สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธารณรัฐออสเตรีย

Republik Österreich (เยอรมัน)
1919–1934
เพลงชาติด็อยท์เชิสแตร์ไรช์ ดูแฮร์ลีแชส์ลันท์
"เยอรมัน-ออสเตรีย คือประเทศที่สวยงาม"
(ค.ศ. 1920–1929)

ไซเกอเซกเนอท์ โอเนอเอ็นเดอ
("เป็นความสุขที่ไม่มีสิ้นสุด")
(ค.ศ. 1929–1934)
สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1 ใน ค.ศ. 1930
สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1 ใน ค.ศ. 1930
เมืองหลวงเวียนนา
ภาษาทั่วไปเยอรมัน
(ภาษาเยอรมันออสเตรีย)
ศาสนา
คริสต์ (โรมันคาทอลิก, อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์, โปรเตสแตนต์), ยูดาห์
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
ประธานาธิบดี 
• 1919–1920
คาร์ล ไซทซ์
• 1920–1928
ไมเคิล ไฮนิช
• 1928–1934
วิลเฮ็ล์ม มิคลัส
นายกรัฐมนตรี 
• 1919–1920 (คนแรก)
คาร์ล เร็นเนอร์
• 1932–1934 (คนสุดท้าย)
เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
• สภาสูง
สภาสหพันธรัฐ
• สภาล่าง
สภาแห่งชาติ
ยุคประวัติศาสตร์ระหว่างสงคราม
10 กันยายน 1919
15 กรกฎาคม 1927
12 กุมภาพันธ์ 1934
1 พฤษภาคม 1934
สกุลเงินโครนออสเตรีย (1919–1924)
ชิลลิงออสเตรีย (1924–1938)
ก่อนหน้า
ถัดไป
สาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย
สหพันธรัฐออสเตรีย
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรีย

สาธารณรัฐออสเตรียที่หนึ่ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นสาธารณรัฐที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงแรกสาธารณรัฐมีความพยายามที่จะรวมสหภาพกับเยอรมนี (สาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย) แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและมหาอำนาจในเวลานั้นอย่างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรไม่เห็นด้วย[1] สาธารณรัฐดำรงอยู่จนถึง ค.ศ. 1934 และแทนที่โดยสหพันธรัฐออสเตรีย ในท้ายที่สุดออสเตรียก็ผนวกกับนาซีเยอรมนีได้สำเร็จใน ค.ศ. 1938

ฝ่ายสังคมนิยมได้ครอบงำรัฐบาลสาธารณรัฐจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนผ่านโดยพรรคสังคมคริสเตียน[2] ในช่วงสองปีแรกของการครอบงำทางการเมืองโดยฝ่ายสังคมนิยม มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่และมาตรการทางสังคมต่าง ๆ ได้รับการอนุมัติ[3] หลังจากนั้นพรรคสังคมคริสเตียนได้สร้างพันธมิตรของชนชั้นกระฎุมพีขึ้น เพื่อควบคุมรัฐบาลและกำจัดอิทธิพลของสังคมนิยม ด้วยพันธมิตรที่เข้มแข็งนี้ ทำให้พรรคสังคมคริสเตียนสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ตลอดช่วงทศวรรษ 1920[4] อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งในรัฐสภาของฝ่ายสังคมนิยมและความต้องการเสียงข้างมากในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎหมายสำคัญอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของพันธมิตรสังคมคริสเตียนไม่ประสบผลสำเร็จ[4] ใน ค.ศ. 1922 ค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นบางส่วน[2]

ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกได้กำหนดให้ออสเตรียเป็นเอกราช แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศจะปรารถนารวมสหภาพกับสาธารณรัฐไวมาร์ใหม่ก็ตาม[1] อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาในการรวมชาติยังคงมีอยู่และปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ ดังเช่นใน ค.ศ. 1931 เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงมีการเสนอรวมสหภาพศุลกากรออสเตรีย–เยอรมนี ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จเพราะมหาอำนาจตะวันตกคัดค้าน[1] การถือกำเนิดขึ้นของรัฐบาลชาติสังคมนิยมในเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1933 ส่งผลให้การสนับสนุนของประชาชนต่อสหภาพแรงงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักสังคมนิยม การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีออสเตรียโดยพวกนาซีออสเตรียที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีระหว่างรัฐประหารล้มเหลวใน ค.ศ. 1934 ได้ปลุกเร้าการปฏิเสธพรรคสังคมคริสเตียนและสนับสนุนการรักษาเอกราช[1] หลังจากสองปีของการเป็นปรปักษ์ ในที่สุดรัฐบาลจึงได้บรรลุซึ่งข้อตกลง โดยยินยอมให้พวกชาติสังคมนิยมหรือนาซีมีส่วนร่วมในการบริหารประ แต่ความขัดแย้งก็ไม่ได้ยุติลง[1]

รัฐธรรมนูญออสเตรียมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1920 และแก้ไขเพิ่มเติม ใน ค.ศ. 1929 เมื่อฟาสซิสต์ออสเตรียขึ้นสู่อำนาจ จึงมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1934 โดยเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศจากสาธารณรัฐออสเตรียเป็นสหพันธรัฐ ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์บางคนจึงถือว่าสาธารณรัฐที่หนึ่งยุติลงใน ค.ศ. 1934

ตั้งแต่ ค.ศ. 1920 รัฐบาลออสเตรียถูกครอบงำโดยพรรคสังคมคริสเตียน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก นายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรคอิกนัทซ์ ไซเพิล พยายามสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างนักอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก แม้ว่าประเทศจะมีพรรคการเมืองที่มั่นคงครองอำนาจอยู่ แต่การเมืองภายในประเทศนั้นกลับมีความแตกแยกและรุนแรง โดยมีฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม (เยอรมัน: Republikanischer Schutzbund) และกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวาจัด (เยอรมัน: Heimwehr) ที่ขัดแย้งกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ฝ่ายอนุรักษนิยมได้ดำเนินการทำให้พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมพ่ายแพ้ในรัฐสภาตลอดทศวรรษ แม้ว่าคะแนนเสียงจะเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มาก็ตาม[5] มาตรการแบ่งเขตการปกครองออกจากเวียนนาและเสริมอำนาจของเสียงข้างน้อยในรัฐสภาทำให้เกิดการต่อต้านฝ่ายอนุรักษนิยมเสียเอง พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมสามารถควบคุมเมืองหลวงได้ ซึ่งพรรคได้พัฒนานโยบายทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการเก็บภาษีที่สูงซึ่งพวกอนุรักษนิยมวิพากษ์วิจารณ์[6][7]

ในเวลายี่สิบปีของการมีเอกราช ออสเตรียต้องพึ่งพาการเงินจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา[8] ใน ค.ศ. 1922 เมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศจึงร้องขอเงินกู้จากสันนิบาตชาติ ซึ่งแลกกับการยอมรับเงื่อนไขทางการเมืองบางประการ รวมถึงการรักษาอธิปไตยของชาติที่ต่อต้านการรวมสหภาพของเยอรมนีด้วย[9][10] เศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างประเทศกระทั่ง ค.ศ. 1926[8] แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นมาเล็กน้อยหลังจากนั้น แต่ไม่นานก็หยุดลงพร้อมกับการมาถึงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อประเทศอย่างยิ่ง[11]

การก่อตั้ง[แก้]

ดินแดนที่อ้างสิทธิ์โดยเยอรมันออสเตรียในปี 1918

ในเดือนกันยายน 1919 รัฐตกค้างแห่งเยอรมัน-ออสเตรียได้รับการลดพรมแดนตามสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง โดยต้องมอบดินแดนที่มีประชากรชาวเยอรมันอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ในซูเดเทินลันท์ให้แก่เชโกสโลวาเกีย ดินแดนเซาท์ทีโรลให้แก่อิตาลี และดินแดนบางส่วนของจังหวัดอัลไพน์ให้แก่ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kraljevina Srba, Hrvata i Slovenaca (SHS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ยูโกสลาเวีย") แม้จะมีการคัดค้านจากออสเตรีย แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ช่วยยับยั้ง อันชลุส หรือ การรวมสหภาพออสเตรียกับเยอรมนี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสันนิบาตชาติ ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เห็นด้วยที่จะยอมให้เยอรมนีที่พ่ายแพ้ขยายอาณาเขตโดยการผนวกดินแดนที่หลงเหลืออยู่ของออสเตรีย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ประเทศเยอรมัน-ออสเตรียต้องเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น สาธารณรัฐออสเตรีย

