สยามพิวรรธน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สยามพิวรรธน์ทาวเวอร์)
สยามพิวรรธน์
อุตสาหกรรมธุรกิจค้าปลีก
อสังหาริมทรัพย์
ก่อตั้ง10 มกราคม พ.ศ. 2502 (ในชื่อ "บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส")
28 มกราคม พ.ศ. 2546 (เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน)
ผู้ก่อตั้งพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์
สำนักงานใหญ่989 อาคารสำนักงานสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
บุคลากรหลัก
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการ
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัทแม่เอ็ม บี เค กรุ๊ป
เว็บไซต์www.siampiwat.com

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นบริษัทธุรกิจค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของและบริหารกิจการศูนย์การค้า ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต[1][2]

ประวัติ[แก้]

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ก่อตั้งครั้งแรกในชื่อ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2502 เพื่อบริหารและพัฒนาที่ดินจำนวน 50 ไร่ บริเวณย่านสยาม ถนนพระรามที่ 1 เพื่อก่อสร้างโรงแรมห้าดาวระดับนานาชาติแห่งแรกของไทย คือ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล[3] โดยมีพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเริ่มแรกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมองเห็นถึงประโยชน์ทางการท่องเที่ยวจากการเข้ามาสร้างโรงแรมของกลุ่มทุนต่างชาติ จึงอนุมัติเงินทุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงทุนจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในประเทศ เพื่อลงทุนในบริษัทดังกล่าว[4] ต่อมา ชฎาทิพ จูตระกูล บุตรสาวของพลเอกเฉลิมชัย ได้รับช่วงต่อจากบิดาในการบริหารบริษัท

เมื่อโรงแรมดังกล่าวดำเนินการมาครบ 30 ปี บริษัทได้ดำริที่จะสร้างศูนย์การค้าใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ยุติการดำเนินกิจการโรงแรมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545 หลังจากนั้นจึงดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด" ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2546 โดยพื้นที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าสยามพารากอน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 สยามพิวรรธน์ได้รวมตัวกับกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ และบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยามขึ้น เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าในย่านสยามให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก[5][6] สยามพิวรรธน์จึงได้รับเงินจำนวน 4,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม เช่น ปรับปรุงสยามดิสคัฟเวอรี[7][8] ปรับปรุงร้านอาหารในสยามพารากอน[9]

ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ผู้ถือหุ้นของสยามพิวรรธน์ ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 47.9771% กลุ่มบุคคลไม่เปิดเผยนาม 24.8523% ธนาคารกรุงเทพ 5.1943% ธนาคารกสิกรไทย 5.0969% นอกนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ[10] งานวิจัยเรื่อง "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับการลงทุนทางธุรกิจ" กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท[11]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สยามพิวรรธน์เตรียมทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงปลายปีดังกล่าว ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายระดมทุนให้ได้ 500–750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.8–2.7 พันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในประเทศไทยและทวีปเอเชีย ซึ่งอาจรวมถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากการระดมทุนเป็นไปตามเป้าหมาย จะนับเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การทำ IPO ของไทยประกันชีวิต ที่สามารถทำ IPO ได้ด้วยมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสองปีก่อนหน้านั้น[12]

ธุรกิจของบริษัท[แก้]

ศูนย์การค้า[แก้]

วันสยาม[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 สยามพิวรรธน์ได้เปิดตัวเครื่องหมายการค้า "วันสยาม" สำหรับเรียกกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ย่านสยาม ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน ซึ่งได้ทำการเช่าที่ดินจากวังสระปทุม โดยประกอบด้วยสมาชิกดังนี้

ศูนย์การค้าอื่น ๆ[แก้]

  • ไอคอนสยาม และไอซีเอส (ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ในนามบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และบริษัท ไอซีเอส จำกัด)
  • สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต แบงค็อก: อะ สยามพิวรรธน์ ไซมอน เซ็นเตอร์ (ร่วมทุนกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไซมอน)

อาคารสำนักงาน[แก้]

อาคารสำนักงานสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์ เป็นอาคารสำนักงานสูง 30 ชั้น เชื่อมต่อกับอาคารสยามดิสคัฟเวอรี และอาคารจอดรถสยาม นอกจากเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) อีกด้วย

ธุรกิจค้าปลีก[แก้]

