หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร | |
---|---|
![]() หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร | |
ดำรงตำแหน่ง | 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491 |
หม่อม | หม่อมทิพ กฤดากร ณ อยุธยา หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา |
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์อำนวยพร กฤดากร หม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี ประดิษฐพงศ์ หม่อมราชวงศ์อนุพร กฤดากร |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ |
พระมารดา | หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา |
ประสูติ | 10 เมษายน พ.ศ. 2426 |
ชีพิตักษัย | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514 (88 ปี) |
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (10 เมษายน พ.ศ. 2426 — 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514) พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ประสูติแต่ หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา ทรงได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่
หม่อมเจ้าสิทธิพร เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่กรุงลอนดอน เริ่มรับราชการที่กระทรวงพระคลัง เมื่อ พ.ศ. 2444 ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกษาปณ์ และอธิบดีกรมฝิ่น
ทรงมีหม่อมท่านหนึ่งคือ หม่อมทิพ หรือ หม่อมคำทิพย์ ในปี พ.ศ. 2447 มีบุตรชายหนึ่งคนคือ หม่อมราชวงศ์อำนวยพร แต่หม่อมทิพก็ถึงแก่กรรมในเวลาไม่นาน[1] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอเจ้าศรีพรหมาให้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ในปี พ.ศ. 2459 มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์อนุพร และหม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี
เมื่อ พ.ศ. 2464 ทรงลาออกจากราชการ เพื่อทรงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ณ บ้านบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้าสิทธิพร ได้ทรงบุกเบิกการเกษตรแผนใหม่ ณ ฟาร์มบางเบิด ทรงริเริ่มนำรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรก ทรงเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น สายพันธุ์ไข่ดก เป็นครั้งแรกที่บางเบิด ทรงสั่งพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลูกจำหน่ายรู้จักกันทั่วไปในชื่อ แตงโมบางเบิด[2]
หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงริเริ่มทดลองปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย ซึ่งบ่มด้วยความร้อนจนเป็นผลสำเร็จ ณ สถานีทดลองเกษตรแม่โจ้ ซึ่งต่อมากลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรทางภาคเหนือ
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมก่อการกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระเชษฐา ในกบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คุมขังที่เรือนจำบางขวาง แล้วย้ายไปคุมขังที่ทัณฑนิคม เกาะตะรุเตา ก่อนย้ายมาเกาะเต่า ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2487
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2491 ในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการข้าวระหว่างชาติ ในการประชุมเมื่อปี พ.ศ. 2492, 2493 และ 2495 ได้รับรางวัลแมกไซไซ ด้านบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2510
นอกจากนี้แล้ว ยังเคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย ในตำแหน่งกองหน้า เมื่อปี พ.ศ. 2458 ซึ่งถือว่าเป็นทีมชาติไทยชุดแรกด้วย[3]
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2514
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2502 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 4 (อ.ป.ร.4)
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ -
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 4 (ป.ป.ร.4)
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร. เรียกดูเมื่อ 31 สิงหาคม 2556
- ↑ ย้อนตำนานแตงโมบางเบิด
- ↑ รายชื่อนักฟุตบอล จากมูลนิธินักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า (ในโอกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๒)
|
|
|
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2426
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2514
- หม่อมเจ้าชาย
- ราชสกุลกฤดากร
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคสัมมาชีพ-ช่วยชาวนา
- บุคคลจากโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ
- นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- นักโทษของประเทศไทย
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์