สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน
![]() | ||||
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | I Nerazzurri (ดำ-น้ำเงิน) La Beneamata (หัวแก้วหัวแหวน) Il Biscione (งูเขียวใหญ่) งูใหญ่ (ภาษาไทย) | |||
ก่อตั้ง | 9 มีนาคม ค.ศ.1908 | |||
สนาม | สตาดีโอจูเซปเปเมียอัซซา | |||
ความจุ | 75,923 [1] | |||
ประธาน | สตีเวน จาง | |||
ผู้จัดการทีม | ซีโมเน อินซากี | |||
ลีก | เซเรียอา | |||
2021–22 | อันดับที่ 2 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรฟุตบอลอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน (อิตาลี: Football Club Internazionale Milano S.p.A.) หรือที่เรียกย่อว่า อินเตอร์นาซีโอนาเล หรือ อินเตอร์ มิลาน ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ[2][3] เป็นสโมสรฟุตบอลจากประเทศอิตาลี ตั้งอยู่ที่เมืองมิลานในแคว้นลอมบาร์เดีย อินเตอร์เป็นเพียงสโมสรเดียวที่ไม่เคยตกชั้นจากเซเรียอา นับตั้งแต่ร่วมแข่งขันครั้งแรกใน ค.ศ. 1909
สโมสรถือกำเนิดขึ้นจากการแตกหักกันของสโมสรคริกเก็ตมิลานและสโมสรฟุตบอล (ปัจจุบันคือเอซี มิลาน) โดยอินเตอร์ได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1908 และชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1910 นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรจนถึงปัจจุบัน สโมสรชนะเลิศการแข่งขันในประเทศ 35 รายการ แบ่งเป็นลีกสูงสุด 19 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 9 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 7 สมัย โดยระหว่าง ค.ศ. 2006 ถึง 2010 สโมสรชนะเลิศลีก 5 สมัยติดต่อกัน ถือเป็นสถิติร่วมของการชนะเลิศลีกติดต่อมากที่สุดในเวลานั้น[4] สโมสรชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยใน 1964, 1965 และ 2010 โดยในปี 2010 สโมสรสร้างประวัติศาสตร์คว้าทริปเปิลแชมป์จากการชนะเลิศเซเรียอา โกปปาอิตาเลีย และฟุตบอลยุโรป[5] นอกจากนี้ สโมสรยังชนะเลิศยูฟ่าคัพ 3 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 1 สมัย
สนามเหย้าของอินเตอร์คือสนามกีฬาซานซีโร ซึ่งพวกเขาใช้งานร่วมกับคู่ปรับร่วมเมืองอย่างเอซี มิลาน สนามแห่งนี้เป็นสนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี โดยมีความจุ 75,923 ที่นั่ง[6] สโมสรมีคู่ปรับที่สำคัญ ได้แก่ เอซี มิลาน ซึ่งการพบกันของทั้งคู่มีชื่อเรียกว่าแดร์บีเดลลามาดอนนีนา นับเป็นการแข่งขันฟุตบอลดาร์บีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก[7] และยูเวนตุส ซึ่งการพบกันของทั้งคู่เรียกว่าแดร์บีดีตาเลีย [8] ใน ค.ศ. 2019 อินเตอร์ถือเป็นสโมสรที่มีจำนวนผู้ชมในสนามสูงที่สุดในอิตาลี และสูงเป็นอันดับหกในบรรดาสโมสรยุโรป[9][10] และยังถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีมูลค่าทีมสูงที่สุดในโลก[11]
ประวัติ[แก้]
ก่อตั้งทีม (1908–1960)[แก้]
อินเตอร์มิลาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1908 โดยใช้ชื่อ ฟุตบอล คลับ อินแตร์นาซีโอนาเล ซึ่งมีสมาชิกที่บางส่วนที่แยกตัวมาจากสโมสร มีลาโนตคริกเกร็ตแอนด์ฟุตบอลคลับ (มีทั้งหมด 44 คน) ปัจจุบันคือสโมสรเอซี มิลาน และได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอิตาลีและสวิส (จอร์โจ มักกีอานี เป็นจิตรกรที่ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสโมสร) สมาชิกจำนวนหนึ่งได้แยกตัวออกก่อตั้งสโมสรแห่งใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการเปิดโอกาสให้นักฟุตบอลที่ไม่ใช่ชาวอิตาลีได้เข้าร่วมทีม นั้นก็หมายถึงชาวต่างชาติก็สามารถลงสนามให้กับทีมได้ จึงได้รวมตัวกันของชาวอิตาลีและสวิส ก่อตั้งสโมสรขึ้นมา สโมสรแห่งนี้จึงได้เป็นสโมสรอีกสโมสรหนึ่งแห่งเมือง มิลาน ที่ได้ขึ้นชื่อว่าก่อตั้งจากชนชั้นแรงงาน
สโมสรชนะเลิศฟุตบอลลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1910 ตามด้วยแชมป์สมัยที่สองใน ค.ศ. 1920 กัปตันทีมซึ่งพาทีมชนะการแข่งขันลีกสูงสุดในฤดูกาล 1910 ได้แก่ เวอร์จิลิโอ ฟอสซาติ ซึ่งถูกสังหารจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งร่วมกับกองทัพอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. 1922 สโมสรทำผลงานย่ำแย่จนสุ่มเสี่ยงที่จะตกชั้นไปสู่ฟุตบอลดิวิชันสอง แต่สามารถเอาตัวรอดได้จากการชนะในการแข่งขันเพลย์ออฟ และใน 6 ปีต่อมา ในยุคของฟาสซิสต์อิตาลี สโมสรถูกบังคับให้ควบรวมกับ สมาคมฟุตบอลมิลานีสยูเนี่ยน สปอร์ติวา จากมิลาน และมีการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น "สปอร์ติวา แอมโบรเซียนา" (สโมสรฟุตบอลแอมโบรเซียนา) และในฤดูกาล 1928–29 สโมสรลงเล่นด้วยเสื้อแข่งสีขาวพร้อมลายกากบาทสีแดงบนตัวเสื้อ โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงและตราของเมืองมิลาน และใน ค.ศ. 1929 ประธานสโมสรคนใหม่ โอเรสเต ซิโมนอตติ ทำการเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น Associazione Sportiva Ambrosiana และนำชุดแข่งขันสีน้ำเงิน/ดำ กลับมาใช้เป็นสีหลักอีกครั้ง กระนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนของสโมสรก็ยังเรียกชื่อทีมของตนเองว่า "อินเตอร์" ต่อมา ใน ค.ศ. 1931 ปอซซานี ประธานสโมสรคนใหม่ได้เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น "สปอร์ติวา แอมโบรเซียนา อินเตอร์" (Associazione Sportiva Ambrosiana-Inter) ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นสโมสร
