สำนักหอสมุดแห่งชาติ

พิกัด: 13°46′20″N 100°30′18″E / 13.772337°N 100.505094°E / 13.772337; 100.505094
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอสมุดแห่งชาติ
เครื่องหมายราชการของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ประเภทหอสมุดแห่งชาติ
ก่อตั้งพ.ศ. 2448
สถานที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
พิกัด13°46′20″N 100°30′18″E / 13.772337°N 100.505094°E / 13.772337; 100.505094
การเก็บรวบรวม
ขนาด3.2 ล้านเล่ม (2556)
ข้อมูลอื่น
งบ86,840,300 บาท (2556)
ผู้อำนวยการเนาวรัตน์ ปัญญางาม (2566) รักษาราชการ
บุคลากร197 คน (2556)
เว็บไซต์www.nlt.go.th
แผนที่
แผนที่

สำนักหอสมุดแห่งชาติ (ตัวย่อ: หสช.) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2448 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา เป็นหน่วยงานสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม[1]

ใน พ.ศ. 2556 หอสมุดนี้มีวัตถุข้างในมากกว่า 3 ล้านชิ้น และมีสาขาต่างจังหวัด 11 แห่ง โดยมีงบประมาณ 87 ล้านบาทและว่าจ้างพนักงานประมาณ 200 คน[2]

ภูมิหลัง[แก้]

จุดประสงค์หลักของหอสมุดแห่งชาติคือการสะสม, จัดเก็บ, รักษา และบริหารทรัพย์สินทางปัญญาของชาติทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงสื่อ โดยมีชุดสะสมของเอกสารตัวเขียนไทย,[3] ศิลาจารึก, ใบลาน, วรรณคดีไทย และสิ่งตีพิมพ์ เช่นเดียวกันกับวัตถุภาพและเสียงและทรัพยากรดิจิทัล

ประวัติ[แก้]

หอพระสมุดวชิรญาณ[แก้]

ตราสัญลักษณ์ของหอพระสมุดวชิรญาณ

หอพระสมุดวชิรญาณนั้น เดิมพระราชโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมพระหฤทัยกันตั้งขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อปีมะแม พ.ศ. 2426 แต่แรกอาศัยตั้งที่ห้องชั้นต่ำมุขกระสันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางตะวันตก แล้วมาตั้งที่ตึกทิมดาบตรงหน้าพระที่นั่งจักรี เมื่อ พ.ศ. 2430 แล้วย้ายออกมาตั้งที่ตึกอันเป็นหอสหทัยสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2434 หอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอสมุดของสโมสรสมาชิกอยู่ตลอดสมัยที่กล่าวมา รวมเวลา 21 ปี

ในปีพุทธศักราช 2440 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครกลับจากเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้มีพระราชดำริว่า ในประเทศสยามนี้ยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร ประจวบกับวาระที่พระบรมราชสมภพแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังจะเวียนมามาครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสถาปนาอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรดิสมเด็จพระบรมชนกนาถให้เป็นของถาวรสักอย่างหนึ่ง จึงทรงชักชวนพระราชวงศานุวงศ์ให้ทรงอุทิศถวายหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ให้ขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งแต่เดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป และพระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" โดยได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2448

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยสมาคม มาไว้ที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุซึ่งเรียกว่าตึกถาวรวัตถุ และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459

ในปีพุทธศักราช 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น 2 หอ คือ หอพระสมุดวชิราวุธ ตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิมให้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์และ หอพระสมุดวชิรญาณ ให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม

ปีพุทธศักราช 2476 รัฐบาลจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นและมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากรเรียกว่า กองหอสมุดและได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นหอสมุดแห่งชาติในเวลาต่อมา จนถึงพุทธศักราช 2505 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง 5 ชั้นขึ้น ที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นอาคารทรงไทย 5 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม[4]

การรวบรวมหนังสือ[แก้]

หอพระมณเฑียรธรรมก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้เป็นที่เก็บรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับหลวง ต่อมาจึงขยายไปสู่การรวบรวมฉบับมอญ สิงหล และหนังสืออื่นเนื่องในพุทธศาสนาด้วย สำหรับหอพุทธศาสนสังคหะก่อตั้งในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2443 เพื่อเก็บงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎกในภาษาต่าง ๆ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา งานวิชาการ ไวยากรณ์บาลี งานแปล หนังสือเทศนา หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาในภาษาลาว มอญ สิงหล ญี่ปุ่น และสันสกฤต ฯลฯ

