หลุน-ยฺหวี่
หลุน-ยฺหวี่ 論語 | |
---|---|
หน้าจากหลุน-ยฺหวี่ | |
ผู้ประพันธ์ | เหล่าลูกศิษย์ของขงจื๊อ |
ภาษา | ภาษาจีนโบราณ |
หลุน-ยฺหวี่ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาจีน | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวเต็ม | 論語 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
อักษรจีนตัวย่อ | 论语 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ฮั่นยฺหวี่พินอิน | Lúnyǔ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ความหมายตามตัวอักษร | "คำพูดคัดสรร"[1] หรือ "บทสนทนาแปลง"[2] | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาเวียดนาม | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
จื๋อโกว๊กหงือ | Luận Ngữ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
จื๋อฮ้าน | 論語 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาเกาหลี | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ฮันกึล | 논어 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ฮันจา | 論語 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คันจิ | 論語 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คานะ | ろんご | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
หลุน-ยฺหวี่ (จีน: 论语; อังกฤษ: Analects) แปลว่า "ปกิณกคดี" เป็นคัมภีร์พื้นฐานของสำนักปรัชญาขงจื่อ เป็นคัมภีร์รวมบทสนทนาที่เหล่าศิษย์สำนักขงจื่อได้รวบรวมขึ้นหลังมรณกรรมของขงจื่อ หลุน-ยฺหวี่ ฉบับปัจจุบันแบ่งออกเป็น 20 เล่ม (แต่ละเล่มแบ่งออกเป็นบทย่อย ๆ หลายบท) ชื่อของแต่ละเล่มเรียกตามอักษรสองหรือสามตัวเแรกของบทที่หนึ่งในเล่มนั้น ๆ มิได้เป็นการตั้งชื่อเล่มเพื่อสื่อความหมายแต่อย่างใด ข้อความส่วนมากในหลุน-ยฺหวี่ เป็นบันทึกการสนทนาระหว่างขงจื่อกับบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ เจ้าเมือง ขุนนาง ผู้หลีกลี้สังคม นายด่าน หรือกระทั่งคนบ้า โดยขงจื่อมีบทบาทเป็นผู้สนทนาหลักซึ่งถ่ายทอดความคิดหรือคำสอนให้กับคู่สนทนา (มีอยู่ไม่กี่บทเท่านั้นที่ผู้สนทนาหลักไม่ใช่ขงจื่อ แต่เป็นศิษย์ซึ่งภายหลังได้รับยกย่องให้เป็นอาจารย์ในสำนัก เช่น เจิงจื่อ (曾子) กับ โหยวจื่อ (有子)
แก่นความคิดของหลุน-ยฺหวี่ และลัทธิขงจื๊อ
[แก้]เมตตาธรรม (仁)รักผู้อื่น คือแก่นทฤษฎีของระบบความคิดของขงจื่อ อันเป็นมาตรฐานและอุดมการณ์สูงสุดทางคุณธรรม จริยธรรม การเมือง สังคมของขงจื่อ ทั้งยังสะท้อนถึงทัศนะเชิงปรัชญาของท่านด้วย ความหมายสำคัญสองประการของ เมตตาธรรม ที่ขงจื่อให้คำนิยามคือ ผู้มีเมตตาย่อมรักผู้อื่น ควบคุมตนเอง ฟื้นฟูจริยธรรมคือเมตตาธรรม ขงจื่อเรียกร้องผู้บริหารปกครอง ให้ชาวบ้านทำในสิ่งที่พวกเขาได้ประโยชน์