สโมสรชนะเลิศฟุตบอลโกปปาอีตาเลีย (อิตาเลียนคัพ) สมัยแรกในฤดูกาล 1938–39 ด้วยการนำทีมของผู้เล่นตำนานอย่าง จูเซปเป เมอัซซา ซึ่งได้รับเกียรตินำชื่อไปตั้งเป็นสนามเหย้าอย่างซานซีโร หรือ สตาดีโอจูเซปเปเมอัซซา ในปัจจุบัน ตามมาด้วยการชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยที่ห้าใน ค.ศ. 1940 แม้ว่าเมอัซซาจะประสบปัญหาการบาดเจ็บ และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สโมสรได้กลับไปใช้ชื่อเดิม (อินเตอร์) ตามมาด้วยการชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยที่หกและเจ็ด ใน ค.ศ. 1953 และ 1954 ตามลำดับ
ยุครุ่งเรือง (1960–67)[แก้]
ใน ค.ศ. 1960 เอเลนิโอ เอร์เรรา อดีตผู้จัดการทีมบาร์เซโลนาได้ย้ายมาคุมทีมอินเตอร์ พร้อมด้วยการมาถึงของผู้เล่นคนสำคัญอย่าง ลุยส์ ซัวเรซ มิรามอนเตส เจ้าของตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรป (บาลงดอร์ในปัจจุบัน) จากผลงานโดดเด่นในการพาบาร์เซโลนาชนะการแข่งขันสองรายการทั้งลาลิกาและอินเตอร์-ซิตีส์แฟส์คัพ การเข้ามาของเอร์เรราสามารถยกระดับทีมไปสู่การเป็นทีมชั้นนำของวงการฟุตบอลยุโรปได้อย่างรวดเร็ว เขาเป็นผู้นำระบบการเล่นแบบ 5–3–2 มาใช้กับทีมซึ่งได้รับฉายาว่า "Verrou" ("กลอนประตู") ซึ่งสร้างความยืดหยุ่นให้กับการเล่นเกมโต้กลับมากขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากแผนการเล่นแบบ Catenaccio ซึ่งคิดค้นโดย คาร์ล รัพพัน ผู้จัดการทีมชาวออสเตรีย โดยเอร์เรราได้เพิ่มจำนวนกองหลังเข้าไปอีกหนึ่งคนในฐานะ สวีปเปอร์ (sweeper) หรือ ลีเบโร (libero) ซึงจะมีตำแหน่งการยืนอยู่ข้างหลังเซนเตอร์ตัวหลักสองคนเพื่อแบ่งเบาภาระคู่เซนเตอร์เมื่อถูกจู่โจมโดยผู้เล่นฝ่ายรุก อินเตอร์จบฤดูกาลด้วยอันดับสามในลีกในปีนั้นตามอันดับสองในปีต่อมา ก่อนจะคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาลที่สามของเอร์เรรา และตามมาด้วยความสำเร็จในรายการยุโรปจากการชนะเลิศยูโรเปียนคัพสองสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1964 และ 1965 ทำให้เอร์เรราได้การขนานนามว่า "il Mago" (พ่อมด)[12] ทีมชุดนันประกอบไปด้วยผู้เล่นแกนหลักหลายราย อาทิ ทาร์ซิสิโอ บวร์นิช และ จาชินโต ฟัคเค็ตติ สองฟูลแบคชื่อดังชาวอิตาลี, อาร์มันโด พิคคี ในตำแหน่งสวีปเปอร์, ลุยส์ ซัวเรส ในตำแหน่งกองกลาง, มารีโอ กอร์โซ ปีกซ้ายพรสวรรค์สูง รวมถึงซานโดร มาสโซลา[13][14][15][16]
ใน ค.ศ. 1964 สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพได้อีกครั้ง จากการเอาชนะ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ในรอบรองชนะเลิศ รวมถึงปาร์ติซานในรอบก่อนรองชนะเลิศ เข้าไปพบกับเรอัลมาดริด ซึ่งผ่านเข้าชิงชนะเลิศรายการนี้ได้ถึงเจ็ดครั้งในรอบเก้าฤดูกาลหลังสุด และอินเตอร์สามารถเอาชนะไปด้วยผลประตู 3–1 จากการทำสองประตูของ ซานโดร มาสโซลา และพวกเขายังชนะการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ หรือ อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ด้วยการชนะกลุบอัตเลติโกอินเดเปนดิเอนเต และใน ค.ศ. 1965 อินเตอร์ได้ชนะการแข่งขันยูโรเปียนคัพอีกครั้งจากการเอาชนะสปอร์ลิชบัวอีไบฟีกา ด้วยผลประตู 1–0 ซึ่งนัดชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่ สตาดีโอจูเซปเปเมอัซซา สนามของพวกเขานั่นเอง และยังชนะการแข่งขัน อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ ด้วยการเอาชนะ อินเดเปนดิเอนเต ไปอีกครั้ง ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพอีกครั้งใน ค.ศ. 1967 แต่จากการเสียผู้เล่นตัวหลักอย่าง ลุยส์ ซัวเรส ซึ่งได้รับบาดเจ็บ และ การย้ายทีมของ แจร์ ดา กอสตา ส่งผลให้พวกเขาพ่ายต่อเซลติก และในปีนั้น สโมสรได้ทำการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น อินแตร์นาซีโอนาเล มาถึงปัจจุบัน
ความสำเร็จที่ตามมา (1967–1991)[แก้]
ภายหลังยุครุ่งเรืองของสโมสรในทศวรรษ 1960 อินเตอร์สามารถชนะเลิศลีกสูงสุดอีกครั้งใน ค.ศ. 1971 และ แชมป์สมัยที่สิบสองใน ค.ศ. 1980 และพวกเขาแพ้ในนัดชิงชนะเลิศรายการยูโรเปียรคัพเป็นครั้งที่สองในรอบห้าปี โดยแพ้ อาเอฟเซ อายักซ์ ซึ่งมีผู้เล่นชื่อดังอย่าง โยฮัน ไกรฟฟ์ ใน ค.ศ. 1972 ด้วยผลประตู 0–2 แต่อินเตอร์ก็ยังประสบความสำเร็จในรายการโกปปาอีตาเลีย โดยชนะเลิศอีกสองครั้งในฤดูกาล 1977–78 และ 1981–82
ฮันซี มึลเลอร์ และ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอ สองผู้เล่นชื่อดังของเยอรมนีตะวันตกเล่นให้กับอินเตอร์ในช่วงทศวรรษ 1980 และภายใต้การนำของ อันเดรียส เบรห์เม และ โลธาร์ มัทเธอุส รวมถึง ราโมน ดิอาซ อินเตอร์ชนะการแข่งขันเซเรียอาอีกครั้งใน ค.ศ. 1989 แต่ไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ในปีต่อมา แม้จะเซ็นสัญญากับผู้เล่นชาวเยอรมันอย่าง เยือร์เกิน คลีนส์มัน แต่สโมสรยังชนะเลิศรายการซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา เป็นครั้งแรกในช่วงเปิดฤดูกาล
ความไม่มั่นคง (1991–2004)[แก้]

เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1990 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวของอินเตอร์ เมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างยูเวนตุส และ เอซีมิลาน ต่างครองความยิ่งใหญ่ทั้งในประเทศและในการแข่งขันระดับทวีป อินเตอร์มีผลงานย่ำแย่ต่อเนื่องโดยเฉพาะในฤดูกาล 1993–34 ซึ่งพวกเขามีคะแนนห่างจากโซนตกชั้นเพียงคะแนนเดียว อย่างไรก็ตาม สโมสรยังประสบความสำเร็จในรายการยูฟ่าคัพ หรือ ยูฟ่ายูโรปาลีก ในปัจจุบัน จากการเข้าชิงชนะเลิศได้ถึงสี่ครั้งในช่วงทศวรรษดังกล่าว และคว้าแชมป์ได้สามสมัยใน ค.ศ. 1991, 1994 และ 1998

จากการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรโดย มัสซิโม โมรัตติ ใน ค.ศ. 1995 อินเตอร์ทำลายสถิติโลกในการซื้อตัวผู้เล่นถึงสองครั้งในขณะนั้น ด้วยการคว้าตัวผู้เล่นชื่อดังอย่าง โรนัลโด ซึ่งย้ายจากบาร์เซโลนาด้วยราคาสูงถึง 19.5 ล้านปอนด์ รวมถึงการคว้าตัว กริสเตียน วีเอรี มาจากลาซีโอในราคา 31 ล้านปอนด์[17] แต่ตลอดทศวรรษ 1990 ก็เป็นทศวรรษแรกที่พวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์เซเรียอาได้เลย นำไปสู่เสียงวิจารณ์ในเชิงลบจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีต่อผู้บริหาร ผู้จัดการทีม และนักเตะ โดยโมรัตติเป็นเป้าในการโจมตีของแฟน ๆ มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาตัดสินใจปลด ลุยจิ ซิโมนี ผู้จัดการทีมซึ่งเป็นขวัญใจของกลุ่มผู้สนับสนุนหลังจากเริ่มต้นฤดูกาล 1998–99 ไปเพียงไม่กี่นัด โดยซิโมนีเพิ่งได้รับรางวัลผู้จัการทีมยอดเยี่ยมประจำปีของอิตาลีไม่กี่วันก่อนถูกปลด ในฤดูกาลนั้น อินเตอร์ไม่สามารถทำอันดับไปเล่นรายการยุโรปได้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี โดยพวกเขาจบเพียงอันดับแปด
ในฤดูกาลต่อมา โมรัตติ แต่งตั้งอดีตผู้จัดการทีมยูเวนตุสอย่าง มาร์เชลโล ลิปปี เข้ามาคุมทีม พร้อมกับเซ็นสัญญาผู้เล่นใหม่อย่าง แองเจโล เปรุสซี และ โลร็องต์ บล็องก์ รวมถึงอดีตผู้เล่นยูเวนตุสอย่าง วลาดิเมียร์ จูกอวิช และสโมสรเข้าใกล้ความสำเร็จในประเทศมากที่สุดในรอบสิบปี เมื่อพวกเขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศ โกปปาอีตาเลีย แต่ก็แพ้ลาซีโอ ต่อมาในฤดูกาล 2000–01 พวกเขาแพ้ลาซีโออีกครั้งในรายการซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ด้วยผลประตู 3–4 แม้จะได้ประตูออกนำไปก่อนจากกองหน้าคนใหม่อย่าง ร็อบบี คีน และอินเตอร์ยังตกรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมแปียนส์ลีก จากการแพ้ สโมสรเฮลซิงบอร์ก ไอเอฟ ของสวีเดน โดยอัลบาโร เรโกบา ผู้เล่นคนสำคัญยิงจุดโทษพลาดในช่วงท้าย และลิปปีถูกปลดจากตำแหน่งหลังจากแข่งขันนัดแรกในเซเรียอาไปเพียงนัดเดียว ซึ่งพวกเขาแพ้ต่อเรจจินา ซึ่งถือเป็นการแพ้เรจจินาเป็นครั้งแรกในเซเรียอา มาร์โก ทาร์เดลลี เข้ามารับตำแหน่งต่อ แต่ก็ไม่สามารถยกระดับทีมได้ และเขาเป็นที่จดจำในเชิงลบโดยแฟนอินเตอร์ เมื่อพาทีมแพ้ในการแข่งขันดาร์บีต่อเอซีมิลานไปถึง 0–6 ผู้เล่นสำคัญของอินเตอร์ในช่วงเวลานี้ได้แก่ ฟาบีโอ กันนาวาโร และ วีเอรี ซึ่งทั้งสองคนมีร้านอาหารในเมืองมิลาน ก่อนที่ร้านของทั้งคู่จะถูกทำลายโดยกลุ่มผู้สนับสนุนที่ไม่พอใจกับผลการแข่งขันในเกมดาร์บีดังกล่าว
ใน ค.ศ. 2002 อินเตอร์ทำผลงานได้ดีขึ้น พวกเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพ และใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์เซเรียอามากที่สุดในรอบหลายปี โดยในนัดสุดท้ายพวกเขาต้องบุกไปเอาชนะลาซีโอให้ได้ และพวกเขาออกนำไปก่อนด้วยผลประตู 2–1 หลังผ่าน 24 นาทีแรก ก่อนที่ลาซีโอจะทำประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของครึ่งแรก ตามด้วยการยิงอีกสองประตูในครึ่งหลัง อินเตอร์พ่ายไปด้วยผลประตู 2–4 ส่งผลให้ยูเวนตุสคว้าแชมป์ไปครอง ในฤดูกาลต่อมา อินเตอร์คว้ารองแชมป์เซเรียอาอีกครั้ง และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่ก็แพ้คู่ปรับอย่างเอซีมิลานด้วยกฏการยิงประตูทีมเยือน
ทวงความยิ่งใหญ่ (2004–11)[แก้]
ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 สโมสรแต่งตั้ง โรแบร์โต มันชีนี อดีตผู้จัดการทีมลาซีโอเข้ามาคุมทีม และในฤดูกาลแรกอินเตอร์ทำคะแนนไปได้ 72 คะแนน จากผลงานชนะ 18 นัด เสมอ 18 นัด และแพ้ 2 นัด และมันชีนีพาทีมชนะเลิศฟุตบอลถ้วยได้ถึงสองรายการทั้งใน โกปปาอีตาเลีย และ ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 อินเตอร์คว้าแชมป์โกปปาอิตาเลียเป็นสมัยที่ห้า โดยเอาชนะโรมาด้วยผลประตูรวมสองนัด 4–2 (เสมอ 1–1 ที่กรุงโรม และเอาชนะ 3–1 ที่มิลาน)
อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 2005–06 และสืบเนื่องจากคดีกัลโชโปลี ส่งผลให้ทีมแชมป์อย่างยูเวนตุสถูกริบแชมป์และลงโทษด้วยการปรับตกชั้น และเอซีมิลานถูกตัดคะแนน และในฤดูกาลต่อมา อินเตอร์สร้างสถิติใหม่ในการชนะติดต่อกัน 17 นัดในเซเรียอา เริ่มต้นในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2006 ด้วยการเปิดบ้านเอาชนะลิวอร์โน 4–1 ก่อนจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 หลังเปิดบ้านเสมอกับ อูดีเนเซกัลโช 1–1 และในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2007 อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาสองสมัยติดต่อกัน และถือเป็นแชมป์ครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1989 หากไม่นับแชมป์จากเหตุการณ์อื้อฉาวของยูเวนตุสและเอซีมิลาน หลังจากที่พวกเขาเอาชนะเซียนา 2–1 โดยได้สองประตูจากกองหลังคนสำคัญอย่าง มาร์โก มาเตรัซซี ซึ่งอยู่ในทีมชาติอิตาลีชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2006[18]
