ออสบอร์น เรย์โนลส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออสบอร์น เรย์โนลส์
ออสบอร์น เรย์โนลส์ในปี ค.ศ. 1903
เกิด23 สิงหาคม ค.ศ. 1842(1842-08-23)
เบลฟาสต์, ไอร์แลนด์
เสียชีวิต21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912(1912-02-21) (69 ปี)
วอตชิต, ซัมเมอร์เซต, อังกฤษ
สัญชาติบริติช
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจาก
รางวัลเหรียญรอยัล (ค.ศ. 1888)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์

ออสบอร์น เรย์โนลส์ (อังกฤษ: Osborne Reynolds; 23 สิงหาคม ค.ศ. 1842 – 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912) เป็นนักฟิสิกส์ชาวบริติช เกิดที่เมืองเบลฟาสต์ เป็นบุตรของออสบอร์น เรย์โนลส์ ผู้พ่อกับเจน ไบรเออร์ (นามสกุลเดิม ฮิกแมน)[1] ต่อมาครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองแดดัมในมณฑลเอสเซกซ์ เรย์โนลส์สนใจด้านกลศาสตร์ตั้งแต่เด็กเนื่องจากบิดาเป็นครูใหญ่และนักบวช รวมถึงเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้สนใจในวิชากลศาสตร์ เมื่อเป็นวัยรุ่น เรย์โนลส์ทำงานที่โรงผลิตเรือของเอ็ดเวิร์ด เฮย์ส ทำให้เขามีความรู้ด้านพลศาสตร์ของไหล[2]

ต่อมาเรย์โนลส์เข้าเรียนด้านคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยควีนส์ในเคมบริดจ์ หลังเรียนจบเขาทำงานเป็นวิศวกรโยธา ก่อนดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรียแมนเชสเตอร์ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์) ในปี ค.ศ. 1868 เรย์โนลส์ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเกษียณในปี ค.ศ. 1905[3]

เรย์โนลส์มีผลงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพลศาสตร์ของไหล เช่น เลขเรย์โนลส์ ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างแรงเฉื่อยกับแรงหนืด[4], สมการเรย์โนลส์ในทฤษฎีการหล่อลื่น, ความเค้นเรย์โนลส์ เป็นต้น

เรย์โนลส์ได้รับเลือกให้เป็นภาคีสมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1877 ต่อมาในปี ค.ศ. 1888 เขาได้รับเหรียญรอยัล เรย์โนลส์เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เมืองวอตชิต มณฑลซัมเมอร์เซตในปี ค.ศ. 1912[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Launder, Brian; Jackson, Derek. Osborne Reynolds: a turbulent life (PDF). Cambridge University Press. สืบค้นเมื่อ January 17, 2018.
  2. "Osborne Reynolds". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ January 17, 2018.
  3. "Osborne Reynolds". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 17, 2018.
  4. "Reynolds Number". Glenn Research Center - NASA. สืบค้นเมื่อ January 17, 2018.
  5. Davidson, Peter; Kaneda, Yukio; Moffatt, Keith; Sreenivasan, Katepalli (2011). A Voyage Through Turbulence. Cambridge University Press. p. 33. ISBN 9781139502047.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]