ข้ามไปเนื้อหา

สะพานรีอู–อันดีร์รีอู

พิกัด: 38°19′17″N 21°46′22″E / 38.32139°N 21.77278°E / 38.32139; 21.77278
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานรีอู–อันดีร์รีอู
Γέφυρα Ρίου–Αντιρρίου
พิกัด38°19′17″N 21°46′22″E / 38.32139°N 21.77278°E / 38.32139; 21.77278
เส้นทางทางหลวงพิเศษ A5, (ทางหลวงยุโรป E55/E65)
4 ช่องจราจร (2 ช่องแต่ละฝั่ง)
ข้ามอ่าวคอรินท์
ที่ตั้ง
ชื่อทางการสะพานคาริลาโอส ตรีกูปิส
เจ้าของรัฐบาลกรีซ
ผู้ดูแลเจฟิรา เอสเอ
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานขึง โดยเบิร์ด มีคาเอเลียน
ความยาว2,880 เมตร (9,450 ฟุต)
ความกว้าง27.2 เมตร (89 ฟุต)
ช่วงยาวที่สุด560 เมตร (1,840 ฟุต)
ประวัติ
ผู้สร้างกลุ่มบริษัทนำโดยวินซี
วันเปิด12 สิงหาคม 2004; 20 ปีก่อน (2004-08-12)
สถิติ
การจราจรโดยเฉลี่ยคาดการณ์ : 11,000 คัน/วัน
ค่าผ่านรถยนต์: €14.70
จักรยานยนต์: €2.00
รถโคช: €32.00–69.00
รถบรรทุก: €21.00–43.00
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานรีอู–อันดีร์รีอู (กรีก: Γέφυρα Ρίου–Αντιρρίου) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานคาริลาโอส ตรีกูปิส เป็นหนึ่งในสะพานขึงแบบหลายช่วงที่ยาวที่สุดในโลกและยาวที่สุดในประเภทสะพานขึงล้วน ทอดข้ามอ่าวคอรินท์ใกล้เมืองเพทรัส เชื่อมเมืองรีอูในคาบสมุทรเพโลพอนนีสกับเมืองอันดีร์รีอูในแผ่นดินใหญ่ของกรีซด้วยถนน เปิดทำการหนึ่งวันก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเอเธนส์ 2004 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2004 และถูกใช้ในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก

ภาพรวม

[แก้]

สะพานยาว 2,380 เมตร (7,810 ฟุต; 1.48 ไมล์) นี้ช่วยปรับปรุงการเข้าถึงและออกจากคาบสมุทรเพโลพอนนีสอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถเข้าถึงได้โดยเรือข้ามฟากหรือผ่านคอคอดคอรินท์ทางตะวันออกเท่านั้น ความกว้างของสะพานคือ 28 เมตร (92 ฟุต) มีสองช่องเดินรถต่อทิศทาง ช่องเดินรถฉุกเฉิน และทางเดินเท้า ส่วนที่เป็นสะพานขึงที่มี 5 ช่วงและเสาขึง 4 ต้นมีความยาว 2,252 เมตร (7,388 ฟุต) เป็นสะพานขึงที่ยาวเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสะพานเจียซิง-เช่าซิงในเมืองเช่าซิง ประเทศจีน และสะพานมีโยในภาคใต้ของฝรั่งเศส ที่มีความยาว 2,680 เมตร (8,790 ฟุต) และ 2,460 เมตร (8,070 ฟุต) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสะพานแรกมีความยาวของช่วงกลางสั้นกว่า (ความยาวของช่วงกลางเป็นวิธีนิยมที่สุดในการจัดอันดับสะพานขึง เนื่องจากขนาดของช่วงกลางมักสัมพันธ์กับความสูงของหอคอย และความซับซ้อนทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างสะพาน) และเนื่องจากสะพานหลังยังได้รับการรองรับด้วยฐานรองที่เสาขึงนอกเหนือจากสายเคเบิล[1] ทำให้พื้นสะพานรีอู–อันดีร์รีอูอาจถูกพิจารณาว่าเป็นพื้นสะพานขึงสายเคเบิลที่ "ลอยตัว" ยาวที่สุดในโลก

