หลักการตั้งชื่อทางดาราศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในยุคโบราณ มีการตั้งชื่อให้แก่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวที่สว่างพอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพียงไม่กี่ร้อยดวงเท่านั้น ตลอดช่วงหลายร้อยปีหลังมานี้ จำนวนของวัตถุทางดาราศาสตร์ที่เรารู้จักเพิ่มขึ้นอย่างมากจากไม่กี่ร้อยดวงกลายเป็นจำนวนนับพันล้านดวง และยังมีการค้นพบเพิ่มเติมตลอดเวลาทุกปี นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องกำหนดระบบการตั้งชื่อเพื่อบ่งชี้ถึงวัตถุทางดาราศาสตร์เหล่านี้ ในเวลาเดียวกันก็ให้ชื่อแก่วัตถุซึ่งน่าสนใจที่สุดโดยสัมพันธ์กับคุณลักษณะของวัตถุเหล่านั้น

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) คือหน่วยงานอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ว่าเป็นองค์กรทำหน้าที่กำหนดชื่อแก่วัตถุทางดาราศาสตร์ ซึ่งองค์กรได้สร้างระบบการกำหนดชื่อสำหรับวัตถุทางดาราศาสตร์ประเภทต่างๆ กันอยู่หลายระบบ

ชื่อของดาวฤกษ์[แก้]

ตามข้อกำหนดของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลแล้ว ดาวฤกษ์ไม่มีชื่อเฉพาะ นอกเหนือไปจากดาวฤกษ์สว่างเพียงไม่กี่ดวงที่มีชื่อเฉพาะมาแต่ยุคโบราณ ถ้าดาวฤกษ์นั้นมีชื่อเฉพาะมาแต่เดิม ชื่อเหล่านั้นจะนำมาจากภาษาอารบิก ซึ่งเป็นที่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกการศึกษาดาราศาสตร์

ดาวฤกษ์ที่สว่างจนสามารถมองเห็นได้ตาเปล่าบนท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นมีเพียงไม่กี่พันดวง ดังนั้นจำนวนชื่อเฉพาะของดาวฤกษ์ที่มีมาแต่วัฒนธรรมโบราณจึงมีจำนวนจำกัด เพียงสูงสุดที่ไม่เกิน 1 หมื่นดวงเท่านั้น

ประมาณการว่า จำนวนดาวฤกษ์ที่มีชื่อเฉพาะมีจำนวนอยู่ระหว่าง 300-350 ดวง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดหรือเป็นดาวฤกษ์ที่รวมกลุ่มกันเป็นรูปร่างกลุ่มดาว จำนวนชื่อของดาวนั้นมีมากกว่าจำนวนดาวที่มีชื่อ เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจกำหนดชื่อดาวที่ต่างกันสำหรับดาวดวงเดียวกันนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ดาวที่รู้จักกันว่า ดาวเหนือ มีชื่ออื่นที่แตกต่างไปตามสถานที่และยุคสมัยต่างๆ เช่น Alruccabah, Angel Stern, Cynosura, the Lodestar, Mismar, Navigatoria, Phoenice, the Pole Star, the Star of Arcady, Tramontana และ Yilduz

ด้วยความก้าวหน้าของการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ ทำให้ดาวฤกษ์ที่เรามองเห็นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มากเสียจนไม่สามารถจะตั้งชื่อเฉพาะให้กับทุกดวงได้ จึงมีรหัสกำหนดในการเรียกขานดาวเหล่านั้นด้วยระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์หลายระบบ ระบบเก่า ๆ อาจตั้งชื่อโดยไม่มีกฎเกณฑ์แน่ชัด หรือใช้ระบบตั้งชื่อแบบง่ายๆ เช่นเอาชื่อกลุ่มดาวผสมกับตัวอักษรกรีก การที่มีระบบการตั้งชื่อดาวฤกษ์หลายระบบทำให้ดาวบางดวงมีรหัสมากกว่า 1 ชื่อ ตัวอย่างเช่น ดาวที่มีชื่อภาษาอารบิกว่า ริจิล เคนเทารุส (Rigil Kentaurus) มีชื่อในการตั้งชื่อระบบไบเออร์ว่า อัลฟาคนครึ่งม้า

เมื่อความสามารถของกล้องโทรทรรศน์เพิ่มสูงขึ้น มีวัตถุจำนวนมากที่แต่เดิมเคยคิดกันว่าเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์เพียงวัตถุเดียว กลับกลายเป็นระบบดาวหลายดวงซึ่งอยู่ใกล้กันมากจนไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า ปัญหานี้รวมกับปัญหาอื่นๆ ทำให้กลายเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยระบบการตั้งชื่อ ตัวอย่างเช่น ดาวริจิล เคนเทารัส ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 3 ดวงในระบบดาวสามดวง มีชื่อเรียกว่า ริจิล เคนเทารัส เอ, บี และซี ตามลำดับ

ระบบการตั้งชื่อดาวสมัยใหม่ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ประสิทธิภาพและความละเอียดสูง ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ได้จำนวนวัตถุทางดาราศาสตร์จำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่น Guide Star Catalog II ได้เพิ่มรายชื่อวัตถุทางดาราศาสตร์ที่แตกต่างกันจำนวนมากกว่า 998 ล้านชื่อ วัตถุในระบบรายชื่อนี้โดยมากจะต้องสังเกตด้วยกล้องที่มีความละเอียดสูงมาก และกำหนดรหัสให้แก่วัตถุเหล่านี้ตามตำแหน่งที่ปรากฏบนท้องฟ้า ตัวอย่างเช่น ชื่อรหัส SDSSp J153259.96-003944.1 ซึ่งอักษรขึ้นต้น SDSSp บ่งบอกที่มาว่ามาจาก "Sloan Digital Sky Survey preliminary objects" ตัวอักษรอื่นที่ตามหลังมาระบุพิกัดบนทรงกลมท้องฟ้า

ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับโลกที่สุด คือดวงอาทิตย์ของเรา มักถูกเรียกขานกันโดยทั่วไปอย่างย่อว่า "ดวงอาทิตย์" (Sun หรือชื่ออื่นตามแต่ละภาษา เช่นภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า le Soleil) แต่บางครั้งก็จะเรียกด้วยชื่อภาษาละตินว่า โซล (Sol)

ท้ายสุด ยังมีดาวอีกจำนวนหนึ่งที่ตั้งชื่อตามชื่อของบุคคล

ชื่อของกลุ่มดาว[แก้]

นักดาราศาสตร์ในยุคโบราณจัดแบ่งท้องฟ้าออกเป็นกลุ่มดาวต่างๆ ตามอำเภอใจ ตามแต่รูปแบบที่พวกเขามองเห็นว่าปรากฏอยู่บนฟ้า ในตอนแรกมีการกำหนดเพียงขอบเขตของรูปแบบเท่านั้น ชื่อและจำนวนของกลุ่มดาวในแผนที่ดาวแต่ละระบบก็แตกต่างกันไป แต่ถึงแม้การกำหนดชื่อเช่นนี้จะไม่มีความหมายใดๆ ในทางวิทยาศาสตร์ ทว่าก็ได้ให้จุดอ้างอิงบนท้องฟ้าที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ รวมไปถึงแก่นักดาราศาสตร์ด้วย ในปี ค.ศ. 1930 ขอบเขตของกลุ่มดาวเหล่านี้ถูกกำหนดลงไปโดย ยูจีน โจเซฟ เดลปอร์เต และต่อมาสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้นำไปปรับใช้ ดังนั้นปัจจุบันนี้ ทุกๆ จุดบนทรงกลมท้องฟ้าจะต้องอยู่ในสังกัดกลุ่มดาวใดกลุ่มดาวหนึ่ง

ชื่อของซูเปอร์โนวา[แก้]

การค้นพบซูเปอร์โนวาจะต้องรายงานไปยังคณะกรรมการกลางของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเพื่อส่งโทรเลขเวียนไปยังทุกๆ หน่วยงานให้ทราบชื่อที่กำหนดให้กับซูเปอร์โนวานั้น การตั้งชื่อประกอบด้วยปีที่ค้นพบ ตามด้วยรหัส 1-2 ตัวอักษร ซูเปอร์โนวา 26 แห่งแรกของปีจะได้รับรหัสอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ A ถึง Z หลังจากนั้นจะเป็นคู่ตัวอักษรตัวพิมพ์เล็ก เริ่มที่ aa, ab, ไปเรื่อยๆ มีซูเปอร์โนวาซึ่งโด่งดังในประวัติศาสตร์ 4 แห่งเป็นที่รู้จักกันด้วยชื่อปีที่ค้นพบ (SN 1006, 1054, 1572 (โนวาของไทโค), และ 1604 (ดาวของเคปเลอร์)) การใช้รหัสตัวอักษรเริ่มขึ้นในปี 1885 ถึงแม้ปีนั้นจะมีการตรวจพบซูเปอร์โนวาเพียงแห่งเดียว (เช่น SN 1885A, 1907A เป็นต้น) ตัวย่อมาตรฐาน "SN" นั้นเป็นอักษรที่ใช้ใส่ข้างหน้าชื่อ ซึ่งจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ เมื่อเครื่องมือวัดต่างๆ พัฒนาขึ้น และมีนักดาราศาสตร์ (ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น) เข้าร่วมการค้นหามากขึ้น ก็ยิ่งมีการสังเกตพบซูเปอร์โนวามากขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีการค้นพบซูเปอร์โนวาปีละอย่างน้อย 500 แห่ง ตัวอย่างเช่น ซูเปอร์โนวาสุดท้ายของปี 2006 คือ SN 2006ue หมายความว่า มันเป็นซูเปอร์โนวาลำดับที่ 551 ที่ค้นพบในปี 2006

ชื่อของดาราจักร[แก้]

เช่นเดียวกับดาวฤกษ์ ดาราจักรส่วนมากไม่มีชื่อเฉพาะ ยกเว้นเพียงไม่กี่แห่งเช่น ดาราจักรแอนดรอเมดา ดาราจักรน้ำวน และอื่นๆ แต่ส่วนมากแล้วจะมีเพียงรหัสแคตตะล็อกเท่านั้น

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรายังไม่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของดาราจักรนัก ระบบการตั้งชื่อวัตถุท้องฟ้าในยุคแรกๆ เช่น ระบบของเมซีเย ก็เพียงแต่จับกลุ่มวัตถุต่างๆ เข้าด้วยกันง่ายๆ เป็นกระจุกดาวเปิด กระจุกดาวทรงกลม เนบิวลา และดาราจักร ซึ่งมีจำนวนรวมเพียง 110 แห่ง ดาราจักรแอนดรอเมดาเป็นวัตถุท้องฟ้าของเมซีเยลำดับที่ 31 หรือ M31 ดาราจักรน้ำวนคือ M51 ส่วนระบบการตั้งชื่อวัตถุท้องฟ้ายุคใหม่เช่น ระบบ NGC มีขนาดที่ใหญ่กว่ามากและมีรายชื่อวัตถุท้องฟ้าเกือบ 8,000 รายการ แต่ก็ยังคงเอาดาราจักรไปผสมปนเปกับเนบิวลาและกระจุกดาว

ชื่อของดาวเคราะห์[แก้]

ชื่อของดาวหาง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]