อวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อวนไนลอน ที่มีทุ่นพลาสติกตามแนวขอบอวน

อวน (อังกฤษ: fishing net) คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถักเป็นผืนตาข่าย เพื่อใช้ขึงหรือกางกั้นเป็นวงล้อม ใช้ลาก ใช้ครอบ หรือใช้ช้อนเสย มีทั้งประเภทเคลื่อนที่และประจำที่ เนื้ออวนประกอบจากการถักตาข่ายที่ทำด้วยเส้นด้ายหรือเชือกที่ค่อนข้างบางละเอียดประกอบกับทุ่นและหรือตุ้มถ่วง ในยุคแรกถักจากเส้นใยพืชจำพวกหญ้า กก ปอ ป่าน และเส้นใยวัสดุพืชอื่น ๆ ต่อมาใช้เส้นใยฝ้ายหรือแม้แต่เส้นใยขนสัตว์ ปัจจุบันอวนแทบทั้งหมดทำจากเส้นใยพอลิเอไมด์สังเคราะห์เช่น ไนลอน ซึ่งสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเศษอวนที่ไม่ใช้แล้ว

ประวัติ[แก้]

เรเทียรีอุส นักสู้ด้วยแห-อวน ภาพโมเสคประดับ คริสต์วรรษที่ 4
ตุ้มถ่วง ยุคหินใหม่ในวัฒนธรรม Cucuteni–Trypillia
เศษซากของ อวนอันเตรอา อายูกว่า 8,300 ปีก่อนคริสตกาล

มีหลักฐานการใช้อวนจับปลาตั้งแต่สังคมยุคหิน หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดหลายชิ้นได้แก่ อวนอันเตรอา (net of Antrea) ซึ่งพบพร้อมกับอุปกรณ์จับปลาอื่น ๆ ในปีพ. ศ. 2456 ที่คอคอดกาเรเลียน (Karelian isthmus) ในเมืองอันเตรอา (Antrea) ประเทศฟินแลนด์เดิม (ปัจจุบันคือ Kamennogorsk ของรัสเซีย) ตาข่ายทำจากเส้นใยของไม้วิลโลว์มีอายุย้อนไปถึง 8,300 ปีก่อนคริสตกาล[1] อวนที่มีอายุย้อนไปถึงปลายยุคหินกลาง (29,000 ปีก่อน) ในเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จับปลาที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบจนถึงปัจจุบัน เศษอวนถูกพบร่วมกับตุ้มถ่วงในพื้นที่ที่เคยเป็นก้นทะเลในอดีต[2][3] รูปแกะสลักหินที่เก่าแก่ที่สุดบางส่วนที่ Alta (4200–500 ปีก่อนคริสตกาล) มีภาพที่แสดงลวดลายที่สลับซับซ้อนของเส้นแนวนอนและแนวตั้งซึ่งบางครั้งอธิบายว่าเป็นอวนจับปลา ชาวอินเดียนพื้นเมืองอเมริกันแถบแม่น้ำโคลัมเบียถักอวนจากเส้นใยรากไม้สปรูซหรือหญ้าป่า ใช้ก้อนหินถ่วงน้ำหนัก ใช้ไม้เนื้อเบาอย่างสนซีดาร์ในการลอย และทำให้ปลากลัว ว่ายรวมอยู่ด้วยกันกลางวงล้อมของอวน[4] ชาวเมารียุคก่อนชาวยุโรปเข้าครอบครองรู้จักการติดตั้งอวนล้อมจับกับเรือแคนูขนาดใหญ่ ซึ่งอวนล้อมอาจมีความยาวมากกว่าหนึ่งพันเมตร ตาข่ายทอจากใยป่าน มีหินถ่วงน้ำหนัก ใช้ไม้เนื้ออ่อนหรือน้ำเต้าเป็นทุ่นลอย และอาจต้องใช้คนหลายร้อยคนในการลาก[5]

อวนจับปลาที่ได้รับการบันทึกในสมัยโบราณ ปรากฏในภาพวาดต่าง ๆ เช่น ในสุสานอียิปต์อายุตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล ในวรรณคดีกรีกโบราณ โอวิดกล่าวถึงอวนจับปลาหลายครั้งรวมถึงการใช้ทุ่นไม้ก๊อกและตุ้มน้ำหนักตะกั่ว[6][7][8] ภาพหลักฐานการตกปลาของชาวโรมันมาจากโมเสคประดับแสดงถึงอวน[9] เป็นภาพล้อเลียนของนักสู้ประเภทหนึ่งที่เรียก เรเทียรีอุส ที่ใช้ตรีศูลและแหเป็นอาวุธ ต่อสู้กับนักรบหุ้มเกราะ (secutor) ที่ถือดาบสั้นและสวมหมวกเกราะปิดหน้าที่มีรูปปลา[10] ในระหว่างปี ค.ศ. 177 ถึง 180 นักเขียนชาวกรีกโอปเปียน (Oppian) ได้เขียน Halieutica ซึ่งเป็นบทกวีเกี่ยวกับการสอนการตกปลา เขาอธิบายวิธีการจับปลาแบบต่าง ๆ รวมทั้งการใช้แหที่หว่านจากบนเรือ อวนช้อนแบบห่วงเปิด และกับดักต่าง ๆ "ซึ่งใช้ได้ผลในขณะที่นายของพวกมันหลับ" และคำอธิบายการจับปลาด้วยอวนที่ไม่เคลื่อนที่ (motionless net) ดังนี้