เนื้อหาหลุน-ยฺหวี่
[แก้]เนื่องจากหลุน-ยฺหวี่ มิได้มีการตั้งชื่อเล่มและจัดหมวดหมู่ในแต่ละบท การจัดหมวดหมู่ข้างล่างนี้จึงเป็นการจัดหมวดหมู่เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นและสะดวกต่อการนำไปประยุกต์ใช้เท่านั้น วงเล็บตัวเลขข้างหน้าในแต่ละข้อ คือแหล่งที่มาในหลุน-ยฺหวี่ต้นฉบับ (เล่มที่/บทที่)
เกี่ยวกับการครองตน
[แก้]- (2/13) จื่อก้งถามเรื่องวิญญูชน ขงจื่อตอบว่า “ลงมือทำก่อนพูด หลังจากนั้นจึงพูดตามที่ได้ทำไปแล้ว”
- (4/12) ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้กระทำการต่าง ๆ ด้วยมุ่งผลประโยชน์เฉพาะตนย่อมเป็นที่ติฉิน”
- (4/14) ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่วิตกว่าจะไม่มีตำแหน่ง แต่วิตกว่าจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่วิตกว่าจะไม่เป็นที่รู้จัก แต่พยายามทำตัวให้มีคุณค่าควรแก่การรู้จัก”
- (4/17) ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อเห็นผู้มีปัญญา พึงคิดให้เทียบเคียงได้ เมื่อเห็นผู้ไร้ปัญญา พึงหันมามองตนเอง”
- (4/22) ขงจื่อกล่าวว่า “คนโบราณไม่ค่อยเอ่ยปาก เพราะท่านละอายว่าจะทำตามที่พูดไม่ได้”
- (4/24) ขงจื่อกล่าวว่า “วิญญูชนปรารถนาจะไม่พูดพล่อย ๆ และขันแข็งในการกระทำ”
- (7/11) ขงจื่อกล่าวว่า “ถ้าแสวงหาความร่ำรวยได้โดยไม่ผิด แม้เป็นผู้ถือแส้มาก็ยอม แต่ถ้าทำไม่ได้ เราก็จะแสวงหาแต่สิ่งที่ใจรัก”
- (15/17) ขงจื่อกล่าวว่า “วิญญูชนใช้ความเที่ยงธรรมเป็นฐาน ใช้หลี่เป็นแนวปฏิบัติ ใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนในการแสดงออก ใช้ความจริงใจทำให้สมบูรณ์ นี่แหละคือวิญญูชน”
- (15/29) ขงจื่อกล่าวว่า “มีข้อบกพร่องแล้วไม่แก้ไข นี่แหละคือข้อบกพร่อง”
- (16/7) ขงจื่อกล่าวว่า “สำหรับวิญญูชน มีสามสิ่งที่พึงระวัง เมื่อวัยเยาว์เลือดลมพุ่งพล่าน พึงระวังกามารมณ์ เมื่อวัยฉกรรจ์เลือดลมแข็งแกร่ง พึงระวังการต่อสู้แย่งชิง เมื่อวัยชราเลือดลมถดถอย พึงระวังการยึดถือครอบครอง”
- (17/26) ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่ออายุ 40 แล้ว ยังถูกเกลียด ก็เท่ากับถึงจุดจบแล้ว”
ฯลฯ
เกี่ยวกับการเรียนการศึกษา
[แก้]- (1/1) ขงจื่อกล่าวว่า “ร่ำเรียนอยู่เป็นนิจ มิน่ายินดี ดอกหรือ?” “มีมิตรสหายมาจากแดนไกล มิน่ารื่นรมย์ ดอกหรือ?” “แม้ไม่มีใครรู้จัก ก็ไม่หวั่นไหว มิใช่วิญญูชน ดอกหรือ?”