อินเตอร์เริ่มต้นฤดูกาล 2007–08 โดยคาดหวังว่าจะคว้าแชมป์รายการใหญ่ให้ได้ทั้งสองรายการ ได้แก่เซเรียอา และ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก พวกเขาเริ่มต้นได้ดีด้วยการขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในลีก และยังผ่านรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฐานะแชมป์กลุ่มจี ผ่านเข้าไปพบกับลิเวอร์พูล แต่พวกเขาก็แพ้ไปด้วยผลประตูรวมสองนัด 0–3 ทำให้อนาคตของมันชีนีไม่แน่นอนนัก และสโมสรยังไม่ชนะทีมใดในเซเรียอาติดต่อกันอีกสามนัดถัดมา และหลังจากตกรอบยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกมันชีนีประกาศอำลาทีมแต่ก็เปลี่ยนใจในวันต่อมา และในนัดสุดท้ายของการแข่งขันเซเรียอา อินเตอร์บุกไปชนะปาร์มากัลโช 1913 จากสองประตูของ ซลาตัน อิบราฮีมอวิช ส่งผลให้อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาเป็นปีที่สามติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มันชีนีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากเขาเคยประกาศอำลาทีมในช่วงก่อนหน้านี้

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 สโมสรแต่งตั้ง โชเซ มูรีนโย ผู้จัดการทีมชื่อดังเข้ามาคุมทีม และเขาพาทีมชนะสองถ้วยรางวัลโดยคว้าแชมป์ ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา และคว้าแชมป์ลีกเป็นสมัยที่สี่ติดต่อกัน แต่ก็ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยพ่ายแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กระนั้น อินเตอร์ก็สร้างสถิติด้วยการเป็นทีมแรกในรอบ 60 ปีที่คว้าแชมป์เซเรียอาได้สี่สมัยติดต่อกัน และถือเป็นทีมที่สามต่อจากยูเวนตุสและโตริโนที่ทำได้ และยังถือเป็นสโมสรแรกที่ไม่ได้อยู่ในเมืองตูรินที่ทำได้ และในฤดูกาลต่อมา มูรีนโยพาทีมสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์สามรายการหลัก โดยคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2009–10 ด้วยการเอาชนะแชมป์เก่าอย่างบาร์เซโลนาในรอบรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–2 และเอาชนะไบเอิร์นมิวนิกในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 จากสองประตูของ ดิเอโก มิลิโต[19] รวมถึงคว้าแชมป์เซเรียอาเป็นสมัยที่ห้าติดต่อกัน โดยมีคะแนนเหนือกว่าโรมาสองคะแนน และยังเอาชนะโรมาในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียด้วยผลประตู 1–0[20] สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการหลักในฤดูกาลเดียว[21] ก่อนที่มูรีนโยจะอำลาทีมเพื่อไปคุมเรอัลมาดริด และถูกแทนที่โดย ราฟาเอล เบนิเตซ ผู้พาทีมชนะการแข่งขัน ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ชนะโรมาด้วยผลประตู 3–1 ตามด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2010 ชนะสโมสรมาเซมเบจากสาธารณรัฐคองโกด้วยผลประตู 3–0 ทว่าผลงานในลีกไม่สู้ดีนัก เป็นผลให้เบนิเตซถูกปลดและแทนที่ด้วย เลโอนาร์ดู อาราอูฌู
เลโอนาร์ดูพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยมในช่วงแรกโดยทำคะแนนไปถึง 30 คะแนนจาก 12 นัด ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 2.5 คะแนนต่อหนึ่งเกม เหนือกว่าสองผู้จัดการทีมก่อนหน้าเขาอย่างมูรีนโยและเบนิเตซ และในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2011 เขาพาทีมสร้างสถิติใหม่ด้วยการเก็บไป 33 คะแนนจาก 13 นัด ทำลายสถิติเดิมของฟาบิโอ กาเปลโล ในการคุมทีมยูเวนตุสในฤดูกาล 2004–05 เลโอนาร์ดูพาอินเตอร์ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกก่อนจะแพ้ชัลเคอ 04 แต่ยังแก้ตัวด้วยแชมป์โกปปาอิตาเลีย โดยชนะปาร์แลโมด้วยผลประตู 3–1 ก่อนที่เลโอนาร์ดูจะอำลาทีม และตามมาด้วยการคุมทีมของสามผู้จัดการทีมอย่าง จาน ปิเอโร กาสเปรินี, เกลาดีโอ รานีเอรี และ อันเดรอา สตรามัชโชนี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ
การเปลี่ยนแปลง และช่วงขาลงของสโมสร (2011–19)[แก้]
วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2012 สโมสรประกาศว่าโมรัตติได้ขายหุ้นบางส่วนให้แก่กลุ่มทุนจากจีนนำโดย เค็นเน็ธ หวง และในวันเดียวกันสโมสรยังประกาศแผนการสร้างสนามใหม่ แต่ในที่สุดการทำข้อตกลงกับกลุ่มทุนจากจีนก็ล้มเหลว และในฤดูกาล 2012–13 ถือเป็นฤดูกาลที่ย่ำแย่ที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อพวกเขาจบเพียงอันดับเก้าในเซเรียอาไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลยุโรป วอลเตอร์ มาซซาร์รี เข้ามาคุมทีมในฤดูกาลถัดมา ก่อนจะพาทีมจบอันดับห้าในลีกและได้สิทธิ์แข่งขันยูโรปาลีกรอบคัดเลือก
ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2013 กลุ่มทุนจากอินโดนีเซีย นำโดยเอริค ทอร์เฮีย ได้ทำข้อตกลงเข้าถือหุ้นจำนวน 70% ของสโมสร[22] บริษัท Internazionale Holding S.r.l. ของ โมรัตติยังคงถือหุ้น 29.5% ของสโมสร และทอร์เฮีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร่วมของสโมสรดีซี ยูไนเต็ด ในเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ และสโมสรเปอร์ซิบ บันดุง ในลีกาซาตู ได้ประกาศว่าอินเตอร์ได้ทำข้อตกลงในการเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ร่วมกับดีซียูไนเต้ด ภายใต้การบริหารทีมของทอร์เฮีย สโมสรได้ปรับกลยุทธ์ทางการเงินจากที่เคยเน้นการสนับสนุนด้วยทุนทรัพย์ของผู้บริหารไปสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สโมสรก็ได้ละเมิดกฏการเงินของยูฟ่าและถูกปรับใน ค.