"ชาวประมงตั้งอวนที่ทำด้วยป่านเบาลอยน้ำและล้อมเป็นวงรอบ ขณะเดียวกันใช้ไม้แจวฟาดพื้นผิวน้ำทะเลอย่างแรงและถึ่ กวาดไม้ยาวไปมาด้วยให้เกิดเสียงดังติด ๆ กัน ทำให้ปลากลัวและรีบว่ายเข้าไปในอวนซึ่งไม่เคลื่อนที่ด้วยคิดว่าเป็นที่หลบภัย ปลาโง่ซึ่งกลัวเสียงแล้วเข้าไปในประตูแห่งความหายนะ จากนั้นคนหาปลารีบลากเชือกปลายอวนทั้งสองข้างรวมทั้งอวนขึ้นฝั่ง"

ในตำนานนอร์ส นางยักษ์แห่งท้องทะเล Rán ใช้อวนจับปลาเพื่อดักจับลูกเรือที่หลงทาง มีการอ้างอิงถึงอวนจับปลายังสามารถพบได้ในพันธสัญญาใหม่[11] พระ​เยซู​คริสต์​เองได้ถูกระบุ​ว่า​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การใช้อวน[12][13][14] เปลือกชั้นในที่แข็งเหนียวของต้นพอว์พอว์ (พืชวงศ์น้อยหน่า) ถูกใช้โดยชนพื้นเมืองอเมริกันและผู้ตั้งถิ่นฐานในมิดเวสต์เพื่อทำเชือกและอวนจับปลา[15][16] แหล่งโบราณคดีที่ León Viejo (1524–1610) พบเครื่องมือช่วยการทำประมงอวน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นตุ้มน้ำหนักสำหรับอวนจับปลา[ต้องการอ้างอิง]

รูปแบบของอวนจับสัตว์น้ำในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาขึ้นมากนักตั้งแต่ยุคหินใหม่ จำนวนมากยังมีรูปแบบเดิมจากสมัยโบราณ นอกเสียจากการพัฒนาอย่างมากในเรื่องของเส้นใยที่ทำเชือก ทั้งในการจับปลาด้วยเบ็ดและด้วยอวน ปรากฏในเศษโบราณวัตถุต่าง ๆ นับแต่เชือกสองทบที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มิลลิเมตร ที่ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ลาสโกซ์ มีอายุประมาณ 15,000 ปีก่อนคริสตกาล เชือกของอียิปต์มีอายุย้อนไปถึง 4,000 ถึง 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำมาจากเส้นใยกกน้ำ เชือกอื่น ๆ ในสมัยโบราณทำมาจากเส้นใยของอินทผาลัม ป่าน หญ้า ต้นกก หนังสัตว์ หรือขนของสัตว์ เชือกที่ทำจากเส้นใยป่านถูกนำมาใช้ในประเทศจีนตั้งแต่ประมาณ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล[ต้องการอ้างอิง]

ประเภท[แก้]

ยอยกปลาตามชายฝั่ง
อวนทับตลิ่งแบบใช้ม้าลาก (beach seine)

การจำแนกประเภทเครื่องมือประมงอย่างหยาบตามลักษณะของวัสดุที่นำมาประกอบ ได้ 3 ประเภท คือ เครื่องมืออวน (net fishing gears), เบ็ด (hook fishing gears) และอื่น ๆ (miscellaneous gears) เช่น คราด และลอบ[17]

อวนแบ่งประเภทจากลักษณะวิธึการจับสัตว์น้ำ ได้แก่[18][17]

  • การช้อนเสย (scooping) −อวนรุน (ซึ่งรวมถึง ระวะ และชิปไสกุ้ง)
  • การกั้นแล้วลาก (seine net) −อวนทับตลิ่ง หรือเรียก อวนเข็น
  • การลากในทางแนวราบ (trawling) −อวนลากทุกชนิด
  • การล้อม (encircling) −อวนตังเก อวนดำ
  • การยก (lifting) −อวนยก (ซึ่งรวมถึง ยอยก และจั่น) อวนโบอุเก
  • การชนติด (gill net) −อวนลอย อวนล้อมติด อวนติด
  • การครอบ (falling net) −แหยักษ์ อวนครอบหมึก
ประเภทของอวน[19] ภาพ ชนิดของสัตว์น้ำ การใช้งาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเภทเคลื่อนที่

(movable fishing nets)

อวนลาก

(trawl net หรือ bottom trawl)

อวนลากคู่

(pair trawl)

