ข้ามไปเนื้อหา

สาหร่ายมาริโมะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาริโมะ
マリモ
สาหร่ายมาริโมะในทะเลสาบอากัง ประเทศญี่ปุ่น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
หมวด: Chlorophyta
Chlorophyta
ชั้น: Ulvophyceae
Ulvophyceae
อันดับ: Cladophorales
Cladophorales
วงศ์: Pithophoraceae
Pithophoraceae
Kützing
สกุล: Aegagropila
Aegagropila
Kützing
สปีชีส์: Aegagropila linnaei
ชื่อทวินาม
Aegagropila linnaei
Kützing
ชื่อพ้อง
  • Cladophora aegagropila (L.) Rabenhorst

สาหร่ายมาริโมะ (อังกฤษ: Marimo; ญี่ปุ่น: マリモ, 毬藻 ความหมาย พืชน้ำที่มีลักษณะเป็นก้อนกลม; ชื่อวิทยาศาสตร์: Aegagropila linnaei หรือ Cladophora aegagropila var. linnaei) พืชน้ำชนิดหนึ่ง จำพวกสาหร่าย นับเป็นสาหร่ายประเภทเดียวกับสาหร่ายสีเขียว หรือสาหร่ายน้ำจืดประเภทที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำของประเทศไทย เช่น สาหร่ายไก ที่เป็นเส้นยาว และนิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร

ลักษณะและถิ่นที่อยู่อาศัย

[แก้]

สาหร่ายมาริโมะ เป็นสาหร่ายที่มีลักษณะพิเศษเห็นได้ชัดเจน คือ จับตัวกันเป็นก้อนกลม ๆ คล้ายลูกบอลที่มีขนปุยคล้ายกำมะหยี่สีเขียว ซึ่งลักษณะของเส้นขนนั้นเมื่อนำมาส่องโดยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงจะเห็นมีการแตกแขนงทางด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง โดยประกอบด้วยเซลล์รูปทรงกระบอกเรียงต่อกัน เซลล์จะมีผนังสามชั้น มีคลอโรพลาสต์แบบร่างแหกระจายอยู่ทั่วเซลล์

สาหร่ายมาริโมะ เป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้ในทะเลสาบอากัง ในจังหวัดฮกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และพบได้ในทะเลสาบมิวัทน์ ประเทศไอซ์แลนด์ โดยจะพบได้ในน้ำระดับความลึกประมาณ 2–2.5 เมตร และเป็นบริเวณที่มีแสงแดดส่องผ่านมาค่อนข้างน้อย โดยรูปทรงกลมของสาหร่ายมาริโมะนั้นเกิดจากการพัดพาของกระแสน้ำภายในทะเลสาบจึงทำให้มีรูปทรงกลม โดยขนาดที่พบในธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 20–30 เซนติเมตร โดยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ามาก เฉลี่ยปีละเพียง 0.5–1 เซนติเมตรต่อปีเท่านั้น มีการขยายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์ หรือการแบ่งตัวอย่างช้า ๆ เป็นก้อนเล็ก ๆ [1]

ความนิยม

[แก้]

สาหร่ายมาริโมะ ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในการเลี้ยงเป็นพืชไม้น้ำในตู้เลี้ยงปลา โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า เมื่อพกติดตัวหรือมีไว้ในครอบครองจะนำมาซึ่งโชคลาภ จนกลายเป็นสินค้าที่ขายดีในท้องถิ่น เช่น จังหวัดฮกไกโด เสมือนเป็นของฝากประจำจังหวัด โดยในปัจจุบันได้มีการผลิตสาหร่ายมาริโมะบรรจุไว้ในภาชนะต่าง ๆ คล้ายของขวัญเพื่อการจำหน่ายอีกด้วย เช่น ขวดโหลแก้วใบเล็ก ๆ รูปทรงต่าง ๆ หรือมีรูปพรรณคล้ายพวงกุญแจก็มี แม้ปัจจุบันทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้สาหร่ายมาริโมะเป็นสาหร่ายชนิดหนึ่งใน 150 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ของญี่ปุ่น ห้ามมีไว้ในครอบครองเว้นแต่เป็นไปเพื่อการศึกษา เนื่องจากการนำขึ้นมาขายจากทะเลสาบทำให้จำนวนของสาหร่ายลดลง ซึ่งกระแสความนิยมนี้ได้แพร่มาถึงประเทศไทยด้วย ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 โดยเป็นกระแสนิยมในอินเทอร์เน็ต ผ่านทางเน็ตไอดอล เช่น สกลรัตน์ วรอุไร หรือ โฟร์ วงโฟร์-มด ที่ได้โพสต์ภาพสาหร่ายมาริโมะของตนลงอินสตาแกรม และต่อมาได้เปิดเผยว่า เลี้ยงสาหร่ายมาริโมะผ่านทางรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่ได้รับความนิยม จึงเป็นกลายเป็นกระแสโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่นิยมมอบให้แก่กันในโอกาสต่าง ๆ มีราคาขายตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น[2] สาหร่ายที่จำหน่ายเกิดจากการเพาะขยายพันธุ์เองโดยผู้นำเข้าหรือผู้ขาย ซึ่งในปัจจุบันยังมีการพัฒนาไปถึงขั้นมีการสร้างแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เป็นเรื่องการเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะในโลกเสมือนจริงอีกด้วย [1]