- (2/11) ขงจื่อกล่าวว่า “ทบทวนความรู้เก่า แสวงหาความรู้ใหม่ สามารถเป็นครูได้”
- (2/15) ขงจื่อกล่าวว่า “เรียนรู้โดยไม่คิดจะสูญเปล่า คิดโดยไม่เรียนรู้จะเป็นอันตราย”
- (2/17) ขงจื่อกล่าวว่า “โหยว เราจะบอกเจ้าว่าความรู้คืออะไร เมื่อรู้สิ่งใดก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้สิ่งใดก็บอกว่าไม่รู้ นี่คือความรู้”
- (6/18) ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้ที่รู้การเรียนแพ้คนที่รักการเรียน คนที่รักการเรียนแพ้คนที่เรียนอย่างมีความสุข”
- (7/21) ขงจื่อกล่าวว่า “ในที่มีคนเดินอยู่สามคน แน่ว่ามีครูของเราอยู่ในจำนวนนั้น เลือกข้อดีแล้วทำตาม แยกแยะข้อเสียแล้วแก้ไข”
- (7/27) ขงจื่อกล่าวว่า “อาจจะมีคนที่ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่รู้ เราไม่ใช่เช่นนั้น ฟังมามากแล้วเลือกแยกแยะสิ่งที่ดีแล้วทำตามนั้น เห็นมามากแล้วจดจำไว้ นี่คือความรู้ระดับรอง”
- (11/6) จี้คังจื่อถามว่า “ลูกศิษย์คนไหนรักการเรียนรู้ ขงจื่อตอบว่า “เหยียนยวน (หรือ เหยียนหุย) รักการเรียนรู้ แต่น่าเสียดายตายจากไปเสียก่อนวัยอันควร ตอนนี้ไม่มีใครแล้ว”
- (14/25) ขงจื่อกล่าวว่า “สมัยก่อนผู้ที่ศึกษาเรียนรู้เพื่อยกระดับและส่งเสริมความรู้และศีลธรรมของตน สมัยนี้ผู้ที่ศึกษาเรียนรู้เพื่อประดับตนให้คนอื่นดู”
- (19/5) จื่อเซี่ยกล่าวว่า “ทุกวันรู้ว่ายังขาดอะไร ทุกเดือนไม่ลืมว่าสามารถทำอะไรได้ อาจกล่าวได้ว่าคือผู้รักการเรียนรู้”
- (19/6) จื่อเซี่ยกล่าวว่า “เรียนรู้กว้างขวาง มุ่งมั่นในปณิธาน ถามจนแจ่มแจ้ง คิดให้ถี่ถ้วน มนุษยธรรมก็อยู่ตรงใจกลางแล้ว”
ฯลฯ
เกี่ยวกับการคบเพื่อน
[แก้]- (1/16) ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่กังวลว่าคนจะไม่รู้จัก กังวลแต่ว่าจะไม่รู้จักคน”
- (9/24) ขงจื่อกล่าวว่า “หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือ มีความซื่อถือสัจจะ อย่าคบเพื่อนที่ไม่เสมือนตน หากมีข้อผิดพลาดอย่ากลัวที่จะแก้ไข”
- (12/24) เจิงจื่อกล่าวว่า “วิญญูชนคบมิตรด้วยวัฒนธรรม อาศัยมิตรเกื้อกูลมนุษยธรรม”
- (14/32) ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่กังวลว่าคนไม่รู้จักตน กังวลว่าตนจะไม่มีความสามารถ”
- (15/21) ขงจื่อกล่าวว่า “วิญญูชนสำรวมตนแต่ไม่แย่งชิง เข้าร่วมสมาคมแต่ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก”
- (16/4) ขงจื่อกล่าวว่า “มีมิตรภาพสามแบบที่คบได้ เป็นประโยชน์ คือ เที่ยงตรง ซื่อสัตย์ มีความรู้ดี มีมิตรภาพสามแบบที่คบไม่ได้ มีพิษภัย คือ ประจบสอพลอ หน้าไหว้หลังหลอก คุยโม้โอ้อวด”
ฯลฯ
เกี่ยวกับความกตัญญู
