อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม
Third Geneva Convention
Geneva Convention relative to the Treatment of Prisoners of War
(อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก)
เจ้าหน้าที่กาชาดขณะเตรียมอาหารให้เชลยศึก
ที่ลงนามเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ภาคี196 ประเทศ
ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส
Third Geneva Convention ที่ วิกิซอร์ซ

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม (อังกฤษ: Third Geneva Convention) หรือเรียกแบบเต็มว่า อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) (อังกฤษ: Geneva Convention relative to the Treatment of Prisoners of War of 12 August 1949) เป็นสนธิสัญญาหนึ่งในสี่ฉบับของอนุสัญญาเจนีวา เพื่อแก้ไขอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1929[1] อนุสัญญาให้นิยามถึงการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมแก่เชลยศึก มีรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งสิ้น 196 ประเทศ[2]

ภาค 1: บททั่วไป[แก้]

  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 1–3
  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 1-2
  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 1, 3
  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 1
  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ และพิธีสาร 3
  ภาคีของอนุสัญญา 4 ฉบับ ไม่เป็นภาคีพิธีสาร

ในส่วนนี้ได้บอกถึงวงจำกัดโดยรวมของอนุสัญญา ดังนี้

  • ข้อ 1 และ 2 ครอบคลุมว่า ฝ่ายใดมีผลผูกพันตามอนุสัญญา
  • ข้อ 2 ระบุยามที่ประเทศจะมีผลผูกพันตามอนุสัญญา
    • เมื่อเกิดกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธระหว่างอัครภาคีผู้ทำสัญญาสองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไป
    • เมื่อเกิดกรณีการยึดครองอาณาเขตบางส่วนหรือทั้งหมดของอัครภาคีผู้ทำสัญญา
    • แม้ว่าประเทศที่พิพาทกันประเทศหนึ่งจะมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ก็ตาม ประเทศที่เป็นภาคียังคงมีความผูกพันกันตามอนุสัญญานี้ ยิ่งกว่านั้น บรรดาประเทศดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีความผูกพันตามอนุสัญญานี้ในความสัมพันธ์กับประเทศที่มิได้เป็นภาคีนั้นด้วย หากว่าประเทศนั้นยอมรับและใช้บทบัญญัติแห่งอนุสัญญานี้
  • ข้อ 3 ถูกเรียกว่า "อนุสัญญาน้อย" จากการที่เป็นอนุสัญญาเจนีวาเพียงข้อเดียวที่ใช้ยามเกิดความขัดแย้งอันมิได้เป็นกรณีระหว่างประเทศ[3] รวมถึงได้อธิบายถึงการคุ้มครองขั้นต่ำสุดที่บุคคลทุกคนในอาณาเขตของผู้ลงนามตามสนธิสัญญาต้องปฏิบัติตามเมื่อเกิดการพิพาทกันด้วยอาวุธอันมิได้มีลักษณะเป็นกรณีระหว่างประเทศ (โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติแม้จะมีหรือไม่ก็ตาม): ผู้ไม่มีหน้าที่ทำการรบ, ผู้สังกัดในกองทัพที่ได้วางอาวุธแล้ว และ ผู้ทำการรบที่ถูกกันออกจากการต่อสู้ เพราะป่วยไข้ บาดเจ็บ ถูกกักคุม หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด ๆ จะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรม รวมถึงห้ามทำลายเกียรติยศแห่งบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติให้เป็นที่อับอายขายหน้า และเสื่อมทรามต่ำช้า การตัดสินลงโทษจำเป็นต้องผ่านศาลที่ได้ตั้งขึ้นมาอย่างถูกระเบียบ ให้หลักประกันความยุติธรรมซึ่งอารยชนทั้งหลายยอมรับนับถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ข้อ 3 ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ไม่ได้ถือว่าเป็นเชลยศึก ข้อ 3 ยังระบุว่า ภาคีคู่พิพาทควรพยายามนำบทบัญญัติอื่น ๆ แห่งอนุสัญญานี้ทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้บังคับอีกด้วย โดยทำความตกลงกันเป็นพิเศษ
  • ข้อ 4 ก. ได้นิยาม เชลยศึก ให้รวมถึงบุคคลประเภทหนึ่งประเภทใดดังต่อไปนี้ ซึ่งได้ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายศัตรู
    • (1) ผู้สังกัดในกองทัพของภาคีคู่พิพาทและผู้สังกัดในมิลิเซีย (กองกำลังอาสาสมัครหรือพลเรือนติดอาวุธ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพข้างต้น
    • (2) ผู้สังกัดในมิลิเซียและกองกำลังอาสาสมัคร รวมทั้งผู้สังกัดในขบวนต่อต้านที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
      • (ก) มีผู้บัญชาสั่งการอันเป็นบุคคลที่รับผิดชอบสำหรับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
      • (ข) มีเครื่องหมายที่กำหนดไว้เด่นชัดสามารถจะเห็นได้ในระยะไกล
      • (ค) ถืออาวุธโดยเปิดเผย
      • (ง) ปฏิบัติการรบตามกฎและประเพณีการสงคราม
    • (3) ผู้สังกัดในกองทัพประจำ ซึ่งมีความสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มิได้รับการรับรองจากประเทศที่กักคุม
    • (4) พลเรือนผู้สนับสนุนการทหารแต่มิได้ปฏิบัติการรบและผู้มีบัตรประจำตัวที่ออกโดยกองทัพที่ตนได้ร่วมอยู่
    • (5) กองเรือพาณิชย์และลูกเรือของเครื่องบินพลเรือนประจำภาคีคู่พิพาท ผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติที่อนุเคราะห์ดีกว่านี้ตามบทบัญญัติอื่นแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ
    • (5) พลเมืองในอาณาเขตที่มิได้ถูกยึดครอง ซึ่งเมื่อศัตรูประชิดเข้ามาได้สมัครใจเข้าจับอาวุธต่อต้านกองทหารที่บุกเข้ามานั้น โดยไม่มีเวลาจัดรวมกันเข้าเป็นหน่วยกองทหารประจำ หากว่าบุคคลเหล่านี้ถืออาวุธโดยเปิด และเคารพต่อกฎและประเพณีการสงคราม
    • ค. ข้อนี้จะไม่กระทบกระเทือนแต่อย่างใดถึงฐานะของพนักงานแพทย์และอนุศาสนาจารย์ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 33 แห่งอนุสัญญาฉบับนี้
  • ข้อ 5 ระบุถึงเชลยศึก (ดังที่ระบุในข้อ 4) นั้นถูกคุ้มครองโดยอนุสัญญานับตั้งแต่เวลาที่ถูกจับกุมถึงเวลาการปล่อยตัว ข้อนี้ยังได้ระบุถึงยามที่เกิดข้อสงสัยว่าผู้ทำการรบอยู่ในประเภทดังที่ระบุไว้ในข้อ 4 หรือไม่ เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ให้บุคคลนั้นถูกคุ้มครองตามอนุสัญญาฉบับนี้จนกว่าศาลที่มีอำนาจได้ชี้ขาดในฐานะของบุคคลเหล่านั้น

