จักรพรรดิมิญ หมั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิมิญ หมั่ง
ฮหว่างเด๊
พระบรมสาทิสลักษณ์จักรพรรดิมิญ หมั่งในเอกสารของจอห์น ครอว์เฟิร์ด
ครองราชย์14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820 – 20 มกราคม ค.ศ. 1841
ก่อนหน้าจักรพรรดิซา ล็อง
ถัดไปจักรพรรดิเถี่ยว จิ
ประสูติ25 พฤษภาคม ค.ศ. 1791
ไซ่ง่อน เวียดนาม
สวรรคต20 มกราคม ค.ศ. 1841(1841-01-20) (49 ปี)
เว้ เวียดนาม
คู่อภิเษกโห่ ถิ ฮวา
ราชวงศ์ราชวงศ์เหงียน
พระราชบิดาจักรพรรดิซา ล็อง
พระราชมารดาจักรพรรดินีถ่วน เทียน

มิญ หมั่ง (เวียดนาม: Minh Mạng, 明命; 25 พฤษภาคม ค.ศ. 179120 มกราคม ค.ศ. 1841) หรือในพงศาวดารไทยเรียก มินมาง[1][2] มีพระนามเดิมว่า เหงียน ฟุก ด๋าม (Nguyễn Phúc Đảm, 阮福膽) เป็นจักรพรรดิแห่งเวียดนามจากราชวงศ์เหงียน ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นผู้นำของเวียดนามในช่วงสงครามอานามสยามยุทธ

จักรพรรดิซา ล็อง พระบิดาของจักรพรรดิมิญ หมั่ง ได้กอบกู้เวียดนามจากกบฏเต็ยเซิน จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงรับช่วงต่อบ้านเมืองจากพระบิดาและทรงจัดระเบียบการปกครองของราชสำนักเวียดนามให้เรียบร้อย จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงเคร่งครัดในลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo–Confucianism) เป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์ที่ใส่พระทัยในการปกครองและความเป็นอยู่ของราษฎร แต่ทว่าความเคร่งครัดในลัทธิขงจื๊อของพระองค์ทำให้ราชสำนักเวียดนามเกิดความขัดแย้งกับมิชชันนารีชาวตะวันตก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศสเสื่อมถอยลงอย่างมากในรัชสมัยของพระองค์ จนนำไปสู่การสูญเสียเอกราชแก่ฝรั่งเศสในที่สุด

ชีวิตวัยเยาว์[แก้]

จักรพรรดิมิญ หมั่งในช่วงต้นรัชกาล

จักรพรรดิมิญ หมั่ง เดิมมีพระนามว่า เหงียน ฟุก ด๋าม (Nguyễn Phúc Đảm, 阮福膽) ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1791 ที่เมืองซาดิ่ญ (Gia Định) หรือไซง่อนในปัจจุบัน ทรงเป็นโอรสองค์ที่สี่ของเจ้าเหงียน ฟุก อั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) หรือองเชียงสือ ที่เกิดกับพระนางเจิ่น ถิ ดาง (Trần Thị Đang, 陈氏璫) ภริยารองของเหงียน ฟุก อั๊ญ ในขณะที่บิดาเหงียน ฟุก อั๊ญ กำลังต่อสู้กับกบฏเต็ยเซินทางเหนือ เหงียน ฟุก ด๋ามมีพี่ชายต่างมารดาคือ เหงียน ฟุก กั๋ญ (Nguyễn Phúc Cảnh, 阮福景) ซึ่งเหงียน ฟุก อั๊ญ หมายจะให้เป็นทายาท แต่ทว่าเหงียน ฟุก กั๋ญ ได้ถึงแก่อสัญกรรมลงไปเสียก่อนเมื่อ ค.ศ. 1801