ศ. 2015 ในช่วงเวลานั้น โรแบร์โต มันชีนีกลับมาคุมทีมเป็นครั้งที่สองแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยจบอันดับแปดในฤดูกาลแรก ก่อนจะคว้าอันดับสี่ในฤดูกาล 2015–16 ได้สิทธิ์กลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ซูหนิง คอมเมิร์ซ กรุ๊ป บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของจีนซึ่งมีเจ้าของกิจการคือ จาง จินตง ได้ซื้อหุ้นสโมสรอินเตอร์ส่วนใหญ่ที่ทอร์เฮียถือครองอยู่ และเข้าควบคุมกิจการสโมสร โดยที่โมรัตติยังคงเป็นผู้ร่วมถือหุ้นบางส่วน จากการรายงานระบุว่า การเข้าเทคโอเวอร์ของซูหนิงมีมูลค่าเบื้องต้นที่ประมาณ 270 ล้านยูโร[23] การเจรจาแล้วเสร็จในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ส่งผลให้ซูหนิง กรุ๊ป ถือครองหุ้นสโมสรที่ 68.55% อย่างไรก็ตาม การบริหารโดยเจ้าของใหม่ก็ไม่ราบรื่นนัก ทีมประสบกับผลงานย่ำแย่ตั้งแต่การลงแข่งกระชับมิตรช่วงต้นฤดูกาล และในเดือนสิงหาคม สโมสรประกาศแยกทางกับมันชีนีหลังจากมีวิสัยทัศน์ในการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร[24] ผู้ที่มาคุมทีมต่อคือ ฟรังก์ เดอ บูร์ ซึ่งทำผลงานย่ำแย่หนักจนถูกปลดหลังคุมทีมไปเพียงสามเดือน โดยอินเตอร์ชนะได้เพียง 4 นัด จาก 11 นัดแรกในเซเรียอา สเตฟาโน ปิโอลี เข้ามารับช่วงต่อ แต่ก็อยู่ได้เพียงช่วงท้ายของฤดูกาล 2016–17 เมื่อสโมสรไม่สามารถทำอันดับติดหนึ่งในสามเป็นปีที่หกติดต่อกัน
ลูเซียโน สปัลเล็ตติ ได้รับการแต่งตั้งด้วยสัญญาสองปี[25] และเขาพาทีมกลับไปแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้ครั้งแรกในรอบหกฤดูกาล หลังจากเอาชนะลาซีโอด้วยผลประตู 3–2 ในนัดสุดท้ายของเซเรียอา[26][27] ส่งผลให้สปัลเล็ตติได้รับการขยายสัญญาไปจนถึง ค.ศ. 2021 ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2018 สตีเวน จาง เข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรคนใหม่ และเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2019 สโมสรได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า LionRock Capital จากฮ่องกงได้บรรลุข้อตกลงกับ International Sports Capital HK Limited เพื่อซื้อหุ้น 31.05% ในสโมสรและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยใหม่ของอินเตอร์ และแม้จะพาทีมจบอันดับสี่อีกครั้งในฤดูกาล 2018–19 สปัลเล็ตติก็ถูกปลด[28]
กลับสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ (2019–ปัจจุบัน)[แก้]
ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 สโมสรแต่งตั้ง อันโตนีโอ กอนเต ผู้จัดการทีมชื่อดังเข้ามาคุมทีมด้วยสัญญาสองปี เขาพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยม ด้วยการมีลุ้นแชมป์เซเรียอาจนถึงนัดสุดท้าย แต่ก็ทำได้เพียงอันดับสองโดยเป็นรองยูเวนตุสเพียงคะแนนเดียว[29] และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก ก่อนจะแพ้ เซบิยา ด้วยผลประตู 2–3 แต่กอนเตก็พาทีมคว้าแชมป์เซเรียอาได้เป็นครั้งแรกในรอบสิบเอ็ดปีในปีต่อมา ยุติการคว้าแชมป์เก้าสมัยติดต่อกันของยูเวนตุส[30] อย่างไรก็ตาม กอนเตก็อำลาทีมหลังจบฤดูกาลหลังมีแนวทางในการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร โดยอินเตอร์ต้องประสบปัญหาการเงินอีกครั้ง ส่งผลให้ทีมไม่สามารถลงทุนในตลาดซื้อขายตามที่กอนเตต้องการได้[31][32]
ซีโมเน อินซากี เข้ามาคุมทีมในฤดุกาล 2021–22[33] เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 2021 การ์โล ค็อตตาเรลลี ได้ออกนโยบายใหม่ในการเข้าถือหุ้นสโมสรโดยแฟน ๆ สโมสรอินเตอร์ มิลานภายใต้โครงการ InterSpac[34] จากการประสบปัญหาการเงิน ส่งผลให้สโมสรต้องปล่อยผู้เล่นสำคัญออกจากทีม อาทิ อัชร็อฟ ฮะกีมี ซึ่งย้ายไป ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ด้วยราคา 68 ล้านยูโร[35] รวมถึงกองหน้าคนสำคัญอย่าง โรเมลู ลูกากู ซึ่งย้ายกลับไปเล่นให้เชลซีด้วยราคาสูงถึง 115 ล้านยูโร ถือเป็นสถิติการขายผู้เล่นที่แพงที่สุดของสโมสรอิตาลี[36] รวมถึงการยกเลิกสัญญากับ ราจา ไนง์โกลัน[37] แต่ทีมก็ยังหาผู้เล่นใหม่มาชดเชยหลายราย อาทิ การเซ็นสัญญากับ แด็นเซิล ดัมฟรีส จาก เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน ด้วยราคา 12.5 ล้านยูโรรวมถึง เอดิน เจกอ กองหน้าตัวหลักของโรมาด้วยสัญญาสองปี[38] ในฤดูกาลแรกของอินซากี อินเตอร์มีลุ้นแชมป์เซเรียอาจนถึงนัดสุดท้าย แต่ก็จบอันดับสองตามหลังเอซีมิลานสองคะแนน และเป็นทีมที่ยิงประตูมากที่สุดในลีกในฤดูกาลนี้จำนวน 84 ประตู[39] และสโมสรยังประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วยอีกสองรายการด้วยการเอาชนะยุเวนตุสใน ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา ด้วยผลประตู 2–1[40] จากประตูชัยในนาทีสุดท้ายของการต่อเวลาพิเศษโดย อาเลกซิส ซันเชซ และเอาชนะยูเวนตุสอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ โกปปาอีตาเลีย ด้วยผลประตู 4–2 โดยเอาชนะไปในช่วงต่อเวลาพิเศษจากสองประตูของ อิวัน เปริชิช ภายหลังเสมอกันด้วยผลประตู 2–2 ในเวลาปกติ[41]
ในฤดูกาล 2022–23 สโมสรเซ็นสัญญากับผู้เล่นหลายราย โดยยืมตัว โรเมลู ลูกากู กลับมาจากเชลซี รวมถึง แฮนริค มะคีทาเรียน, อ็องเดร โอนานา, ราอูล เบลลาโนวา และ กริสเตียน อัสลานี อินซากีชนะเลิศถ้วยรางวัลใบที่สามกับสโมสรในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 โดยเอาชนะเอซีมิลานในซูแปร์โกปปาอีตาเลียนาด้วยผลประตู 3–0[42] ตามด้วยการป้องกันแชมป์โกปปาอีตาเลีย จากการเอาชนะฟีออเรนตินาในรอบชิงชนะเลิศด้วยผลประตู 2–1 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 9 และเป็นถ้วยรางวัลใบที่สี่ในรอบสองฤดูกาล นอกจากนี้ สโมสรยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกพบกับแมนเชสเตอร์ซิตี และสโมสรจบอันสามในเซเรียอา
สีและสัญลักษณ์[แก้]
![]() |
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: ชุดแข่งขันของอินเตอร์มิลาน |
หนึ่งในผู้ก่อตั้งอินเตอร์ จอร์โจ มักกีอานี ซึ่งเป็นจิตรกร เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์แบบแรกของอินเตอร์ใน ค.ศ. 1908 โดยสัญลักษณ์แบบแรกเป็นรูปตัวอักษร "FCIM" ฝังอยู่ตรงกลางวงกลม สัญลักษณ์ที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายยังคงถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบันพร้อมกับการปรับแต่งรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยในฤดูกาล 1999–2000 ได้มีการปรับตราสัญลักษณ์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อวางชื่อสโมสรและปีที่ก่อตั้งทั้งด้านบนและด้านล่างของตราตามลำดับ
ใน ค.ศ. 2007 ตราสัญลักษณ์กลับไปใช้ตราเดิมในช่วงก่อนฤดูกาล 1999–2000 อีกครั้ง แต่ได้มีการปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยขึ้นพร้อมใส่ดาว สกูเดตโต และสีโทนสว่าง ตราสัญลักษณ์แบบนี้ถูกใช้งานจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014 เมื่อสโมสรตัดสินใจปรับภาพลักษณ์ของตัวสโมสรเอง[43] โดยจุดแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดระหว่างตราใหม่กับตราก่อนหน้าคือการนำดาวออกไปจากตรา[44]
นับตั้งแต่สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1908 ผู้เล่นสวมเสื้อลายทางสีดำและน้ำเงิน ทำให้ได้รับฉายาว่า เนรัซซูรี (Nerazzurri) ตามธรรมเนียมแล้ว สีชุดแข่งถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงท้องฟ้าตอนกลางคืน ประกอบกับเวลาที่ก่อตั้งสโมสรก็คือตอนกลางคืน ในเวลา 23 นาฬิกา 30 นาทีของวันที่ 9 มีนาคม ยิ่งไปกว่านั้น สีน้ำเงินยังเป็นสีที่ถูกเลือกโดยจอร์โจ มักกีอานี เพราะเขาเห็นว่าเป็นสีที่ตรงข้ามกับสีแดง ซึ่งเป็นสีชุดแข่งที่คู่อริอย่างสโมสรฟุตบอลและคริกเก็ตมิลานสวมใส่[45][46]
อินเตอร์มีช่วงที่ไม่ได้สวมชุดแข่งขันสีดำ-น้ำเงินอยู่บ้างในฤดูกาล 1928–29 โดยใน ค.ศ. 1928 ชื่อและปรัชญาของสโมสรสร้างความไม่สบายใจแก่พรรคฟาสซิสต์ที่ปกครองอยู่ตอนนั้น ส่งผลให้สโมสรถูกรวมเข้ากับ สหภาพกีฬามีลาเนส (Unione Sportiva Milanese) และเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น สโมสรกีฬาแอมโบรเซียนา (Società Sportiva Ambrosiana) ซึ่งตั้งชื่อตามนักบุญองค์สมโภชของมิลาน[47] และชุดแข่งขันซึ่งเดิมคือลายดำ-น้ำเงิน ก็ถูกแทนที่ด้วยลายธงประจำเมืองมิลาน (ลายกางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว)[48] แต่ต่อมาใน ค.ศ. 1929 ชุดแข่งขันสีดำ-น้ำเงินถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ฟาสซิสล่มสลาย สโมสรก็เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิม ต่อมาใน ค.ศ. 2008 อินเตอร์เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีด้วยการผลิตเสื้อแข่งขันลายกางเขนสีแดง ซึ่งสื่อถึงธงประจำเมือง และใช้เป็นชุดที่สาม ค.ศ. 2014 สโมสรใช้ชุดเหย้าสีดำซึ่งมีลายนิ้วมือสีน้ำเงินบนเสื้อ[49] ก่อนที่จะย้อนกลับไปใช้ชุดแข่งขันลายประจำในฤดูกาลถัดมา
สัตว์มักถูกใช้ตั้งเป็นชื่อฉายาของสโมสรฟุตบอลอิตาลี โดยงูเขียวใหญ่ ซึ่งเรียกว่า Biscione เป็นฉายาของอินเตอร์ งูเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองมิลาน โดยปรากฏบนมุทราศาสตร์ของมิลาน เป็นรูปงูพิษขดตัวพร้อมกับมีผู้ชายเป็นเหยื่อในเขี้ยวของมัน สัญลักษณ์นี้ยังอยู่บนตราประจำตระกูลสฟอร์ซา (ซึ่งปกครองอิตาลีในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา), เมืองมิลาน, ดัชชีมีลาโน (รัฐของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอายุ 400 ปี) และอินเซอเบรีย (ภูมิภาคทางประวัติศาสตร์ซึ่งครอบคลุมมิลาน) สำหรับในฤดูกาล 2010–11 มีการออกแบบให้มีรูปงูอยู่บนชุดเยือน
ผู้สนับสนุนและสโมสรคู่อริ[แก้]

อินเตอร์มิลาน ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในอิตาลีจากการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ la Repubblica ใน ค.ศ. 2007 โดยก่อนหน้านี้ (นับถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ผู้สนับสนุนของอินเตอร์ในเมืองมิลานมักมาจากชนชั้นกลาง ในขณะที่ผู้สนับสนุนของเอซีมิลานมักเป็นชนชั้นแรงงาน ในช่วงการบริหารของ มัสซิโม โมรัตติ กลุ่มผู้สนับสนุนหรือแฟน ๆ ของสโมสรมักถูกมองว่าเป็นพวกการเมืองฝ่ายซ้าย ในขณะที่ผู้สนับสนุนของเอซีมิลานเป็นพวกฝ่ายขวา[50]
กลุ่มอุลตร้าดั้งเดิมของอินเตอร์คือ Boys San พวกเขามีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มกองเชียร์ที่เก่าแก่ที่สุดโดยก่อตั้งขึ้นในปี 1969 กลุ่ม Irriducibili ของ Inter Ultras เป็นพวกฝ่ายขวาและมีความสัมพันธ์อันดีกับลาซิโอ อุลตร้าส์ (กองเชียร์ลัตซีโย) เช่นเดียวกับกองเชียร์กลุ่มหลัก (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) ของ Boys San และยังมีกลุ่มที่สำคัญอีกห้ากลุ่มได้แก่ ไวกิ้ง (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด), Irriducibili (ขวา), Ultras (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด), Brianza, Alcoolica (ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด) และ Imbastisci (ซ้าย)
กลุ่มผู้สนับสนุนของอินเตอร์ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมในการมารวมตัวกันเพื่อร่วมร้องเพลงเชียร์บริเวณ Curva Nord หรือโค้งทิศเหนือของสนามซานซิโร และโบกธงเพื่อสนับสนุนทีมของพวกเขา อินเตอร์มีสโมสรคู่อริหลายสโมสร แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือเอซีมิลาน และยูเวนตุส ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิตาลี การแข่งขันกับเอซีมิลานมีชื่อเรียกว่า แดร์บีเดลลามาดอนนีนา โดยมีที่มาจากการแยกตัวของอินเตอร์ออกจากสโมสรคริกเก็ต และสโมสรฟุตบอลมิลาน ซึ่งในปัจจุบันก็คือสโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน ชื่อเรียกของการแข่งขันมีที่มาจาก มารีย์ (มารดาพระเยซู) ซึ่งมีรูปปั้นอยู่บนยอดมหาวิหารของเมืองมิลาน และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมือง การแข่งขันมักมีบรรยากาศเข้มข้นและมักปรากฏพลุแฟลร์ ทั้งในและนอกสนามเสมอ
การแข่งขันระหว่างอินเตอร์และยูเวนตุสถูกเรียกว่า แดร์บีดีตาเลีย และก่อนจะเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวใน ค.ศ. 2006 ทั้งสองทีมเป็นเพียงสองสโมสรของอิตาลีที่ไม่เคยตกชั้นไปเล่นในลีกระดับสองอย่างเซเรียบีเลย และในปัจจุบันอินเตอร์มิลานเป็นสโมสรเดียวที่ยังครองสถิติดังกล่าว ทั้งสองทีมแย่งความสำเร็จในประเทศกันมายาวนานหลายทศวรรษ และในช่วงปลายทศวรรษ 2000 อินเตอร์ได้พัฒนาความเป็นอริกับโรมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงที่อินเตอร์คว้าแชมป์เซเรียอาห้าสมัยติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. 2006–10 โรมาเป็นทีมรองแชมป์ถึงสี่จากห้าฤดูกาลดังกล่าว และยังพบกันในรอบชิงชนะเลิศโกปปาอิตาเลียหลายครั้ง
สโมสรอื่น ๆ ที่มีความเป็นอริกับอินเตอร์ได้แก่ อาตาลันตา และ นาโปลี
เกียรติประวัติ[แก้]

อินเตอร์ชนะเลิศถ้วยรางวัลในประเทศ 35 รายการ ประกอบด้วยลีก 19 สมัย, โกปปาอีตาเลีย 9 สมัย และซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา 7 สมัย สโมสรเคยชนะเลิศลีกถึง 5 ฤดูกาลติดต่อกันตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 นับเป็นสถิติร่วมของการชนะเลิศลีกติดต่อกันมากที่สุดก่อนที่ยูเวนตุสจะชนะเลิศลีก 6 สมัยติดต่อกันในปี 2017[4] อินเตอร์ชนะเลิศแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยในปี 1964, 1965 และ 2010 โดยการชนะเลิศแชมเปียนส์ลีกครั้งล่าสุดนั้น ทำให้พวกเขาคว้าทริปเปิลแชมป์ร่วมกับการชนะเลิศโกปปาอีตาเลียและสกูเด็ตโต[5] นอกจากนี้ สโมสรยังชนะเลิศยูฟ่าคัพ 3 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกหนึ่งสมัย
อินเตอร์เป็นสโมสรที่ไม่เคยตกชั้นจากลีกฟุตบอลสูงสุดของอิตาลี ทำให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวที่แข่งขันในเซเรียอาและลีกสูงสุดยุคก่อนหน้าครบทุกฤดูกาล เนรัซซูรีได้แข่งขันบนลีกสูงสุดถึง 106 ฤดูกาลติดต่อกัน หากนับในระดับทวีปแล้ว มีเพียงสโมสรบริติชเพียง 5 สโมสรที่แข่งขันในลีกสูงสุดติดต่อกันยาวนานกว่า
ประเภท | การแข่งขัน | ชนะเลิศ (สมัย) | ฤดูกาล |
---|---|---|---|
![]() |
เซเรียอา | 19 | 1909–10, 1919–20, 1929–30, 1937–38, 1939–40, 1952–53, 1953–54, 1962–63, 1964–65, 1965–66, 1970–71, 1979–80, 1988–89, 2005–06, 2006–07, 2007–08, 2008–09, 2009–10, 2020–21 |
โกปปาอีตาเลีย | 9 | 1938–39, 1977–78, 1981–82, 2004–05, 2005–06, 2009–10, 2010–11, 2021–22, 2022–23 | |
ซูแปร์โกปปาอีตาเลียนา | 7 | 1989, 2005, 2006, 2008, 2010, 2021, 2022 | |
![]() |
ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก | 3 | 1963–64, 1964–65, 2009–10 |
ยูฟ่าคัพ/ยูฟ่ายูโรปาลีก | 3 | 1990–91, 1993–94, 1997–98 | |
![]() |
อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ | 2 | 1964, 1965 |
ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก | 1 | 2010 |
สถิติสำคัญ[แก้]

- ฆาบิเอร์ ซาเนตติ เป็นเจ้าของสถิติในการลงสนามมากที่สุดของสโมสร ทั้งในการแข่งขันรวมทุกรายการ (858 นัด) และในเซเรียอา (618 นัด)
- จูเซปเป เมอัซซา เป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูมากที่สุดตลอดกาลของสโมสร (284 ประตูจาก 408 นัด)
- เอเลนิโอ เอร์เรรา เป็นผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุดของสโมสร (9 ปี, 8 ปีติดต่อกัน)
ผู้เล่นปัจจุบัน[แก้]
ผู้เล่นทีมชุดแรก[แก้]
- ณ วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2022[51]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
บุคลากรปัจจุบัน[แก้]

ตำแหน่ง | ชื่อ |
---|---|
ผู้ฝึกสอน | ซีโมเน อินซากี |
ผู้ช่วยทางเทคนิค | จูเซปเป บาเรซี |
ผู้ช่วยทางเทคนิค | ลูกา วีจานี |
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส | จูเซปเป ปอนเดรลลี |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | นุนซีโอ ปาเปเล |
นักวิเคราะห์เกม | มีเกเล ซัลซารูโล |
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ | ปีเอโร วอลปี |
แพทย์ | ดานีเอเล กาซาลีนี |
แบรนด์ชุดแข่งและสปอนเซอร์[แก้]
ปีที่ใช้ | แบรนด์เสื้อ | สปอนเซอร์ |
---|---|---|
1979–1981 | Puma | |
1981/1982 | Inno-Hit | |
1982–1986 | Mecsport | Misura |
1986–1988 | Le Coq Sportif | |
1988–1991 | Uhlsport | |
1991/1992 | Umbro | FitGar |
1992–1995 | Fiorucci | |
1995–1998 | Pirelli | |
1998–2018 | Nike |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-18. สืบค้นเมื่อ 2010-02-15.