ภาพจำลองสาหร่ายมาริโมะในทะเลสาบมิวัทน์
สาหร่ายมาริโมะปล่อยฟองอากาศ

การเลี้ยงดู

[แก้]

การเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะนั้น มีการเลี้ยงกันอย่างยาวนานแล้วสำหรับวงการไม้น้ำ หรือผู้ที่นิยมการเลี้ยงปลาขนาดเล็กในตู้ไม้น้ำ โดยเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น "มอสบอล" (Moss ball), "เลคบอล" (Lake ball) หรือ "คลาโดโฟราบอล" (Cladophora ball) เป็นต้น การเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะในตู้เลี้ยงปลานั้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นสาหร่ายที่จะเจริญเติบโตได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ คือ ประมาณ 15–29 องศาเซลเซียส และค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) ประมาณ 6–8.5 หากอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส จะทำให้สาหร่ายมาริโมะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลืองและตายได้ในที่สุด อีกทั้งยังต้องให้อาหาร ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยน้ำ สำหรับการเลี้ยงไม้น้ำทั่วไป และต้องเลี้ยงในสถานที่ที่มีแสงสว่างไม่มากนัก เพราะสาหร่ายมาริโมะในธรรมชาติอาศัยอยู่ในระดับความลึกที่แสงส่องผ่านไปไม่ถึง อีกทั้งยังต้องการคาร์บอนอีกด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงสามารถให้คาร์บอนได้ ด้วยการนำไปแช่ในน้ำเปล่าผสมโซดาในอัตราโซดา 2 ใน 3 ส่วนของภาชนะ แล้วที่เหลือใส่น้ำเปล่าลงไปผสม เป็นเวลา 2–3 ชั่วโมง ประมาณ 1–2 สัปดาห์ต่อครั้ง และยังต้องทำความสะอาดสาหร่ายมาริโมะด้วยเพื่อรักษาความสะอาด อีกทั้งน้ำที่เลี้ยงควรจะผสมเกลือลงไป ในอัตราเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 0.5 ลิตร เพื่อให้มีรสเค็ม เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สาหร่ายมาริโมะอาศัยอยู่มีแร่ธาตุอาหารมากมายจากน้ำพุร้อน จึงทำให้น้ำมีรสเค็ม สาหร่ายมาริโมะยังไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาหรือสัตว์น้ำที่ทำลายไม้น้ำ เช่น ปลาทองหรือปลาหางนกยูง เป็นต้น

ซึ่งหากเลี้ยงสาหร่ายมาริโมะได้อย่างถูกต้องแล้ว สาหร่ายมาริโมะจะปล่อยฟองอากาศซึ่งเป็นออกซิเจนออกมาเกาะตามตัวหรือลอยขึ้นไปบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการสังเคราะห์แสง และมีอายุยืนนานได้มากกว่า 100 ปี แต่สาหร่ายมาริโมะในสถานที่เลี้ยงจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการแบ่งสปอร์ เนื่องจากสภาวะอันแตกต่างจากในธรรมชาติ คงได้แต่การแตกตัวเป็นก้อนเล็ก ๆ ซึ่งผู้เลี้ยงไม่ควรดึงให้แยกตัวกันเอง เพราะเสี่ยงมากต่อการตาย[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 วิทวัส แก้วดี (มีนาคม 2014). "มาริโมะ" เจ้าสาหร่ายขนปุย. ใน "Aqua Update". นิตยสาร Aquarium Biz. ปีที่ 4 ฉบับที่ 45 หน้า 66–73. ISSN 1906-9243.
  2. ""สาหร่ายมาริโมะ" ของเล่นตัวใหม่จากแดนปลาดิบ ตอบโจทย์ใครมาก่อนรวยก่อน". ผู้จัดการออนไลน์. J-Study Center. 7 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Aegagropila linnaei ที่วิกิสปีชีส์