ข้ามไปเนื้อหา

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)
เกิดพ.ศ. 2390
เสียชีวิต4 ตุลาคม พ.ศ. 2458
อาชีพกวี นักประพันธ์
สัญชาติไทย
ช่วงเวลารัชกาลที่ 3–6
หัวข้อกวีนิพนธ์
ผลงานที่สำคัญนิราศหนองคาย วงศ์เทวราชา

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) (พ.ศ. 2390 – 4 ตุลาคม พ.ศ. 2458) เป็นนักประพันธ์โดยเขียนบทละครเป็นพื้น แต่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เล่นละครโดยมาก เช่นเรื่องราชาธิราช และสามก๊ก เป็นต้น[1] ผลงานสำคัญคือ นิราศหนองคาย ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

ประวัติ

[แก้]

ทิม สุขยางค์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2390 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดในครอบครัวตระกูลพ่อค้า บิดาชื่อเฮียงแซ่เหง อาศัยอยู่บนแพเปิดกิจการขายผ้าอยู่ใต้ปากคลองตลาด พระนคร[2]

บิดาได้นำมาฝากตัวกับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) นายทิมได้บวชที่วัดราชบุรณะได้ 3 พรรษา ก็ลาสิกขาใน พ.ศ. 2413 ได้กลับมาเป็นทนาย (ผู้ติดตาม) ของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงซึ่งขณะนั้นมีบรรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี จน พ.ศ. 2418 ได้เดินทางร่วมกองทัพซึ่งเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย โดยได้นายทิมได้แต่ง นิราศหนองคาย ในการเดินทางนี้ แต่เมื่อนำออกพิมพ์โฆษณาเมื่อ พ.ศ. 2421 ถูกฟ้องร้องว่าหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อไต่สวนความได้ยอมรับว่าแต่งขึ้นด้วยปัญญาความคิดของตนเองไม่มีผู้ใดแนะนำสั่งสอน จึงถูกตัดสินลงโทษเฆี่ยน 50 ที จำคุกอยู่ 8 เดือน และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายฉบับพิมพ์ทั้งหมด[3]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษจึงพ้นจากการจองจำกลับไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวนในกรมพระสุรัสวดี หลังจากที่เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงถึงแก่อนิจกรรมได้มาเป็นข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารีและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพัฒนพงศ์ภักดี สังกัดในกรมพระคลังข้างที่ เมื่อ พ.ศ. 2439[4]

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รวมอายุ 68 ปี

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) มีภรรยาชื่อเสงี่ยม ใช้ชีวิตร่วมกันมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ อาจเป็นไปได้ว่าเสงี่ยมเป็นบุตรสาวคนหนึ่งของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง หรือเสงี่ยมอาจเป็นหนึ่งในนักแสดงคนหนึ่งในคณะละคร หรืออาจเป็นผู้อื่นที่มีชื่อพ้องกันกับเสงี่ยมครูละครก็ได้[3]

ผลงาน

[แก้]

บทละคร

[แก้]
  • พระอภัยมณี
  • ราชาธิราช
  • ลักษณวงศ์
  • ทินวงศ์
  • ยักษียักษา
  • สามก๊ก
  • จักรแก้ว
  • ขุนช้าง ขุนแผน
  • อาบูหะซัน
  • บ้วยหั่งเหลา
  • สิงหไตรภพ
  • สามฤดู
  • มณีสุริยง
  • พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี
  • ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก
  • สุริวงศ์พรหเมศ
  • วงศ์เทวราชา

กลอนอ่าน

[แก้]
  • มณีนพรัตน์
  • กายนคร
  • ฉัตรสามชั้น (สุภาษิตคำกลอน)
  • พระศรสุริยัน
  • นิราศหนองคาย

อื่น ๆ

[แก้]
  • โคลงกระทู้สุภาษิต

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติหลวงพัฒนพงศ์ภักดี". วัชรญาณ.
  2. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ""กดขี่ไพร่กว่าจะถึงซึ่งนิพพาน": การเดินทางของนิราศหนองคาย ผลงานของทิม สุขยางค์ ในรอบร้อยปี".
  3. 3.0 3.1 "นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่ง: ประเด็นวิพากษ์บุคคลและเหตุการณ์ที่ไม่ปรากฏใน ฉบับพิมพ์" (PDF). ดำรงวิชาการ.
  4. "หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม)". นามานุกรมวรรณคดีไทย.