สาธารณรัฐใหม่นี้ได้กีดกั้นการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งสองครั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งแรกคือดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของคารินเทีย ซึ่งมีชาวสโลวีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนได้เข้าขัดขวางอำนาจของออสเตรียเหนือดินแดนนี้โดยผ่านการลงประชามติของชาวคารินเทียเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1920 ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะอยู่กับออสเตรียต่อไป ครั้งที่สองคือการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนบัวร์เกินลันท์ของฮังการี ภายใต้ชื่อ "เวสเทิร์นฮังการี" (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีมาตั้งแต่ปี 907[12] โดยมีประชากรที่พูดภาษาเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีประชากรส่วนน้อยที่พูดภาษาโครเอเชียและฮังการีด้วย) ผ่านการลงนามในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็งจนดินแดนบัวร์เกินลันท์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐออสเตรียโดยสมบูรณ์ในปี 1921 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการลงประชามติซึ่งยังคงพิพาทโดยออสเตรีย เมืองหลักของจังหวัดโชโปรน (เยอรมันเออเดินบูร์ก) ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของฮังการี

สนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็งได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชากรชาวเยอรมันในออสเตรีย โดยได้อ้างถึงการละเมิดหลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐ วูดโรว์ วิลสัน วางเอาไว้ระหว่างการเจรจาสันติภาพ โดยเฉพาะสิทธิในการ "กำหนดตนเอง" ของทุกประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการสูญเสียอาณาเขตของจักรวรรดิก่อนสงครามถึง 60% นั้น จะทำให้ออสเตรียไม่สามารถควบคุมดูแลทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้อีกต่อไปในฐานะรัฐที่แยกขาดจากกัน โดยปราศจากการรวมตัวกับเยอรมนี ออสเตรียในขณะนี้มีขนาดเล็กมาก กลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน กรุงเวียนนาซึ่งมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในเมืองหลวงอย่างอดอยาก ออสเตรียในสมัยนี้มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียง 17.8 เปอร์เซนต์เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ในอดีตของจักรวรรดิออสเตรีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวีย

รัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในปี 1920–1934[แก้]

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สร้างสภานิติบัญญัติแบบสองสภาขึ้น โดยมีสภาสูงหรือสภาสหพันธรัฐ (Bundesrat) ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ ในสหพันธรัฐ และสภาล่างหรือสภาแห่งชาติ (Nationalrat) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งระดับสากล ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐได้รับเลือกเป็นระยะเวลาสี่ปีในการประชุมใหญ่ของทั้งสองสภา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติ เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา ออสเตรียจึงถูกปกครองโดยกลุ่มพันธมิตรของพรรคสังคมคริสเตียน และพรรคมหาชนเยอรมัน หรือ ลันด์บุนด์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาที่เอนเอียงไปฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมชุดแรกของ คาร์ล เร็นเนอร์ ซึ่งได้จัดตั้งกฎหมายด้านเศรษฐกิจและสังคมและแรงงานที่ก้าวหน้าขึ้นจำนวนหนึ่ง

หลังจากปี 1920 รัฐบาลออสเตรียถูกควบคุมโดยพรรคสังคมคริสเตียนซึ่งต่อต้านแนวคิดอันชลุส[13] โดยพรรคได้มีความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิกอย่างใกล้ชิด นายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรค อิกนาซ ไซเพิล ขึ้นสู่อำนาจในเดือนพฤษภาคม 1922 และพยายามสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างนักอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่งและคริสตจักรโรมันคาทอลิก

ภายหลังจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในวันที่ 17 ตุลาคม 1920 พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมได้พ่ายแพ้ในรัฐสภาและยังคงเป็นฝ่ายค้านจนกระทั่งปี 1934 เมื่อด็อลฟูสได้ออกคำสั่งห้ามมีฝ่ายค้าน พรรคสังคมคริสเตียนชนะพรรคประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียง 85 ต่อ 69 พรรคมหาชนเยอรมันได้ 20 คะแนนเสียง และสหภาพชาวนา 8 คะแนนเสียง ไมเคิล ไฮนิช ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ภายหลังจากการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 1923 อิกนาซ ไซเพิล ได้ขึ้นสู่อำนาจและประกาศลาออกในเดือนพฤศจิกายน 1924 เมื่อสืบต่อตำแหน่งโดย รูดอล์ฟ ราเมค

ในเดือนธันวาคม 1928 วิลเฮ็ล์ม มิคลัส จากพรรคสังคมคริสเตียน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐ และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1929 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยให้มีการลดสิทธิของรัฐสภา ทำให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐได้รับเลือกจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนโดยตรง และประธานาธิบดีมีสิทธิในการแต่งตั้งรัฐบาลกลางและสามารถออกพระราชกำหนดฉุกเฉินได้

ภายหลังจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในปี 1930 พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมกลายเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด คือ 72 ที่นั่ง แต่ออทโท เอ็นเดอร์ นายกรัฐมนตรีของพรรคสังคมคริสเตียน ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเลยแม้แต่น้อย

ความขัดแย้งฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา[แก้]

การเดินสวนสนามของกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวาในปี 1928
การเฉลิมฉลองของฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1932

แม้ว่าประเทศจะมีพรรคการเมืองที่มั่นคงครองอำนาจอยู่ แต่การเมืองภายในประเทศนั้นกลับมีความแตกแยกและความรุนแรง โดยทั้งฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม (Republikanischer Schutzbund) และกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวา (Heimwehr) เริ่มมีความขัดแย้งกัน ประเทศจึงถูกแบ่งแยกกันระหว่างประชากรในชนบทหัวโบราณและฝ่ายเวียนนาแดงที่ควบคุมโดยฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม

ในปี 1927 ระหว่างการปะทะกันทางการเมืองในแถบบัวร์เกินลันท์ มีชายชราและเด็กถูกยิงโดยกองกำลังฝ่ายขวา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1927 มือปืนได้รับการปล่อยตัวและผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายได้เริ่มประท้วงครั้งใหญ่ในระหว่างที่อาคารสำนักงานกระทรวงยุติธรรมถูกวางเพลิง เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย ทางตำรวจและกองทัพจึงสั่งยิงประชาชน โดยมีผู้ถูกสังหารจำนวน 89 คน และบาดเจ็บอีก 600 คน การประท้วงครั้งใหญ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การก่อการกำเริบเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1927" ฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมเรียกร้องให้มีการปะทะกันซึ่งกินเวลานานถึงสี่วัน

ภายหลังจากเหตุการณ์ในปี 1927 ฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มแข็งแกร่งขึ้น และความรุนแรงในออสเตรียยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 เมื่อ เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ขึ้นสู่อำนาจ

เศรษฐกิจ[แก้]

เหรียญทอง 25 ชิลลิง
หนึ่งในเคหะสถานที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวียนนาแดง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐใหม่นี้ควบคุมได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจักรวรรดิในอดีต ส่วนใหญ่ถูกพรากไปจากการก่อตั้งรัฐชาติใหม่ และจะยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐชาติใหม่เหล่านี้จำนวนหนึ่งยังคงต้องพึ่งพาธนาคารกลางของเวียนนา แต่กลับถูกกีดกันโดยพรมแดนและภาษีที่แตกต่างกัน

ดินแดนออสเตรียที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแทบจะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้และขาดพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ เชโกสโลวาเกีย, ฮังการี, ยูโกสลาเวีย, และอิตาลี ได้กำหนดการปิดล้อมทางการค้าและปฏิเสธที่จะขายทรัพยากรและถ่านหินให้กับออสเตรีย ซึ่งท้ายที่สุดออสเตรียก็ได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตก ภายในปี 1922 หนึ่งดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าเท่ากับ 19,000 โครน และครึ่งหนึ่งของประชากรภายในประเทศตกงาน[14]

