สารไทย
สารไทย | |
---|---|
ไฟล์:Santhai Logo.jpg สารไทยภาคแรก | |
ผู้พัฒนา | ฮาร์ดเวิร์คเกอร์สตูดิโอ |
ผู้จัดจำหน่าย | ฮาร์ดเวิร์คเกอร์สตูดิโอ |
แต่งเพลง | Tanagorn Wungkean |
ชุด |
|
เอนจิน |
|
เครื่องเล่น | วินโดวส์, แอนดรอยด์, ไอโอเอส |
วางจำหน่าย |
|
แนว | 2D RPG |
รูปแบบ | ระบบเล่นคนเดียว |
สารไทย (อังกฤษ: Santhai) เป็นชุดวิดีโอเกมประเภทอาร์พีจี แบบ 2 มิติ สารไทยผลิตและพัฒนาโดยฮาร์ดเวิร์คเกอร์สตูดิโอ สารไทยเป็นเกมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และลักษณะของความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี โดยเกมจะดำเนินไปด้วยตัวละครหลักที่ผู้เล่นควบคุมจนมีการเจริญเติบโตและการพัฒนาทักษะไปตามระยะเวลา ซึ่งสารไทยเป็นเกมที่มีลักษณะคล้ายกับเกมเมเปิลสตอรีและโกสต์ออนไลน์[1]
ประวัติ
[แก้]ภาคแรก
[แก้]เกมสารไทยภาคแรก ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ในการประกวดในการแข่งขันโครงการสร้างเกม สร้างคน สร้างงาน (TK Park-Acer VR Game & PC Game Challenge 2006) จัดขึ้นโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับ บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด และบริษัท อิเมจิแมกซ์ จำกัด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 ซึ่งมีจุดประสงค์ในการเผยแพร่และรณรงค์ศิลปวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วยหัวข้อการประกวดหลายหัวข้อด้วยกัน ซึ่งเกมสารไทยนั้นชนะเลิศในหัวข้อ อยู่อย่างไทย พัฒนาโดย อุทัย บูรณศักดิ์ศรี และ ราชันย์ เนียมประเสริฐ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับรางวัลเป็นเงินสด 100,000 บาท และคอมพิวเตอร์แบบพกพาจากเอเซอร์[2] รุ่น Aspire 5595WXMi จำนวน 1 เครื่อง พร้อมด้วยซอฟต์แวร์โปรแกรมมายา จำนวน 1 ชุด[3]
เกมสารไทยภาคแรกนั้นเริ่มต้นจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมสัมมนาของสถาบันอุทยานการเรียนรู้และเกิดความสนใจในการถ่ายทอดความเป็นอยู่และวิถีชีวิต รวมไปถึงประเพณี วัฒนธรรม การสื่อสารของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมานำเสนอซึ่งเป็นภาคที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณไว้ให้คงอยู่ในปัจจุบัน มาประมวลรวมกันจนได้ชื่อว่า สารไทย หมายถึง ข้อมูลของความเป็นไทย โดยออกแบบเกมในลักษณะของภาพ 2 มิติ Side-Scrolling ตัวการ์ตูนที่มีความสดใส สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย[2] พัฒนาตัวเกมโดยโปรแกรมอะโดบี แฟลช[4] ซึ่งจุดเด่นของเกมสารไทยขณะนั้นคือความหลากหลายของกิจกรรมภายในเกมที่สอดแทรกความรู้ลงไปด้วย ซึ่งเวลานั้นมีแนวความคิดว่าอยากจะสร้างเกมในรูปแบบอื่น ๆ ที่ครอบคลุมเนื้อหาวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วย เช่น ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้[2]
ภาคที่สอง