ภาค 2: การคุ้มครองโดยทั่วไปแก่เชลยศึก[แก้]

ในภาคแห่งอนุสัญญานี้ครอบคลุมถึงสถานะของเชลยศึก

ข้อ 12 ระบุว่าเชลยศึกย่อมอยู่ในอำนาจของรัฐ มิใช่อยู่ในอำนาจของบุคคลผู้จับกุมและไม่สามารถถูกพาตัวไปยังรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา

ข้อ 13 ถึง 16 ระบุว่าเชลยศึกต้องถูกปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ละเว้นการเลือกปฏิบัติ การแก้แค้นและต้องได้รับการรักษาเลี้ยงดูทางการแพทย์ตามโอกาสโดยไม่คิดมูลค่า

ภาค 3: การคุมขัง[แก้]

ภาคนี้ถูกแยกเป็นหลายหมวด

หมวด 1 ครอบคลุมถึงการเริ่มต้นแห่งการคุมขัง (ข้อ 17-20) หมวดนี้ได้ระบุถึงข้อมูลที่เชลยศึกต้องให้การ ("นามสกุล, นามตัวและยศ, วันเกิด, และหมายเลขประจำกองทัพ, ประจำกรม, ประจำตัว, หรือหมายเลขลำดับ") และวิธีการสอบสวนที่ต้องปฏิบัติ ("ห้ามมิให้ใช้การทรมานทางร่างกายหรือจิตใจ หรือการบังคับในรูปใด ๆ แก่เชลยศึก") รวมทั้งระบุถึงสิ่งของส่วนตัวที่เชลยศึกสามารถเก็บไว้เองได้และให้เชลยศึกอพยพจากแนวรบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมวด 2 ครอบคลุมถึงการกักกันเชลยศึก หมวดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ซึ่งครอบคลุมถึง:

  1. ข้อสังเกตทั่วไป (ข้อ 21-24)
  2. ที่อยู่ อาหาร และเครื่องนุ่งห่มของเชลยศึก (ข้อ 25-28)
  3. สุขภาพและการรักษาพยาบาล (ข้อ 29-32)
  4. พนักงานแพทย์และอนุศาสนาจารย์ที่ถูกกักตัวไว้ให้อยู่ช่วยเหลือเชลยศึก (ข้อ 33)
  5. กิจการที่เกี่ยวกับศาสนา สติปัญญาและร่างกาย (ข้อ 34-38)
  6. วินัย (ข้อ 39-42)
  7. ยศของเชลยศึก (ข้อ 43-45)
  8. การย้ายเชลยศึก หลังจากได้มาถึงค่ายแล้ว (ข้อ 46-48)