สะพานแห่งนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง[2] ว่าเป็นสุดยอดงานวิศวกรรม เนื่องจากมีการนำวิธีการแก้ไขปัญหาหลายอย่างมาใช้ในการข้ามผ่านพื้นที่ที่ท้าทายนี้ ความท้าทายเหล่านี้รวมถึงน้ำลึก วัสดุที่ไม่มั่นคงสำหรับฐานราก แผ่นดินไหว โอกาสที่จะเกิดสึนามิ และการขยายตัวของอ่าวคอรินท์เนื่องจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก

การก่อสร้าง

[แก้]
การก่อสร้างเสาขึง

คาริลาโอส ตรีกูปิส เป็นนายกรัฐมนตรีของกรีซในศตวรรษที่ 19 ผู้ซึ่งเสนอให้สร้างสะพานในตำแหน่งปัจจุบัน แต่สถานะทางการเงินของกรีซในเวลานั้นไม่เอื้อต่อการก่อสร้าง

สะพานได้รับการวางแผนในช่วงกลางทศวรรษ 1990 และสร้างโดยกลุ่มบริษัทร่วมทุนฝรั่งเศส-กรีก นำโดยกลุ่มบริษัทวินซี (Vinci SA) สัญชาติฝรั่งเศส รวมถึงบริษัท Hellenic Technodomiki-TEV, J&P-Avax, Athena, Proodeftiki และ Pantechniki สัญชาติกรีก กลุ่มบริษัทร่วมทุนดำเนินการบริหารสะพานภายใต้สัมปทาน ΓΕΦΥΡΑ หรือ ΓαллοΕληνικός Φορέας Υπερθαлάσσιας ζεύξης Ρίου-Αντιρίου (GEFYRA ภาษากรีกแปลว่า "สะพาน" หรือ GalloEllinikós Foréas Yperthalássias zéfxis Ríou-Antiríou ผู้ดำเนินการร่วมฝรั่งเศส-กรีกเพื่อการเชื่อมต่อข้ามทะเลของรีอู–อันดีร์รีอู) ผ่านบริษัทลูกของตน บริษัทประกาศระงับการเปิดไฟประดับสีฟ้าเนื่องจากวิกฤตการณ์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปและเพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท สะพานลดปริมาณคาร์บอนได้ร้อยละ 84.5 ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 ถึง 2022[3]

สถาปนิกหลักคือเบิร์ด มิคาเอเลียน การเตรียมพื้นที่และการขุดลอกเริ่มในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 และการก่อสร้างเสาขึงขนาดใหญ่เริ่มใน ค.ศ. 2000 หลังจากส่วนเหล่านี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 2003 ก็เริ่มงานสร้างพื้นผิวถนน การผลิตโครงสร้างเหล็กดำเนินการโดยบริษัท Cleveland Bridge & Engineering Company[4] วันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 งานก่อสร้างหลักเสร็จสมบูรณ์ เหลือเพียงการติดตั้งอุปกรณ์ (ทางเดินเท้า ราวกันตก ฯลฯ) และการกันน้ำเท่านั้น

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสะพานอยู่ที่ประมาณ 630 ล้านยูโร[4] โดยได้รับเงินทุนจากกองทุนของรัฐกรีก กลุ่มบริษัทร่วมทุน และเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป มันสร้างเสร็จก่อนกำหนดการเดิม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 และอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ แหล่งข้อมูลอื่นระบุว่าค่าใช้จ่ายขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 839 ล้านยูโร[5]

พิธีเปิดสะพาน

[แก้]

