สาบเสือ
สาบเสือ | |
---|---|
ใบของต้นสาบเสือ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Asterids |
อันดับ: | Asterales |
วงศ์: | Asteraceae |
สกุล: | Chromolaena |
สปีชีส์: | C. odorata |
ชื่อทวินาม | |
Chromolaena odorata (L.) R.M. King & H. Rob | |
ชื่อพ้อง | |
|
สาบเสือ เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป เป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดี สาบเสือเป็นดรรชนีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า สาบเสือ เพราะว่าดอกมีกลิ่นสาบ ไม่มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ทั่วไป มนุษย์โบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นมนุษย์[1]
ชื่ออื่นๆ
[แก้]ชื่อสามัญตามท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น ช้าผักคราด, ไช้ปู่กอ ชิโพกวย - เส้โพกวย - เซโพกวย - เพาะจีแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่อโส่, บ้านร้าง, เบญจมาศผักคราด, ผักคราดบ้านร้าง - ผักคราดบ้านฮ้าง (ราชบุรี), ฝรั่งรุกที่, ฝรั่งเหาะ, พาทั้ง, มนทน (เพชรบูรณ์), มุ้งกระต่าย, ยี่สุ่นเถื่อน (สุราษฎร์), รำเคย (ระนอง), หญ้าค่าพั้ง, หญ้าดงร้าง, หญ้าดอกขาว - หญ้าพระศิริไอยสวรรค์, หญ้าฝรั่งเศส, หญ้าเมืองวาย หญ้าแมงวาย - หญ้าเมืองงาย, หญ้าเมืองฮ้าง - หญ้าเลาฮ้าง, หญ้าลืมเมือง, หญ้าเหม็น, นองสังเปรง[2] - หนองเส้นเปรง, หมาหลง, หญ้าเสือหมอบ, หญ้าครกขาว, อีเทิน[3][4]
ถิ่นกำเนิด
[แก้]สาบเสือ เป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา ระบาดไปทั่วเขตร้อนของโลกทุกทวีป ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลียซึ่งเพิ่งจะพบเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาภายใน 10 ปีที่ผ่านมา[5]
ลักษณะของพืช
[แก้]สาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม[6] ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้น สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบ หยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย 10-35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็น ห้า เหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วน ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม
สรรพคุณ
[แก้]สาบเสือมีสรรพคุณทางยามากมายทั้งจากต้น ใบ ดอก ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
ต้น
[แก้]เป็นยาแก้ ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม ดูดหนอง[7]
ใบ
[แก้]ใบของสาบเสือมีสารสำคัญคือ กรดอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน นอกจากนี้ยังมีสารพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดหดตัว และนอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้[8] ใช้เป็นยารักษาแผลสด สมานแผล ถอนพิษแก้อักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาแผลเปื่อย และแผลจากปลิงดูดเลือดได้[9][10] ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซียใช้ยาต้มที่ใส่ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ[11]
ใบสาบเสือ ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง[12][13]
ดอก
[แก้]เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ แก้ไข้
ทั้งต้น
[แก้]เป็นยาแก้บาดทะยัก และซอยที่แผล
การแพร่กระจาย
[แก้]ขึ้นทั่วไปทั้งในสภาพดินชื้นหรือ แห้ง แพร่กระจายในแหล่งปลูกพืชยืนต้นและที่รกร้าง ว่างเปล่า และตามที่มีแสงแดดมากๆ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด[14]
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน
[แก้]สาบเสือเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน (Alien invasive species) ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศธรรมชาติ และเป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของโลก ตามคู่มือ Global Invasive Species Database (GISD) ที่จัดทำขึ้นโดย IUCN (International Union for Conservation of Nature) เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ดีและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่ง โดยส่วนใหญ่จะขึ้นปกคลุมเป็นพื้นที่กว้างขวาง ทำให้พืชชนิดอื่นขึ้นได้ยาก รวมทั้งพืชเบิกนำ (Pioneer species) ซึ่งส่งผลทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป และมีผลทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกพบได้ทั่วประเทศไทย ระบาดทั่วไปในพื้นที่ราบจนถึงพื้นที่สูงถึง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล[1] เก็บถาวร 2016-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[2][ลิงก์เสีย]
ดูเพิ่ม
[แก้]- สาบแร้งสาบกา สาบเสือมีให้เห็นในรัฐชาน ประเทศพม่า มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า คาพัง มีสรรพคุณห้ามเลือด นำมาตำให้ช้ำแล้วนำไปประคบแผลสดหรือห้ามเลือดกำเดา เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายในรัฐ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สาบเสือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-21. สืบค้นเมื่อ 2021-10-02.
- ↑ สาบเสือ. เทคโนโลยีชาวบ้าน, 31 พฤษภาคม 2562.
- ↑ "สาบเสือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-02-05. สืบค้นเมื่อ 2008-04-18.
- ↑ Suphan. มหัศจรรย์ สาบเสือ เป็นทั้งวัชพืชและยา. เก็บถาวร 2021-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 27 มิถุนายน 2558.
- ↑ ชาติพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-21. สืบค้นเมื่อ 2021-10-02.
- ↑ สมุนไพรไม้เป็นยา : “สาบเสือ” สมุนไพรข้างทาง ห้ามเลือด สมานแผล แก้บาดทะยัก. MGR Online, 1 กันยายน 2557.
- ↑ "สาบเสือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-10-02.
- ↑ การศึกษาวิจัย เรื่อง เปรียบเทียบความสามารถในการห้ามเลือดของใบสาบเสือและยาสูบ. 2 กุมภาพันธ์ 2556.
- ↑ เรื่องน่ารู้ : สาบเสือ เดลินิวส์, 23 มิถุนายน 2560.
- ↑ Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
- ↑ ใช้สาบเสือป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดีกว่าสารเคมีหลายด้าน เดลินิวส์, 24 กรกฎาคม 2560.
- ↑ ณฐพงศ์ เมธินธรังสรรค์, ดวงเดือน วัฏฏานุรักษ์. ผลของสารสกัดหยาบจากใบสาบเสือในการควบคุมแมลงวันผลไม้ Bactrocera dorsalis (Hendel) (Diptera: Tephritidae). คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, วารสารวิจัยรำไพพรรณี ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2561
- ↑ "สาบเสือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-25. สืบค้นเมื่อ 2008-04-18.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Chromolaena odorata ที่วิกิสปีชีส์