ปลาหน้าดิน อวนลากเป็นถุงอวนขนาดใหญ่มากรูปกรวย อวนลากคู่ใช้เรือสองลำช่วยถ่างปากอวน (เรียก "เรือลากอวน" – trawlers หรือ draggers) ทำหน้าที่ลากอวนและถ่างปากอวนโดยการรักษาระยะห่างและความเร็วเรือขณะลากให้เท่ากัน[17] การลากอวนหน้าดิน ส่งผลให้เกิดการดักจับจำนวนมากและอาจทำให้พื้นทะเลเสียหายได้ การลากผ่านพื้นทะเลเพียงครั้งเดียวสามารถกำจัดชีวิตใต้ทะเลได้ร้อยละ 5 ถึง 25[20] รายงานของโครงการสหัสวรรษแห่งสหประชาชาติ (UN Millennium Project) ปี 2548 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ แนะนำให้กำจัดการใช้อวนลากในทะเลหลวงภายในปี 2549 เพื่อปกป้องภูเขาใต้ทะเลและแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของสัตว์น้ำที่อ่อนไหวในระบบนิเวศ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีสหรัฐ บุช ได้เข้าร่วมกับผู้นำโลกคนอื่น ๆ ในการเรียกร้องให้ระงับการลากอวนในทะเลลึก


ในประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลาก และกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง[21]

อวนลากแผ่นตะเฆ่

(otter board trawl)

ปลาหน้าดิน เช่นปลาลิ้นหมา ปลาค็อด และอาจใช้กับปลากลางน้ำและหมึกกล้วย อวนลากที่ใช้เรือลำเดียว โดยใช้แผ่นตะเฆ่ (otter board) ช่วยถ่างปากอวน[17]
อวนลากคานถ่าง

(beam trawl)

กุ้ง แมงกะพรุน อวนลากที่ใช้คานช่วยถ่างปากอวน มี 2 ชนิด คือ อวนลากคานถ่างแบบลากกุ้ง และอวนลากคานถ่างแบบลากแมงกะพรุน[17]
อวนลากกลางน้ำ

(midwater trawl)

ปลาทะเลกลางน้ำ เช่น ปลากะตัก กุ้ง ปลาทูน่า และปลาแมคเคอเรล เช่นเดียวกับอวนลากอื่น ๆ แต่ไม่ลากไปบนหน้าดิน มีทั้งแบบใช้แผ่นตะเฆ่ (ในภาพ) และแบบลากคู่โดยใช้เรือสองลำ การลากอวนลากกลางน้ำนั้นค่อนข้างนุ่มนวลและสร้างความเสียหายได้ที่ก้นทะเลน้อยกว่าการลากอวนลากหน้าดิน
อวนล้อมจับ

(surrounding net)

อวนล้อมจับไม่มีสายมาน

(lampara net)

ปลากะตัก ปลาทู ปลาทูน่า เป็นผืนอวนคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ใช้ล้อมรอบเป็นวงเพื่อจับสัตว์น้ำ โดยสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของสัตว์น้ำในแนวราบ ส่วนในแนวดิ่งใช้ความลึกของอวนสกัดกั้นตัดหน้าฝูงสัตว์น้ำ แล้วปิดด้านล่างของผืนอวนทำการกู้อวนแล้วตักสัตว์น้ำขึ้นเรือ[17][22]อวนล้อมอาจใช้ซั้งล่อฝูงปลา เรียก อวนล้อมซั้ง[17]
อวนล้อมจับมีสายมาน

(purse seine หรือ ring net)

ปลาฝูง (schooling fish) อวนล้อมจับมีสายมานที่ชาวประมงใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นวิวัฒนาการของอวนล้อมจับปลา ใช้ล้อมรอบปลาฝูงเป็นวง จากนั้นปิดด้านล่างของอวนโดยดึงเส้นที่จัดเรียงเหมือนอานที่ใช้ปิดก้นถุง ทำให้จับปลาได้อย่างสมบูรณ์ มีโอกาสได้สัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวนด้วยมาก (bycatch)
อวนกางกั้นแล้วลาก

(seine net)

ผ้าบางเจียดเคย

(seine net)

เคย ปลาในลำธารขนาดเล็ก เนื้ออวนเป็น (ผ้า) ไนลอน ไม่มีปม คร่าวบนอาจมีหรือไม่มีทุ่น มีน้ำหนักถ่วงคร่าวล่าง ปลายอวนทั้งสองข้างอาจมีหรือไม่มีไม้คานค้ำยัน ใช้ทำการประมงเวลากลางวัน หรือในการช่วยประกอบการจับหรือคัดแยกปลาภายในอวนล้อมหรืออวนทับตลิ่ง
อวนทับตลิ่ง

(beach seine)

เคย ปลากะตัก ปลากระบอก หรือปลาขนาดเล็กริมฝั่ง เช่น ปลาเห็ดโคน กุ้ง เครื่องมือประมงที่ทำการลากหรือดึงไกลไม่เกิน 5 เท่าของความยาวของอวน โดยใช้วิธีล้อมและลากผสมกัน ในประเทศไทยอวนทับตลิ่งเป็นแบบลากเข้าหาชายหาดด้วยแรงคนจับสัตว์น้ำที่เข้ามาในเขตน้ำขึ้นน้ำลงบริเวณชายหาด ที่ลึก 1-3 เมตร[17] เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ใช้ทำการประมงเฉพาะช่วงที่มีสัตว์น้ำเป้าหมายชุกชุมเท่านั้น
อวนล้อมแล้วลากเข้าหาเรือ

(boat seine)

ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นอวนล้อมจับมีสายมาน (purse seine หรือ ring net)
อวนครอบ

(falling net)

แห

(cast net)