[แก้]เกมสารไทยภาคที่สอง ได้ถูกพัฒนาขึ้นและส่งประกวดเช่นกัน ในการประกวดเกมส์และสื่อสร้างสรรค์ในระดับสากล ซึ่งมีการมอบรางวัลภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008) เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551 โดยใช้ชื่อในการประกวดว่า Grand Farmer หรือชื่อภาษาไทยคือ สารไทย 2 และได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับอุดมศึกษา รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท ในนามทีม ฮาร์ดเวิร์คเกอร์สตูดิโอ โดยมีสมาชิกเพียงคนเดียวคือ ราชันย์ เนียมประเสริฐ ซึ่งเวลานั้นศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรังสิต โดยตัวเกมจะเป็นรูปแบบการจำลองวิถีชีวิตของคนไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดิม โดยมีการออกแบบระบบต่าง ๆ เพิ่มเติมให้มีความละเอียดมากขึ้น ทั้งภารกิจ การสะสมคะแนนความดีแบบต่าง ๆ การกระทำที่ลดคะแนนความดี ซึ่งคะแนนความดีนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเล่นภายในเกมทั้งสิ้น[5] โดยภาคนี้เป็นเวอร์ชั่น 1.0 ของเกมภาคที่ 2[6]
ต่อมาเกมสารไทย 2 ได้ถูกพัฒนาเพิ่มเติมจากรุ่นก่อนหน้าซึ่งถูกพัฒนาสำหรับการส่งประกวดให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความแฟนตาซีและผจญภัยมากขึ้น ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดไปเล่นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สารไทย 2 ตำนานแห่งป่าสีเขียว[7] โดยรุ่นนี้คือรุ่นหลักที่มีการเปิดให้ดาวน์โหลดไปเล่นได้อย่างเป็นทางการของภาค 2 มีรูปแบบและระบบเกมที่ถือว่าเกินกว่าเกมอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งยังมีบริบทของความเป็นไทยทำให้เป็นที่จดจำของผู้เล่นในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งระบบการปรุงอาหาร คราฟท์ของ การทำภารกิจต่าง ๆ ซึ่งสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไป เช่น การบวชพระ ซึ่งเมื่อเป็นพระจะสามารถโจมตีมอนสเตอร์ที่เป็นผีได้รุนแรงขึ้น และการซื้อขายไอเทม แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ว่าตัวเกมขาดระบบแนะนำการเล่นสำหรับมือใหม่ ทำให้ผู้เล่นต้องทดลองทุกอย่างด้วยตนเอง[8]
ทั้งนี้เกมสารไทย 2 ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเกมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ที่มีโอกาสจัดแสดงในนิทรรศการเกมดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานไทยแลนด์เกมโชว์ 2009 มหกรรมเด็กเล่นเกมครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ด้วยเช่นกัน[9]
ตำนานบทใหม่
[แก้]เกมสารไทย ตำนานบทใหม่ เป็นเกมที่ถูกยกเครื่องด้านการพัฒนาใหม่ทั้งหมด โดยใช้เกมเอนจินยูนิตี ชื่อว่า สารไทย ตำนานบทใหม่ โดยในภาคนี้จะสามารถสร้างบ้านและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของตนเอง สามารถปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และนำผลผลิตต่าง ๆ ขายได้เพื่อนำเงินมาซื้อไอเทมต่าง ๆ ในการเล่นเกม ซึ่งความตั้งใจแรกของผู้พัฒนาต้องการจะทำเป็นรูปแบบ 3 มิติ แต่ด้วยข้อจำกัดและรูปแบบเกมจึงได้พัฒนาออกมาในรูปแบบ 2 มิติ และออกแบบมาสำหรับการเล่นในสมาร์ทโฟนเป็นหลัก เนื้อเรื่องของเกมจะต่อเนื่องจากภาค 2 แต่ผู้พัฒนาไม่ใช้ชื่อเรียกว่าภาค 3[4] เนื่องจากสภาพร่างกายซึ่งได้รับอุบัติเหตุมาจากการโหมพัฒนาภาคใหม่ของสารไทยก่อนหน้านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสจนต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน[10] ทำให้ทุกอย่างเหมือนต้องเริ่มใหม่หมด ซึ่งก่อนหน้านี้เกมเกือบจะสมบูรณ์แล้ว[4]
