ห้าทหารเสือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปั้น 5 ทหารเสือในเมืองเฉิงตู ประเทศจีน

ห้าทหารเสือ (จีน: 五虎將) หรือ ห้าทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก หรือห้าขุนพลพยัคฆ์ ในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ห้าทหารเสือเป็นตำแหน่งเรียกขานขุนศึกผู้มีฝีมือเก่งกาจ เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานทั่วทั้งแผ่นดินจำนวน 5 คนของพระเจ้าเล่าปี่ในสมัยยุคสามก๊ก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทหารเสือที่เอก ภายหลังจากเล่าปี่ครองเมืองเสฉวนและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าฮันต๋งแห่งแคว๊นจ๊ก ห้าทหารเสือที่ได้รับการแต่งตั้งได้แก่

  • กวนอู และ เตียวหุย สองพี่น้องร่วมคำสาบานในสวนท้อของเล่าปี่ อดีตสองทหารม้าถือเกาฑัณฑ์ระวังภัยและทหารคนสนิทของเล่าปี่ ออกติดตามเล่าปี่จากเมืองตุ้นกวน ร่วมทำศึกสงครามกับเล่าปี่มาโดยตลอด มีฝีมือเพลงง้าวและเพลงทวนที่เก่งกาจจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน
  • จูล่ง ขุนศึกเกราะสีเงินและม้าสีขาว มีฝีมือเพลงทวนที่เก่งกาจในเชิงรบ เดิมทีจูล่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองซุนจ้าน ภายหลังจากกองซุนจ้านเสียชีวิต จูล่งถูกอ้วนเสี้ยวเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์ แต่กลับปฏิเสธและออกติดตามค้นหาเล่าปี่เพื่อสวามิภักดิ์
  • ม้าเฉียว ขุนศึกหน้าหยกเชื้อสายขุนนางเก่า มีฝีมือเพลงทวนเก่งกาจเป็นที่เลื่องลือ เคยทำศึกรบกับเตียวหุยร้อยกว่าเพลงยังไม่รู้ผลแพ้ชนะกัน ภายหลังถูกขงเบ้งใช้อุบายให้ผิดใจกับเตียวฬ่อและเกลี้ยกล่อมจนยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่พร้อมม้าต้าย
  • ฮองตง ขุนศึกผู้เฒ่าชราอดีตเสาหลักแห่งเมืองเตียงสา มีฝีมือเพลงง้าวและฝีมือการยิงเกาฑัณฑ์เป็นเยี่ยม เคยทำศึกรบกับกวนอูและพ่ายแพ้จนเสียเมืองเตียงสา ภายหลังได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่หลังจากเล่าปี่ ขงเบ้งและกวนอูมาเชิญฮองตงด้วยตนเอง ฮองตงมีความดีความชอบในการทำศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งเช่น สังหารแฮหัวเอี๋ยน เป็นต้น

การแต่งตั้ง[แก้]

ความเก่งกาจในเชิงยุทธ์ของห้าทหารเสือแห่งจ๊กก๊ก เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานไปทั่วทั้งแผ่นดิน กวนอูนั้นมีฝีมือเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจ สังหารฮัวหยง ทหารเอกของตั๋งโต๊ะ ปราบงันเหลียงและบุนทิว สองทหารเอกของอ้วนเสี้ยว ฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพลของโจโฉในระหว่างออกติดตามค้นหาเล่าปี่[1] เตียวหุยชำนาญการใช้ทวน มีฝีมือการรบที่เก่งกาจ เตียวหุยเคยตวาดกองกำลังทหารของโจโฉที่ติดตามเล่าปี่จนตกตะลึงไม่กล้าเข้ารบ และเพียงแค่ยืนถือทวนสกัดอยู่บริเวณต้นสะพานเตียงปันเกี้ยวก็ทำให้กองกำลังทหารของโจโฉเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าติดตามขบวนอพยพของเล่าปี่