ปลาฝูง และปลาขนาดเล็ก แห เป็นอวนรูปกลมขนาดเล็กที่ถ่วงน้ำหนักที่ขอบ ซึ่งชาวประมงใช้หว่าน มีขนาดแตกต่างกันโดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณสี่เมตร ตาข่ายถูกโยนเหวี่ยงด้วยมือในลักษณะที่กระจายบานออกไปบนผิวน้ำ (เรียก การหว่าน) และจมลงครอบ ปลาถูกจับได้ในขณะที่ดึงอวน (แห) กลับมา[23] สามารถเลือกจับได้ และปล่อยปลาที่ไม่ต้องการได้โดยไม่เป็นอันตราย
แหยักษ์ หมึกกล้วย หมึกหอม ปลาหลังเขียว ปลาอกแรกล้วย ปลาลัง ปลาสาก ปลาสีกุนข้างเหลือง ปลาแป้น ปลาแมว เป็นแหขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถเหวี่ยง (หว่าน) ด้วยแรงคน แต่ใช้ขึงกับคันไม้และกราบเรือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหนือผิวน้ำ แล้วปล่อยลงมาครอบสัตว์น้ำ พบเฉพาะในเรือจับหมึกที่ใช้แสงไฟล่อ หรือที่เรียกกันว่า เรือไดหมึก[17]
อวนครอบหมึก และ อวนครอบปลากะตัก

(squid falling net และ anchovy falling net)

หมึก ปลากะตัก มีลักษณะคล้ายแห หรือกล่องอวน จะปล่อยอวนลงมาจากด้านบนเพื่อล้อมครอบสัตว์น้ำที่อยู่ด้านล่าง ต้องใช้น้ำหนักถ่วงขอบล่างหรือตีนอวนค่อนข้างมาก เพื่อให้ผืนอวนจมตัว สกัดกั้นสัตว์น้ำได้ทัน จากนั้นดึงรูดปิดด้านล่างของผืนอวน

บางครั้งเรียก แหยักษ์ หรือเรียกว่าเรือไดหมึก บางครั้งเรียก อวนมุ้ง[17]

อวนรุน

(push net)

ระวะรุน หรือ อวนรุนใช้แรงคน กุ้ง อวนรุนคือ อวนจับปลารูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กที่มีโครงแข็งซึ่งถูกดันไปข้างหน้าที่ก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก และใช้ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในการจับกุ้งและปลาขนาดเล็กที่อาศัยที่หน้าดิน[24][25] อวนรุนที่ติดด้านหน้าของเรือ ถูกจัดเป็นอวนที่สร้างผลกระทบต่อหน้าดินชายฝั่งทะเลอย่างร้ายแรง[26][27][21]
อวนรุนใช้เรือกล หรือเครื่องยนต์ กุ้ง ปลาหน้าดิน ในประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุน และกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมง[21]
อวนช้อน อวนยก

(lift net)

อวนช้อนแบบเคลื่อนย้ายได้

(portable lift net)

ยอยกปลา (fish lift net) เป็นอวนช้อนขนาดเล็ก แบบเคลื่อนย้ายได้ (portable lift net) มีช่องเปิดด้านบน เนื้ออวน (ตาข่าย) จะจมลงสู่ระดับความลึกที่ต้องการก่อนแล้วจึงยกหรือลากขึ้นจากน้ำ สามารถยกได้ด้วยมือ หรือแบบกลไก และสามารถใช้งานบนเรือได้ (อวนยกขนาดเล็กที่บังคับด้วยเรือ)[28]
อวนช้อนใช้กับเรือ

(boat operated lift net)

ปลากะตัก หมึก ปู เป็นอวนที่ยึดเข้ากับเรือ 4 จุดแล้วยกขึ้นทั้งอวน (คล้ายการยกยอ) หรือช้อนขึ้นจากการดึงเชือกอวน 2 จาก 4 เส้น เช่น อวนช้อนปลากะตัก (anchovy lift nets)
อวนช้อนใช้ชายฝั่ง

(shore operated lift nets)

ปลากระบอก กุ้งเปลือกขาว ยอ (เรียก ยอขันช่อ[29]) มีโครงสร้างคงที่ขนาดใหญ่ เนื้ออวนถูกขึงยึดในแนวนอนเป็นผืนสีเหลี่ยมมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ยี่สิบเมตรขึ้นไป และหย่อนลงไปในน้ำเป็นระยะ มีโครงสร้างเชิงกลขนาดใหญ่ช่วยในการยก เช่นคันยอ ก้านยอขนาดใหญ่ หรือกว้าน (เรียก การยกยอ) อาจติดตั้งไฟเพื่อดึงดูดปลาให้มากขึ้น[30][31] ในประเทศอินเดียรู้จักกันในชื่อ อวนจับปลาแบบจีน (Cheena vala)[32]
บาม ปลากระบอก หมึก บามใช้อวนขึงป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกับเสาไม้ทั้ง 4 เสาที่ตั้งอยู่กลางทะเล ใช้จับปลาผิวน้ำเช่น ปลากระบอก และหมึก พบในลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, อ่าวคราม จังหวัดชุมพร (เรียก บามหมึก)[33]
อวนลอย หรือ อวนติดตา

(gill net and entangling net)

หรือเรียก อวนติด

อวนลอยผิวน้ำ

(surface gill net)

