หมึกมหึมา
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
หมึกมหึมา | |
---|---|
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Mollusca (มอลลัสคา) |
ชั้น: | Cephalopoda (หมึกและหอยงวงช้าง) |
ชั้นย่อย: | Coleoidea (หมึก) |
อันดับ: | Teuthida (หมึกกล้วย) |
อันดับย่อย: | Oegopsina |
วงศ์: | Cranchiidae |
สกุล: | Mesonychoteuthis Robson, 1925 |
สปีชีส์: | M. hamiltoni |
ชื่อทวินาม | |
Mesonychoteuthis hamiltoni Robson, 1925 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
หมึกมหึมา หรือ หมึกโคลอสซัล (อังกฤษ: Colossal squid, Antarctic giant cranch squid) เชื่อว่าเป็นหมึกสปีชีส์ที่ขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นสปีชีส์เดียวในสกุล Mesonychoteuthis [1]
ประเมินจากตัวอย่างที่ขนาดเล็กกว่าและยังไม่โตเต็มวัย คาดว่าขนาดตัวเต็มวัยใหญ่ที่สุดอาจถึง 14 เมตร จึงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดด้วย [2]
ข้อมูลทางชีววิทยา
[แก้]หนวดไม่เหมือนหมึกชนิดอื่นที่มีปุ่มดูดยาวเป็นแถวหรือมีฟันซี่เล็ก แต่มีทั้งปุ่มดูดและตะขอที่แหลมคม ลำตัวกว้างกว่า หนากว่า และหนักกว่าหมึกชนิดอื่น เชื่อว่ามีแมนเทิลที่ยาวกว่าหมึกชนิดอื่น แต่มีหนวดสั้นกว่าเมื่อเทียบตามสัดส่วน
จะงอยปากใหญ่ที่สุดในบรรดาหมึกที่รู้จักกัน มีขนาดและความแข็งแรงมากกว่าในหมึกสกุล Architeuthis และเชื่อว่า มีดวงตาที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสัตว์
ถิ่นอาศัยมีบริเวณหลายพันกิโลเมตร ตั้งแต่ทวีปแอนตาร์กติก ขึ้นไปทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้, ทางใต้ของทวีปแอฟริกา และทางใต้ของนิวซีแลนด์ กล่าวคือมีถิ่นอาศัยในมหาสมุทรทางตอนใต้ของโลกที่ล้อมรอบขั้วโลกใต้เป็นวงกลม
วงจรชีวิตของหมึกชนิดนี้เป็นที่รู้จักน้อยมาก เชื่อว่าล่าเหยื่อเช่น หนอนทะเลและหมึกชนิดอื่นในทะเลลึก โดยใช้แสงเรืองจากตัวเอง อาจกินปลาขนาดเล็ก เพราะชาวประมงจับได้ขณะจับปลาจิ้มฟัน
ยังไม่เคยมีการสังเกต การสืบพันธุ์ของหมึกชนิดนี้ แต่อนุมานได้จากลักษณะทางกายวิภาค ตัวผู้ไม่มี hectocotylus (หนวดในสัตว์ประเภทหมึกซึ่งใช้ปล่อยอสุจิไปในตัวเมีย) จึงคาดว่าใช้ ลึงค์ โดยสอดใส่อสุจิเข้าสู่ร่างกายของตัวเมียโดยตรง
เชื่อว่าศัตรูตามธรรมชาติที่สำคัญคือ วาฬสเปิร์ม ซึ่งซากวาฬจำนวนมากมีแผลบนหลัง คล้ายปุ่มดูดของหมึกขนาดใหญ่ และซากจะงอยปากหมึก ที่พบในกระเพาะของวาฬสเปิร์มแอนตาร์กติกที่อาศัยในมหาสมุทรตอนใต้ ถึง 14% เป็นของหมึกชนิดนี้ ทำให้อนุมานได้ว่ามีปริมาณ 77% ของน้ำหนักอาหารที่วาฬเหล่านี้ในบริเวณนั้นกิน มีสัตว์ชนิดอื่นอีกที่อาจกินหมึกชนิดนี้ในช่วงวัยต่างๆ ได้แก่ วาฬจมูกขวด, วาฬไพล็อต, แมวน้ำช้างขั้วโลกใต้, ปลาจิ้มฟันพาตาโกเนีย, ปลาฉลามขี้เซาแปซิฟิก และนกอัลบาทรอส โดยซากจะงอยปากจากตัวเต็มวัย พบได้แต่ในกระเพาะอาหารสัตว์ขนาดใหญ่พอจะล่าตัวเต็มวัยได้เท่านั้น เช่น วาฬสเปิร์ม และปลาฉลามขี้เซาแปซิฟิก ขณะที่นักล่าอื่นกินได้เพียงวัยอ่อน
จากตัวอย่างไม่กี่ชิ้น โดยเฉพาะซากจะงอยปากที่พบในกระเพาะอาหารของวาฬสเปิร์ม จึงคาดว่า หมึกที่โตเต็มวัยน่าจะอาศัยที่ความลึกอย่างน้อย 2,200 เมตร ขณะที่ตัวที่ยังไม่โตเต็มที่อาศัยที่ความลึก 1,000 เมตรเป็นอย่างมาก
ประวัติการค้นพบ
