หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์
ประสูติ11 ธันวาคม พ.ศ. 2441
สิ้นชีพิตักษัย15 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 (65 ปี)
หม่อมหม่อมเจริญ (เศวตะทัต) สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา
บุตร
ราชสกุลสวัสดิวัตน์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
พระมารดาหม่อมลมุล (พิศลยบุตร) สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ (11 ธันวาคม พ.ศ. 2441 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2507) เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมลมุล (พิศลยบุตร) สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา เป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระชนกของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

พระประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมลมุล สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม พิศลยบุตร; ธิดาของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) กับปราง สมบัติศิริ; น้องสาวของเจ้าจอมมารดาอ่วม) ประสูติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2441 เมื่อพระเยาว์วัยสมเด็จพระชนกโปรดมาก ด้วยเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ จึงทรงขอรับพระราชทานพระนาม ตลอดจนรับพระราชทานเกศากันต์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้น พ.ศ. 2447 สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ผู้เป็นอัยยิกาแท้ ๆ สิ้นพระชนม์ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ทรงทำหน้าที่โยงโปรย คู่กันกับหม่อมเจ้าไตรทิพย์เทพสุต เทวกุล หม่อมเจ้าชายพระนัดดาของราชสกุลสวัสดิวัตน์ และเทวกุล ตามลำดับ 2 ราชสกุลสายตรงจากสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา และเมื่อเจริญชันษาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ถนนบำรุงเมือง[2] โรงเรียนที่พระราชโอรส และพระราชนัดดาในพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้นนิยมทรงเข้าศึกษา จากนั้นทรงได้รับพระราชทานทุนหลวง ไปทรงศึกษาต่อด้านการทหาร ณ นครเซ็นต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย

การทรงงาน[แก้]

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ เคยเป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปในการสังเวยพระป้าย ณ พระราชวังบางปะอิน อีกทั้งทรงถวายงานสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จป้าหลายคราว เช่น เสด็จมาบรรทมในเขตพระที่นั่งบรมพิมานเพื่อคอยวิ่งเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน เชิญเสด็จลงจากพระตำหนักในเวลามีภัยทางอากาศคราวสงครามโลกครั้งที่สอง

ทายาท[แก้]

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ เสกสมรสกับหม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม เศวตะทัต) มีโอรสและธิดา 3 คน ได้แก่

  1. เภสัชกรหญิง หม่อมราชวงศ์สนองศรี สวัสดิวัตน์ ท.ช. , ท.ม.
  2. หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ นักแสดง นักร้อง นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ชื่อดัง มีบุตร 3 คน ได้แก่
    1. หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์
    2. พลตรี หม่อมหลวงเพิ่มวุทธิ์ สวัสดิวัตน์
    3. หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์
  3. หม่อมราชวงศ์เพิ่มศรี สวัสดิวัตน์ ท.ช. , ท.ม. มีบุตรและธิดา 2 คน ได้แก่
    1. หม่อมหลวงพิชญา สวัสดิวัตน์
    2. หม่อมหลวงสิทธิโชค สวัสดิวัตน์

สิ้นชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระขนิษฐาร่วมสมเด็จพระชนก เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]