สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล)

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน ปญฺญาสีโล) (เขมร: សម្តេចព្រះសុគន្ធាធិបតី ប៉ាន បញ្ញាសីលោ) เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญองค์หนึ่งของกัมพูชา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2370 ที่เมืองพระตะบอง บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี แล้วจึงเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสังกัดมหานิกาย ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และต่อมาได้บวชแปลงเป็นพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายเมื่อ พ.ศ. 2393 ต่อมา พระองค์ด้วงเมื่อได้ครองราชย์เป็นกษัติย์กัมพูชา ได้มาขอพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายไปประดิษฐานในกัมพูชา พระมหาปานได้เดินทางกลับกัมพูชาพร้อมกับพระภิกษุอื่นเมื่อ พ.ศ. 2398 โดยครั้งแรกได้ประทับที่วัดศาลาคู (វត្តសាលាគូ GPS : 11.8208731,104.7563581 ) เมืองอุดงค์มีชัย และได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสุคนธาธิบดี ภายหลังได้มาประทับที่วัดปทุมวดีราชวรารามและได้เป็นสังฆนายกฝ่ายธรรมยุติกนิกาย พระองค์มีความสามารถในเชิงกวี และได้นิพนธ์ผลงานไว้หลายเรื่อง เช่น รบากษัตริย์ เลบิกอังกอร์วัดแบบเก่า พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2437

พระประวัติ[แก้]

กำเนิด[แก้]

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี มีพระนามเดิมว่าปาน หรือ ปาง ประสูติในวันพฤหัสบดี แรม 1 ค่ำ เดือน 12 (เดือนกัตติกะ) ปีจอ พ.ศ. 2370 ในหมู่บ้านแพรก พระเสด็จ จังหวัดพระตะบอง ไม่ปรากฏนามบิดามารดา แต่บิดามารดาของท่านได้หนีไปอาศัยอยู่ในจังหวัดพระตะบอง เนื่องจากออกญาเดโช (แทน) ก่อการจลาจล เมื่ออายุได้ 12 ปี จึงบวชเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ ตำบลสังแก จังหวัดพระตะบอง ในคณะมหานิกาย แล้วได้เข้ามากรุงเทพ อยู่ที่วัดสระเกศ คณะมหานิกาย

บวชแปลงนิกาย[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระวชิรญาณภิกขุ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของพระมหาปาน และเมื่อลาผนวชขึ้นครองราชย์ ได้ส่งพระมหาปานนำพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายไปเผยแผ่ในกัมพูชา

ต่อมาเมื่ออายุ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คณะมหานิกายจำพรรษาที่วัดสระเกศได้ 4 พรรษา เวลานั้นได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โปรดให้ศึกษาพระวินัยในสำนักเจ้าคุณพระญาณรักขิต (สุด) เจ้าอธิการวัดบรมนิวาส คณะธรรมยุตินิกาย

ต่อมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (เดือนอาสาฬหะ) ปีระกา เอกศก พ.ศ. 2393 ค.ศ.1849 พระปานอายุ 24 ปี จึงบวชแปลงเป็นพระธรรมยุตินิกาย โดยมีพระวชิรญาณเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณรักขิต (สุด) เป็นกรรมวาจารย์ พระอมราภิรักขิต (เกิด) เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า "ปญฺญาสีโล" ต่อมาสอบได้ความรู้เป็นเปรียญธรรมเป็น "พระมหาปาน"

นำธรรมยุติกนิกายไปกัมพูชา[แก้]

สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) เป็นผู้ขอให้รัชกาลที่ 4 ส่งพระมหาปาน นำธรรมยุติกนิกายมาเผยแผ่ในกัมพูชาในสมัยของพระองค์ในช่วง พ.ศ. 2398

ในปี พ.ศ. 2398 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ขอพระราชทานธรรมยุตินิกายเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายในกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระมหาปานพร้อมด้วย พระอมราภิรักขิต (เกิด) และพระสงฆ์ 8 รูป อุบาสก 4 คน เดินทางไปสืบศาสนายังกรุงกัมพูชา สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี ทรงนิมนต์พระมหาปานให้จำพรรษาอยู่ที่วัดศาลาคู่ (วัดอ์พิลปี) กรุงอุดงค์มีชัย พระมหาปาน ได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระอริยวงศ์ พระวิมลธรรม พระมหาวิมลธรรม ตามลำดับ ภายเป็นหลังเป็นสมเด็จพระสุคนธาธิบดี[1]

ผลงานนิพนธ์[แก้]

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) เป็นกวีและปราชญ์ในราชสำนักสมเด็จพระหริรักษรามาธิศราธิบดี กับสมเด็จพระนโรดม ผลงานนิพนธ์ของท่านหลายเรื่องตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น รบากษัตริย์ (พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา) ที่แต่งร่วมกับออกญาสุนธรโวหาร (มุก) และลเบิกอังกอร์วัดแบบเก่า (เลฺบีกองฺครวตฺตแบบจาส่) สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2437 พระชนม์ได้ 68 พรรษา ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทยและสมเด็จพระนโรดม (พระองค์ราชาวดี) ของกัมพูชา

ศาสนสัมพันธ์กับสยาม[แก้]

พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ผู้เป็นกัลยาณมิตรกับสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน)

บทบาทของสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) กับการสื่อสารทางการเมืองของไทย เกิดขึ้นตอนที่พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทย และในฐานะพระคู่สวด ของพระมหาปานขณะบวชที่วัดบรมนิวาส ที่กรุงเทพมหานคร โดยสมณสาส์นฉบับนี้เป็นการสอบถามข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาภายหลังจากตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยได้ใช้การอ้างอิงข้อความจากพระไตรปิฎกมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ของประเทศกัมพูชาในเวลานั้น สมณสาส์นฉบับนี้จึงมีความสำคัญในแง่ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของชนชั้นนำของสังคมไทย (โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์) ที่มีต่อกัมพูชาเมื่อตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี [2] แม้จะไม่มีหลักฐานว่าสมเด็จพระสุคนธาธิบดี จะตอบคำถามจดหมายสมณสาส์นหรือไม่ แต่สาระสำคัญทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระพุทธศาสนาไทยและกัมพูชา รวมไปถึงบทบาทของพระสุคนธาธิบดี (ปาน) ในฐานะสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายรูปแรกในประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กทม. มติชน. 2556 หน้า 170 - 171

  1. พระระพิน พุทธิสาโร. (2559). ธรรมยุติกนิกายในกัมพูชา : ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาของไทยและกัมพูชา. วารสารพุทธอาเซียน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559
  2. รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ. (2553-2554). สมณสาส์นการเมือง กัมพูชา-สยาม-ฝรั่งเศส ของพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด) ถึงสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) พระสังฆราชเมืองเขมร Political Letter of Phra Amaraphirakkhit : Relations among Siam-Cambodia-France. วารสารหน้าจั่ว ปีที่ 7 ฉบับเดือน กันยายน 2553-สิงหาคม 2554 หน้า : 63-81. https://www.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/article/view/16604/15020