สารไทย ตำนานบทใหม่ วางจำหน่ายบนกูเกิลเพลย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564[11] บนแอปสโตร์ในเดือนและปีเดียวกัน[12] และเวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลวางจำหนายบนสตีมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565[13]
รายชื่อชุด
[แก้]เกมสารไทยแต่ละชุด มีรายชื่อ ดังนี้
ชุดสารไทยภาคแรก
- สารไทย Santhai Adventure Game
ชุดสารไทยภาคที่สอง
- สารไทย 2 แกรนด์ฟาร์เมอร์ Grand Farmer — เวอร์ชั่นส่งประกวด
- สารไทย 2 ตำนานแห่งป่าสีเขียว Santhai 2 Chronicle of Greenhill — เวอร์ชั่นเผยแพร่อย่างเป็นทางการ
ชุดสารไทย ตำนานบทใหม่
- สารไทย ตำนานบทใหม่ Santhai New Legand
- เวอร์ชั่นสมาร์ทโฟน (แอนดรอยด์, ไอโอเอส)
- เวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลบนสตีม
สายอาชีพ
[แก้]ภาคที่สอง
[แก้]สารไทย 2 ตำนานแห่งป่าสีเขียว ประกอบด้วยอาชีพ ดังนี้
- นักรบ อาชีพพื้นฐาน ได้มาตั้งแต่เริ่มเกม
- นายพราน สามารถเปลี่ยนอาชีพโดยการทำเควสทั้งหมดของพรานหม่อง และใช้ความดีแลกที่พ่อมด
- ชาวนา สามารถเปลี่ยนอาชีพโดยการทำเควสกับลุงทิศ และใช้ความดีแลกที่พ่อมด
- หมอผี สามารถเปลี่ยนอาชีพโดยการทำเควสทั้งหมดกับหมอผี และใช้ความดีแลกที่พ่อมด
- ช่าง สามารถเปลี่ยนอาชีพโดยการทำเควสกับช่างตีดาบ และใช้ความดีแลกที่พ่อมด
ตำนานบทใหม่
[แก้]สารไทย ตำนานบทใหม่ มีอาชีพทั้งหมด 8 อาชีพ ประกอบด้วยอาชีพ ดังนี้[14]
- นักรบ
- นายพราน
- พ่อค้า
- หมอผี
- เกษตรกร
- ชาวประมง
- นักมวย
- เชฟ
ค่าต่าง ๆ ที่สำคัญ
[แก้]ภาคที่สอง
[แก้]- ความดี สัญลักษณ์รูปดาวด้านบน เอาไว้เพื่อใช้แลกเปลี่ยนทักษะบางอย่าง หากค่านี้น้อยกว่า 0 นั้นหมายถึงผู้เล่นมีบาปแล้วจะทำให้ตัวละครอยู่ในสถานะต้องโทษจะมีตัวละครตามล่าผู้เล่น และเมื่อผู้เล่นตายจะถูกส่งไปในดินแดนปริศนาที่ผู้เล่นจะต้องทุบหินแห่งกรรมให้แตก ถึงจะออกมาได้ ยิ่งทำบาปมาก หินแห่งกรรมจะก้อนใหญ่ และทำลายยากไปด้วย
- สุขภาพ หลอดสีเขียว จะบอกถึงสภาพของตัวละครว่าใกล้ตายแล้วหรือยัง ยิ่งแถบสีเขียวเหลือน้อย ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการตาย เมื่อผู้เล่นตายจะถูกส่งมาที่หน้าบ้าน แต่ในกรณีที่ผู้เล่นมีบาป จะถูกส่งไปในที่ดินแดนปริศนา
- พลัง หลอดสีแดง เมื่อผู้เล่นออกแรงหรือใช้สกิลพิเศษ จะทำให้พลังลด เมื่อพลังหมด ตัวละครจะตกอยู่ในสภาวะหมดสติ เคลื่อนไหวไม่ได้ แต่จะนอนนิ่งอยู่เฉยๆ แต่เมื่อผู้เล่นนอนสักพัก ผู้เล่นจะฟื้นขึ้นมาเอง
- ความรัก ความรักนี้ผู้เล่นจะได้ใช้กับ NPC ชื่ออิ๋ววี้ (AewWy) เมื่อผู้เล่นทำเควสกับเธอจบ ผู้เล่นจะได้ตัวละครอิ๋ววี้เดินตามมาช่วยสู้ ยิ่งค่าความรักมาก ตัวละครอิ๋ววี้ก็จะยิ่งเก่ง แต่ค่าความรักจะลดลงทุกวันๆ ผู้เล่นสามารถเพิ่มความรักได้ด้วยการคลิกเมาส์ที่ตัวอิ๋ววี้บ่อยๆ
- เงิน G. คือค่าเงินที่ใช้ซื้อขายของในเกมกับตัวละครอื่นๆ
- EXPbase หลอดสีขาว มุมล่างขวาของหน้าจอ จะคิดเป็น % ความคืบหน้าของการเจริญเติบโตของตัวละคร เมื่อครบ 100% ผู้เล่นจะมีค่า Level เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เมื่อเปิดหน้าต่างสถานะ มีค่าให้คุณเพิ่มคุณสมบัติของตัวละครในแต่ละด้าน