ใน พ.ศ. 2448 หลังจากที่หอสมุดวชิรญาณ หอพระมณเฑียรธรรม และหอพุทธศาสนสังคหะ รวมเข้าเป็นชื่อ หอพระสมุดสำหรับพระนคร ภายใต้การดูแลของกระทรวงธรรมการ ก็ได้มีประกาศของทางหอสมุดฯ แจ้งไปยังเทศาภิบาล ว่าประสงค์จะรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎก และหนังสือไทย ขอให้คนนำหนังสือมาบริจาค ให้ยืมคัดลอกหรือขายแก่หอสมุดฯ เมื่อหนังสือหลั่งไหลเข้ามาก็พบกับหนังสือแปลก เช่น หนังสือที่เขียนโดยเจ้านายและขุนนางในอดีต อย่าง พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งพบขณะที่ยายแก่คนหนึ่งกำลังจะเอาไปเผาไฟรวมกับเอกสารอื่น พบว่าหนังสือฉบับนี้เก่าแก่กว่าฉบับอื่น ๆ เท่าที่พบมา ยังมีหนังสือแปลก ๆ ที่พบมาจากทางวังหน้า เป็นบันทึกประวัติศาสตร์สมัยต้นราชวงศ์จักรีชิ้นหนึ่ง คือ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งทำให้พบมุมมองประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ของบ้านเมือง หนังสือแปลกอีกประเภทคือ หนังสือใบลาน ที่อธิบายเรื่องราวแปลก ๆ เช่น การบรรยายถึงพิธีกรรมแปลก ๆ คาถาอาคม ลายแทง

สำหรับหมวดหนังสือต่างประเทศ เริ่มแรกได้มอบหมายให้บรรณารักษ์ชาวตะวันตกชาลส์ สไวสตรัป ทำรายชื่อหนังสือของหอสมุดวชิรญาณออกมาในปี พ.ศ. 2435 ชื่อว่า Catalogue of the Books of the Royal Vajirajan Library by Order of H.R.H. Krom Hmun Damrong Rachanphap จำแนกหนังสือออกเป็นหมวดหมู่ความรู้ตามมาตรฐานตะวันตก โดยแบ่งออกเป็นเรื่อง แพทย์ศาสตร์ ปรัชญาธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์การเมืองและสถิติ การเงินและการพาณิชย์ การทหาร นาวิกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดีบริสุทธิ์ โบราณคดี วิศวกรรมศาสตร์ การค้าและอุตสาหกรรม เทววิทยา เป็นต้น

สำหรับการแบ่งหมวดหมู่หนังสือของไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 แบ่งออกเป็น 3 แผนกกว้าง ๆ คือ แผนกหนังสือพระศาสนา แผนกหนังสือต่างประเทศ และแผนกหนังสือไทย นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2448 หอพระสมุดฯ ยังจัดแบ่งหนังสือแผนกไทยออกเป็น 3 หมวดหมู่ย่อย ได้แก่ โบราณคดี วรรณคดี และตำรา[5]

ในปัจจุบันหอพระสมุดฯ มีคลังสิ่งพิมพ์ มีมาตั้งแต่หอสมุดสำหรับพระนคร จัดแบ่งหอสมุดออกเป็น 2 หอ คือ หอพระสมุดวชิรญาณ หอหนึ่ง สำหรับเก็บหนังสือตัวเขียน และหอพระสมุดวชิราวุธหอหนึ่ง สำหรับเป็นที่เก็บหนังสือตัวพิมพ์ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ตั้งแต่อดีต ไม่ว่าโรงพิมพ์จะตีพิมพ์หนังสือเรื่องใด ต้องส่งหอพระสมุดเรื่องละ 2 เล่ม เล่มหนึ่งเก็บไว้ที่หอพระสมุดฯ อีกเล่มหนึ่งเก็บไว้ในห้องหนังสือพิสูจน์ สำหรับเป็นหลักฐานอ้างอิง เมื่อเกิดคดีขึ้นในโรงศาล เมื่อศาลสั่ง ห้องหนังสือพิสูจน์ได้เปลี่ยนเป็นงานคลังสิ่งพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2538 และในปี พ.ศ. 2553 ได้เปลี่ยนเป็นคลังสิ่งพิมพ์ขึ้นกับกลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ จนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่จัดเก็บสิ่งพิมพ์ทุกประเภทที่จัดพิมพ์ในประเทศที่กลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศได้รับตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 อย่างละ 1 เล่ม/ฉบับ ได้แก่ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ โดยทำการลงทะเบียนในฐานข้อมูล และทำบัตรหลักฐาน

