หอยงวงช้างกระดาษ
หอยงวงช้างกระดาษ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 23–0Ma ไมโอซีน – ปัจจุบัน | |
---|---|
หอยงวงช้างกระดาษใหญ่ (A. argo) ตัวเมีย พร้อมไข่ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Mollusca |
ชั้น: | Cephalopoda |
อันดับ: | Octopoda |
วงศ์ใหญ่: | Argonautoida |
วงศ์: | Argonautidae |
สกุล: | Argonauta Linnaeus, 1758[1] |
ชนิด | |
| |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
หอยงวงช้างกระดาษ (อังกฤษ: Paper nautilus, Argonaut) เป็นมอลลัสคาประเภทหมึก จำพวกหมึกสายสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Argonauta แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหอยงวงช้าง แต่ก็มิได้ถูกจัดให้อยู่ในจำพวกหอยงวงช้าง แต่ถูกจัดให้เป็นหมึกสาย
ลักษณะทางกายภาคและการขยายพันธุ์
[แก้]หอยงวงช้างกระดาษมีลักษณะเด่น คือ เฉพาะตัวเมียเท่านั้นที่มีเปลือกหุ้มตัว เพื่อใช้เป็นที่สำหรับวางไข่และฟักไข่ ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียมาก และไม่มีเปลือกหุ้มตัว เปลือกหอยงวงช้างกระดาษมีลักษณะบาง เบา เปราะ และแตกหักง่าย ม้วนเป็นวงในแนวราบ วงเกลียวแรก ๆ เป็นสีน้ำตาลเข้มและค่อย ๆ จางลงเป็นสีขาวหม่นหรือสีครีมในวงเกลียวสุดท้าย วงเกลียวสุดท้ายจะคลุมวงเกลียวแรก ๆ ไว้ทั้งหมด ผิวเปลือกมีร่องตามขวางและสันหยัก ทำให้เห็นเป็นลอนตื้นจากจุดยอดออกไปในแนวรัศมี ตามสันเปลือกมีปมเรียงเป็นแถว โดยเปลือกของหอยงวงช้างกระดาษนั้นเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตที่เปราะบางคล้ายกระดาษ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ตัวหอยงวงช้างกระดาษประกอบด้วยส่วนหัวและลำตัว ที่หัวมีตาขนาดใหญ่ 1 คู่ รอบปากมีหนวดหรือแขน 8 เส้น ลำตัวไม่มีครีบ ตัวเมียมีลำตัวคล้ายถุงรูปรี หัวเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ปลายหนวดคู่แรกมีลักษณะแบน และมีต่อมที่ผลิตสารสำหรับสร้างเปลือก ตัวผู้มีลำตัวกลมคล้ายถุง หัวใหญ่ การผสมพันธุ์มีการจับคู่กัน ตัวเมียวางไข่ไว้ในเปลือก ไข่มีลักษณะเป็นไข่เดี่ยว ไข่แต่ละฟองมีตัวอ่อนเพียงตัวเดียว ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยแต่มีหนวดสั้น ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 10–30 เซนติเมตรในตัวเมีย ขณะที่ตัวผู้มีความยาวเพียง 2 เซนติเมตรเท่านั้น คือเล็กกว่าตัวเมียได้มากถึง 30 เท่า[2]
โดยการผสมพันธุ์จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาน ตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่ามากจะทิ้งหนวดเอาไว้เกาะกับตัวเมีย ซึ่งสามารถคืบคลานไปมาได้และบรรจุไว้ซึ่งสเปิร์ม สำหรับในการปฏิสนธิ[3]ตัวเมียอาจจะเก็บสะสมสเปิร์มของตัวผู้ไว้ได้หลายตัว และจะปฏิสนธิเมื่อเวลาผ่านไป ตัวเมียจะวางไข่เป็นสายพันอยู่รอบเปลือก เรียกว่า เปลือกหุ้มไข่ ซึ่งสามาถดูแลไปได้ด้วยขณะที่ไข่มีการพัฒนา ส่วนตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ก็จะตาย[2]
ถิ่นที่อยู่อาศัย
[แก้]หอยงวงช้างกระดาษอาศัยในทะเลที่ห่างฝั่ง ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตั้งแต่ระดับผิวน้ำไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ 100 เมตร ว่ายน้ำได้ดี แต่มักจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำมากกว่าว่ายไปเอง บางชนิดตัวเมียอาจยึดเกาะกับวัตถุในน้ำ หรือเกาะกันเองเป็นสายจำนวน 20–30 ตัว มักออกหาอาหารในเวลากลางวัน อาหารคือ สัตว์น้ำขนาดเล็ก หอยงวงช้างกระดาษมีทั้งหมด 7 ชนิด (สูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์) ในน่านน้ำไทยมีการสำรวจพบ 3 ชนิด เปลือกมีความสวยงามแปลกตา จึงมักนำมาเป็นของตกแต่งบ้าน และรับประทานเนื้อเป็นอาหารในบางประเทศ[4]
