พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระนโรดม
พระบรมฉายาลักษณ์ในปี 2423
พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา
ครองราชย์19 ตุลาคม 2403 – 24 เมษายน 2447
ราชาภิเษก3 มิถุนายน 2407
ก่อนหน้าสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
ถัดไปพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
คู่อภิเษกพระอัครมเหสี:
พระองค์เจ้าดารากร
พระมเหสี:
หม่อมเจ้าพัชนี
พระองค์เจ้าอรรคนารี
พระองค์เจ้าสำอางค์
รวม 47 พระองค์[1]
พระราชบุตร61 พระองค์
พระนามเต็ม
องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คุณสารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี ศรีสุริโยสุรัตน์นฤพัทธ์พงศ์ดำรงราช บรมนารถมหากำโพชาธิบดินทร สรรพศิลปสิทธิ์สถิตสถาพร พรหมามรอำนวยไชย เป็นมไหสวริยาธิบดีในปฐพีดล สกลกัมโพชาณาจักร อัครมหาบุรุษรัตนวัฒนาดิเรก เอกอุดมบรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี
ราชวงศ์ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
(ราชสกุลนโรดม)
พระราชบิดาสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระราชมารดาสมเด็จพระวรราชินี (แป้น)
พระราชสมภพ3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377
จังหวัดตาแก้ว อาณาจักรเขมร
สวรรคต24 เมษายน พ.ศ. 2447 (70 พรรษา)
พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล ราชธานีพนมเปญ, กัมพูชา
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระบาทสมเด็จพระนโรดม (เขมร: ព្រះបាទនរោត្តម, พฺระบาทนโรตฺตม "พระบาทนโรดม") หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองค์ราชาวดี (เขมร: អង្គ រាជាវតី, องคฺราชาวดี "องค์ราชาวดี") ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 109 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) และเป็นพระเชษฐาร่วมสมเด็จพระราชบิดาของ พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์) กษัตริย์กัมพูชาองค์ต่อมาซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เมี่อ พ.ศ. 2447 สืบต่อจากพระองค์

ในรัชสมัยของพระองค์กัมพูชาได้หลุดพ้นการตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามและกลายมาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้พระองค์ได้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกัมพูชาองค์แรกที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

เมื่อทรงพระเยาว์[แก้]

พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชายุคใหม่
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ครั้งที่ 1)
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (ครั้งที่ 2)
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี

เสด็จพระราชสมภพเมี่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 ที่อังกอร์โบเร (จังหวัดตาแก้ว) [2][3] และเสด็จสวรรคตเมี่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2447 [4]

เมื่อพำนักในกรุงเทพฯ พระองค์มีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยาม ผนวชในธรรมยุติกนิกาย 1 พรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาแล้ว พระองค์ได้ส่งพระราชโอรส คือ นักองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการที่กรุงเทพมหานครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครว่า "ตนมีชนมายุเจริญล่วงมากไปแล้ว ขอพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงตั้งนักพระองค์ราชาวดี บุตรผู้ใหญ่เป็นมหาอุปราช นักพระองค์ศรีสวัสดิ์บุตรที่ 2 เป็นพระแก้วฟ้า ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นักพระองค์ราชาวดีมีนามว่า "องค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราช" ตั้งนักพระองค์ศรีสวัสดิ์เป็น "องค์หริราชดะไนไกรแก้วฟ้า" ตามที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงขอมา[5] เมื่อ พ.ศ. 2400

ความยุ่งยากก่อนขึ้นครองราชย์[แก้]

พระราชพิธีของพระนโรดมที่กรุงเทพฯ

หลังจากสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเสด็จสวรรคตลง เมื่อ พ.ศ. 2403 ได้เกิดความยุ่งยากในการสืบราชสมบัติของกัมพูชา เมื่อนักองค์วัตถา พระอนุชาของพระนโรดมพรหมบริรักษ์ พระมหาอุปราช ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ขอกลับไปถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อมาถึงกัมพูชา นักองค์วัตถาแสดงความต้องการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์และได้รับการสนับสนุนจากสนองโส (หรือสนองสู) ผู้เป็นลุง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของนักองค์ศรีวัตถากับพระนโรดม

ในระหว่างความขัดแย้งนั้น สนองโสได้รวบรวมขุนนางไปตั้งมั่นที่กัมพูชาตะวันออกแล้วยกทัพเข้ามายึดพนมเปญและเมืองอุดงมีไชยได้ พระนโรดมหนีไปพระตะบองซึ่งขณะนั้นอยูในพระราชอาณาเขตสยาม ขุนนางฝ่ายตรงข้ามของสนองโสได้รวบรวมกำลังเข้าต่อต้าน และเป็นฝ่ายชนะ จับตัวสนองโสได้ แต่สนองโสหลบหนีไปสู่อินโดจีนฝรั่งเศสได้ในที่สุด