การจัดพิมพ์หนังสือ[แก้]

ป้ายหอสมุดแห่งชาติ

นอกจากจะรวบรวมหนังสือจากทั่วราชอาณาจักรแล้ว พอในสมัยรัชกาลที่ 6 หอสมุดฯ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ เกณฑ์การตีพิมพ์คือ งานนั้นควรเกี่ยวด้วยวิชาความรู้ มากกว่าที่จะเป็นหนังสือธรรมดาสามัญที่ราษฎรนิยมชมชอบ งานเหล่านี้ได้แก่บรรดาวรรณคดีและประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองและงานแปลทางพุทธศาสนา เช่น วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน อิเหนา เวสสันดรชาดก ฯลฯ หรือประชุมพงศาวดาร ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2441 และกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับการเขียนประวัติศาสตร์ไทย[5]

ในช่วงทศวรรษ 2420-2430 มีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ วชิรญาณ วารสารที่ให้สมาชิกของหอสมุดฯ เขียนเรื่องราวความรู้หรือวรรณคดี ประวัติศาสตร์ นิทาน รวมสุภาษิตคำพังเพย วิทยาศาสตร์ ศาสนา กิจกรรมเศรษฐกิจและการพาณิชย์ ข่าวต่างประเทศและท้องถิ่น และงานแปลจากภาษายุโรป นอกจากนี้ยังมีการพิมพ์งานประวัติศาสตร์และวรรณคดีฉบับสมบูรณ์ด้วยงบประมาณของตนเอง แต่เนื่องจากงบประมาณจำกัด จึงให้โรงพิมพ์เอกชนเข้ามาช่วยจัดพิมพ์ โดยมีสัญญาว่าจะมอบหนังสือร้อยละ 20 ให้หอสมุดฯ[5] อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วการจัดพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือของหอสมุดฯ ทำผ่านระบบการพิมพ์แจกเป็นหนังสืองานศพ

การตีพิมพ์ที่สำคัญของหอสมุดฯ เช่น ใน พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ทรงสั่งให้พิมพ์คู่มือหนังสือสวดมนต์ฉบับแรก พิมพ์แจกจ่ายไปยังวัดทั่วประเทศจำนวน 1 หมื่นฉบับ ในคำนำมีคำอธิบายว่าจะอ่านภาษาบาลีที่เขียนด้วยอักษรไทยอย่างไร เนื่องจากไม่เคยใช้อักษรไทยแปลบาลีมาก่อน และการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่เขียนด้วยอักษรไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436 ยังเป็นการสร้างความเป็นไทยให้กับระบบการเขียน

อิทธิพลของหนังสือฉบับหอพระสมุดฯ ยังคงมีสืบเนื่องถึงปัจจุบัน งานแต่ละชิ้นถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากต้นฉบับเดิม หนังสือเหล่านี้มีใช้ในการเรียนการสอนตามโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย และวางรากฐานงานตีพิมพ์ภายใต้การอุปถัมน์ของหอพระสมุดฯ เกือบทั้งสิ้น[5]

หนังสือ[แก้]

หนังสือทั่วไป[แก้]

หนังสือทั่วไป ประกอบด้วย หนังสือนานาชาติ ภาษาญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ลาว อารบิค สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เบ็ดเตล็ด ศิลปะ วรรณคดี ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ส่วนภายในห้องสมุดหลวงวิจิตรวาทการ มีหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย หนังสือจีน งานนิพนธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ หนังสือและต้นฉบับลายมือ เครื่องใช้หลวงวิจิตรวาทการ และภายในห้องสมุดพระยาอนุมานราชธน มีหนังสือศิลปะ วรรณคดี ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ นวนิยาย และหนังสือ สิ่งของเครื่องใช่ส่วนตัว ของที่ระลึกของพระยาอนุมานราชธน[6]

เอกสารโบราณ[แก้]

ห้องบริการเอกสารโบราณ มีเอกสารโบราณประเภทจารึก หนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน ยังมีคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีบางส่วนเก็บไว้ที่ห้องเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ แต่เอกสารส่วนใหญ่เก็บไว้ที่หอมนเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง และภายในหอสมุดยังมีพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ นอกเหนือจากเอกสารโบราณยังเก็บ ตู้ปิดทองลาดรดน้ำ ศิลาจารึก อีกด้วย[7]