ปลาอินทรี อวนลอยโดยทั่วไปไม่ได้ทอดสมอ ลอยไปตามกระแสน้ำ ใช้วางขวางหรือปิดล้อมสัตว์น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำว่ายชน แล้วติดหรือพันตาอวน การวางอวนวางได้ทั้งระดับผิวน้ำ หรือระดับลาางของน้ำ อวนลอยนิยมใช้ในน่านน้ำชายฝั่งของหลายประเทศ แม้ห้ามใช้ในทะเลหลวง แต่ยังคงมีการลักลอบใช้เกิดขึ้น[17]
อวนลอยกลางน้ำ

(drift gill net)

ปลาเฮอริง
อวนลอยหน้าดิน

(bottom gill net)

ปูม้า ปลาค็อด
อวนบ่วง

(tangle net)

อวนบ่วง (tangle net หรือ tooth nets) เป็นอวนลอยประเภทหนี่ง แต่มีหลักการจับปลาที่ต่างออกไปคือ เนื้ออวนตรงกลางละเอียดมากทำให้ปลาที่มาชนต้องพยายามว่ายออกด้านข้าง และติดในบ่วงด้านบนหรือล่างแทน[34] เป็นอวนที่ออกแบบเพื่อจับปลาที่มีขนาดที่ต้องการเท่านั้น
อวนสามชั้น

(trammel net)

สัตว์น้ำหน้าดินจำพวกปลา และกุ้งกั้งปู เป็นอวนจับปลาที่มีตาข่ายสามชั้นที่ใช้ดักปลาหรือกุ้งกั้งปูที่หน้าดิน ลักษณะเดียวกับอวนลอยทั่วไป[35][36] ชั้นกลางมีตาอวนขนาดเล็ก อยู่คั่นระหว่างชั้นนอกสองด้านที่มีตาอวนที่ใหญ่กว่ามาก อวนจะถูกคงรูปในแนวตั้งโดยลอยด้วยการขึงอวนกับคร่าวบน (headrope) ร้อยกับลูกลอยอาจมีขนาดเล็กทรงกระบอกหรือรูปไข่ของแข็งและพลาสติก และถ่วงน้ำหนักด้านล่างกระจายไปตามคร่าวล่าง (ground rope)[37] สูญหายไปในทะเลได้ง่าย และจับแบบไม่เลือกโดยสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวน โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กกว่าที่ต้องการ

เครื่องมือประมงประเภทประจำที่[แก้]

เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถักเป็นตาข่าย (มีเนื้ออวน) ประเภทประจำที่ (stationary fishing net) คือ เครื่องมือประมงประเภทที่ใช้วิธีดักจับ (fish trap) โดยลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือและส่วนประกอบอยู่กับที่ในเวลาทำการจับสัตว์น้ำ โดยมากใช้ทำการจับสัตว์น้ำตรงจุดที่ตั้งเครื่องมือนั้น ๆ ทุกครั้ง (ซ้ำที่เดิม) โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายส่วนประกอบของเครื่องมือไปบริเวณอื่น ได้แก่ โป๊ะ รั้วไซมาน โพงพาง[17]

  • โป๊ะ (pound net, set net หรือ fixed gillnet) ซึ่งใช้เนื้ออวนในการขึงกั้นให้สัตว์น้ำที่ว่ายเข้าไปติด
  • โพงพาง (set bag net หรือ stow net) เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะคล้ายถุงอวนลาก (อาจเรียก ถุงโพงพาง) ปากโพงพางกางยึดอยู่กับที่ทำการประมงโดยวิธีดักจับจากกระแสน้ำที่พัดเข้าปากโพงพางไปติดที่ถุงอวน[29]
  • ลอบ (pots และ fyke net)

โครงสร้างและส่วนประกอบ[แก้]

ทุ่นลอยทำจากแก้ว ในญี่ปุ่น
ทุ่นเสียงโซนาร์ (pinger−ADH) ใช้ร้อยเป็นช่วง ๆ บนคร่าวอวน เพื่อขับไล่สัตว์จำพวกวาฬ (รวมถึงโลมา) ให้ห่างจากอวนจับปลา

เนื้ออวน[แก้]

เนื้ออวน คือ ตาอวน (mesh) จำนวนมากที่ถักรวมต่อเนื่องกันเป็นเนื้ออวนหรือผืนอวน (net) โดยปกติตาอวน 1 ตาจะประกอบด้วยเงื่อนหรือปม (knot) จำนวน 4 ปม และเส้นด้ายหรือขา (leg or bar) 4 ขา

ปม ที่ใช้ในการผูกอวนสาหรับการประมงนั้น มีอยู่หลายชนิดในอดีตนิยมใช้เงื่อนแน่น (flat knot) เนื่องจากวัสดุเป็นพวกเส้นใยจากธรรมชาติ มีความลื่นน้อย ในปัจจุบันเงื่อนที่นิยมใช้เงื่อนหัก (trawler knot) และเงื่อนหักคู่ (double trawler knot) ซึ่งมีข้อดีคือเงื่อนไม่หลุดง่าย พบได้โดยทั่ว ๆ ไปในอวนโพลีอะไมด์สังเคราะห์เช่น อวนไนลอน เนื้ออวนบางชนิดผลิตขึ้นมาโดยไม่มีการผูกตาเงื่อน เช่น เนื้ออวนแบบไร้เงื่อน (knotless net) และเนื้ออวนแบบมินเนา (minnow net)

