สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระพุฒาจารย์

(อาจ อาสโภ)
คำนำหน้าชื่อท่านเจ้าประคุณ
ส่วนบุคคล
เกิด8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ประเทศสยาม (86 ปี)
มรณภาพ8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นิกายมหานิกาย
การศึกษาน.ธ. เอก, ป.ธ. 8
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท18 มิถุนายน พ.ศ. 2466
พรรษา66
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม อาจ ดวงมาลา ฉายา อาสโภ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532) เป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (หรือแบบพองหนอ-ยุบหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 แรม 4 ค่ำเดือน 12 ณ บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 4 คนท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเอื้อ ตามลำดับ[1] เมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ของท่าน[2]

การบรรพชาอุปสมบท[แก้]

เมื่ออายุ 14 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น โดยมีอาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

จนอายุครบ 20 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์[1] ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ[2]

การศึกษา[แก้]

ท่านได้ศึกษาอักษรลาวตั้งแต่บวชเป็นเณรที่ขอนแก่น

การบริหารงานคณะสงฆ์[แก้]

  • พ.ศ. 2476 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2476 เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ประจำเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระคณาจารย์โทในทางคันถธุระ
  • พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าคณะตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร และ เป็นเจ้าคณะแขวงบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2482 เป็นรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
  • พ.ศ. 2484 เป็นพระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ[5] และเป็นสมาชิกสังฆสภา
  • พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 4 ซึ่งเป็นพระคณาธิการองค์แรกในตำแหน่งนี้
  • พ.ศ. 2488 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา และเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2489 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
  • พ.ศ. 2490 เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และเป็นทุติยสภานายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง[6]
  • พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ 2[7]
  • พ.ศ. 2498 เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง สมัยที่ 3[8]
  • พ.ศ. 2524 คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
  • พ.ศ. 2528 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง
  • พ.ศ. 2531 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[9]
  • พ.ศ. 2532 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

เกียรติคุณ[แก้]

  • พ.ศ. 2497 เป็นอัครมหาบัณฑิตโดยรัฐบาลพม่าได้ถวายเกียรติคุณครั้งนี้ในโอกาสที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปร่วมงานอัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับฐานันดรศักดิ์นี้
  • พ.ศ. 2498 เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างอาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับเงินจากศาสนสมบัติกลาง เป็นทุนเริ่มแรก และเงินงบประมาณแผ่นดิน กับเงินบริจาคจากสาธุชนทั่วไป
  • พ.ศ. 2500 เป็นผู้ริเริ่มการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ "มหาจุฬาเตปิฎกํ" เพื่อสนองพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
  • พ.ศ. 2522 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย
  • พ.ศ. 2528 เป็นสังฆปาโมกข์ ฝ่ายพระอภิธรรมปิฎก ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530

สมณศักดิ์[แก้]

การต้องอธิกรณ์[แก้]

ใน พ.ศ. 2503 เมื่อครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ และมีข่าวว่าพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) อยู่กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตาหลายครั้ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) จึงมีพระบัญชาให้ทั้งสองรูปพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ทั้งสองรูปปฏิเสธ โดยตั้งใจจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน[17] คณะสังฆมนตรีของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) จึงมีมติว่าทั้งสองรูปฝ่าฝืนพระบัญชา ไม่ควรอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงโปรดให้ถอดทั้งสองรูปออกจากสมณศักดิ์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503[14]

ต่อมาใน พ.ศ. 2505 พระมหาอาจได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2509[18] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงโปรดให้พระเถระทั้งสองรูปคืนสู่สมณศักดิ์เดิมตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2518[15] คดีดังกล่าวนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง[19]

มรณภาพ[แก้]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อาพาธ และได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เวลา 11.15 น. ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริชนมายุได้ 86 ปี 1 เดือน พรรษา 66[2]

ในการนี้ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นเวลา 100 วัน ครบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2533 โดยมีคณะเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายทุกคืนทุกวัน บางวันมีคณะเจ้าภาพหลายคณะร่วมบำเพ็ญกุศล และตลอดมาจนถึงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2533 ได้ทรงพระกรุณาโปรดออกเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