[แก้]- (1/2.1) อาจารย์โหยวกล่าวว่า “ผู้มีความกตัญญูและเชื่อฟังพี่ น้อยนักที่จะขัดขืนผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ไม่ขัดขืนผู้บังคับบัญชา ไม่มีเลยที่จะก่อความวุ่นวาย”
- (1/11) ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ ให้ดูที่ความตั้งใจ เมื่อบิดาสิ้นชีวิตไปแล้ว ให้ดูที่การกระทำ สามปีให้หลัง ถ้ายังไม่เปลี่ยนจากวิถีของบิดา อาจเรียกได้ว่าบุตรกตัญญู”
- (2/5) เมิ่งอี้จื่อถามเรื่องความกตัญญู ขงจื่อตอบว่า “อย่าขัดขืน” ต่อมา ขณะที่ฝานฉือกำลังขับรถม้าให้ขงจื่อ ขงจื่อเล่าให้ฟังว่า “เมิ่งซุนถามเราเรื่องความกตัญญู เราก็ตอบว่า ‘อย่าขัดขืน’ ” ฝานฉือถามว่า “ที่กล่าวเช่นนั้น อาจารย์หมายความว่าอย่างไร” ขงจื่อตอบว่า “เมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ก็รับใช้ท่านตามขนบจารีต เมื่อท่านสิ้นแล้ว ก็ทำพิธีตามธรรมเนียม และพึงเซ่นไหว้ตามประเพณีด้วย”
- (2/7) จื่อโหยวถามเรื่องความกตัญญู ขงจื่อตอบว่า “สมัยนี้ความกตัญญูหมายถึงการเลี้ยงดูบิดามารดา แต่เราก็เลี้ยงดูม้าและสุนัขด้วยมิใช่หรือ ถ้าขาดความเคารพแล้วจะมีอะไรเพื่อแยกแยะการเลี้ยงดูแบบหนึ่งออกจากอีกแบบหนึ่งเล่า”
- (4/18) ขงจื่อกล่าวว่า “รับใช้บิดามารดา เมื่อบิดามารดามีข้อบกพร่อง ควรบอกกล่าวด้วยความสุภาพ เมื่อท่านไม่รับฟัง ยังคงความเคารพไว้ จงอย่าได้เคืองแค้น”
- (4/19) ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ จงอย่าจากท่านไปไกล หากจำเป็นต้องเดินทาง จักต้องให้ท่านรู้ว่าไป ณ ที่ใด”
- (4/21) ขงจื่อกล่าวว่า “วันเกิดของบิดามารดาไม่รู้ไม่ได้ ด้านหนึ่งเพื่อความปลื้มใจที่ท่านมีอายุยืนยาว อีกด้านหนึ่งก็ห่วงใยท่านที่ชราลงอีกหนึ่งปี”
ฯลฯ
เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
[แก้]- (2/1) ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้ปกครองโดยคุณธรรมอาจเปรียบได้กับดาวเหนือ ซึ่งอยู่กับที่ และหมู่ดาวทั้งปวงต่างมานอบน้อม”
- (2/3.1) ขงจื่อกล่าวว่า “ถ้านำประชาราษฎร์โดยใช้กลไกรัฐสร้างระเบียบโดยใช้บทลงโทษ ประชาราษฎร์จะทำตาม แต่จะไร้ความละอาย”
- (2/19) ไอกงถามว่า “ทำอย่างไรให้ประชาราษฎร์ยอมรับ” ขงจื่อตอบว่า “เชิดชูผู้เที่ยงธรรม ขจัดผู้ฉ้อฉล ประชาราษฎร์จะยอมรับ แต่หากเชิดชูผู้ฉ้อฉล ขจัดผู้เที่ยงธรรม ประชาราษฎร์จะไม่ยอมรับ”
- (2/20) จี้คังจื่อถามว่า “ทำอย่างไรประชาราษฎร์จะมีความเคารถ และจริงใจในการเกื้อกูลกัน” ขงจื่อตอบว่า “วางท่าทีอย่างจริงจัง นั่นคือความเคารพ มีความกตัญญูและมีเมตตา นั่นคือความจริงใจ เชิดชูคนดี สั่งสอนคนด้อยความสามารถ นั่นคือการเกื้อกูลกัน”
- (8/14) ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่ควรวางแผนบริหารบ้านเมือง”
