สันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะทำงานของสันนิบาตมุสลิมที่ลาฮอร์

สันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย (All-India Muslim League; ภาษาอูรดู: آل انڈیا مسلم لیگ) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของมุสลิมในอินเดียในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่ออังกฤษเริ่มใช้พระราชบัญญัติอินเดีย พ.ศ. 2452 ที่ให้มีการเลือกผู้แทนของอินเดียได้ สันนิบาตนี้จึงเป็นพรรคการเมืองที่สำคัญของมุสลิมในอินเดีย

การจัดตั้งสันนิบาตมุสลิมนี้ เกิดขึ้นหลังจากการแบ่งแคว้นเบงกอลของอังกฤษเป็นเบงกอลตะวันตกที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูกับเบงกอลตะวันออกที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ใน พ.ศ. 2448 ซึ่งมุสลิมในอินเดียเห็นด้วยแต่ผู้นับถือศาสนาฮินดูคัดค้าน ทำให้ชาวมุสลิมเชื่อมั่นในความคิดของเซอร์ไซยิด อาหมัด ข่านที่เห็นว่าผู้นับถือศาสนาฮินดูและมุสลิมเป็นคนละเชื้อชาติ จึงได้จัดตั้งสันนิบาตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของมุสลิม และยังเรียกร้องให้อังกฤษจัดตั้งเขตเลือกตั้งพิเศษเฉพาะชาวมุสลิม ซึ่งอังกฤษได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2452 ผู้นำในระยะแรกของสันนิบาตมุสลิมคือ โมฮัมหมัด อาลี และได้ชักชวนมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ให้เข้ามาเป็นสมาชิกใน พ.ศ. 2456 หลังจากอาลีถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2473 มูฮัมมัด อิกบาลได้เป็นผู้นำต่อมา และเป็นผู้เสนอความคิดที่จะจัดตั้งรัฐมุสลิมขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งต่อมา เชาธารี ราห์มัด อาลีนำไปสานต่อเป็นแนวคิดการจัดตั้งปากีสถาน

ต่อมาจินนาห์ได้รับเลือกให้เป็นประธานสันนิบาตเมื่อ พ.ศ. 2477 ได้พยายามรณรงค์ให้สันนิบาตมุสลิมเป็นตัวแทนของมุสลิมทั้งประเทศแต่ได้รับการเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะเข้าร่วมรัฐบาล เยาวหราล เนรูห์ ประธานคองเกรสไม่รับสันนิบาตมุสลิมเข้าร่วมรัฐบาล โดยกล่าวว่าคองเกรสมีตัวแทนมุสลิมอยู่แล้ว สันนิบาตจึงได้ดำเนินการเรียกร้องให้จัดตั้งปากีสถานอย่างจริงจังโดยออกเป็นมติพรรคใน พ.ศ. 2483 เรียกว่ามติลาฮอร์หรือมติปากีสถาน แม้ว่าผู้นำคองเกรสรวมทั้งมหาตมะ คานธี จะคัดค้านการแยกปากีสถานแต่เมื่อเห็นว่าการคัดค้านจะทำให้นองเลือดเกิดขึ้นจึงยกเลิกการคัดค้าน ปากีสถานจึงได้เป็นประเทศเอกราช จินนาห์ได้เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศแต่เขาเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดใน พ.ศ. 2491

หลังการเสียชีวิตของจินนาห์ และหลังการลอบสังหารลิยากัต ลี ข่าน คนสนิทของจินนาห์ใน พ.ศ. 2494 ทำให้บทบาทของสันนิบาตมุสลิมในปากีสถานลดลงเนื่องจากพรรคมีแต่แผนการในการจัดตั้งประเทศ แต่ไม่ได้เตรียมการในการบริหารประเทศใหม่ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นมุสลิมในอินเดียที่พูดภาษาอูรดู และต่างไปจากคนท้องถิ่นที่พูดภาษาสินธีและภาษาปัญจาบ เมื่อกำหนดให้ภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการจึงทำให้คนท้องถิ่นไม่พอใจ พรรคจึงได้รับการสนับสนุนน้อยลงจนหมดบทบาทในที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  • ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ สันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 113 - 116

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]