หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ24 ธันวาคม พ.ศ. 2460
ประเทศสยาม
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล ดิศกุล
สิ้นชีพตักษัย2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (100 ปี)
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พระราชทานเพลิง10 ตุลาคม พ.ศ. 2561
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
สวามีหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ (สมรส 2483; สิ้นชีพิตักษัย 2528)
บุตรหม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา
หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์
หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลดิศกุล (ประสูติ)
ศุขสวัสดิ์ (เสกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมแสง ดิศกุล ณ อยุธยา
ศาสนาเถรวาท

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ (ราชสกุลเดิม ดิศกุล; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ศตะรัต[1]

พระประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเพียน เป็นพระธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ศตะรัต เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460[2] มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินี 5 องค์ ได้แก่ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล, พรพิลาศ บุนนาค, หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล, หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และเราหิณาวดี กำภู[3]

เมื่อหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีชันษาได้ไม่กี่เดือน หม่อมมารดาก็เสียชีวิตลงกะทันหัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ให้ไปอยู่ในความอนุเคราะห์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา เนื่องจากเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา คือ เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 เป็นพี่น้องกัน

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และระดับมัธยมที่โรงเรียนราชินี พอจบมัธยมปลายทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ แล้วจึงออกมาสอนหนังสือที่โรงเรียนศึกษาวิทยา ถนนสีลม[4]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีความสามารถในการตัดเย็บจึงตัดชุดใส่เองได้สวยงาม และยังนำเศษผ้าที่เหลือมาทำรองเท้าเข้าชุด นับเป็นผู้นำแฟชั่นในวิทยาลัยจนเป็นที่กล่าวขานของคณาจารย์และศิษย์

เสกสมรส[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงพบกับหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ (พระโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) ครั้งแรกที่ตำหนักของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ผู้เป็นเชษฐภคินีของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล หม่อมเจ้าประสบสุขเคยทรงเล่าว่าเห็นหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลครั้งแรกกำลังก้มใส่รองเท้าก็ทรงหลงรักเลย และได้เข้าพิธีมงคลสมรสเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2483 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประกอบพิธี และหลังจากนั้นทั้งคู่ได้เดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ ชินนะมอนฮอลล์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อขอรับพรสมรสและดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

ช่วงหลังเสกสมรส ทั้งสององค์ทรงใช้ชีวิตอยู่ ณ ตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของหม่อมเจ้าประสบสุข ณ ถนนพระอาทิตย์ โดยพระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ทรงปลูกเรือนหอเล็ก ๆ ให้ริมน้ำ หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเล่าว่าเคยซื้อกุ้งแม่น้ำจากชาวประมงที่จับกุ้งในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวหน้าตำหนักนั่นเอง (ตำหนักนี้ภายหลังเป็นที่ทำการของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ซอยกาติ๊บ (อารีย์สัมพันธ์) ซึ่งยังเป็นที่เวิ้งว้างกลางทุ่งนา หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเล่าว่าเคยขี่จักรยานจากบ้านซอยกาติ๊บไปจ่ายตลาดที่ประตูน้ำ

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีโอรสและธิดา 6 คน ได้แก่

  1. หม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 กันยายน พ.ศ. 2483)
  2. หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา (เกิด 11 กันยายน พ.ศ. 2484)
  3. พลอากาศโท หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2486)
  4. หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์ (เกิด 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489)
  5. หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2492)
  6. หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498)