- (12/7) จื่อก้งถามเกี่ยวกับการปกครอง ขงจื่อตอบว่า “อาหารพอเพียง อาวุธพอเพียง ประชาราษฎร์ก็เชื่อถือแล้ว” จื่อก้งถามต่อไปว่า “หากช่วยไม่ได้จริง ๆ ต้องทิ้งหนึ่งในสาม สิ่งไหนจะทิ้งได้ก่อน” ขงจื่อตอบว่า “ทิ้งอาวุธ” จื่อก้งถามอีกว่า “หากช่วยไม่ได้จริง ๆ ต้องทิ้งหนึ่งในสองอย่างที่เหลือ จะให้ทิ้งสิ่งใดก่อน” ขงจื่อตอบว่า “ทิ้งอาหาร นับแต่โบราณมาล้วนแต่มีคนล้มตาย แต่ถ้าประชาราษฎร์ไม่เชื่อ ผู้ปกครองจะดำรงอยู่ไม่ได้”
- (12/9) ไอกงถามโหย่วรั่วว่า “ปีนี้เป็นปีที่อดอยากขาดแคลน ภาษีไม่พอค่าใช้จ่าย จะทำอย่างไรดี” โหย่วรั่วตอบว่า “ทำไมไม่ลดภาษีประชาราษฎร์เหลือเพียงหนึ่งในสิบส่วน” ไอกงกล่าวว่า “เก็บสองในสิบส่วนยังไม่พอ แล้วจะเก็บเพียงหนึ่งในสิบส่วนได้อย่างไร” โหย่วรั่วตอบว่า “ถ้าประชาราษฎร์มีพอเพียง ผู้ปกครองจะไม่พอได้อย่างไร ถ้าประชาราษฎร์ไม่พอ ผู้ปกครองจะพอได้อย่างไร”
- (12/17) จี้คังจื่อถามขงจื่อเกี่ยวกับการปกครอง ขงจื่อตอบว่า “การปกครองคือการทำให้เที่ยง หากท่านใช้ความเที่ยงนำประชาราษฎร์ ใครจะกล้าไม่เที่ยง”
- (12/18) จี้คังจื่อรู้สึกกังวลที่มีโจรผู้ร้ายจึงถามขงจื่อ ขงจื่อตอบว่า “หากท่านไร้ความโลภ แม้ให้รางวัล ก็ไม่มีใครขโมย”
- (12/19) จี้คังจื่อถามขงจื่อเกี่ยวกับการปกครอง “หากต้องการประหารคนฉ้อฉล เพื่อปกป้องผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม ท่านจะว่าอย่างไร” ขงจื่อตอบว่า “เหตุใดการปกครองจึงต้องใช้การประหารด้วยเล่า หากท่านต้องการสิ่งที่ดี ประชาราษฎร์ก็จะดีเอง คุณธรรมของวิญญูชนเป็นเสมือนลม คุณธรรมของผู้ทำชั่วเสมือนยอดหญ้า สายลมอยู่บนยอดหญ้า ยอดหญ้าย่อมลู่ตาม”
ฯลฯ
เกี่ยวกับมนุษยธรรมหรือเมตตาธรรม หรือที่เรียกว่า เหริน (仁)
[แก้]- (4/2) ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้ไร้มนุษยธรรมไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน ไม่ว่าสภาพยากจนข้นแค้นหรือสภาพสุขสบาย ผู้มีมนุษยธรรม สงบอยู่ในมนุษยธรรม ผู้ทรงปัญญาใช้ประโยชน์จากมนุษยธรรม”
- (4/3) ขงจื่อกล่าวว่า “มีแต่ผู้มีมนุษยธรรมเท่านั้น สามารถรักมนุษย์ และเกลียดมนุษย์”
- (4/4) ขงจื่อกล่าวว่า “จิตใจตั้งมั่นในมนุษยธรรม ไม่มีการกระทำที่เลวร้าย”
- (4/6.1) ขงจื่อกล่าวว่า “เรายังไม่เคยพบคนซึ่งรักมนุษยธรรมหรือเกลียดความไร้มนุษยธรรม ผู้รักมนุษยธรรมย่อมไม่ให้สิ่งใดอยู่เหนือมนุษยธรรม ผู้เกลียดความไร้มนุษยธรรม จะปฏิบัติมนุษยธรรมโดยไม่ยอมให้ความไร้มนุษยธรรมเข้าใกล้ตน”
- (6/20) ฝานฉือถามถึงการมีปัญญา ขงจื่อกล่าวว่า “ปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาราษฎร์ตามทำนองธรรม เมื่อนับถือผีสางเทวดาให้รักษาระยะห่างไว้ นี่สามารถเรียกได้ว่ามีปัญญา” ฝานฉือถามถึงมนุษยธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้มีมนุษยธรรมทำสิ่งที่ยากก่อน แล้วค่อยเก็บเกี่ยวผลภายหลัง นี่สามารถเรียกได้ว่าคือมนุษยธรรม”