[แก้]- ค.ศ. 1925 สปีชีส์นี้ถูกพบครั้งแรก โดยพบเพียงหนวด 2 เส้นในกระเพาะอาหารของวาฬสเปิร์ม
- ค.ศ. 1981 ตัวอย่างถูกจับได้โดยเรือลากอวนของรัสเซีย ในทะเลรอสส์ นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติก ความยาวรวม 3.9 เมตร ภายหลังพบว่าเป็นหมึกเพศเมียสปีชีส์นี้ที่ยังไม่โตเต็มที่
- ค.ศ. 2003 ตัวอย่างที่สมบูรณ์ถูกพบใกล้ผิวน้ำ ความยาวรวม 6 เมตร แมนเทิลยาว 2.5 เมตร และหนักประมาณ 195 กิโลกรัม
- ค.ศ. 2005 25 มิถุนายน ตัวอย่างยังมีชีวิตถูกจับได้ที่ความลึก 1,625 เมตร ขณะมันกำลังล่า ปลาจิ้มฟันแอนตาร์กติก นอกชายฝั่งหมู่เกาะจอร์เจียใต้
แม้ไม่ได้นำขึ้นเรือ แต่ประมาณว่า แมนเทิลยาวมากกว่า 2.5 เมตร หนวดเทนทาเคิลยาว 230 เซนติเมตร และหนักประมาณ 150-200 กิโลกรัม [3]
- ค.ศ. 2007 14 กุมภาพันธ์ ตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดถูกจับได้โดยเรือหาปลา ซาน แอสไปริง ของนิวซีแลนด์ นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์ติกา และนำขึ้นเรือกลับมาศึกษา ความยาวรวม 10 เมตร หนัก 494 กิโลกรัม และประกาศเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ว่าเป็นหมึกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้
ความยาวนี้ยังน้อยกว่าขนาดโตเต็มวัยที่คาดการณ์ไว้ แม้เบื้องต้นคาดว่าเป็นเพศผู้ แต่ก็ยังไม่ทราบเพศ (15 มีนาคม 2007) ตัวอย่างถูกแช่แข็งก่อนเคลื่อนย้ายไป เต ปาปา ตองแกร์วา พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ [4] [5] [6] [7] [8]
ความเชื่อ
[แก้]ในยุคกลาง เชื่อกันว่า คราเคน สัตว์ประหลาดทะเลขนาดใหญ่ที่มีความน่ากลัวที่ลูกเรือต่าง ๆ เล่าขานกันมาจนเป็นตำนาน โดยเฉพาะในทะเลแถบกรีนแลนด์หรือมหาสมุทรอาร์กติกว่ามีรูปร่างเหมือนหมึกกล้วยขนาดใหญ่ ก็คือ หมึกมหึมา นั่นเอง[9]
รูปภาพ
[แก้]-
หมึกตัวเมีย 760 ม. (2500 ฟุต) ในแอนตาร์กติก นอกชายฝั่งDronning Maud Land กับ Eureka ชาวประมงเรืออวนลากชาวรัสเซีย เมื่อค.ศ. 1981 [10]
-
จากสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศนานาชาติ (NIWA) เกรตตา พอยต์, เวลลิงตัน, นิวซีแลนด์, 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999
-
หมึกมหึมาขนาด 7 เมตรห่อหุ้มด้วยน้ำแข็ง, เมลเบิร์น อะควาเรียม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ จาก ITIS.org
- ↑ บพิธ จารุพันธุ์,รศ. นันทพร จารุพันธุ์,รศ. สัตววิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาสัตววิทยา, พิมพ์ครั้งที่4, 2547. หน้า171
- ↑ จดหมายข่าวจอร์เจียใต้: หมึกมหึมาหายากที่จับได้ขณะยังมีชีวิต
- ↑ ข่าว BBC: หมึกขนาดใหญ่ที่สุด
- ↑ ข่าว BBC: ชาวประมงนิวซีแลนด์ดึงหมึกขึ้นจากน้ำลึกของแอนตาร์กติก
- ↑ ข่าว BBC: วิทยาศาสตร์ปวดหัวของหมึกมหึมา
- ↑ ข่าว BBC: แช่แข็งก่อนย้ายไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์[ลิงก์เสีย]
- ↑ ข่าว yahoo รายงานจาก AP News: นักวิทยาศาสตร์ต้องละลายน้ำแข็งหมึกด้วยเตาอบไมโครเวฟขนาดยักษ์[ลิงก์เสีย]
- ↑ Terrell, Peter; et al. (Eds.) (1999). German Unabridged Dictionary (4th ed.). Harper Collins. ISBN 0-06-270235-1.
- ↑ Photograph by Alexander Remeslo. The Search for the Giant Squid. New York: The Lyon's Press, p. 147.