หนังสือหายาก[แก้]

หนังสือหายากและเอกสารที่มีคุณค่าเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติทั้งด้านเนื้อหาและด้านการพิมพ์ คือหนังสือและเอกสารที่มีอายุประมาณ 50-150 ปี ได้แก่ หนังสือหายากเช่น พระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ หนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ หนังสือที่พิมพ์ในระยะเริ่มแรก หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก และพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่มีความโดดเด่น มีรูปเล่มสวยงาม และมีภาพประกอบที่ทรงคุณค่า[8]

ตัวอย่างของหนังสือหายากเช่น หนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกพิมพ์ปี พ.ศ. 2483 หรือหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี ร.ศ.93 หรือปี พ.ศ. 2417[9]

ทั้งนี้ หอสมุดแห่งชาติ เป็นสถานที่เก็บรักษา "เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานพระธาตุพนม" ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

อาคาร[แก้]

อาคาร 1 หอสมุดแห่งชาติ
หน้าบันของหอวชิราวุธานุสรณ์
  • อาคาร 1 หอสมุดแห่งชาติ มีห้องบริการหนังสือความรู้ทั่วไป ปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มุมทรัพยากรสารสนเทศเกาหลี ศิลปะ วรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย ทรัพยากรสารสนเทศภาษาจีน และเก็บวารสารและหนังสือพิมพ์เย็บเล่ม และฉบับล่วงเวลา
  • อาคาร 2 หอสมุดแห่งชาติ เก็บวิทยานิพนธ์และวิจัย หนังสือหายาก หนังสือตัวเขียนและจารึก (เอกสารโบราณ)
  • หอวชิราวุธานุสรณ์ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524 เป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้น[10]
  • หอสมุดดนตรี ประกอบด้วยหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่รวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์ทุกรูปแบบ เป็นศูนย์ค้นคว้างานวิชาการทางด้านดนตรี และ ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร เป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการทางดนตรีสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิจัยดนตรีไทย ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมืองดนตรีต่างประเทศ
  • หอสมุดดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บริเวณวังวรดิศ มีหนังสือส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือพระราชนิพนธ์ตลอดจนหนังสือที่เกี่ยงข้องโดยเน้นในสาขาประวัติศาสตร์โบราณคดี วรรณคดี การเมืองการปกครอง การท่องเที่ยว ศาสนาและขนบประเพณี ฯลฯ รวมถึงจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์
  • ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ หนังสือและเอกสารส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงค์ประพันธ์ เช่น บทละครพระราชนิพนธ์พระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงค์ประพันธ์ หนังสือหายากเกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หนังสือกฎหมาย การเมืองการปกครอง ภาษาและวรรณคดี ทั้งที่เป็นงานนิพนธ์ และหนังสือส่วนพระองค์
  • หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หนังสือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์

หอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค[แก้]

  1. หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ
  2. หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่
  3. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา
  4. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ นครพนม
  5. หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี
  6. หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ
  7. หอสมุดแห่งชาติ ชลบุรี
  8. หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
  9. หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
  10. หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา
  11. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สงขลา
  12. หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตรัง

อ้างอิง[แก้]

  1. National Library, Organization เก็บถาวร 2014-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "NATIONAL LIBRARY OF THAILAND ANNUAL REPORT [2014]" (PDF). National Diet Library, Japan. National Library of Thailand. สืบค้นเมื่อ 14 February 2018.
  3. Reeder, Matt (2016-05-16). "The National Library of Thailand, Manuscript Collection". Dissertation Reviews. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-11-05.
  4. ความเป็นมาของสำนักหอสมุดแห่งชาติ จากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ เก็บถาวร 2009-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Patrick Jory. "Books and the Nation : The Making of Thailand's National Library" Journal of Southeast Asian Studies 31:2 (September 2000,) p.351-373
  6. "หนังสือทั่วไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-02. สืบค้นเมื่อ 2018-06-07.
  7. "เอกสารโบราณ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-10. สืบค้นเมื่อ 2018-06-07.
  8. "หนังสือหายาก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-02. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.
  9. ทุ่ม 438 ล้านปรับโฉมหอสมุดชาติหวังดึงนักอ่าน
  10. "หอวชิราวุธานุสรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-03. สืบค้นเมื่อ 2018-06-07.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]