ลฺหวี่ ปู้เหวย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลี่ปู้เว่ย)
ลฺหวี่ ปู้เหวย์
อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน
ดำรงตำแหน่ง
251 ปีก่อนคริสตกาล – 235 ปีก่อนคริสตกาล
กษัตริย์พระเจ้าฉินจฺวังเซียง
อิ๋ง เจิ้ง
ถัดไปหลี่ ซือ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด291 ปีก่อนคริสตกาล
เสียชีวิต235 ปีก่อนคริสตกาล (อายุ 54–55 ปี)
อาชีพพ่อค้า, นักการเมือง
ลฺหวี่ ปู้เหวย์
อักษรจีนตัวเต็ม呂不韋
อักษรจีนตัวย่อ吕不韦

ลฺหวี่ ปู้เหวย์ (291–235 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักการเมืองแห่งรัฐฉิน (秦国) ในยุครณรัฐ (戰國時代) ของประเทศจีนโบราณ เดิมเป็นพ่อค้าที่มีอิทธิพลมาก มาจากรัฐเว่ย์ (卫国) ได้คบหากับพระเจ้าฉินจฺวังเซียง (秦莊襄王) แต่ครั้งที่ยังเป็นเจ้าชายยศน้อยและถูกจับเป็นองค์ประกันอยู่ในรัฐจ้าว (赵国) ต่อมาลฺหวี่ ปู้เหวย์ ได้ใช้สินบนและกลวิธีต่าง ๆ ช่วยเหลือพระเจ้าฉินจฺวังเซียงให้ได้ครองบัลลังก์รัฐฉินสืบต่อจากพระเจ้าฉินเซี่ยวเหวิน (秦孝文王) พระบิดา เมื่อ 249 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าฉินจฺวังเซียงจึงตั้งลฺหวี่ ปู้เหวย์ เป็นอัครมหาเสนาบดี (相國) มีบรรดาศักดิ์ว่า เหวินซิ่นโหฺว (文信侯) ครั้นพระเจ้าฉินจฺวังเซียงสิ้นพระชนม์เมื่อ 247 ปีก่อนคริสตกาล อิ๋ง เจิ้ง (嬴正) โอรส สืบราชสมบัติต่อ และเป็นที่รู้จักด้วยสมัญญา ฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝; "ปฐมจักรพรรดิฉิน") ลฺหวี่ ปู้เหวย์ ก็ได้สำเร็จราชการแทนอิ๋ง เจิ้ง และเป็นอัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยนี้ด้วย

แต่เมื่ออิ๋ง เจิ้ง มีพระชนมายุมากขึ้นพอที่จะครองบัลลังก์รัฐฉินต่อไป ลฺหวี่ ปู้เหวย์มีความกังวลว่า ตนเองและจ้าวจี พระสนมของพระเจ้าฉินจฺวังเซียงเคยเป็นอดีตภรรยาน้อยของตนมาก่อน เมื่อครั้งได้เป็นอัครมหาเสนาบดีและได้สำเร็จราชการแทนอิ๋ง เจิ้ง มีอำนาจมากล้นในกำมือและได้สนิทสนมใกล้ชิดกับจ้าวจีที่ดำรงตำแหน่งเป็นไท่โฮ่วจนต้องไปมาหาสู่ถึงตำหนักทุกวัน หากอิ๋ง เจิ้งทราบเรื่องเข้า หายนะจะนำมาสู่ตน จึงคิดที่จะถอยห่างจากจ้าวจีโดยไม่เข้าวังหลวงอีก แต่จ้าวจีกลับไม่ยอมและเรียกตัวหลายครั้งด้วยความต้องการของพระนาง ลฺหวี่ ปู้เหวย์กลัวที่จะถูกจับได้ จึงได้ส่งเล่าไอ่มาเป็นชู้รักแทนตนโดยปลอมตัวเป็นขันทีโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของฝ่ายใน เล่าไอ่ได้เสพสุขกับจ้าวจีจนมีบุตรสองคน จ้าวจีโปรดปรานเล่าไอ่มากจนถึงกับแต่งตั้งบรรดายศศักดิ์เป็นจ่างซิ่นโหว (長信侯) มีอำนาจมากและข้าทาสบริวารมากมายจนกำเริบเสิบสานเรียกตนเองเป็น"พระบิดาบุญธรรม"ของอิ๋ง เจิ้ง ต่อมาก็คิดก่อการกบฏต่ออิ๋ง เจิ้งเพื่อหวังจะแต่งตั้งบุตรของตนเป็นอ๋องฉินแทนและเสพสุขกับจ้าวจีต่อไป แต่อิ๋ง เจิ้งกลับล่วงรู้เข้าซะก่อนจึงนำกองกำลังเข้าปราบปรามจนสำเร็จ เล่าไอ่และบุตรสองคนพร้อมพรรคพวกที่ให้การสนับสนุนได้ถูกสำเร็จโทษ ส่วนจ้าวจี พระมารดาก็ถูกสั่งกักตัวอยู่ในพระตำหนัก ต่อมาอิ๋ง เจิ้งได้รับรู้ว่าผู้ที่แนะนำเล่าไอ่ ผู้เป็นกบฏคือลฺหวี่ ปู้เหวย์นั่นเอง จึงคิดที่จะประหารเขาเสีย แต่ขุนนางต่างพากันทัดท้านโดยให้เหตุผลว่า "ลฺหวี่ ปู้เหวย์มีความดีความชอบใหญ่หลวงต่ออ๋องคนก่อน เล่าไอ่ก็ไม่เคยซัดทอดว่าเขาร่วมมือก่อกบฏ ความผิดของเขาคือการนำเล่าไอ่เข้ามาในวัง ความผิดครั้งนี้โทษไม่ถึงประหาร ขอให้พิจารณาด้วยพ่ะย่ะค่ะ" อิ๋ง เจิ้งจึงได้ตัดสินลงโทษลฺหวี่ ปู้เหวย์ด้วยการปลดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเนรเทศไปยังซื่อชวน แต่ลฺหวี่ ปู้เหวย์กลับเกรงกลัวว่าอิ๋ง เจิ้งจะต้องสังหารตนเป็นแน่จึงตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตายในที่สุด

นอกเหนือจากบทบาทด้านการเมืองแล้ว ลฺหวี่ ปู้เหวย์ยังมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้สนับสนุนการรวบรวมลฺหวี่ชื่อชุนชิว ตำราสารานุกรมประมวลแนวคิดของร้อยสำนักคิดซึ่งรวบรวบเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 239 ปีก่อนคริตกาล[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. Sellman, James D. "The Spring and Autumn Annals of Master Lu", in Great Thinkers of the Eastern World, Ian McGreal, ed. New York: Harper Collins, 1995:39.