- (6/21) ขงจื่อกล่าวว่า “ผู้มีปัญญาชื่นชมในสายน้ำ ผู้มีมนุษยธรรมชื่นชมในขุนเขา ผู้มีปัญญามีพลวัต ผู้มีมนุษยธรรมสงบนิ่ง ผู้มีปัญญาแช่มชื่นเบิกบาน ผู้เปี่ยมมนุษยธรรมอายุยืน”
- (12/2) จ้งกงถามถึงมนุษยธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อออกข้างนอกก็ปฏิบัติต่อผู้คนประหนึ่งว่ากำลังต้อนรับแขกสำคัญ เมื่อใช้ประชาราษฎร์ ก็ให้ทำประหนึ่งว่ากำลังช่วยประกอบพิธีเซ่นสรวงอันยิ่งใหญ่ สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทำกับผู้อื่น ทำตนให้ไม่มีการกล่าวร้ายทั้งในครอบครัวและในแผ่นดิน”
- (12/22.1) ฝานฉือถามถึงมนุษยธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “รักมนุษย์” ฝานฉือถามถึงความรู้ ขงจื่อกล่าวว่า “รู้จักมนุษย์”
ฯลฯ
เกี่ยวกับขนบ จารีต ประเพณี พิธีกรรม หรือที่เรียกว่า หลี่ (礼)
[แก้]- (1/15.1) จื่อก้งถามว่า “อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคนจนที่ไม่ยกยอปอปั้น และคนมั่งมีที่ไม่หยิ่งจองหอง” ขงจื่อตอบว่า “ก็ดีอยู่ แต่ยังสู้คนจนที่แช่มชื่นและคนมั่งมีที่รักหลี่หาได้ไม่”
- (2/24) ขงจื่อกล่าวว่า “เซ่นไหว้ผีที่ไม่ใช่บรรพบุรุษของตน เป็นการประจบสอพลอ” “เห็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไม่ทำเป็นการขาดความกล้าหาญ”
- (3/4) หลินฟั่งถามพื้นฐานแห่งหลี่ ขงจื่อตอบว่า “เป็นคำถามอันประเสริฐยิ่ง หลี่ แทนที่จะสุรุ่ยสุร่าย ยอมประหยัดดีกว่าฟุ่มเฟือย ในพิธีศพ แทนที่จะถี่ถ้วน ยอมอาดูรดีกว่า”
- (3/12) เซ่นไหว้บรรพชนราวกับบรรพชนอยู่ตรงหน้า เซ่นไหว้เทพราวกับเทพอยู่ตรงไหน้า ขงจื่อกล่าวว่า “เราถือว่าถ้าไม่ได้อยู่ร่วมในพิธีก็เท่ากับไม่ได้เซ่นไหว้”
- (3/26) ขงจื่อกล่าวว่า “อยู่ในตำแหน่งสูงแต่จิตใจไม่กว้าง ปฏิบัติหลี่แต่ไร้ความเคารพ ไว้ทุกข์แต่ไม่โศกเศร้า ยังจะมีอะไรให้เราดูอีก”
- (9/3) ขงจื่อกล่าวว่า “การใช้หมวกลินินถูกต้องตามจารีต แต่เดี๋ยวนี้ใช้หมวกไหมดิบ ประหยัดกว่า เราทำตามคนทั่วไป” “การคำนับ ณ เบื้องล่างท้องพระโรงถูกต้องตามจารีต แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นไปคำนับบนท้องพระโรงก่อน นี่เป็นอาการยโส แม้จะขัดกับคนทั่วไป เรายังคำนับ ณ เบื้องล่างท้องพระโรง”
- (11/11) จี้ลู่ถามถึงการบูชาภูตผีเทพเจ้า ขงจื่อตอบว่า “ยังไม่รู้จักรับใช้มนุษย์จะรับใช้ผีได้อย่างไร” จี้ลู่ถามต่อว่า “แล้วเรื่องความตายเล่า?” ขงจื่อตอบว่า “ยังไม่รู้จักชีวิต จะรู้จักความตายได้อย่างไร”
ฯลฯ
เกี่ยวกับความมุ่งมั่น ตั้งใจ