วิปัสสนากรรมฐานแบบพองหนอ-ยุบหนอ (สติปัฏฐาน 4)[แก้]

ปี พ.ศ. 2495 พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ขณะเป็นพระมหาโชดกไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานสายของมหาสีสยาดอที่สำนักศาสนยิสสา ประเทศพม่า เป็นเวลา 1 ปี แล้วนำกลับมาสอน พร้อมทั้งพระพม่าสองรูป คือพระภัททันตะ อาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และพระอินทวังสเถระ กัมมัฏฐานาจริยะ โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ. 2496 จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่นทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาถูกยกสถานะเป็นสถาบันวิปัสสนาธุระ สังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้เผยแพร่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบยพองหนอ-ยุบหนอ จนแพร่หลายดังปัจจุบัน[1]

อ้างอิง[แก้]

  • พระเทพสิทธิมุนี, ผจญมาร : บันทึกชีวิต 5 ปี ในห้องขังของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร), บัณฑิตการพิมพ์, 2530
  1. 1.0 1.1 1.2 พระโสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต, หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน, จำรูญ ธรรมดา ผู้แปล, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546, หน้า 9 - 21
  2. 2.0 2.1 2.2 กรมศิลปากร, เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545, หน้า 162 - 6
  3. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้ ในพุทธศักราช ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๐, เล่ม 45, ตอน ง, 13 พฤษภาคม 2471, หน้า 435
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธีการพระราชกุศลวิสาขบูชา, เล่ม 45, ตอน ง, 13 พฤษภาคม 2471, หน้า 430-431
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์เอก, เล่มที่ 58, ตอน 0 ง, วันที่ 29 กรกฎาคม 2484, หน้า 2325
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 67, วันที่ 8 สิงหาคม 2493, หน้า 3384-6
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 68, วันที่ 19 มิถุนายน 2494, หน้า 2593-5
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งสังฆมนตรี, เล่มที่ 72, วันที่ 13 สิงหาคม 2498, หน้า 18-20
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เล่มที่ 105, ตอน 144 ฉบับพิเศษ, วันที่ 31 สิงหาคม 2531, หน้า 7
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานสมณศักดิ์, เล่มที่ 51, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2477, หน้า 3141
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่มที่ 61, ตอนที่ 15, วันที่ 19 มีนาคม 2489, หน้า 151
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่มที่ 64, ตอนที่ 27, วันที่ 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1526
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 66, ตอนที่ 66, วันที่ 6 ธันวาคม 2492, หน้า 876
  14. 14.0 14.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดพระสมณศักดิ์, เล่มที่ 77, ตอนที่ 94, วันที่ 13 พฤศจิกายน 2503, หน้า 2380
  15. 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน, เล่มที่ 92, ตอนที่ 106, วันที่ 6 มิถุนายน 2518, หน้า 13
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 103, ตอนที่ 165, วันที่ 25 กันยายน 2529, หน้า 3
  17. ผจญมาร, หน้า 41-43
  18. พระปลัดระพิน พุทธิสาโร. (2561). ”การล้อมปราบจากรัฐสู่ศาสนา : จับพระพิมลธรรมสึก มายาคติว่าด้วยความเป็นลาว ความก้าวหน้า และคอมมิวนิสต์”. การประชุมวิชาการระดับชาติ พื้นถิ่นโขง ชี มูล ราชภัฏอุดรธานี ครั้งที่ ๓ ศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์ถิ่นอีสาน สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  ถ.ทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2561 [อ้างอิง แหล่งข้อมูลเดิม http://ntbac2018.udru.ac.th// ] Ebook https://anyflip.com/kffkc/ibxf
  19. พระพิมลฯผจญมารคดีประวัติศาสตร์วงการสงฆ์


ก่อนหน้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ถัดไป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ)
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
(พ.ศ. 2531 — 2532)
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
พระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีโร)
เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
(พ.ศ. 2532)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์
(พ.ศ. 2528 — 2532)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)