อนุสัญญาวอร์ซอ
อนุสัญญาวอร์ซอ (อังกฤษ: Warsaw Convention) หรือชื่อทางการคือ อนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ[1] (อังกฤษ: Convention for the Unification of certain rules relating to international carriage by air) เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศซึ่งกำหนดความรับผิดชอบของสายการบินต่อบุคคล, สัมภาระ, สินค้า ที่ขนส่งทางอากาศ
อนุสัญญาลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ และถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสารเฮก (ค.ศ. 1955) และพิธีสารกัวเตมาลาซิตี (ค.ศ. 1971) และต่อมาในปีค.ศ. 1999 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศนำข้อความในอนุสัญญาวอร์ซอและพิธีสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องไปปรับปรุงใหม่เป็นอนุสัญญามอนทรีออล
ณ ปีค.ศ. 2015 อนุสัญญาวอร์ซอได้รับสัตยาบันโดย 152 ประเทศ พิธีสารเฮกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมได้รับสัตยาบันโดย 137 ประเทศ[2] ส่วนพิธีสารกัวเตมาลายังไม่มีการบังคับใช้ เนื่องจากมีสมาชิกให้สัตยาบันไม่ถึง 30 ประเทศ ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของสัญญาเหล่านี้
สาระสำคัญ[แก้]
ความรับผิดของผู้ขนส่ง[แก้]
- ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้โดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย หากอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นในอากาศยานหรือในระหว่างดำเนินการขึ้นหรือลงอากาศยาน
- ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อความบุบสลาย สูญหาย หรือเสียหาย ของสัมภาระลงทะเบียน (registered baggage) ที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง
- ถ้าผู้ขนส่งยอมรับว่าสัมภาระลงทะเบียนสูญหาย หรือถ้าสัมภาระลงทะเบียนยังมาไม่ถึงเมื่อพ้นกำหนด 21 วันหลังจากวันที่สัมภาระนั้นควรจะมาถึง ผู้โดยสารสามารถบังคับใช้สิทธิ์สัมภาระสูญหายได้
- ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล่าช้าในการรับขนทางอากาศ
ค่าสินไหมทดแทน[แก้]
ความรับผิด | อนุสัญญาวอร์ซอ 1929 | พิธีสารเฮก 1955 | พิธีสารกัวเตมาลาซิตี 1971 |
---|---|---|---|
ต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้โดยสาร | ≤125,000 ฟรังก์/คน (ต่อมาแก้เป็น ≤8,300 SDR) |
≤250,000 ฟรังก์/คน (ต่อมาแก้เป็น ≤16,600 SDR) |
≤1,500,000 ฟรังก์/คน (ต่อมาแก้เป็น ≤100,000 SDR) |
ต่อความเสียหาย/ล่าช้าของสัมภาระลงทะเบียน (สัมภาระโหลดท้องเครื่อง) | 250 ฟรังก์/กิโลกรัม (ต่อมาแก้เป็น 17 SDR) | ||
ต่อความเสียหายของสิ่งของที่ผู้โดยสารดูแลเอง (สัมภาระถือขึ้นเครื่อง) | ≤5,000 ฟรังก์/คน (ต่อมาแก้เป็น ≤332 SDR) |
≤15,000 ฟรังก์/คน (ต่อมาแก้เป็น ≤1,000 SDR) |
ค่าสินไหมเคยกำหนดโดยใช้เงินฟรังก์ฝรั่งเศสเป็นหลัก แต่เนื่องด้วยเงิน 1 ฟรังก์มีส่วนผสมของทองคำ 65.5 มิลลิกรัม ทำให้ค่าเงินฟรังก์ขึ้นลงตามภาวะราคาทองคำในตลาดโลก การประชุมมอนทรีออลปีค.ศ. 1975 ได้กำหนดให้ใช้หน่วย SDR (สิทธิพิเศษถอนเงิน) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศแทน อัตราแลกเปลี่ยน ณ 1 กันยายน 2020 อยู่ที่ 1 SDR = 1.423 ดอลลาร์สหรัฐ = 44.11 บาท[3]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติ การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๖ ก วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐
- ↑ Parties 2015
- ↑ Currency units per SDR for February 2020 International Monetary Fund
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับออสเตรีย
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสหรัฐ
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับเยอรมนี
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสหภาพโซเวียต
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับนอร์เวย์
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
- ตั๋วสายการบิน
- ข้อตกลงการเดินอากาศ
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสวิตเซอร์แลนด์
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับตุรกี
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับมาเลเซีย
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับอิสราเอล