ข้ามไปเนื้อหา

สโมสรฟุตบอลบีบีซียู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บีบีซียู
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด
ฉายาเสือสามย่าน
บิ๊กแบง
บิ๊กแบง-ซียู
ก่อตั้งพ.ศ. 2519 ในชื่อ ทีมฟุตบอลบางเตย
พ.ศ. 2533 ในชื่อ สโมสรสินธนา
พ.ศ. 2554 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด
ยุบพ.ศ. 2560
สนามสนามกีฬาศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลนนทบุรี
อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ความจุ6,000
ผู้จัดการวีรยุทธ โพธารามิก
ผู้ฝึกสอนจตุพร ประมลบาล
2559ไทยลีก, อันดับที่ 18 (ตกชั้น)[1]
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน

สโมสรฟุตบอลบีบีซียู หรือ "สโมสรฟุตบอลบิ๊กแบง จุฬาฯ ยูไนเต็ด" เป็นอดีตสโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย เจ้าของคือ สมาคมสโมสรสินธนา เป็นสโมสรที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงต้นยุค 40 (พ.ศ.) ภายใต้ชื่อ "สโมสรฟุตบอลสินธนา" โดยสามารถคว้าแชมป์ ไทยพรีเมียร์ลีก 1 ครั้ง แชมป์ ถ้วยพระราชทานประเภท ก 2 ครั้ง และแชมป์ เอฟเอคัพ 1 ครั้ง นอกจากนี้ในช่วงที่สโมสรตกชั้นไปจากลีกสูงสุดก็ยังสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชัน 2 ได้อีก 1 ครั้ง

ในปี พ.ศ. 2548 สโมสรร่วมเป็นพันธมิตรกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มมีการนำเอาผู้บริหารชุดใหม่เข้ามา หลังจากนั้นทีมได้เปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งก่อนจะกลายมาเป็น "สโมสรฟุตบอลบีบีซียู" โดยทีมนี้เป็นคนละทีมกับ สโมสรจามจุรี ยูไนเต็ด ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก "สโมสรฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจาก จามจุรี ยูไนเต็ด นั้นเป็นสโมสรที่เก่าแก่กว่า มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี และนับเป็น 1 ในสโมสรแรกๆที่ถูกก่อตั้งขึ้นในเมืองไทย

ประวัติศาสตร์สโมสร

[แก้]

สโมสรในช่วงเริ่มต้น

[แก้]

สโมสรฟุตบอลบีบีซียู ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 ภายใต้ชื่อ "ทีมฟุตบอลบางเตย" โดย มนตรี สุวรรณน้อย เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ผู้มีความฝันที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลประเทศไทย โดยในช่วงแรกนั้นเป็นเพียงทีมฟุตบอลเล็กๆที่ลงทำการแข่งขันในรายการ "บางกะปิ คัพ" รวมไปถึงรายการระดับสมัครเล่นอื่นๆที่มีการจัดการแข่งขันในย่าน บึงกุ่ม-บางกะปิ ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในระดับ ถ้วยพระราชทาน ง เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 และเปลี่ยนชื่อเป็น "สโมสรฟุตบอลบางเตย-สุวรรณน้อย"

บางเตย-สุวรรณน้อย ลงสนามในนัดอย่างเป็นทางการนัดแรกพบกับ ราชนาวีสโมสร (ชุด "ถ้วย ง") ในการแข่งขันฟุตบอล ถ้วยพระราชทาน ง พ.ศ. 2531 โดยในนัดนั้น เสมอกันไป 1-1 และ มนตรี สุวรรณน้อย ในวัย 32 ปี เป็นผู้ยิงประตูแรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้สำเร็จ ก่อนที่ทีมจะทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องจนได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ค ในทันทีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแรก โดยผู้เล่นของทีมที่พอจะเป็นที่รู้จักในเวลานั้นคือ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ที่สามารถก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยชุดเยาวชนเป็นคนแรกของสโมสรได้สำเร็จ

ฤดูกาลต่อมา ใน ถ้วยพระราชทาน ค ทีมก็ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องและจบฤดูกาลด้วยสิทธ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ข นับเป็นการเลื่อนชั้น 2 ปีซ้อน โดยในปีต่อมา ทีมเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สโมสรฟุตบอลสินธนา" และใช้เวลาสร้างทีมอยู่ใน "ถ้วย ข" เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ก ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทยในเวลานั้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2536

พ.ศ. 2536-2539

[แก้]

ตั้งแต่ สโมสรสินธนา สามารถก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับสูงสุดได้สำเร็จ ทีมก็พัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาเพื่อเป้าหมายในการคว้าแชมป์ประเทศไทย หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการวางรากฐานระบบทีมเยาวชนของทีม (ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ระดับ ถ้วย ข) เนื่องจาก สินธนา ไม่ใช่ทีมขนาดใหญ่ที่มีเงินจำนวนมากในการทุ่มซื้อและจ่ายค่าเหนื่อยให้กับผู้เล่นระดับแนวหน้า ทีมจึงยึดแนวคิดระบบ "อคาเดมี่" เพื่อสร้างนักเตะของตัวเองขึ้นมาจากระดับเยาวชน (ซึ่งนับเป็นสโมสรแรกๆของเมืองไทยที่มีการสร้างระบบอคาเดมี่ของตัวเอง) โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น สโมสรใช้วิธีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับโรงเรียนมัธยมหลายแห่งเพื่อเป็นฐานในการค้นหานักฟุตบอลอายุน้อย และดึงตัวมาร่วมทีมเพื่อให้เล่นร่วมกันตั้งแต่เด็กๆ ก่อนที่ภายหลัง แนวคิดนี้จะก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างงดงามกับสโมสร

พ.ศ. 2539 ฟุตบอลไทยเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ด้วยการจัดตั้ง ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก (จอห์นนีวอล์กเกอร์ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก) {ไทยลีก ในปัจจุบัน} ขึ้นเพื่อเปลี่ยนการแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทยให้เป็นระบบลีกแทนที่ ถ้วยพระราชทาน ก ส่วน "ถ้วย ก" ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันมาเป็นแบบ "แชมป์ชนแชมป์" คือนำเอาแชมป์ "ไทยลีก" มาแข่งขันชิงดำนัดเดียว กับแชมป์ เอฟเอคัพ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ถ้วยใบเก่าแก่ที่สุดขอประเทศไทยอย่าง ถ้วย ก ต้องด้อยคุณค่าลงไป แต่ถึงอย่างนั้น แชมป์ ถ้วยพระราชทาน ก ก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นแชมป์ประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกนับตั้งแต่นั้นมา โดย สินธนา ก็ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก ด้วย และจบฤดูกาลแรกด้วยอันดับที่ 6

ยุครุ่งเรือง

[แก้]

1 ปีหลังจากการก่อตั้งฟุตบอลลีกของไทย ยุครุ่งเรืองของ สินธนา ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อนักเตะเยาวชนของสโมสรอย่าง เศกสรรค์ ปิตุรัตน์, นิเวส ศิริวงศ์, กิตติศักดิ์ ระวังป่า, ธนัญชัย บริบาล, วิรัช วังจันทร์, ธงชัย อัครพงษ์, ศัตรูพ่าย ศรีณรงค์, สันติ ไชยเผือก, ยุทธพงษ์ บุญอำพร และ ภานุพงศ์ ฉิมผูก แข็งแกร่งพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมร่วมกับนักเตะรุ่นพี่อย่าง สุรชัย จิระศิริโชติ, ประจักษ์ เวียงสงค์, พนิพล เกิดแย้ม และกัปตันทีมอย่าง อนัน พันแสน สินธนา จึงสามารถคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ ในปี พ.ศ. 2540 เป็นแชมป์แรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้สำเร็จ และต่อด้วยการคว้าแชมป์ ถ้วยพระราชทาน ก ตามมาติดๆในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สโมสรพลาดโอกาสที่จะคว้าทริปเปิลแชมป์เป็นทีมแรกของประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อพลาดท่าแพ้ให้กับ สโมสรธนาคารกรุงเทพ ในนัดสุดท้ายของ ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก จึงทำให้ถูก สโมสรทหารอากาศ แซงหน้า ได้เพียงแค่รองแชมป์เท่านั้น ทั้งที่เพียงแค่เสมอก็จะคว้าแชมป์ทันที

ในปีต่อมา พ.ศ. 2541 สินธนา ได้สิทธิ์ลงแข่งขันในฟุตบอลระดับทวีปเอเชียเป็นครั้งแรกในรายการ เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ (ปัจจุบันรายการนี้ได้ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก แล้ว) ในฐานะแชมป์ เอฟเอคัพ ของไทย โดยทีมตกรอบสองจากการพบกับ คะชิมะ แอนต์เลอร์ส ยอดทีมจากญี่ปุ่น ส่วนผลงานในลีก (ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น "พรีเมียร์ลีก" {คาลเท็กซ์พรีเมียร์ลีก}) ก็ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อทีมสามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จในฤดูกาลที่ต้องขับเขี้ยวกันจนถึงวินาทีสุดท้าย โดย สินธนา ทำแต้มแซงหน้า ทหารอากาศ ขึ้นคว้าแชมป์ จากประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บนาทีที่ 92 ของ เศกสรรค์ ปิตุรัตน์ ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลกับ สโมสรบีอีซี เทโรศาสน หลังจบเกมในวันนั้น มนตรี สุวรรณน้อย ผู้ก่อตั้งทีมซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสโมสรในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยความดีใจว่า ความฝันของเขาที่ต้องการจะเป็นแชมป์ประเทศไทยตั้งแต่ในวันที่ก่อตั้งทีมขึ้นมาได้กลายเป็นความจริงแล้ว นอกจากนั้น ทีมยังสามารถป้องกันแชมป์ ถ้วย ก เอาไว้ได้อีกสมัยในปีเดียวกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ สินธนา รุ่งเรืองสุดขีด

หลังจากคว้าแชมป์ประเทศไทยได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของ สโมสรสินธนา คือการพิสูจน์ตัวเองในการแข่งขันระดับที่สูงกว่าอย่างทวีปเอเชีย หลังทำได้เพียงตกรอบสอง คัพวินเนอร์คัพ ในปีที่แล้ว ทำให้ในปีต่อมา พ.ศ. 2542 สโมสรมุ่งเน้นเป็นอย่างมากที่จะทำผลงานให้ดีในการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดของเอเชียอย่าง เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ (เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก ในปัจจุบัน) ที่ สินธนา ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะแชมป์ พรีเมียร์ลีก ของไทย โดยทีมสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ของเอเชียในปีนั้น

พ.ศ. 2543-2547

[แก้]

พิษจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศไทยช่วงต้นยุค 40 เริ่มส่งผลกระทบกับ สโมสรสินธนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยหลังจากการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ของเอเชียสิ้นสุดลง สโมสรต้องยอมปล่อยผู้เล่นตัวหลักออกจากทีมหลายรายในปีต่อมาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของทีม อย่างไรก็ตาม นักเตะเยาวชนชุดใหม่ที่ถูกดันขึ้นมาทดแทนก็ยังมีดีพอที่จะนำทีมเข้าชิงชนะเลิศในฟุตบอลถ้วยเล็กอย่าง ควีนส์คัพ ได้อีก 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2543 และ 2545 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยทำได้ 1 ครั้งในปี พ.ศ. 2539 โดยทั้ง 3 ครั้งนั้น สินธนา พลาดท่าทำได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ทั้งหมด ส่วนผลงานในลีกในช่วงหลายปีนี้ นับเป็นช่วงที่ทีมขาดความคงเส้นคงวา โดยทำผลงานอยู่ในกลุ่มกลางตารางสลับกับต้องหนีตกชั้นในบางฤดูกาล จนกระทั่งมาถึงฤดูกาล 2546/47 สโมสรสินธนาประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยอันดับสุดท้ายของตาราง และต้องตกชั้นลงไปเล่นในระดับ ดิวิชัน 1 เป็นครั้งแรกในปีนั้น

ยุค จุฬาฯ-สินธนา, จุฬาฯ ยูไนเต็ด และ บีบีซียู

[แก้]

หลังจากที่ สินธนา ตกชั้นจากลีกสูงสุดในปี พ.ศ. 2547 สโมสรก็ได้ปล่อยผู้เล่นชุดใหญ่ออกจากทีมไปแบบยกชุด และเตรียมที่จะใช้นักฟุตบอลเยาวชนลงแข่งขันในฟุตบอล ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2547/48 เนื่องจากสโมสรจำเป็นต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำทีม แต่ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสโมสร ทีมจึงมีการปรับเปลี่ยนให้ทีมงานของ จุฬาฯ เข้ามาช่วยในการบริหารทีม และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น "สโมสรฟุตบอลจุฬาฯ-สินธนา" อย่างไรก็ตาม ทีมต้องพบกับผลการแข่งขันที่ล้มเหลวและตกชั้นลงสู่ ดิวิชัน 2 (ต่อมาได้พัฒนาเป็น ไทยลีก 4 ในปัจจุบัน) เมื่อจบฤดูกาล

ในปีต่อมา พ.ศ. 2549 จุฬาฯ-สินธนา ได้สร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยมีเป้าหมายเพื่อกลับไปเล่นในลีกสูงสุดของเมืองไทยให้ได้ใน 2 ฤดูกาล โดยทีมสามารถคว้าแชมป์ ดิวิชัน 2 ในปีนั้น (ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดการแข่งขัน) ได้สำเร็จ พร้อมกับได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาเล่นใน ดิวิชัน 1 อีกครั้งในปีต่อมา และจากผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของทีมชุดใหม่ที่มีนักเตะอย่าง กิตติพล ปาภูงา, วุฒิชัย ทาทอง และ ปิยะชาติ ถามะพันธ์ เป็นแกนหลัก สโมสรก็สามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์ ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2550 และได้เลื่อนชั้นกลับขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จตามเป้าหมาย

พ.ศ. 2551 สโมสรได้จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น "สโมสรฟุตบอลจุฬาฯ ยูไนเต็ด" โดยทีมได้ลงเล่นอยู่ใน ไทยพรีเมียร์ลีก 2 ปี ก็ต้องตกชั้นสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 อีกครั้ง

ในฤดูกาล 2554 ทีมได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สโมสรฟุตบอลบีบีซียู" และสามารถคว้าอันดับ 3 ฟุตบอล ไทยลีกดิวิชัน 1 พร้อมกับได้สิทธิ์เลื่อนชั้นกลับขึ้นสู่ ไทยพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2555

ชื่อทีมและตราสโมสรจากอดีตถึงปัจจุบัน

[แก้]

หมายเหตุ

  • ตราสโมสรสินธนา เดิมนั้นระบุปีที่ก่อตั้งเอาไว้เป็น ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) แต่หลังจากที่มีการสำรวจประวัติการก่อตั้งสโมสรใหม่ พบว่ามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสโมสรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นถึง 11 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2519 โดยปี ค.ศ. 1987 นั้นเป็นเพียงปีที่สโมสรกำลังเตรียมทีมเพื่อส่งเข้าแข่งขัน ถ้วยพระราชทาน ง ฤดูกาลแรกเท่านั้น
  • สโมสรเปลี่ยนชื่อทีมจาก จุฬาฯ-สินธนา เป็น จุฬาฯ ยูไนเต็ด ระหว่างการแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2551 แต่เปลี่ยนเพียงแค่ชื่อ ยังคงใช้ตราสโมสรรูปพระเกี้ยวตามเดิมจนจบฤดูกาลจึงเปลี่ยนเป็นแบบใหม่

อดีตผู้เล่นของทีม

[แก้]

หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ

เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
1 GK ไทย พชรพล ถนอมเกียรติกร
2 DF ไทย วรเนตร ต่อเนื่อง
3 DF ไทย บุญฤทธิ์ ปฐมทัศน์
5 DF ไทย ปวริศร์ แสนสุข
6 MF ไทย วิษณุศักดิ์ อุ่นน้อย
7 FW ไทย แช้ด แอฬอน ชัยบุตร
8 MF ไทย ณกุณฑ์ ปิ่นทอง (กัปตันทีม)
9 FW เกาหลีใต้ วู กึน-ยอง
10 MF ไทย อภิศร ภูมิชาติ
11 DF ไทย มงคล วรพรม
12 MF ไทย เนติพงษ์ นาคฉิม
13 MF ไทย นเรศ ฤทธิ์พิทักษ์วงศ์
14 MF ไทย ภูมเรศ กลัดกลีบ
16 DF ไทย ไมตรี กุหลาบขาว
17 MF ไทย เกียรติศักดิ์ เจียมอุดม
เลข ตำแหน่ง สัญชาติ ผู้เล่น
18 GK ไทย พรชัย จันทร์อินทร์
21 MF ไทย วัชระ แก้วละมุล
22 GK ไทย ศรายุทธ พูลทรัพย์
23 DF เกาหลีใต้ มา ซัง-ฮุน
24 GK ไทย วัชระ บัวทอง (ยืมตัวจาก การท่าเรือ)
25 MF ไทย อนุวัฒน์ พรมโยธา
26 DF ไทย ปิยะวิทย์ จันพุทธ
27 FW ไนจีเรีย จูเลียส โออิโบห์
28 MF ไทย นรากร คณา
30 DF แคเมอรูน ดูห์ มูโกโก
32 GK ไทย ธีรพงศ์ พุทธสุขา
34 FW ไทย อัครวินทร์ สวัสดี
37 MF ไทย อนิวัต ศรีอ่อน
39 DF ไทย ชัยวัฒน์ กลิ่นเพ็ง
40 MF โกตดิวัวร์ ดีอาร์รา อาลี

อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอน

[แก้]
ชื่อ สัญชาติ ช่วงปี เกียรติประวัติ
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ไทย 2551
ธงชัย สุขโกกี ไทย 2551–2552
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ไทย 2554–2555 อันดับที่ 3 ไทยลีก ดิวิชัน 1
โชเซ อัลเวส บอร์จีส บราซิล 2556
วรชัย สุรินทร์ศิริรัฐ ไทย 2556–2558
สึโยชิ ทากาโนะ ญี่ปุ่น 2558–2559
โคอิจิ ซูงิยามะ ญี่ปุ่น 2559
จตุพร ประมลบาล ไทย 2559
ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก ไทย 2560
วรชัย สุรินทร์ศิริรัฐ (รักษาการ) ไทย 2560

อดีตทีมงานประจำสโมสร

[แก้]

ผลงานตามฤดูกาล

[แก้]

ยุคสมัครเล่น (พ.ศ. 2519-2530)

[แก้]

นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง ทีมฟุตบอลบางเตย (บีบีซียู) ขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพื่อลงแข่งขันรายการ "บางกะปิ คัพ" ทีมใช้เวลากว่าสิบปีลงแข่งขันในรายการระดับสมัครเล่นต่างๆ ก่อนจะส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นฤดูกาลแรกใน ถ้วยพระราชทาน ง ฤดูกาล 2531

ยุคฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (ฤดูกาล 2531-2538)

