ข้ามไปเนื้อหา

สายสะดือย้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สายสะดือย้อย
(Umbilical cord prolapse)
สายสะดือย้อย ภาพโดยวิลเลียม สเมลลี ค.ศ. 1792
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10O69.0, P02.4
ICD-9663.0, 762.4
DiseasesDB13522
eMedicinemed/3276

สายสะดือย้อย (อังกฤษ: Umbilical cord prolapse) เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์เกิดระหว่างการตั้งครรภ์หรือการเจ็บครรภ์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์จนถึงชีวิตได้ เกิดขึ้นเมื่อสายสะดือยื่นมาต่ำกว่าหรือนำส่วนนำออกของทารก ภาวะนี้พบได้น้อย[1] สถิติของอุบัติการณ์ของสายสะดือย้อยนั้นมีหลากหลาย แต่ในการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าอยู่ระหว่างร้อยละ 0.14 และ 0.62 ของการคลอดทั้งหมด[2]

สายสะดือย้อยมักเกิดร่วมกับการแตกของถุงน้ำคร่ำ หลังจากที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้วทารกจะเคลื่อนต่ำลงในอุ้งเชิงกรานและกดทับสายสะดือ ทำให้เลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกลดลงหรือหายไป และทารกจะต้องคลอดโดยทันที แพทย์บางท่านอาจพยายามลดแรงกดต่อสายสะดือและให้คลอดทางช่องคลอดตามปกติ ซึ่งบ่อยครั้งที่ความพยายามลดแรงกดและให้คลอดทางช่องคลอดล้มเหลวและต้องผ่าท้องทำคลอดฉุกเฉินทันที[3]

เมื่อผู้ป่วยกำลังถูกเตรียมเพื่อผ่าท้องทำคลอดเนื่องจากภาวะนี้ ผู้ป่วยจะถูกจัดให้อยู่ในท่าศีรษะต่ำและใช้หมอนรองก้นให้สูง (ท่า Trendelenburg) หรือท่าเข่า-ศอก (knee-elbow position) [4] และใช้มือดันเข้าไปในช่องคลอดและดันส่วนนำของทารกให้กลับเข้าไปในเชิงกรานเพื่อลดแรงกดต่อสายสะดือ[5] หากการคลอดทารกล้มเหลว ทารกจะขาดอากาศและเลือดมาเลี้ยงและสมองทารกจะถูกทำลายหรือทารกอาจถึงแก่ชีวิตได้

อัตราการเสียชีวิตของทารกในภาวะนี้อยู่ราวร้อยละ 11-17[6] ซึ่งเป็นสถิติที่เก็บในการคลอดในโรงพยาบาลและมีการส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็วในประเทศพัฒนาแล้ว มีรายงานถึงการไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในผู้ป่วย 24 รายที่ได้รับการช่วยเหลือโดยการใส่น้ำเกลือเข้าไป 500 มิลลิลิตรทางสายสวนปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะของมารดาเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะโป่งและดันส่วนนำของทารกให้ลอยสูงขึ้น และช่วยลดแรงกดต่อสายสะดือที่ย้อย

ปัจจัยเสี่ยง

[แก้]

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของภาวะสายสะดือย้อย ได้แก่[7]

  • ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์
  • ภาวะครรภ์มานน้ำ (polyhydramnios) คือมีปริมาณน้ำคร่ำมาก สายสะดือจะถูกกดด้วยแรงดันน้ำ
  • สายสะดือยาวผิดปกติ
  • ท่าทารกผิดปกติ
  • ครรภ์หลัง
  • ครรภ์แฝด

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.emedicine.com/med/topic3276.htm
  2. http://www.uptodate.com/patients/content/topic.do?topicKey=labordel/2191
  3. http://www.ispub.com/ostia/index.php?xmlFilePath=journals/ijgo/vol1n1/cord.xml[ลิงก์เสีย]
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-22. สืบค้นเมื่อ 2009-09-16.
  5. http://books.google.com/books?id=fAf1wCTRRCUC&pg=PA234&lpg=PA234&dq=cord+prolapse+management&source=web&ots=Lgdg1LLvtj&sig=9osvwQy00PHO4PTaBJ6Vn-liUZM&hl=en&sa=X&oi=book_result&resnum=6&ct=result
  6. http://www.gpnotebook.co.uk/simplepage.cfm?ID=1785397303 GP Notebook. Mortality 11-17%.
  7. http://www.uptodate.com/patients/content/topic.do?topicKey=labordel/2191