หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงชำนาญยุทธศิลป์
(เชย รมยะนันทน์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ
ดำรงตำแหน่ง
18 ธันวาคม 2479 – 16 ธันวาคม 2481
นายกรัฐมนตรีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
ก่อนหน้าเริ่มตำแหน่ง
ถัดไปพันโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เชย รมยะนันทน์

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2437
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต3 ธันวาคม พ.ศ. 2499 (62 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองคณะราษฎร
คู่สมรสชุ่ม ชำนาญยุทธศิลป์
บุตร4 คน
อาชีพทหารบก
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ประจำการพ.ศ. 2457 – พ.ศ. 2481
ยศ พลตรี
ผ่านศึกกบฏบวรเดช

พลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ นามเดิม เชย รมนะนันทน์ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2499) อดีตนายทหารบกผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ[1] ผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช และเป็นต้นตระกูลรมยะนันทน์โดยได้ขอพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2460 เป็นลำดับที่ ๔๒๖๕ [2]

ประวัติ[แก้]

หลวงชำนาญยุทธศิลป์ มีชื่อจริงว่า เชย รมยะนันทน์ เป็นบุตรของคุณพ่อชื่นและคุณแม่สุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 ณ ตำบลสี่แยกมหานาค อำเภอป้อมปราบสัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร และมีพี่สาวร่วมบิดามารดา 1 ท่านคือ คุณชม รมยะนันทน์ เมื่อกำเนิดเป็นเด็กที่กำพร้าบิดา จึงมีความอุตสาหะในการเรียนเป็นอย่างมาก ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นเมื่ออายุ 13 ปีจึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เป็นเวลา 4 ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2452[3]

ต่อมาเมื่อรับราชการเป็นทหารบก ในขณะที่มียศ ร้อยเอก (ร.อ.) สังกัดโรงเรียนนายร้อยทหารบก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร ที่ประกอบไปด้วยพลเรือน, ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหารทั้งทหารบกและทหารเรือ กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยบทบาทของหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ไปพบกับคณะของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นเสนาธิการผู้วางแผนการทั้งหมดในการปฏิวัติ ที่บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ ย่านสะพานควาย ห่างจากบ้านของพระยาทรงสุรเดชไปราว 200 เมตร ซึ่งเป็นตำบลนัดพบ ในเวลา 05.00 น. จากนั้นทั้งหมดจึงได้เดินทางไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่สี่แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์มาใช้ในการปฏิวัติ โดย หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ขึ้นไปยังโรงนอนของพลทหารม้า พร้อมกับหลวงรณสิทธิชัย และหลวงสวัสดิ์รณรงค์ เพื่อปลุกทหารให้ตื่นด้วยการตะโกนเสียงดังเนื้อหาว่า เวลานี้เกิดกบฏขึ้นแล้ว ยังมัวนอนอยู่อีก ให้ลุกขึ้นแต่งตัว โดยไม่ต้องล้างหน้า จึงทำให้ได้กำลังทหารมาทำให้การปฏิวัติสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากนั้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นฐานบัญชาการของคณะราษฎร หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังเป็นผู้อ่านคำประกาศฉบับต่าง ๆ ของคณะราษฎรให้แก่ราษฎรที่ออกมาดูเหตุการณ์ด้วย[3]

ครอบครัว[แก้]

เชย รมยะนันทน์ ท่านได้แต่งงานกับ นางชำนาญยุทธศิลป์ (ชุ่ม สุนทรมาลัย) บุตรสาวของนายแช่มและนางริ้ว สุนทรมาลัย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2469 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คน ได้แก่ สุชัจ รมยะนันทน์, อัชฌา รมยะนันทน์, วัชรี รมยะนันทน์, เชิดศักดิ์ รมยะนันทน์

บทบาททางการเมือง[แก้]

คณะราษฎรสายทหารบก ที่สนามหญ้าหน้าวังปารุสกวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (หลวงชำนาญยุทธศิลป์ คือ คนที่ 9 จากซ้าย แถวหลัง)

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการถึง 2 สมัย ในสมัยที่ พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นด้วย ในปี พ.ศ. 2482 โดยมีสถานะเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเป็นคนแรกด้วย[4][5]

อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารกองหนุน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรวมไปจนถึงกำลังทหารราบ และปืนกลหนักต่าง ๆ ด้วยทุกกองพันในพื้นที่จังหวัดพระนคร

จากนั้นเมื่อ พันเอก แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเพื่อนนายทหารผู้ร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกัน ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2481 ด้วยความขัดแย้งกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อตั้งคณะราษฎรด้วยกันแต่เริ่มต้น จึงเกิดมีการจับกุมนักการเมือง และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ขึ้นในข้อหาลอบสังหารนายกรัฐมนตรี เช่น ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์, นายโชติ คุ้มพันธ์, นายเลียง ไชยกาล, พระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่ง พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ซึ่งหลวงชำนาญยุทธศิลป์เองก็ถูกจับในข้อหานี้ด้วยเช่นกัน โดยถูกให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัด ขณะที่ตัวของหลวงชำนาญยุทธศิลป์กำลังไปราชการที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อเดินทางกลับมาถึงที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ซึ่งขณะที่ถูกจองจำนั้นอยู่นั้น หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังกล่าวกับนักโทษคนอื่น ๆ ซึ่งร่วมคดีเดียวกันว่า คงเกิดความเข้าใจผิดระหว่างรัฐบาลกับตนเอง [6]

ท้ายที่สุด หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ถูกย้ายไปจองจำที่เรือนจำกองมหันตโทษเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2482 พร้อมกับนักโทษคนอื่น ๆ ก่อนถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิตในปลายปีเดียวกัน แต่ได้ถูกลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตเช่นเดียวกับ พระยาเทพหัสดิน เนื่องจากเคยเป็นผู้ที่ความดีความชอบแก่ประเทศมาก่อน โดยถูกจองจำเดี่ยวในห้องขังหมายเลข 38 ที่แดน 6 อันเป็นห้องสุดท้ายติดกับบันได ซึ่งก่อนที่นักโทษประหารชุดต่าง ๆ จะถูกนำตัวไปประหารด้วยการยิงเป้าในเช้าตรู่ของแต่ละวัน รวมเป็นเวลา 3 วัน ต่างได้มาร่ำลาหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ถึงหน้าห้องขัง เช่นเดียวกับพระยาเทพหัสดิน ด้วยความที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชามาก่อน[6]

ถึงแก่กรรม[แก้]

หลังการพ้นจากตำแหน่งของ พ.อ.แปลก ในกลางปี พ.ศ. 2487 เมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นักโทษทางการเมืองคดีต่าง ๆ ต่างได้รับการปลดปล่อยตัว หลวงชำนาญยุทธศิลป์ก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย และออกมาใช้ชีวิตอย่างสงบ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ณ ที่คลองเตย ได้รับพระราชทานยศสูงสุดเป็น พลตรี (พล.ต.) จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2499 สิริอายุได้ 62 ปี โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2501

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ (นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์)
  2. ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๗๔ (หน้า ๓๒๓๔)
  3. 3.0 3.1 มูลบทบรรพกิจ ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาศ วันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2501
  4. "๗๕ ปีโรงงานยาสูบจากรุ่นสู่รุ่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-01. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
  5. นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันทน์)
  6. 6.0 6.1 พายัพ โรจนวิภาต (พ.ศ. 2554), ยุคทมิฬ บันทึกนักโทษฝ่ายกบฏบวรเดช. ISBN 978-6167146-22-5
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑๓, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๘๘, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๔๕, ๗ ตุลาคม ๒๔๗๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๔๑, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