[แก้]
ฤดูกาล รายการที่ลงแข่งขัน ระดับ ผลงาน หมายเหตุ
2531 ถ้วยพระราชทาน ง 4 อันดับ 3 (ร่วม) - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ค ฤดูกาล 2532
2532 ถ้วยพระราชทาน ค 3 รอบก่อนรองชนะเลศ - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ข ฤดูกาล 2533
2533 ถ้วยพระราชทาน ข 2
2534
2535 อันดับ 3 (ร่วม) - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ถ้วยพระราชทาน ก ฤดูกาล 2536
2536 ถ้วยพระราชทาน ก 1 รอบแบ่งกลุ่ม
2537
2538 อันดับ 3 (ร่วม) - เป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ ถ้วยพระราชทาน ก จัดการแข่งขันในฐานะฟุตบอลระดับสูงสุดของเมืองไทย

ยุคฟุตบอลลีก (ฤดูกาล 2539-ปัจจุบัน)

[แก้]
ฤดูกาล รายการที่ลงแข่งขัน ระดับ ผลงาน หมายเหตุ
2539 (จอห์นนีวอล์กเกอร์)
ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก
1 อันดับ 6 - ประเทศไทยจัดการแข่งขันระบบลีกขึ้นเป็นครั้งแรก
- สโมสรได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ควีนส์คัพ
2540 รองชนะเลิศ - ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน ก
- ชนะเลิศ เอฟเอคัพ (ได้สิทธ์ลงแข่งขัน เอเชียนคัพวินเนอร์คัพ ฤดูกาล 1998/99 (ค.ศ.))
2541 (คาลเท็กซ์)
พรีเมียร์ลีก
ชนะเลิศ - ได้สิทธ์ลงแข่งขัน เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ ฤดูกาล 1999/2000 (ค.ศ.) [ในฐานะแชมป์ลีก]
- ชนะเลิศ ถ้วยพระราชทาน ก
2542 อันดับ 7
2543 อันดับ 11 - เพล์ออฟหนีตกชั้นกับ สโมสรกรุงเทพคริสเตียน และชนะด้วยสกอร์รวม 2 นัด 3-2 ประตู
- รองชนะเลิศ ควีนส์คัพ
2544/45 (จีเอสเอ็ม)
ไทยลีก
อันดับ 5
2545/46 อันดับ 7 - รองชนะเลิศ ควีนส์คัพ
2546/47 อันดับ 10 - ตกชั้นลงสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2548
2548 ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 2 อันดับ 12 - ตกชั้นลงสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 2 ฤดูกาล 2549
2549 ไทยแลนด์ดิวิชัน 2 3 ชนะเลิศ - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2550
2550 ไทยแลนด์ดิวิชัน 1 2 รองชนะเลิศ - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2551
2551 ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 1 อันดับ 8
2552 ไทยพรีเมียร์ลีก อันดับ 15 - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2553
2553 ไทยลีกดิวิชัน 1 2 อันดับ 10
2554 อันดับ 3 - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2555
2555 (สปอนเซอร์)
ไทยพรีเมียร์ลีก
1 อันดับ 17 - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีกดิวิชัน 1 ฤดูกาล 2556
2556 ไทยลีกดิวิชัน 1 2 อันดับ 11
2557 อันดับ 9
2558 อันดับ 4 - เลื่อนชั้นขึ้นสู่ ไทยลีก ฤดูกาล 2559
2559 (โตโยต้า)
ไทยลีก
1 อันดับ 18 - ตกชั้นลงสู่ ไทยลีก 2 ฤดูกาล 2560

หมายเหตุ

เกียรติประวัติ

[แก้]

ฟุตบอลลีก

[แก้]
  • ไทยลีก (ไทยพรีเมียร์ลีก เดิม)
    • ชนะเลิศ : 2541
    • รองชนะเลิศ : 2540
  • ไทยลีก 2 (ดิวิชัน 1 เดิม)
    • รองชนะเลิศ : 2550
    • อันดับ 3 : 2554

ฟุตบอลถ้วย

[แก้]


ผลงานในระดับทวีปเอเชีย

(แสดงผลเป็นปี ค.ศ.)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ส.บอลแจงอันดับลีกยึดผลล่าสุด จับสลากหาสิทธิ์บอลถ้วย". Goal Thailand. 14 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]