ในปี พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้าประสบสุขซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งราชการสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพาณิชย์และการคลังของประเทศไทย ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งครอบครัวจึงได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้รับพระมรดกเป็นห้องแถวสามห้องที่สี่กั๊กเสาชิงช้า (ปัจจุบันเป็นร้านกระเป๋าจาค็อบ) ซึ่งทรงขายไป แล้วนำเงินไปซื้อขายที่ดินต่ออีกหลายแปลง รวมถึงที่ในซอยสุขใจ (ซอย 12) ถนนสุขุมวิท ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นทุ่งนาเลี้ยงโคกระบือ ซึ่งที่แห่งนี้ก็ยังเป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นแม่ศรีเรือน มีความสามารถในการปรุงอาหาร ดูแลบ้าน เย็บปัก ถักร้อย มักตัดเย็บเสื้อผ้าให้โอรสและธิดาใส่เอง รวมทั้งเครื่องตกแต่งบ้าน เช่น ม่าน หมอน ผ้าเช็ดปาก ก็จะปักอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทรงทำต่อเนื่องมาตลอด ไม่เพียงแต่งานฝีมือแบบลูกผู้หญิงเท่านั้น ยังทรงถนัดช่างแบบผู้ชายอีกด้วย เช่น งานไม้ งานปูน งานไฟฟ้า เล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้าน ทรงทำเองหมด ด้วยทรงศึกษาจากช่างก่อสร้างที่มาสร้างและซ่อมบ้านอย่างต่อเนื่อง

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเคยบวชชี โกนศีรษะ นุ่งขาว ห่มขาว สร้างกุฏิขององค์เองที่วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อยู่แบบสมถะเป็นเวลาหลายปี หลังจากลาสิกขาบทแล้ว ทรงใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และเริ่มใช้เวลากับงานอดิเรกใหม่ คือ การทัศนาจร โปรดการทัศนาจรเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกลุ่มทัศนาจรประจำ ด้วยทรงนึกถึงแบบอย่างเช่นพระบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เสด็จประพาสทั่วประเทศไทยในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และครั้งสุดท้ายที่หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเสด็จไปทัศนาจร คือ ประทับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปประเทศกัมพูชา ตอนชันษากว่า 90 ปี ทั้ง ๆ ที่รู้องค์ว่าลงไปดำเนินตามโบราณสถานต่าง ๆ คงไม่ไหวแล้ว แต่ด้วยพระทัยรักก็ยังทรงขอประทับรถยนต์ประพาสเพื่อความเพลิดเพลิน

ปัจฉิมวัย[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นผู้ที่นิยมใช้ชีวิตสมถะ แม้ในช่วงสูงวัยก็ยังทำงานบ้านต่าง ๆ ด้วยองค์เอง ห้องพักที่บ้านมีทั้งครัวเล็ก ๆ และเครื่องซักผ้าในตัว จนกระทั่งทรงหกล้มกระดูกพระอุรุร้าว เมื่อชันษา 90 กว่า ต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัด หลังจากนั้นก็ต้องระวังการดำเนิน ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงยอมใช้เครื่องช่วยดำเนินหรือธารพระกร และไม่โปรดให้ผู้ช่วยพยาบาลต้องมาเฝ้าถวายการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง การที่ลุกดำเนินไม่ได้ทำให้เป็นแผลกดทับซึ่งรุนแรงขึ้น จนในที่สุดต้องเข้ารับถวายการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกันดอกไม้ มีข้อความด้านในบัตรว่า "พระราชทานหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล ศุขสวัสดิ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐" แม้กระทั่งวันประสูติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ก็ได้จัดพิธีทำบุญถวายสังฆทานภายในห้องพักที่โรงพยาบาล

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเริ่มมีพระอาการทรุดลง โดยแพทย์ได้ตัดสินใจถวายยามอร์ฟีนเพื่อลดความเจ็บปวด หลังจากนั้นพระอาการก็ทรุดลงจนต้องถวายมอร์ฟีนอีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561

ชีพิตักษัย[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้ถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ[4] เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.55 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริชันษา 100 ปีเศษ ศพตั้งสวดที่วัดธาตุทอง (กรุงเทพมหานคร) จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5] นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลดิศกุลและราชสกุลสุขสวัสดิ์ และเป็นหม่อมเจ้าที่มีพระชนม์อยู่เป็นองค์สุดท้ายในบรรดาหม่อมเจ้าที่ได้เกศากันต์ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบ พร้อมฉัตรเบญจา 4 คันประกอบเกียรติยศ ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นหีบทองทึบเป็นโกศแปดเหลี่ยม และในวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[4]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8
  2. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
  3. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  4. 4.0 4.1 4.2 "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้". ช่อง 7 HD. 10 ตุลาคม 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "บุคคลในข่าว (หน้า 4)". ไทยรัฐออนไลน์. 5 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)