ถุงอวน (bay net หรือ bunt) ใช้เรียกอวนที่มีลักษณะแบบถุงมีปากเปิดทางเดียวให้สัตว์น้ำเข้า[29] โดยทั่วไปใช้กับอวนลาก อวนรุน โดยทั่วไปมี 2 ส่วนคือ อวนก้นถุง และเนื้ออวนที่เป็นตัวอวน ที่มีการเย็บต่อกันตามแนวยาว อวนก้นถุงมี 2 ชั้น ชั้นนอกสุดมีตาอวนห่างเพื่อใช้ป้องกันเนื้ออวนก้นถุงที่เก็บปลาครูดพื้นทะเลขาด[19]

ทุ่นและลูกกระสง[แก้]

ทุ่นและลูกกระสง (buoy หรือ float) ทำหน้าที่ในการพยุงให้อวนคงรูปอยู่ได้ หรือพยุงให้อยู่ในระดับความลึกที่ต้องการ เพื่อให้การจับสัตว์น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วัสดุที่นำมาใช้สร้างทุ่นและลูกกระสงนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่เดิมนิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีเนื้อเบาลอยตัวได้ดีในน้ำ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ทองหลาง ไม้นุ่น และไม้แคป่า ต่อมามีการประดิษฐ์ลูกกระสงจากวัสดุอย่างอื่น เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และแก้ว ปัจจุบันนิยมใช้ลูกกระสงที่ประดิษฐ์จากวัสดุสังเคราะห์ เช่น พลาสติก โฟมยาง

ทุ่นและลูกกระสง ร้อยเข้ากับ คร่าวบน หรือ เชือกคร่าวบน (headrope –เชื่อกแนวบนของอวน)[19]

ลูกถ่วง[แก้]

ลูกถ่วง น้ำหนักถ่วง หรือ ตุ้มถ่วง (sinker หรือ weight) เป็นส่วนประกอบของอวน ใช้ผูกด้านตรงข้ามกับลูกกระสงทำให้อวนแผ่ออกในแนวตั้ง วัสดุที่นำมาใช้ต้องเป็นวัสดุที่มีค่าความถ่วงจำเพาะมากเพื่อเพิ่มแรงจมตัว (sinking force) วัสดุที่ใช้ทำลูกถ่วงมีหลายชนิด เช่น เหล็ก และก้อนหิน แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ ตะกั่ว ซึ่งค่าความถ่วงจำเพาะมาก แข็งแรงและราคาไม่แพง

ตุ้มถ่วง ร้อยเข้ากับ คร่าวล่าง หรือ เชือกคร่าวล่าง (ground rope –เชื่อกแนวล่างของอวน)[19]

อุปกรณ์ล่อฝูงสัตว์น้ำ[แก้]

อุปกรณ์ล่อฝูงปลาที่ช่วยในการทำประมงด้วยอวน อาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบคือ จับปลาที่ว่ายน้ำอิสระจากอุปกรณ์ล่อฝูงปลา วิธีที่สองการจับปลาหรือหมึกที่ตอมแสงไฟล่อ และวิธีที่สามการจับปลาที่ตอมซั้ง

การถักอวน[แก้]

แบบการถักตาอวน
"ชุน" เข็มถักตาอวน หรือเรียก กีมสานแห ขนาดต่างๆ

การผูกปมอวน เรียก "สานอวน" หรือ "ถักตาอวน" ด้วยเข็มที่เรียก "ชุน" หรือ "กีม"

อวนจับปลาอุตสาหกรรมถูกตัดจากตาข่ายที่ผลิตในอุตสาหกรรม เย็บชุนเข้าด้วยกันด้วยมือเพื่อให้พอดีและร้อยเชือกลาก[38] รวมทั้งการซ่อมอวนเมื่อเกิดความเสียหาย

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม[แก้]

เต่าทะเลที่พันติดในอวน
เครื่องมือแยกเต่าทะเล (turtle excluder device – TED)

การทำประมงมักใช้อวนขนาดใหญ่ที่จับแบบไม่เลือก ทำให้จับได้สัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ติดมากับอวนด้วย (bycatch) ได้แก่ โลมา หรือฉลาม โดยเฉพาะจำนวนมากเป็นเต่าทะเล

การจับสัตว์น้ำด้วยเบ็ดราว อวนลากและอวนติด เป็นการจับสัตว์น้ำ 3 ประเภทที่เกิดอุบัติเหตุกับเต่าทะเลมากที่สุด การเสียชีวิตมักเกิดขึ้นเนื่องจากการติดกับดักและไม่สามารถขึ้นมาบนอากาศได้ (จมน้ำ)

