อาราเระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อะระเระ)
อาราเระ
ประเภทขนมข้าวกรอบ
แหล่งกำเนิดประเทศญี่ปุ่น
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียว โชยุ
รูปแบบอื่นโอลีฟโนะฮานะ

อาราเระโมจิ (ญี่ปุ่น: あられ餅โรมาจิ: 'Araremochi' ) หรือ อาราเระ (ญี่ปุ่น: あられโรมาจิ: 'Arare' ; ลูกปรายหิมะ) เป็นขนมขบเคี้ยวญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งทำจากข้าวเหนียวปรุงรสด้วยโชยุคล้ายเซ็มเบ แต่ผิดกันตรงที่เซ็มเบทำจากข้าวเจ้า[1] ทั้งมีขนาดและรูปทรงต่างออกไป ส่วนในรัฐฮาวายจะเรียกขนมนี้ว่า คากิโมจิ (欠き餅) หรือ โมจิครันช์ (Mochi Crunch) แปลว่า "โมจิกรอบ"

ประวัติ[แก้]

อาราเระ หรืออาราเระโมจิเป็นโมจิกรอบชนิดหนึ่งทำขึ้นครั้งแรกช่วงยุคเฮอัง ครั้นล่วงมาในยุคเอโดะขนมชนิดนี้ก็ถูกผลิตจำนวนมากจนเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์แล้ว[2] โดยชื่อขนมนี้ตั้งตามลักษณะที่ละม้ายลูกปรายหิมะจึงเรียกตามความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่า "อาราเระ"

อาราเระมีขนาด สีสัน และรสชาติที่หลากหลาย อาทิ โนริมากิอาราเระ (海苔巻きあられ) คืออาราเระที่ห่อด้วยสาหร่ายโนริ และคากิโนะทาเนะ (柿の種) บ้างเรียก คากิพี (柿ピー) ส่วนใหญ่ทำมาจากถั่วลิสง แต่มีลักษณะคล้ายเม็ดพลับจึงเรียกว่า "คากิ" นิยมรับประทานแกล้มเบียร์

วัฒนธรรม[แก้]

ในเทศกาลฮินะมัตสึริ ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมซึ่งเป็นวันเด็กหญิงของญี่ปุ่น จะมีการรับประทานอาราเระที่ทำไว้หลากหลายสีตั้งแต่ สีชมพู เหลือง ขาว น้ำตาล เขียวอ่อน ปรกติแล้วสามารถหาซื้ออาราเระรับประทานได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ตรงกับห้วงเทศกาลฮินะมัตสึริเท่านั้นที่จะทำอาราเระหลากสี เรียกว่า ฮินะอาราเระ (雛あられ)[3]

อาราเระถูกนำเข้าไปสหรัฐอเมริกาโดยผู้อพยพชาวญี่ปุ่นที่ไปรับจ้างเป็นเกษตรกรในฮาวายช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งในฮาวายมักเรียกว่าคากิโมจิหรือโมจิครันช์ นิยมผสมอาราเระกับข้าวโพดคั่ว (บางคนก็ผสมฟูริกาเกะ) ส่วนเฮอร์ริเคนป็อปคอร์น (Hurricane popcorn) คือข้าวโพดคั่วที่ผสมทั้งอาราเระและฟุริกาเกะ

ระเบียงภาพ[แก้]

ถั่วเคลือบอาราเระ ถั่วเคลือบวาซาบิ และปลาแห้ง
ถั่วเคลือบอาราเระ ถั่วเคลือบวาซาบิ และปลาแห้ง 
ฮินะอาราเระ
ฮินะอาราเระ 
ฮินะอาราเระแบบแท่ง
ฮินะอาราเระแบบแท่ง 
ลูกปรายหิมะ ที่มาของชื่อขนมอาราเระ
ลูกปรายหิมะ ที่มาของชื่อขนมอาราเระ 

อ้างอิง[แก้]

  1. กิตติพงศ์ ห่วงรักษ์ (January–February 2012). "อาราเร่และเซมเบ้จากข้าวไทยชนิดมีสี" (PDF). Research Update. 2 (1). สืบค้นเมื่อ 6 May 2016.[ลิงก์เสีย]
  2. 本山荻舟 (25 December 1958). 飲食事典 (ภาษาญี่ปุ่น). 平凡社. p. 8. ISBN 978-4582107012.
  3. ต่อจรัส พงษ์สาลี. "ป้ายที่ 13 : 雛祭り hinamatsuri". เรียนจากป้ายสไตล์ญี่ปุ่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 6 May 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]