หมวด 3 (ข้อ 49-57) ครอบคลุมถึงประเภทงานที่เชลยศึกอาจสามารถทำได้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ ยศ และความเหมาะสมทางร่างกายและด้วยความประสงค์ งานอันมีลักษณะผิดอนามัยหรือมีความอันตรายจะต้องถูกทำโดยอาสาสมัครเท่านั้น หมวดนี้ยังได้บอกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่พัก สถานพยาบาล และหากเชลยศึกถูกมอบหมายงานให้บุคคลเอกชน ทางประเทศที่กักคุม เจ้าหน้าที่ทางทหาร และผู้บัญชาการค่ายที่เชลยศึกสังกัดอยู่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของค่าแรงจะถูกครอบคลุมในข้อ 62 ของหมวดถัดไป

หมวด 4 (ข้อ 58-68) ครอบคลุมเกี่ยวกับรายได้ทางการเงินของเชลยศึก

หมวด 5 (ข้อ 69-74) ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ของเชลยศึกกับภายนอก หมวดนี้ได้ครอบคลุมในเรื่องของความถี่ที่เชลยศึกสามารถไปรับ-ส่งจดหมาย รวมถึงพัสดุ ทางประเทศที่กักคุมเชลยศึกสามารถตรวจข้อความหรือตั้งข้อจำกัดต่าง ๆ แก่จดหมายทุกฉบับได้ หากแต่ต้องปฏิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หมวด 6 ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชลยศึกกับเจ้าหน้าที่ ถูกแบ่งย่อยออกเป็นสามส่วน

  1. คำกล่าวหาของเชลยศึกเกี่ยวกับสภาพการคุมขัง (ข้อ 78)
  2. ผู้แทนของเชลยศึก (79-81) ระบุถึงให้ "เชลยศึกมีเสรีภาพในการเลือกตั้ง [ตัวแทน] โดยวิธีลงคะแนนลับทุก ๆ ระยะ 6 เดือน" ผู้แทนเชลยศึก ไม่ว่ามาจากการเป็นนายทหารผู้อาวุโสหรือมาจากการเลือกตั้ง ให้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเจ้าหน้าที่ทางทหาร ประเทศที่คุ้มครอง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และองค์การอื่นใดที่อาจจะช่วยเหลือแก่ตนกับตัวนักโทษเอง
  3. ในส่วน "การลงโทษทางอาญาและทางวินัย" ถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 บท
    1. บททั่วไป (ข้อ 82-88)
    2. การลงโทษทางวินัย (ข้อ 89-98)
    3. การดำเนินคดีทางศาล (ข้อ 99-108)

ภาค 4: ความสิ้นสุดแห่งการคุมขัง[แก้]

ภาคนี้ถูกแยกเป็นหลายหมวด

หมวด 1 (ข้อ 109-117) ครอบคลุมการส่งตัวกลับประเทศเดิมโดยตรงและการพักอาศัยในประเทศที่เป็นกลาง

หมวด 2 (ข้อ 118-119) ครอบคลุมการปล่อยตัวและการส่งตัวเชลยศึกกลับประเทศเดิมเมื่อยุติการสู้รบแล้ว

หมวด 3 (ข้อ 120-121) ครอบคลุมการตายของเชลยศึก

ภาค 5: สำนักงานสนเทศ และสมาคมบรรเทาทุกข์เชลยศึก[แก้]

สำนักงานสนเทศเป็นองค์กรที่ต้องถูกตั้งขึ้นในอำนาจของภาคีคู่พิพาทแต่ละฝ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูลโดยภาคีคู่สงครามและฝ่ายกลางตามที่บทบัญญัติแห่งอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สามได้บัญญัติไว้ ซึ่งจะสอดคล้องกับ "ให้จัดตั้งสำนักตัวแทนสนเทศกลาง ... ในประเทศที่เป็นกลาง" เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้แก่ฝ่ายอำนาจที่เชลยศึกได้เป็นพันธมิตรไว้ โดยบทบัญญัติในส่วนข้างต้นอยู่ในข้อ 122 ถึง 125

สำนักตัวแทนสนเทศกลางสำหรับเชลยศึกถูกตั้งขึ้นภายใต้กาชาด

ภาค 6: การปฏิบัติตามอนุสัญญา[แก้]

ประกอบด้วยสองหมวด

หมวด 1 (ข้อ 126-132) บททั่วไป

หมวด 2 (ข้อ 133-143) บทสุดท้าย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]