อวนจับสัตว์น้ำในปัจจุบันเกือบทั้งหมดทำจากพลาสติก และมีจำนวนมากที่ชาวประมงทิ้งทั้งที่ตั้งใจทิ้งลงทะเล และไม่ตั้งใจ (เช่น เกี่ยวขาดด้วยหินหรือซากปะการัง) หรือสูญหายไปในทะเล เศษอวนที่ไม่ใช้แล้ว (ghost net หรือ ghost fishing net) เหล่านี้พันเข้ากับ วาฬ โลมา เต่าทะเล ฉลาม พะยูน จระเข้ นกทะเล ปู และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความอดอยาก ผิวฉีกขาดและติดเชื้อ ยากต่อการกลับขึ้นไปที่พื้นน้ำเพื่อหายใจ และขัดขวางการหายใจโดยตรง[39] และยังเป็นอันตรายกับเรือเดินทะเลจากความเสี่ยงเข้าไปพันกับใบพัดหรือเครื่องยนต์เรือ[40] ขยะพลาสติกลอยตัวอยู่ในน้ำรวมทั้งเศษอวนจะค่อย ๆ สลายตัวเปลี่ยนเป็นไมโครพลาสติก (พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จนถึงขนาดมองไม่เห็น) ซึ่งมีผลกระทบกับปลาทะเล และมนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้[41]

ประมาณการว่า ทุก ๆ ปี มีขยะทะเลที่เป็นเศษอวนใช้แล้ว ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 640,000 ตัน[41] หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมด และในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว[40]

ในประเทศไทย[แก้]

ประมาณการจากการคำนวณจำนวนเรือประมง ทั้งเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ กับขยะจำพวกเศษอวน อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยอาจผลิตขยะจำพวกเศษอวนกว่า 700,000 กิโลกรัมต่อเดือน[41] โครงการ Net Free Seas เป็นหนี่งในโครงการแรก ๆ ในประเทศไทยที่ลดปริมาณเศษอวนจากทะเล ด้วยการจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ (Marine Dive Underwater Clean-Up) และการนำเศษอวนไปรีไซเคิล กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 47 ชุมชน ทั้งจากจังหวัดระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และพังงา[41]

ในประเด็นของการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงที่สร้างผลกระทบรุนแรงจากการจับแบบไม่เลือก การจับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงเกินขนาด และการทำลายหน้าดินชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ จึงได้ออกกฎหมายควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน และกำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมืออวนลากและอวนรุนที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ. 2490 และปรับปรุงเรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมถึงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558[21][42]

ในปี พ.ศ. 2564 มีเศษอวนขนาดยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ติดแนวปะการังบริเวณเกาะโลซิน สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังประมาณ 550 ตารางเมตร ซึ่งเก็บกู้ได้เป็นน้ำหนัก 800 กิโลกรัม[43]

ความสัมพันธ์กับนักประดาน้ำ[แก้]

ผลงาน "She changes" ในปอร์โต โปรตุเกส ได้รับแรงบันดาลใจจาก อวน
มีดตัดอวน

บางครั้งนักประดาน้ำที่ทำงานประจำใต้น้ำมักพกมีดตัดอวน เนื่องจากอาจติดอยู่ในอวนจับปลา จากเส้นใยเดี่ยวซึ่งแทบจะมองไม่เห็นใต้น้ำ มีดตัดอวนคือ เครื่องมือพกพาขนาดเล็กที่นักดำน้ำถือไว้เพื่อช่วยตัวเองหากติดอยู่กับอวนจับปลาหรือสายเบ็ด มีใบมีดคมขนาดเล็ก เช่น ใบมีดมีดผ่าตัดแบบถอดเปลี่ยนได้ภายในรอยบากขนาดเล็ก มีรูเล็กๆ ที่ปลายอีกด้านสำหรับร้อยเชือกคล้องตัวตัดกับนักประดาน้ำ

ในงานศิลปะ[แก้]