แม้จะเป็นสัตว์ที่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักหรือพบเห็นกันมากนัก แต่ทว่าที่จริงแล้ว เป็นสัตว์ที่สามารถพบได้ดาษดื่นตามท้องทะเลทั่วไป ขณะเดียวกัน หอยงวงช้างกระดาษก็ตกเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาทูน่า, โลมา หรือปลากระโทง เป็นต้น[2]
การจำแนก
[แก้]- † Argonauta absyrtus
- Argonauta argo (ชนิดต้นแบบ)
- Argonauta bottgeri
- Argonauta cornuta*
- Argonauta hians
- † Argonauta itoigawai
- † Argonauta joanneus
- Argonauta nodosa
- Argonauta nouryi
- † Argonauta oweri
- Argonauta pacifica*
- † Argonauta sismondai
- † Argonauta tokunagai
- *ยังเป็นที่สงสัยอยู่
มีชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว คือ Obinautilus awaensis เคยถูกจัดให้อยู่ในสกุล Argonauta ด้วย แต่ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในสกุล Obinautilus[5]
ศัพท์มูลวิทยา
[แก้]หอยงวงช้างกระดาษ ทั้งในชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า "Argonaut" หรือ Argonauta นั้น หมายถึง "กะลาสีบนเรืออาร์โก" ตามเทพปกรณัมกรีก โดยแปลงมาจากภาษากรีกคำว่า ναυτίλος หมายถึง "กะลาสี" ซึ่งมาจากพฤติกรรมของหอยงวงช้างกระดาษที่มักใช้หนวดที่เป็นเสมือนแขนทั้ง 8 เส้นนั้นยกไว้เหนือลำตัวเสมือนใบเรือ เมื่ออยู่บนพื้นใต้ทะเล[6] โดยชื่อนี้มีที่มาจากอริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณที่บรรยายถึงลักษณะของเปลือกหอยตัวเมียว่า เหมือนเรือและหนวดเป็นเหมือนใบเรือและพาย [2]
รูปภาพ
[แก้]-
เปลือกหอยงวงช้างกระดาษชนิดต่าง ๆ
-
ภาพแสดงให้เห็นถึงตัวหอยและเปลือก
-
หอยงวงช้างกระดาษใหญ่ตัวเมีย
-
เปลือกของหอยงวงช้างกระดาษใหญ่ในมุมต่าง ๆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Argonauta". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 คู่รักประหลาดในมหาสมุทรจับคู่ผสมพันธุ์กันอย่างไร, "สำรวจโลก | สัตว์ก็มีหัวใจ" โดย แพทริเซีย เอดมันส์ และ อีจา แวน เดน เบิร์ก. เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 216 กรกฎาคม 2562
- ↑ "ท่องโลกกว้าง: สัตว์ทะเลสุดแปลก". ไทยพีบีเอส. 18 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-05. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
- ↑ หอยงวงช้างมุกและหอยงวงช้างกระดาษ (Class Cephalopoda), "หอยในทะเลไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 34 : โดย พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 328 หน้า (กรุงเทพฯ, 2552) ISBN 9748185842
- ↑ Martill, D.M. & M.J. Barker (2006). A paper nautilus (Octopoda, Argonauta) from the Miocene Pakhna Formation of Cyprus. เก็บถาวร 2019-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Palaeontology 49 (5): 1035-1041.
- ↑ Naef, A. (1923). "Die Cephalopoden, Systematik". Fauna Flora Golf. Napoli (35) 1: 1–863. (เยอรมัน)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Argonauta ที่วิกิสปีชีส์