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในกัมพูชา สยามได้เรียกตัวนักองค์วัตถาเข้ากรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน พระนโรดมก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2404 สยามได้ตัดสินใจสนับสนุนให้นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพฯ ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร โดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพช่วยกันประกอบพิธี พิธีราชาภิเษกของพระนโรดมได้เป็นไปโดยโดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงอุดงมีชัย โดยพฤตินัย จากนั้นพระองค์ได้ถูกเรียกตัวให้เข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นการอำลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ องค์พระรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีในพระนโรดมและได้พระราชทานพระปรมาภิไธยแก่พระนโรดมว่า "องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คุณสารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี ศรีสุริโยสุรัตน์นฤพัทธพงศ์ดำรงราช บรมนารถมหากำโพชาธิบดินทร สรรพศิลปสิทธิ์สถิตสถาพร พรหมามรอำนวยไชย เป็นมไหสวริยาธิบดีในปฐพีดล สกลกัมโพชาณาจักร อัครมหาบุรุษรัตนวัฒนาดิเรก เอกอุดมบรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี"[6] ทางการสยามได้จัดทัพทางเรือไปส่งนักองค์ราชาวดีที่เมืองกำปอด และเดินทัพทางบกไปยังเมืองอุดงมีไชย ในระหว่างนี้ เกิดการกบฏอีก ออกญาสุทศ (บา) ได้รวบรวมกองทัพตั้งมั่นที่โพธิสัตว์ สยามจึงส่งทัพจากเสียมราฐและจันทบุรีไปปราบจนราบคาบ และได้อัญเชิญสมเด็จพระนโรดมประกอบพิธีราชาภิเษกที่กรุงอุดงมีชัยและขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2407

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและการเข้าเป็นรัฐในอารักขา[แก้]

การขยายตัวของอินโดจีนฝรั่งเศส
แผนที่จังหวัดทั้ง 6 ของเวียดนามในปีพ.ศ. 2403

หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสได้เข้ามาขอให้ทำสนธิสัญญาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งพระนโรดมยินยอมที่จะเข้าเป็นรัฐในอารักขา ในช่วงแรกของการเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสค่อนข้างราบรื่น แต่เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายการปกครองให้เข้มงวดขึ้นจึงเกิดปัญหาขัดแย้งกับข้าหลวงฝรั่งเศส พระองค์ถูกบังคับให้ลงนามในการปฏิรูปกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2427 ทำให้เกิดกบฏชาวนาที่ยืดเยื้อตามมา กบฏยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2430 เมื่อฝรั่งเศสเจรจากับพระองค์สำเร็จ พระองค์จึงประกาศให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม

ปลายรัชกาล[แก้]

พระบรมรูปสมเด็จพระนโรดมทรงม้า ที่วัดพระแก้วมรกต กรุงพนมเปญ

ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสพยายามจะลิดรอนอำนาจของกษัตริย์กัมพูชาและเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศส แต่พระองค์ไม่ยินยอม พระโอรสของพระองค์คือพระยุคนธรได้เดินทางไปยังฝรั่งเศสเพื่อคัดค้านนโยบายนี้จนถูกถอดจากบรรดาศักดิ์และต้องลี้ภัยไปสยาม ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากกรุงอุดงไปที่พนมเปญซึ่งพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ทางการฝรั่งเศสก็ได้ทำใบแจ้งเรื่องย้ายเมืองหลวงและบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยจนสำเร็จ ในช่วงระยะเวลานี้ฝรั่งเศสได้มอบรางวัลเล็กน้อยให้แก่กัมพูชาโดยการเสนอสร้าง พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคลที่คล้ายกับพระบรมมหาราชวังของสยามในกรุงเทพมหานคร ถวายพระนโรดม

เมื่อพระองค์ได้เริ่มต่อต้านฝรั่งเศสมากขึ้นทางการฝรั่งเศสจึงลดพระราชอำนาจของพระนโรดมลง จนสถานะพระมหากษัตริย์กัมพูชากลายเป็นเพียงหุ่นเชิดของฝรั่งเศสเท่านั้นและได้ให้พระสีสุวัตถิ์พระอนุชาของพระองค์ที่นิยมฝรั่งเศสขึ้นสืบสมบัติต่อ ส่วนพระนโรดมได้เสด็จสวรรคตอย่างในปี พ.ศ. 2447 ที่พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นที่กรุงพนมเปญ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าของพระองค์อยู่ในวัดอุดง

หลังการสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม ทรงได้รับการถวายพระนามว่า "พระกรุณาพระสุวรรณโกศ"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

 ฝรั่งเศส พ.ศ. 2415 เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นประถมาภรณ์
สยาม ไม่ทราบปี เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
สยาม ไม่ทราบปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาวราภรณ์

พระราชตระกูล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Varman Dynasty Genealogy
  2. จาก สกุลไทย ฉบับที่ 2605 ปีที่ 50 21 กันยายน 2547 เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ระบุว่าพระราชสมภพที่ กรุงเทพ
  3. ธำรงศักดิ์,2552 ระบุว่าพระราชสมภพที่กรุงเทพฯเช่นกัน
  4. Norodom of Cambodia
  5. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๑, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑, กรุงเทพบรรณาการ, สี่กั๊กพระยาศรี, พระนคร
  6. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑ ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ตอนที่ ๑๔๓. ราชาภิเศกองค์พระนโรดมขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. สยามประเทศไทยกับดินแดนในกัมพูชาและลาว. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์. 2552 หน้า 31-38
ก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ถัดไป
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
(ราชสกุลนโรดม)

(19 ตุลาคม พ.ศ. 2403 – 24 เมษายน พ.ศ. 2447)
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์