ในเดือนธันวาคม 1921 สนธิสัญญาลานาที่ลงนามกันระหว่างออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย โดยออสเตรียยอมรับพรมแดนของรัฐใหม่และยกเลิกการอ้างสิทธิ์ตัวแทนของชาติพันธุ์เยอรมันที่อาศัยอยู่ในดินแดนของเชโกสโลวาเกียที่สร้างขึ้นใหม่ ในทางกลับกัน เชโกสโลวาเกียได้ให้เงินกู้จำนวน 500 ล้านโครน แก่ออสเตรีย[15]

ในปี 1922 ในความพยายามที่จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อภายหลังสงคราม นายกรัฐมนตรี อิกนาซ ไซเพิล ได้ทำเรื่องขอเงินกู้จากต่างประเทศและเสนอนโยบายประหยัดอย่างเข้มงวด ในเดือนตุลาคม 1922 สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเชโกสโลวาเกีย ได้ให้เงินกู้จำนวน 650 ล้านโครน หลังจากที่ไซเพิลสัญญาว่าจะไม่พยายามอันชลุสในอีก 20 ปีข้างหน้า และอนุญาตให้สันนิบาตชาติควบคุมเศรษฐกิจของออสเตรีย ในเดือนมีนาคม 1926 งบประมาณของรัฐมีเสถียรภาพและการควบคุมดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศสิ้นสุดลง ธนาคารกลางออสเตรีย (Oesterreichische Nationalbank) ได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 1923 ได้มีการประกาศใช้ภาษีการค้าในปี 1923 และในเดือนธันวาคม 1924 สกุลเงินชิลลิงออสเตรียได้เข้ามาแทนที่สกุลโครนออสเตรียเดิม

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่กระทบออสเตรียอย่างหนัก และในเดือนพฤษภาคม 1931 ธนาคารใหญ่ในออสเตรียอย่างเครดิทันส์ทัลท์ล่ม[16] เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ออสเตรียจึงต้องการรวมสหภาพศุลการกรกับเยอรมนี แต่ในปี 1931 ฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศภาคีน้อยไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ฟาสซิสต์ออสเตรีย[แก้]

ด็อลฟูสกล่าวคำปราศรัยต่อสันนิบาตชาติในปี 1933
ทหารออสเตรียในช่วงสงครามกลางเมืองออสเตรียในปี 1934

นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคสังคมคริสเตียน เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ขึ้นสู่อำนาจเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1932 และเปลี่ยนออสเตรียจากระบบพรรคการเมืองไปสู่ระบอบเผด็จการรวมศูนย์หรือระบอบฟาสซิสต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟาสซิสต์อิตาลีเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในการต่อต้านเยอรมนี ในเดือนมีนาคม 1933 ด็อลฟูสได้ประกาศระงับรัฐสภา ซึ่งทำให้ตัวเขามีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการได้โดยไม่มีรัฐสภา ในเดือนพฤษภาคม 1933 เขาได้ก่อตั้งแนวร่วมปิตุภูมิ ซึ่งต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมและสังคมนิยมเพื่อสนับสนุนลัทธิบรรษัทนิยม

รัฐบาลพยายามชิงดีชิงเด่นกันกับพรรคนาซีออสเตรีย ซึ่งต้องการให้ออสเตรียเข้าร่วมกับเยอรมนี ระบอบฟาสซิสต์ออสเตรียของด็อลฟูสได้เชื่อมโยงอัตลักษณ์ของออสเตรียเข้ากับคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพื่อต่อต้านสหภาพออสเตรียและโปรเตสแตนต์เยอรมนีที่มีอำนาจเหนือกว่า

จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองออสเตรียในเดือนกุมภาพันธ์ 1934 ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่ายนาซีกับฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมและกองกำลังฝ่ายรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1934 ด็อลฟูสได้เปลี่ยนออสเตรียให้เป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว โดยมีพรรคแนวร่วมปิตุภูมิ (เยอรมัน: Vaterländische Front) เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว พร้อมกับประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญเดือนพฤษภาคม" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ อีกทั้งยังเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศจาก "สาธารณรัฐออสเตรีย" เป็น "สหพันธรัฐออสเตรีย" และยังเปลี่ยนธงชาติ ตราแผ่นดิน และเพลงชาติอีกด้วย

ระบอบสหพันธรัฐและการควบคุมอำนาจของสภาสหพันธรัฐถูกลดทอนลง ในขณะที่การเลือกตั้งสภาแห่งชาติถูกยกเลิก สมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสภาบรรษัททั้งสี่ (สภาแห่งรัฐ (Staatsrat), สภาวัฒนธรรมสหพันธ์ (Bundeskulturrat), สภาเศรษฐกิจสหพันธ์ (Bundeswirtschaftsrat) และสภาประจำรัฐ (Länderrat)) ตามสมมติแล้วพวกเขาจะเป็นความเห็นที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การออกกฎหมายและการแต่งตั้งทั้งหมดมาจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐ

รัฐได้เข้าควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอย่างสมบูรณ์ และเริ่มปราบปรามผู้ที่สนับสนุนนาซีและผู้สนับสนุนการรวมชาติเยอรมัน พวกนาซีจึงตอบโต้กลับด้วยการลอบสังหารด็อลฟูสระหว่างการกบฏเดือนกรกฎาคมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1934[17] (ดูเพิ่มเติมที่ Maiverfassung 1934)

การลอบสังหารโดยนาซีออสเตรียในครั้งนี้ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของออสเตรียไม่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ฟาสซิสต์อิตาลีภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการเบนิโต มุสโสลินี ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับออสเตรียภายใต้การนำของด็อลฟูส ได้ให้สัญญาว่าหากเยอรมนีจะบุกออสเตรีย อิตาลีก็สนับสนุนทางด้านการทหารอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากพวกนาซีได้อ้างสิทธิ์ในดินแดนทีโรลที่ปกครองโดยอิตาลี การสนับสนุนจากอิตาลีได้ช่วยให้ออสเตรียรอดพ้นจากการผนวกรวมที่อาจเกิดขึ้นในปี 1934

คูร์ท ชุชนิกก์ ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากด็อลฟูส เขาได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกนาซี แต่ก็ยังสั่งห้ามให้มีกองกำลังกึ่งทหารแห่งชาติออสเตรีย (Heimwehr) ด้วย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Schmitt 1959, p. 291.
  2. 2.0 2.1 Pauley 1979, p. 276.
  3. Biles 1979, p. 2.
  4. 4.0 4.1 Biles 1979, p. 3.
  5. Graham 1930, p. 145.
  6. Macartney 1929, p. 622.
  7. Macartney 1928, p. 298.
  8. 8.0 8.1 Bischof, Pelinka & Lassner 2003, p. 73.
  9. Gehl 1963, p. 3.
  10. Von Klemperer 1972, p. 151-152.
  11. Bischof, Pelinka & Lassner 2003, p. 93.
  12. Vares, Mari (2008). The question of Western Hungary / Burgenland 1918-1923: a territorial question in the context of national and international policy (PDF). Jyväskylä: University of Jyväskylä. p. 25. ISBN 978-951-39-3074-5.
  13. DIVIDE ON GERMAN AUSTRIA. - Centrists Favor Union, but Strong Influences Oppose It., The New York Times, January 17, 1919 (PDF)
  14. Building an Unwanted Nation. ISBN 9780549324867.
  15. Jelavich, Barbara (September 25, 1987). Modern Austria: Empire and Republic, 1815-1986. Cambridge University Press. ISBN 9780521316255 – โดยทาง Google Books.
  16. "1931". 11 March 2009.
  17. "1934 to 1938: Ständestaat in the Name of "God, the Almighty"". www.wien.gv.at.

บรรณานุกรม[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 48°12′N 16°22′E / 48.200°N 16.367°E / 48.200; 16.367