จูล่งภายหลังจากกองซุนจ้านเสียชีวิต ได้ออกติดตามเล่าปี่เพื่อสวามิภักดิ์ ร่วมทำศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา สร้างวีรกรรมจนกลายเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานในการบุกทะลวงกองกำลังทหารสิบหมื่นของโจโฉเพียงลำพัง เพื่อออกติดตามค้นหาและช่วยเหลือครอบครัวของเล่าปี่ในศึกสะพานเตียงปันเกี้ยว[2] รวมทั้งแย่งชิงอาเต๊าจากซุนฮูหยินในคราวที่ซุนฮูหยินหนีกลับกังตั๋ง ม้าเฉียวเคยรบกับโจโฉจนทำให้โจโฉต้องถอดเกราะ ตัดหนวดหนีตายปะปนไปกับทหารเลวเพื่อหลบหนีเอาตัวรอด ฮองตงนั้นถึงแม้จะแก่ชราแต่ฝีมือในเชิงยุทธ์จัดอยู่ในชั้นเยี่ยมยอด และเพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่ขุนศึกแห่งจ๊กก๊ก พระเจ้าเล่าปี่จึงแต่งตั้งให้กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียวและฮองตง ดำรงตำแหน่งทหารเสือประจำพระองค์

การทำศึกสงคราม[แก้]

แต่ถึงแม้ห้าทหารเสือจะมีฝีมือในเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจ แต่ก็พลาดพลั้งเสียทีแก่ศัตรูจนถึงแก่ความตายเกือบทั้งสิ้น โดยกวนอูเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือที่พลาดพลั้งเสียทีแก่ลกซุนและลิบองเป็นรายแรกจนเสียเมืองเกงจิ๋ว ถูกจับตัวได้ที่เขาเจาสันและถูกประหารชีวิตด้วยอายุ 59 ปี กลายเป็นชนวนความแค้นแก่เตียวหุย ที่รบเร้าทวงคำสาบานในสวนท้อแก่เล่าปี่ ให้นำกำลังทหารบุกโจมตีง่อก๊กเพื่อเป็นการล้างแค้นแก่กวนอูโดยไม่ฟังคำทัดทานของขงเบ้ง จนเป็นเหตุให้เตียวหุยเสียชีวิตเป็นรายที่สองตามกวนอูด้วยอายุเพียง 54 ปี

ฮองตงเป็นทหารเสือรายที่สามของพระเจ้าเล่าปี่ที่เสียชีวิตในศึกสงคราม การรบและทำศึกครั้งสุดท้ายของฮองตงคือการติดตามพระเจ้าเล่าปี่ไปทำศึกสงครามกับซุนกวน ภายหลังถูกทหารของพัวเจี้ยงลอบยิงเกาฑัณฑ์ถูกที่ซอกคอเสียชีวิตที่เมืองอิเหลงด้วยอายุ 70 ปี หลังจากฮองตงเสียชีวิต ม้าเฉียวและจูล่งได้ร่วมทำศึกสงครามร่วมกับขงเบ้งหลายต่อหลายครั้ง ในการนำกำลังทหารลงใต้เพื่อทำศึกปราบเบ้งเฮ็กซึ่งเป็นใหญ่ในแดนใต้ ม้าเฉียวเป็นทหารเสือรายที่สี่ที่เสียชีวิตในระหว่างทำศึกสงครามด้วยวัย 47 ปี นับเป็นรายที่สี่ของห้าทหารเสือแห่งพระเจ้าเล่าปี่ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือที่เสียชีวิตเป็นรายสุดท้าย โดยแตกต่างจากสี่ทหารเสือคือกวนอู เตียวหุย ฮองตงและม้าเฉียว ที่เสียชีวิตจากการทำศึกสงคราม จูล่งนับเป็นทหารเสือแห่งพระเจ้าเล่าปี่เต็มตัว ร่วมทำศึกสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่ตั้งแต่วัยหนุ่มจนชรา และเสียชีวิตด้วยความสงบด้วยวัย 61 ปีบนเตียงนอนของตนเอง

อ้างอิง[แก้]

  1. กวนอูหักด่านรายทาง, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 369
  2. จูล่งตีฝ่าทหารโจโฉพาอาเต๊ามาได้, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 568

ดูเพิ่ม[แก้]