สะพานเปิดใช้งานเมื่อ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2006 หนึ่งสัปดาห์ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ผู้ถือคบเพลิงโอลิมปิกเป็นกลุ่มแรกที่ข้ามสะพานอย่างเป็นทางการ หนึ่งในนั้นคืออ็อทโท เรห์ฮาเกล โค้ชฟุตบอลชาวเยอรมันผู้ซึ่งนำทีมชาติกรีซคว้าแชมป์ยูโร 2004 อีกคนหนึ่งคือคอสตาส ลาลิโอติส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่ง

ความสำเร็จทางวิศวกรรม

[แก้]

ด้วยสภาพพิเศษของช่องแคบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาและแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมเฉพาะหลายประการ ความลึกของน้ำอยู่ที่ 65 เมตร พื้นทะเลส่วนใหญ่เป็นตะกอนหลวม กิจกรรมแผ่นดินไหวและความเป็นไปได้ของการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกมีนัยสำคัญ และอ่าวคอรินท์กำลังขยายตัวในอัตรา 10-15 มิลลิเมตรต่อปี[6] นอกจากนี้ เนินเขาทั้งสองข้างยังสร้างอุโมงค์ลมซึ่งมีความเร็วลม 70 ไมล์ต่อชั่วโมง (110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เป็นเรื่องปกติ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีการนำเทคนิคการออกแบบและการก่อสร้างแบบพิเศษมาใช้ ใต้ตอม่อแต่ละต้น พื้นทะเลถูกเสริมความแข็งแรงและทำให้มั่นคงโดยการตอกท่อเหล็กกลวง 200 เส้นลงไปในแนวดิ่ง ฐานรากของเสาตอม่อไม่ได้ถูกฝังลงไปในพื้นทะเล แต่วางอยู่บนชั้นกรวดที่ปรับระดับอย่างพิถีพิถันให้เป็นพื้นผิวที่เรียบเสมอกัน (ซึ่งเป็นความพยายามที่ยากลำบากในระดับความลึกนั้น) ในระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ตอม่อสามารถเคลื่อนที่ในแนวราบบนพื้นทะเลได้โดยชั้นกรวดจะซับพลังงาน พื้นสะพานเชื่อมกับเสาขึงโดยใช้แม่แรงและตัวหน่วงเพื่อซับการเคลื่อนไหว การเชื่อมที่แข็งเกินไปจะทำให้โครงสร้างสะพานพังทลายในกรณีเกิดแผ่นดินไหวและการให้ตัวด้านข้างมากเกินไปจะทำให้ตอม่อเสียหาย มีการออกแบบเผื่อไว้สำหรับการที่ช่องแคบจะค่อย ๆ กว้างขึ้นในอนาคตซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดอายุการใช้งานของสะพาน การป้องกันผลกระทบจากแรงลมบนพื้นสะพานทำได้โดยใช้แผ่นบังลมแอโรไดนามิกคล้ายสปอยเลอร์และบนสายเคเบิลโดยใช้แถบเกลียวสครูตัน (spiral Scruton strakes)

แผนภาพระดับความสูงของสะพาน

สะพานนี้ได้รับรางวัลโครงสร้างดีเด่นประจำปี 2006 จากสมาคมวิศวกรรมสะพานและโครงสร้างนานาชาติ ใน ค.ศ. 2006 สะพานนี้ถูกนำเสนอในตอนหนึ่งของรายการ Megastructures ทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ใน ค.ศ. 2011 สะพานนี้กลับมาปรากฏในโทรทัศน์ในตอนหนึ่งของรายการ Richard Hammond's Engineering Connections ใน ค.ศ. 2015 การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ได้รับการบันทึกไว้ในตอนแรกของซีรีส์ Impossible Engineering ของช่องไซแอ็นซ์แชนแนล

ฟ้าผ่าสายเคเบิล

[แก้]

เมื่อ 28 มกราคม ค.ศ. 2005 หกเดือนหลังเปิดสะพาน สายเคเบิลเส้นหนึ่งของสะพานได้ขาดจากยอดเสาขึง M1 และตกลงมาบนพื้นสะพาน การจราจรหยุดชะงักทันที การสืบสวนพบว่าไฟได้ลุกไหม้บนยอดเสาขึง M1 หลังสายเคเบิลเส้นหนึ่งถูกฟ้าผ่า สายเคเบิลได้รับการซ่อมแซมทันทีและสะพานก็เปิดใช้งานอีกครั้ง