เจเน็ท เอเคลแมน (Janet Echelman) ได้นาเอากระบวนการสานและโครงสร้างของอวน มาใช้ในการสร้างผลงานศิลปะโดยต่อยอดให้วัสดุสามารถเรืองแสงในที่มืด ผลงานศิลปะของเธอได้ ช่วยให้เกิดความน่าสนใจ ความงามในพื้นที่ต่าง ๆ [44][45]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The palaeoenvironment of the Antrea Net Find". University of Helsinki Research Portal. Finnish Antiquarian Society. 2008.
  2. Kriiska, Aivar (1996) "Stone age settlements in the lower reaches of the Narva River, north-eastern Estonia" Coastal Estonia: Recent Advances in Environmental and Cultural History. PACT 51. Rixensart. Pages 359–369.
  3. Indreko R (1932) "Kiviaja võrgujäänuste leid Narvas" (Stone Age find of fishing net remnants), in Eesti Rahva Muuseumi Aastaraamat VII, Tartu, pp. 48–67 (ในภาษาเอสโตเนีย).
  4. Smith, Courtland L Seine fishing Oregon Encyclopedia. Retrieved 23 March 2012.
  5. Meredith, Paul "Te hī ika – Māori fishing" Te Ara - the Encyclopedia of New Zealand. Updated 2 March 2009.
  6. Radcliffe W (1926) Fishing from the Earliest Times John Murray, London.
  7. Johnson, William M.; Lavigne, David M. (1999). "Fisheries". Monk Seals in Antiquity (PDF). Netherlands Commission for International Nature Protection. pp. 48–54.
  8. Gilroy, Clinton G (1845). The history of silk, cotton, linen, wool, and other fibrous substances: including observations on spinning, dyeing and weaving. Harper & Brothers, Harvard University. pp. 455–464. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 ธันวาคม 2017.
  9. "Image of fishing illustrated in a Roman mosaic". Agropolis Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011.
  10. Auguet, Roland [1970] (1994). Cruelty and Civilization: The Roman Games. London: Routledge. ISBN 0-415-10452-1.
  11. Luke 5:4-6; John 21:3-7a
  12. ลูกา 5:1-11 ครั้งเมื่อประชาชนกำลังเบียดเสียดพระองค์เพื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า พระองค์ทรงยืนอยู่ที่ฝั่งทะเลสาบเยนเนซาเรท และพระองค์ทรงเห็นเรือสองลำจอดอยู่ริมฝั่งทะเลสาบนั้น แต่ชาวประมงขึ้นจากเรือแล้วกำลังซักอวนอยู่ | พระคัมภีร์ไทย ฉบับ 1971 (TH1971).
  13. ยอห์น 21:1-14 ต่อมาพระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่พวกสาวกอีกครั้งหนึ่งที่ทะเลทิเบเรียส พระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างนี้ คือ ซีโมนเปโตร โธมัสที่เรียกว่าดิดุโมส นาธานาเอลชาวบ้านคานาแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองของเศเบดี และสาวกของ | ฉบับมาตรฐาน (THSV11).
  14. "2. อวน". www.kamsonbkk.com.
  15. Werthner, William B. (1935). Some American Trees: An intimate study of native Ohio trees. New York: The Macmillan Company. pp. xviii + 398 pp.
  16. Bilton, Kathy. "Pawpaws: A paw for you and a paw for me". สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011.
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 ทิพสุคนธ์ พิมพ์พิมล. เครื่องมือทำการประมง. คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สืบค้น 31 พฤษภาคม 2564.
  18. "ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก". www.fisheries.go.th.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 มาตรฐานเครื่องมือประมงที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์. กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2564.
  20. "Fisheries (continued), Impacts of wild fish harvesting activity". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2006. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 "ประกาศกระทรวงที่ยังบังคับใช้ตามมาตรา ๑๗๑ แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘". กองกฎหมาย กรมประมง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2021.
  22. "MONOGRAPH". map.seafdec.org.
  23. Jeffery A. Dunbar (5 สิงหาคม 2012). "Casting net". The Ultimate NC Fishing Resource. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012.
  24. "Multilingual dictionary of fishing gear" (PDF) (2nd ed.). Commission of the European Communities. 1992. p. [183]205. ISBN 0-85238-192-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 เมษายน 2016.
  25. "North VN Coastal Boats: The Wooden Boats of the North Vietnam Coast". www.boatsandrice.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มิถุนายน 2021. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
  26. "Wetland Project". www.wetlandthai.org.
  27. Thaireform. "ฟื้นทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทย หยุด! ประมงแบบทำลายล้าง". สำนักข่าวอิศรา.
  28. FAO, Lift net Fishing Gear Types. Retrieved 12 October 2013.
  29. 29.0 29.1 29.2 "อุปกรณ์การประมง - khomchan". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
  30. "Multilingual dictionary of fishing gear" (PDF) (2nd ed.). Commission of the European Communities. 1992. p. [56]78. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 เมษายน 2016.
  31. "FAO Fisheries & Aquaculture - Fishing gear type". www.fao.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2021.
  32. Thailand (http://neko.studio), Neko Studio. "Cheena Vala - ยออินเดีย". วารสารเมืองโบราณ.
  33. admin (16 ธันวาคม 2017). "บามหมึก กินกันสดๆ กลางทะเลอ่าวคราม ชุมพร | CHAILAIBACKPACKER" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  34. "Selective Fishing Methods". Washington Department of Fish and Wildlife. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2011.
  35. Fishing Gear Types: Trammel nets, Food and Agriculture Organization of the United Nations, สืบค้นเมื่อ 2010-09-27
  36. "การเย็บอวนสามชั้น". อวนสามชั้น อวนกุ้ง.
  37. Michael, mbuhme. "Fishing gear type, Trammel nets". Food and agricultural Organization of the United Nations.
  38. Die Sendung mit der Maus - Fischernetz BR-Alpha, dailymotion.com, veröffentlicht 6. September 2015, abgerufen 22. Juli 2019. Video (7:51) – Fertigung eines Netzes bei Hersteller Rofia, Modell und Unterwasseraufnahmen.
  39. "เศษอวน: มัจจุราชแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  40. 40.0 40.1 "เศษอวน: มัจจุราชแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 "Net Free Seas ครั้งแรกของการรีไซเคิลซากอวนประมงจากท้องทะเลไทย". ngthai.com.
  42. วรรณชัย สุวรรณกาญจน์, กฤษณา ไวสำรวจ. (2018) การพัฒนานโยบายประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
  43. "ทช.-ทัพเรือ เคลียร์อวนยักษ์ติดปะการัง เกาะโลซิน หนักกว่า 800 กก". มติชนออนไลน์. 21 มิถุนายน 2021.
  44. "Janet Echelman". Janet Echelman (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  45. ศิริรัตน์ ใจตั้ง, เรืองลดา ปุณยลิขิต (2018). ศิลปะสิ่งทอจากการถักอวน. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ISSN 1906-3431.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อวน