- EXPjob หลอดสีเขียวมุมล่างขวาของหน้าจอ เหมือนกับ EXPbase เมื่อถึงกำหนดผู้เล่นจะมีค่า Job เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เมื่อเปิดหน้าต่างสกิล ผู้เล่นสามารถเพิ่ม level ของทักษะที่ต้องการได้
- FPS มุมล่างซ้ายของหน้าจอ ค่าปกติจะอยู่ที่ 35 - 48 ถือว่าปกติ ยิ่งเลขมากยิ่งเล่นได้ลื่นไม่กระตุก
ตำนานบทใหม่
[แก้]- สถานะ จะได้รับแต้มเมื่อเลเวลเพิ่มขึ้น ครั้งละ 3 แต้ม สามารถเลือกเพิ่มได้ 3 ด้าน คือ[15]
- ความแข็งแรง
- ความว่องไว
- ความรู้
รางวัล
[แก้]- สารไทย รางวัลชนะเลิศ การประกวดในการแข่งขันโครงการสร้างเกม สร้างคน สร้างงาน (TK Park-Acer VR Game & PC Game Challenge 2006)[16][2]
- สารไทย 2 รางวัลชนะเลิศ การประกวดเกมส์และสื่อสร้างสรรค์ในระดับสากล ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 (Thailand Research Expo 2008)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Srikum, Aisoon (2020-07-06). "เปิดตำนานสารไทย เกมคนไทยชื่อดังในอดีตที่หลายคนยังคงรอคอยภาคใหม่". GamingDose.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "ทีเค ปาร์ค เผยโฉมหน้าเด็กเก่งสร้างสรรค์เกมแบบฉบับคนไทย ในโครงการสร้างเกม สร้างคน สร้างงาน". www.sanook.com/campus. 2007-01-24.
- ↑ admin (2007-01-17). "โครงการ "สร้างเกม สร้างคน สร้างงาน" ประกาศผลงานผู้ชนะ". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Zreast (2021-07-09). "คุยกับราชันย์ เนียมประเสริฐ กับเส้นทางสู่ตำนานบทใหม่ของเกม "สารไทย"". GamingDose.
- ↑ 5.0 5.1 "เกมส์เก็บขยะ-วิถีไทยในชนบท ฝีมือ นร.-นศ. คว้ารางวัลสื่อสร้างสรรค์". mgronline.com. 2008-09-13.
- ↑ "Red Army Fanclub - Official Manchester United Supporters Club of Thailand". www.redarmyfc.com.
- ↑ "Santhai 2 – Hardworker Studio". hardworkerstudio.com. สืบค้นเมื่อ 2024-12-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Srikum, Aisoon (2020-07-06). "เปิดตำนานสารไทย เกมคนไทยชื่อดังในอดีตที่หลายคนยังคงรอคอยภาคใหม่". GamingDose.
- ↑ "วธ.ยืนยันความพร้อม "นิทรรศการเกมดี" รัฐมนตรีโชว์ลีลาเล่นเกม Wii Fit". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-07-27.
- ↑ ""หนุ่มปั่นจักรยาน" ลงจากเขายายเที่ยง ล้มคว่ำ หัวฟาดต้นไม้แผลฉกรรจ์ น็อคกลางทาง (มีคลิป)". www.clicknews-tv.net.
- ↑ "สารไทย - แอปพลิเคชันใน Google Play". play.google.com.
- ↑ Zreast (2021-07-16). ""สารไทย" ตำนานเกมดังในอดีต วางจำหน่ายแล้ววันนี้บนมือถือระบบ iOS และ Android". GamingDose.
- ↑ "สารไทย บน Steam". store.steampowered.com.
- ↑ "สารไทย". App Store. 2024-12-06.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "รีวิวเกมสารไทย เกมที่จะมาสานต่อความสนุกในอดีตห้องคอมโรงเรียน | TrueID Creator". intrend.trueid.net. สืบค้นเมื่อ 2024-12-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ทีเค ปาร์ค เผยโฉมหน้าเด็กเก่งสร้างสรรค์เกมแบบฉบับคนไทย[ลิงก์เสีย]