ระบบตรวจสอบ

[แก้]

ระบบตรวจสอบสุขภาพโครงสร้างถูกติดตั้งระหว่างการก่อสร้างสะพาน[7] ระบบยังคงทำงานอยู่และคอยเฝ้าระวังโครงสร้างตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ระบบมีตัวตรวจจับมากกว่า 100 ตัว รวมถึง:[8]

  • เครื่องวัดความเร่ง 3 มิติบนพื้นสะพาน เสาขึง สายเคเบิล และบนพื้นดินเพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของลมและการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
  • เกจวัดความเครียดและโหลดเซลล์บนสายเคเบิลและแผ่นประกบของสายเคเบิลเหล่านั้น
  • ตัวตรวจจับการเคลื่อนที่บนรอยต่อเผื่อการขยายตัวเพื่อวัดการขยายตัวทางความร้อนของพื้นสะพาน
  • ตัวตรวจจับระดับน้ำที่ฐานเสาขึงเพื่อตรวจจับการซึมผ่านของน้ำ
  • ตัวตรวจจับอุณหภูมิบนพื้นสะพานเพื่อตรวจจับสภาวะเยือกแข็ง
  • ทรานสดิวเซอร์ชนิดเปลี่ยนแปลงความเหนี่ยวนำแบบเชิงเส้น (LVDT) บนสายเคเบิลเพื่อวัดการเคลื่อนไหว
  • โหลดเซลล์บนตัวยึดเพื่อปรับเทียบใหม่ในกรณีเกิดแผ่นดินไหว
  • สถานีตรวจอากาศสองแห่งเพื่อวัดความแรงลม ทิศทางลม อุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์

องค์ประกอบเฉพาะอย่างหนึ่งของระบบคือความสามารถในการตรวจจับและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยเฉพาะ[9]

การถ่ายภาพ

[แก้]

การถ่ายภาพโดยช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นหรือช่างถ่ายทำภาพยนตร์ได้รับอนุญาตและสนับสนุนโดยฝ่ายจัดการสะพานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาต โดยฝ่ายจัดการสะพานมักจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเชิญช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่นรวมถึงช่างถ่ายทำภาพยนตร์มาถ่ายภาพสะพานและรถยนต์หรือคนเดินเท้าที่ใช้งานสะพาน

แกลเลอรี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Design" (PDF). University of Bath. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 19, 2018.
  2. "The Earthquake Proof Bridge". Richard Hammond's Engineering Connections. BBC. สืบค้นเมื่อ 28 July 2016.
  3. "Η Γέφυρα Ρίου -Αντιρρίου σβήνει τα διακοσμητικά φώτα" [The Rio-Antirrio Bridge turns off the decorative lights] (ภาษาGreek). September 7, 2022. สืบค้นเมื่อ September 12, 2022.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "Rion-Antirion Bridge". Structurae. สืบค้นเมื่อ 18 September 2021.
  5. "Project Profile Greece Rion Antirion Bridge" (PDF). University College London (UCL), The OMEGA Centre for Mega Infrastructure and Development. December 2014. สืบค้นเมื่อ 28 July 2016.
  6. Moretti, Isabelle; Sakellariou, D; Lykousis, V; Micarelli, L (2003). "The Gulf of Corinth: an active half graben?". Geodynamics. 36 (1–2): 323–340. Bibcode:2003JGeo...36..323M. doi:10.1016/s0264-3707(03)00053-x.
  7. "Specific Engineering Designs Used in Bridge Construction"
  8. National Instrument article: Detailed information about the technologies used for the sensors and acquisition unit
  9. "Rio Antirrio SHM" เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2ISFO Conference at University of Hawaii

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]