ห้องสมุดสาธารณะเทศบาลกาซา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ห้องสมุดสาธารณะเทศบาลกาซา | |
---|---|
مكتبة بلدية غزة العامة | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | ปิดทำการ |
ประเภท | ห้องสมุดสาธารณะ |
เมือง | นครกาซา |
ประเทศ | รัฐปาเลสไตน์ |
พิกัด | 31°31′00″N 34°27′00″E / 31.51667°N 34.45000°E |
เปิดใช้งาน | กรกฎาคม พ.ศ. 2542[1] |
ปิดใช้งาน | พฤศจิกายน พ.ศ. 2566[2] |
เจ้าของ | เทศบาลนครกาซา |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
จำนวนชั้น | 3[1] |
ห้องสมุดสาธารณะเทศบาลกาซา (อาหรับ: مكتبة بلدية غزة العامة) เป็นเครือข่ายห้องสมุดที่ประกอบด้วยห้องสมุด 3 แห่ง ซึ่งสังกัดเทศบาลนครกาซา ห้องสมุดสาธารณะตั้งอยู่ในนครกาซา ตรงข้ามกับศูนย์วัฒนธรรมเด็กอัลกอฏาน (مركز القطان الثقافي للطفل) บนถนนอัลวะห์ดะฮ์ (شارع الوحدة) รัฐปาเลสไตน์ ถือเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นแห่งหนึ่งในนครกาซา ให้บริการแก่ทุกภาคส่วนของสังคมปาเลสไตน์ ห้องสมุดปิดทำการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เนื่องด้วยผลกระทบจากสงครามอิสราเอล–ฮะมาส[2]
การใช้บริการ
[แก้]ห้องสมุดตั้งอยู่ในใจกลางนครกาซา ริมถนนอัลวะห์ดะฮ์ ทางตะวันออกของทางแยกเฎาะบัยฏ์ (อาคารอัลญะวะฮ์เราะฮ์ (برج الجوهرة) ) เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์ ตั้งแต่แปดนาฬิกาถึงสิบหกนาฬิกา สามารถสมัครใช้บริการห้องสมุดและเป็นสมาชิกเพื่อยืมหนังสือและส่งคืนในภายหลังตามที่ห้องสมุดกำหนด การสมัครสมาชิกใช้บัตรประจำตัวที่มีรูปถ่าย และรูปถ่ายอีกสองใบ รวมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 20 เชเกลอิสราเอล และจะมีค่าธรรมเนียมในการต่ออายุทุกปีครั้งละ 10 เชเกล สามารถยืมหนังสือได้ครั้งละ 3 เล่ม
ประวัติ
[แก้]ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2539[1] เอาน์ ซะอ์ดี อัชชะวา (عون سعدي الشوا) นายกเทศมนตรีนครกาซาได้แสดงความปรารถนาส่วนตัวและความปรารถนาของเทศบาลในการจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะในนครกาซาเพื่อให้บริการแก่คนทุกกลุ่มและทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้นจึงได้มีการลงนามข้อตกลงระหว่างเทศบาลและสภาอารยธรรมของเมืองเดิงแกร์กของฝรั่งเศส โดยตัวแทนคือมีแชล แดลบาร์ (Michel Delbard) เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการห้องสมุดเทศบาลนครกาซา เนื่องจากเมืองเดิงแกร์กมีเครือข่ายห้องสมุดที่ยอดเยี่ยม
เครือข่ายห้องสมุดเทศบาลนครกาซา
[แก้]ในเขตเทศบาลนครกาซาประกอบด้วยห้องสมุด 3 แห่ง ได้แก่
- ห้องสมุดสาธารณะเทศบาลนครกาซา
- ห้องสมุดดัยอานา ตะมารี ศะบาฆ (مكتبة ديانا تماري صباغ)
- ห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมโฮลส์ (Holst Cultural Center Library)
ห้องสมุดสาธารณะเทศบาลนครกาซา
[แก้]ห้องสมุดประกอบด้วยอาคารสองชั้นและชั้นใต้ดิน[1] มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,410 ตร.ม. พนักงานของเทศบาลนครกาซาแปดคนได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจที่ฝรั่งเศสเพื่อเรียนรู้วิธีการทางเทคนิคล่าสุดสำหรับการจัดการห้องสมุดสาธารณะ เทคโนโลยีสมัยใหม่ สื่อ และวิธีการที่ทันสมัยในการบริการประชาชน ห้องสมุดแห่งนี้ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542[1] ปัจจุบันมีหนังสือมากกว่า 22,000 เล่มในหลายภาษา
ห้องสมุดดัยอานา ตะมารี ศะบาฆ
[แก้]ตั้งอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมเราะชาด อัชชะวา (مركز رشاد الشوا الثقافي) ซึ่งเปิดทำการก่อนห้องสมุดสาธารณะ โดยศูนย์วัฒนธรรมจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 โดยได้รับเงินทุนและอุปกรณ์ที่จำเป็นจากนักธุรกิจชาวปาเลสไตน์ ฮัสซีบ ศะบาฆ (حسيب الصباغ) ซึ่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2553 เขาตั้งชื่อห้องสมุดตามชื่อภรรยาของเขา ดัยอานา ตะมารี ศะบาฆ (ديانا تماري صباغ) เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอภายหลังการเสียชีวิต ห้องสมุดมีพื้นที่ประมาณ 600 ตารางเมตร ให้บริการแก่ทุกภาคส่วนของสังคม และปัจจุบันห้องสมุดมีหนังสือมากกว่า 20,000 เล่มในภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ
ห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมโฮลส์
[แก้]ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่เน้นให้บริการเด็ก ๆ และตั้งอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมโฮลส์ (مركز هولست الثقافي) ห้องสมุดแห่งนี้มีส่วนให้ความรู้และห้องปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตที่ใช้จัดหลักสูตรฝึกอบรมและให้ความรู้หลายหลักสูตร
ทรัพยากรห้องสมุด
[แก้]ห้องสมุดมีทรัพยากรประมาณ 25,000 รายการในหลายภาษา ได้แก่ ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน ทรัพยากรเหล่านี้ได้แก่ วัสดุตีพิมพ์เช่น หนังสือและวารสาร วัสดุไม่ตีพิมพ์ ทรัพยากรโสตทัศนูปกรณ์เช่น แถบบันทึกวีดิทัศน์ และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์เช่น ซีดีรอม
บริการห้องสมุด
[แก้]ห้องสมุดมีบริการต่าง ๆ มากมาย เช่น บริการถ่ายเอกสาร บริการค้นหาอัตโนมัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นคว้าสำหรับผู้อ่าน และบริการสื่อโสตทัศน์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 مكتبة البلدية العامة. gaza-city.org (ภาษาอาหรับ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2016.
- ↑ 2.0 2.1 Mohamad El Chamaa (30 พฤศจิกายน 2023). "Gazans mourn loss of their libraries: Cultural beacons and communal spaces". The Washington Post (ภาษาอังกฤษ).