  • บริษัท ดิสคัฟเวอรี่ รีเทล จำกัด - จัดจำหน่ายสินค้าในโซนโอเพนสเปซ (ดิสคัฟเวอรีแล็บ) ภายในสยามดิสคัฟเวอรี
  • บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด - บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มเดอะมอลล์ เพื่อดำเนินการ “พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ในสยามพารากอน
  • บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท สยาม สเปเชีลลิตี้ จำกัด) - จัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ
  • บริษัท สยาม กูร์เมต์ โฮลดิ้ง จำกัด - บริหารภัตตาคาร บลู บาย อลัง ดูคาส ในไอคอนสยาม
  • บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด - บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มทาคาชิมาย่า เพื่อดำเนินการห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า ในสาขาไอคอนสยาม
  • บริษัท สยามพิวรรธน์-ไซม่อน จำกัด - บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไซมอน จากสหรัฐ เพื่อดำเนินการศูนย์การค้าลักชูรี พรีเมียม เอาท์เล็ต จำนวน 3 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร[13][14]

ธุรกิจอื่น ๆ[แก้]

  • บริษัท ซูพรีโม จำกัด บริษัทจัดการตลาดให้กับศูนย์การค้าในเครือ
  • บริษัท ดิจิมีเดีย จำกัด บริษัทจัดการตลาดในสื่อออนไลน์
  • บริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด บริหารศูนย์ประชุม รอยัลพารากอนฮอลล์ และทรู ไอคอน ฮอลล์[15][16]
  • บริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัด ดูแลการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ
  • บริษัท ซุปเปอร์ฟอร์ซ จำกัด บริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคารในเครือสยามพิวรรธน์

อ้างอิง[แก้]

  1. "Siam Piwat history".
  2. "จับตา "สยามพิวรรธน์" ร่วมทุน "ไซม่อน" ปฏิบัติการเขย่าวงการค้าปลีกประเทศไทย". 14 June 2018.
  3. ร่วมค้นพบแนวคิดล้ำยุคและเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้สยามพิวรรธน์เป็นผู้นำทางความคิดในวงการค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
  4. "42 ปี บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-15. สืบค้นเมื่อ 2014-07-01.
  5. "3 ยักษ์ค้าปลีก ผนึก 'พลังสยาม' เทียบชั้นมหานครใหญ่". วอยซ์ทีวี. 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "พันธมิตรพลังสยามผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ ผลักดัน "ย่านสยาม" ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจการค้า". สมาคมการค้าพลังสยาม. 2015-09-30. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ยกเครื่องสยามดิสคัฟเวอรี่ 4 พันล้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-27. สืบค้นเมื่อ 2021-03-02.
  8. ‘สยามพิวรรธน์’ เปิดคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่
  9. "สยามพารากอนจัดเต็ม รวมร้านอาหารและขนมหวานคุณภาพระดับโลกไว้ที่เดียว ไปลุยกันเลย!! | กินกับพีท". กินกับพีท. 2016-11-30. สืบค้นเมื่อ 2021-02-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. ขุมข่ายธุรกิจ 'ไอคอนสยาม' แสนล.! หลังฉากการลงทุน 2 ยักษ์ใหญ่ 'สยามพิวรรธน์-ซีพี.'
  11. เปิดงานวิจัย ความเป็นมา "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
  12. ฐานเศรษฐกิจ (2024-03-21). "บลูมเบิร์ก ตีข่าว "สยามพิวรรธน์" เล็งทำ IPO ครั้งใหญ่สุดของไทยในรอบ 2 ปี". thansettakij.
  13. เดือดแน่ ! สยามพิวรรธน์ ควงไซมอน ผุดลักชัวรี่ พรีเมียมเอาท์เล็ท ประเดิมทำเลบางนาสาขาแรก
  14. สยามพิวรรธน์ ลงขันไซม่อนกรุ๊ป ผุดลักชัวรี่พรีเมียมเอาต์เล็ต ตั้งเป้า 3 แห่งใน 3 ปีกว่าหมื่นล้าน
  15. "สยามพิวรรธน์ขานรับกรุงเทพฯ ติดอันดับ 6 เมืองประชุมระดับโลก ชู 'รอยัลพารากอนฮออล์' และ 'ไอคอนฮอลล์' เดสติเนชันการประชุมมาตรฐานเวิลด์คลาส". mgronline.com. 2022-03-03.
  16. "ธุรกิจ MICE ส่งสัญญาณดี SAM ชี้ยอดจองถึงมิ.ย. 65 กว่า 60%". thansettakij. 2021-10-02.

หมวดหมู่:บริษัทไทยที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2502