- ↑ "Inter Milan arrives in Jakarta to prepare for two friendlies". The Jakarta Post. 24 May 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2013. สืบค้นเมื่อ 25 July 2013.
- ↑ Grove, Daryl (22 December 2014). "10 Soccer Things You Might Be Saying Incorrectly". Paste. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2017. สืบค้นเมื่อ 21 June 2017.
- ↑ 4.0 4.1 "Italy – List of Champions". RSSSF.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 5.0 5.1 "Inter join exclusive treble club". uefa.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 November 2012. สืบค้นเมื่อ 9 August 2012.
- ↑ "Struttura". sansirostadium.com (ภาษาอิตาลี). San Siro. สืบค้นเมื่อ 22 January 2021.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "Is this the greatest derby in world sports?". Theroar.com.au. 26 January 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2011. สืบค้นเมื่อ 28 September 2011.
- ↑ "Best supported clubs who attract more than a million fans every season". talkSPORT. 31 March 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2019. สืบค้นเมื่อ 29 May 2019.
- ↑ 161385360554578 (2019-03-31). "Best supported clubs who attract more than a million fans every season". talkSPORT (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "The World's Most Valuable Soccer Teams". Forbes. 17 April 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2013. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
- ↑ "14. Inter Milan". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "inter.it - F.C. Internazionale Milano". web.archive.org. 2012-10-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-19. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "FIFA Tournaments - Players & Coaches - HERRERA Helenio - Player Profile - FIFA.com". web.archive.org. 2017-01-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Mazzola: Inter is my second family - FIFA.com". web.archive.org. 2014-10-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "La Grande Inter: Helenio Herrera (1910-1997) - Il MagoLa Grande Inter: Helenio Herrera (1910-1997) - Il Mago". SempreInter.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-10-15.
- ↑ "Obitaury: Helenio Herrera". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 1997-11-11.
- ↑ "Ronaldo at 40: Il Fenomeno's legacy as greatest ever No9, despite dodgy knees | Rob Smyth". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-09-17.
- ↑ "Materazzi secures early title for Inter". www.telegraph.co.uk.
- ↑ "Bayern Munich 0-2 Inter Milan" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-05-22. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Treble-chasing Inter win Serie A" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2010-05-16. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Trebles all round to celebrate rarity becoming routine | Amy Lawrence". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-05-22.
- ↑ Fontevecchia, Agustino. "Inter Milan Sells 70% Stake To Indonesia's Erick Thohir At $480M Valuation". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "China's Suning buying majority stake in Inter Milan for $307 million". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2016-06-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "OFFICIAL: Inter sack Roberto Mancini | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ "Inter appoint Spalletti as new boss". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Serie A round-up: Inter Milan beat Lazio to claim final Champions League spot". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Lazio 2-3 Inter Milan". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Luciano Spalletti sacked as Inter Milan manager". OnManorama.
- ↑ "Atalanta 0-2 Inter: Evergreen Young inspires win to secure runner-up spot". web.archive.org. 2020-08-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-01. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Inter win first Serie A title in 11 years". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.
- ↑ "Conte shocks Inter Milan, leaves after title win". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-26.
- ↑ "Antonio Conte leaves Inter over plan to sell €80m of players this summer". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-26.
- ↑ Horncastle, James. "Simone Inzaghi appointed Inter Milan head coach". The Athletic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Azionariato popolare: da Ligabue a Bocelli, da Pezzali a Bonolis, ecco chi ha aderito". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Psg, ecco Hakimi: all'Inter 68 milioni. Il saluto ai nerazzurri: "Solo un anno, ma che anno"". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Addio di Lukaku: proprietà e dirigenti, sono tutti responsabili". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Nainggolan-Inter, è addio: risoluzione del contratto, il Cagliari lo attende". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "L'Inter annuncia Dzeko e Dumfries. Edin: "Squadra di campioni, ci divertiremo"". La Gazzetta dello Sport (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Classifica Serie A 2021/2022". la Repubblica.
- ↑ Sport, Sky. "Inter-Juventus LIVE". sport.sky.it (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "L'Inter vince la Coppa Italia: 4-2 contro la Juve ai supplementari". RaiNews (ภาษาอิตาลี).
- ↑ TG24, Sky. "Supercoppa italiana, vince l'Inter: 3 a 0 al Milan". tg24.sky.it (ภาษาอิตาลี).
- ↑ "Nerazzurri rebranding: new logo, same Inter". Inter.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 July 2014. สืบค้นเมื่อ 21 July 2014.
- ↑ "Inter rebranding in detail". Inter.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2014. สืบค้นเมื่อ 21 July 2014.
- ↑ "9 marzo 1908, 43 milanisti fondano l'Inter". ViviMilano.it. 24 June 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2007. สืบค้นเมื่อ 23 October 2007.
- ↑ "AC Milan vs. Inter Milan". FootballDerbies.com. 25 July 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 September 2011. สืบค้นเมื่อ 18 May 2008.
- ↑ "Emeroteca Coni". Emeroteca.coni.it. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2012. สืบค้นเมื่อ 7 January 2013.
- ↑ "Ambrosiana S.S 1928". Toffs.com. 24 June 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2007. สืบค้นเมื่อ 23 October 2007.
- ↑ https://www.sbnation.com/soccer/2014/7/9/5882469/inter-milan-2014-2015-nike-home-kit
- ↑ "AC Milan vs. Inter Milan". web.archive.org. 2011-09-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-13. สืบค้นเมื่อ 2021-05-12.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "First Team". FC Internazionale Milano. สืบค้นเมื่อ 1 July 2021.