033–4766. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-19. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
  8. Berggren 1986
  9. Struik 1987, p. 93
  10. O'Connor, John J.; Robertson, Edmund F., "Abu Abd Allah Muhammad ibn Muadh Al-Jayyani", "MacTutor History of Mathematics archive"
  11. Richard Ettinghausen, Oleg Grabar, and Marilyn Jenkins-Madina, Islamic Art and Architecture, 650-1250. (New Haven: Yale UP, 2001), 66.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ลายอาหรับ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อักษรอาหรับวิจิตร