[แก้]- (1/4) อาจารย์เจิงกล่าวว่า “ทุก ๆ วันเราตรวจสอบตนเองในสามเรื่อง เมื่อทำเพื่อผู้อื่น ได้ทำด้วยความสัตย์ซื่อภักดีหรือไม่ เมื่อคบมิตรสหาย ขาดสัจจะหรือไม่ เมื่อรับสืบทอดความรู้มา มิได้นำไปปฏิบัติหรือไม่”
- (2/4) ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่ออายุ 15 เราตั้งใจมุ่งมั่นกับการร่ำเรียน” “เมื่ออายุ 30 เราตั้งหลักได้มั่นคง” “เมื่ออายุ 40 เราไม่พะวงสงสัย” “เมื่ออายุ 50 เรารู้บัญญัติสวรรค์” “เมื่ออายุ 60 หูของเราฟังโดยไม่หวั่นไหว” “เมื่ออายุ 70 เราทำตามใจปรารถนาได้โดยไม่ละเมิดครรลอง”
- (5/25) เหยียนยวน (หรือ เหยียนหุย) และจื่อลู่อยู่ข้างขงจื่อ ขงจื่อกล่าวว่า “ไหนเจ้าทั้งสองลองบอกปณิธานของเจ้าแต่ละคนให้เราฟังที” จื่อลู่ตอบว่า “ปณิธานของศิษย์คือ มีรถม้า มีเสื้อผ้าสัตว์แพรพรรณ จะร่วมใช้กับมิตรสหาย หากของเหล่านั้นเสียหาย ก็จะไม่รู้สึกเสียดาย” เหยียนยวนตอบว่า “ปณิธานของศิษย์คือ จะไม่โอ้อวดคุณความดี ไม่อวดอ้างผลงานของตน” จื่อลู่ถามขงจื่อว่า “อยากฟังปณิธานของอาจารย์บ้าง” ขงจื่อตอบว่า “ปณิธานของเราคือ ทำให้ผู้อาวุโสได้อยู่สงบ มิตรสหายไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผู้เยาว์ได้รับการดูแลเอาใจใส่”
- (7/2) ขงจื่อกล่าวว่า “สะสมความรู้อย่างเงียบ ๆ ร่ำเรียนโดยไม่ย่อท้อ สั่งสอนคนอื่นโดยไม่เบื่อหน่าย มีอะไรลำบากสำหรับเราหรือ?”
- (7/7) ขงจื่อกล่าวว่า “เราไม่ปฏิเสธการสั่งสอนใครก็ตามที่สมัครใจ แม้เอาเนื้อแห้งห่อเดียวมาเป็นค่าครู”
- (7/19) ขงจื่อกล่าวว่า “เราไม่ใช่คนมีความรู้แต่กำเนิด แต่เป็นคนรักอดีตและรู้จักแสวงหาอดีต”
- (15/30) ขงจื่อกล่าวว่า “เราเคยไม่กินทั้งวัน ไม่นอนทั้งคืน มัวแต่ครุ่นคิด ล้วนไร้ประโยชน์ สู้ร่ำเรียนไม่ได้”
- (15/38) ขงจื่อกล่าวว่า “การสอน ไม่แบ่งชนชั้น”
ฯลฯ
ดูเพิ่ม
[แก้]- ขงจื๊อ นักคิดและนักปรัชญาเป็นสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน ผู้ก่อตั้งลัทธิหรู หรือ ลัทธิขงจื๊อ
- ลัทธิขงจื๊อ หรือศาสนาขงจื๊อ หรือ สำนักปรัชญาขงจื่อ หรือลัทธิหรู เป็นระบบด้านจริยธรรมและปรัชญาของจีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Van Norden (2002), p. 12.
- ↑ Knechtges & Shih (2010), p. 645.
- ปกรณ์ ศิวะพรประเสริฐ. บทวิจารณ์หนังสือ. วารสารจีนวิทยา สิงหาคม 2557. ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.
- วงจันทร์ พุทธเกื้อกูล และคณะ แปล. คำคมขงจื่อ-ศึกษาปรัชญาหรู, 2005, สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีน.
- สุวรรณา สถาอานันท์ (แปลและเขียนบทนำ). (2551). หลุนอี่ว์:ขงจื่อสนทนา. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.