ใน ค.ศ. 1804 หลังจากรวบรวมเวียดนามได้คนเป็นปึกแผ่นแล้ว เหงียน ฟุก อั๊ญ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดิซา ล็อง แห่งเวียดนาม เหงียน ฟุก ด๋าม ในฐานะพระโอรสจึงมีสถานะเป็นเจ้าชายไปด้วยเช่นกัน แล้วเสด็จไปประทับที่เมืองเว้ ราชธานีของราชวงศ์เหงียน ในประเด็นเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ ตามหลักลัทธิขงจื๊อการสืบทอดตำแหน่งจะต้องเป็นไปจากบิดาสู่บุตรชายเท่านั้น หมายความว่าโอรสของเจ้าชายเหงียน ฟุก กั๋ญ คือ เจ้าชายเหงียน ฟุก หมี เดื่อง (Nguyễn Phúc Mỹ Đường) ควรจะได้รับตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาท แต่ทว่าเจ้าชายกั๋ญนั้นเมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพทรงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับมิชชันนารีบาทหลวงชาวฝรั่งเศส และได้เคยทรงเดินทางไปยังกรุงปารีสเมื่อ ค.ศ. 1785 ในช่วงปลายรัชกาลพระจักรพรรดิซา ล็อง ทรงเริ่มมีความแคลงใจต่อขุนนางชาวตะวันตกในราชสำนักของพระองค์ แม้ว่าบาทหลวงชาวฝรั่งเศสจะมีบทบาทสำคัญในการนำทัพฝรั่งเศสเข้าช่วงพระจักรพรรดิซา ล็อง ในการปราบกบฏเต็ยเซิน แต่พระจักรพรรดิซา ล็อง ทรงเห็นว่าชาวตะวันตกจะเป็นภัยคุกคาม ใน ค.ศ. 1815 พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยละทิ้งครอบครัวสายวงศ์ของเจ้าชายกั๋ญ และแต่งตั้งให้เจ้าชายเหงียน ฟุก ด๋าม เป็น ท้ายตื๋อ (Thái Tử, 太子) หรือเจ้าชายรัชทายาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากขุนนางอาวุโสทั้งหลาย เหตุด้วยผิดธรรมเนียมตามหลักขงจื๊อ

ขึ้นครองราชย์[แก้]

จักรพรรดิซา ล็อง เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1820 ท้ายตื๋อ เหงียน ฟุก ด๋าม จึงขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ประกาศใช้รัชศก "มิญ หมั่ง" แปลว่า "ชีวิตโชติช่วง" อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจที่พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงสืบทอดมาจากพระบิดานั้นไม่มากนัก ในขณะนั้นอาณาจักรเวียดนามแบ่งออกเป็นสามส่วน พระจักรพรรดิทรงมีอำนาจโดยตรงเฉพาะในเวียดนามส่วนกลางอันมีราชธานีอยู่ที่เมืองเว้เท่านั้น ทางส่วนเหนือมีข้าหลวงปกครองเรียกว่า บั๊กถั่ญ (Bắc Thành, 北城) ประจำอยู่ที่เมืองฮานอย และทางส่วนใต้มี ซาดิ่ญถั่ญ (Gia Định Thành, 嘉定城) เป็นข้าวหลวงประจำอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ซึ่งข้าหลวงเหล่านี้มีอำนาจเต็มที่ในการปกครองดินแดนของตนแม้ว่าจะอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของฮหว่างเด๊ที่เมืองเว้ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งซาดิ่ญถั่ญในขณะนั้นคือ เล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) หรือที่คนไทยรู้จักในนาม องต๋ากุน ผู้ซึ่งเป็นขุนพลคนสำคัญที่ได้ช่วยเหลือพระจักรพรรดิซา ล็อง ในการรวบรวมประเทศ เล วัน เสวียต เป็นขุนนางที่มีอำนาจอย่างล้นพ้นในทางตอนใต้ของเวียดนามไปจนถึงกัมพูชา และเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านการแต่งตั้งเจ้าชายเหงียน ฟุก ด๋าม เป็น ท้ายตื๋อ

เวียดนามใต้อันมีเมืองไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลางนั้น ในสมัยราชวงศ์เหงียนเป็นดินแดนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแตกต่างจากส่วนอื่นของเวียดนาม เนื่องจากว่าเวียดนามใต้เป็นดินแดนที่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในการปกครองของเวียดนามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ยังคงมีชาวเขมรต่ำ (หรือขแมร์กรอม) และชาวจามอาศัยอยู่จำนวนมาก และยังคงรักษาวัฒนธรรมตามแบบฮินดู-พุทธของตนเองเอาไว้ นอกจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว ในทางการเมืองเวียดนามภาคใต้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเล วัน เสวียต เจ้าขุนศึกที่มีอำนาจมากเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่สำหรับจักรพรรดิมิญ หมั่ง อยู่เสมอ ประเด็นเรื่องเวียดนามภาคใต้จึงรบกวนพระทัยของพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ไปตลอดรัชสมัย

พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงมีนโยบายรวบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง ทรงจัดตั้ง เหวี่ยนเกอเหมิต (Viện cơ mật, 院機密) หรือองคมนตรีสภา และฟื้นฟูระบบเก้าชั้นยศตามอย่างจีนขึ้นมาอีกครั้งในราชสำนัก พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงเคร่งครัดในลัทธิขงจื๊อ ทรงฟื้นฟูระบบการสอบจอหงวนขึ้นมาใหม่เพื่อให้บรรดานักปราชญ์ผู้มีความสามารถได้เข้ามารับใช้ราชสำนักเพื่อเป็นการแทนที่ระบบขุนศึกท้องถิ่นเดิม ทรงปรับปรุง โกว๊กตื๋อซ้าม (Quốc Tử Giám, 國子監) หรือราชวิทยาลัยไว้เป็นสถานที่สำหรับกุลบุตรทั่วพระอาณาจักรศึกษาลัทธิขงจื๊อ พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ไม่เพียงแต่มีพระราชประสงค์ให้ขุนนางชนชั้นสูงยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อเท่านั้น แต่ยังมีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรชาวเวียดนามทุกคนปฏิบัติตามหลักปรัชญาของลัทธิขงจื๊ออย่างเคร่งครัด ใน ค.ศ. 1834 จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงพระราชนิพนธ์ ฮ้วนดิกเถิปเดี่ยว (Huấn Địch Thập Điều, 訓迪十條) หรือหลักปฏิบัติสิบประการสำหรับราษฎรนำไปปฏิบัติ

ลาวและเชียงขวาง[แก้]

อาณาจักรเชียงขวางเมืองพวนหรือที่เวียดนามเรียกว่า"บ่นมัน" (Bồn Man, 盆蠻) เป็นอาณาจักรประเทศราชขึ้นแก่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าน้อยเมืองพวนหรือเจ้าสุทธกะสุวรรนะกุมารแห่งเชียงขวางและเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทำให้เจ้าน้อยเมืองพวนสร้างสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม ในค.ศ. 1826 สงครามเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์หลบหนีมายังจังหวัดเหงะอานเพื่อขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม จักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้เจ้าอนุวงศ์กลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ "...อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ"[3] แต่เจ้าอนุวงศ์กลับนำกองกำลังลอบเข้าโจมตีสังหารฝ่ายไทยที่เวียงจันทน์ พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถเอาชนะทัพฝ่ายลาวได้ทำให้เจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังเขตเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางในค.ศ. 1828 จักรพรรดิมิญหมั่งทางให้เจ้าเมืองเหงะอานแต่งทูตนำพระราชสาสน์มายังพระยาราชสุภาวดีเพื่อเจรจา พระยาราชสุภาวดีออกอุบายลวงคณะทูตเวียดนามมาสังหารหมู่ในงานเลี้ยง[3]

เจ้าน้อยแห่งเมืองพวนด้วยความเกรงว่าทัพฝ่ายไทยจะยกมายังเมืองพวนเพื่อค้นหาเจ้าอนุวงศ์ จึงชี้เบาะแสให้แก่ฝ่ายไทยจนสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ส่งลงไปยังกรุงเทพได้ จักรพรรดิมิญหมั่งพิโรธที่เจ้าน้อยเมืองพวนเป็นต้นเหตุให้ฝ่ายไทยสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ได้ จึงเรียกเจ้าน้อยเมืองพวนมาเข้าเฝ้าที่เมืองเว้และมีพระราชโองการให้สำเร็จโทษประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนในค.ศ. 1829 และนำเจ้าโป้บุตรชายของเจ้าน้อยมาอยู่ที่เมืองเว้ ทำให้เมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางไร้เจ้าปกครองจักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้ผนวกเอาดินแดนของอาณาจักรเชียงขวางเข้ามาปกครองโดยตรงเรียกว่า "จังหวัดเจิ๊นนิญ" (Trấn Ninh, 鎮寧) ทรงส่งกองกำลังเวียดนามเข้ายึดครองและแบ่งดินแดนเชียงขวางออกเป็นแปดหน่วยการปกครอง เวียดนามปกครองเชียงขวางอยู่เป็นเวลาหกปี

นโยบายกดขี่ชาวคริสเตียน[แก้]

เนื่องจากในรัชกาลของจักรพรรดิซา ล็อง ทรงได้รับการสนับสนุนจากขุนพลชาวฝรั่งเศสในการสู้รับกับกบฏเต็ยเซิน หลังจากปราบดาภิเษกแล้วบรรดาขุนนางชาวฝรั่งเศสจึงได้รับการปูนบำเหน็จและขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักของจักรพรรดิซา ล็อง ในช่วงต้นรัชสมัยจักรพรรดิมิญ หมั่ง มีขุนนางชาวฝรั่งเศสผู้ทรงอำนาจได้แก่ ฌ็อง-บาติสต์ แชโญ (Jean-Baptiste Chaigneau) และฟีลิป วานีเย (Phillippe Vannier) จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงเกลียดชังชาวตะวันตกอย่างมาก เนื่องจากชาวตะวันตกนั้นมีจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาซึ่งขัดแย้งกับลัทธิขงจื๊อในประเด็นเรื่องการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ใน ค.ศ. 1825 จักรพรรดิมิญ หมั่ง มีพระราชโองการห้ามมิให้มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในพระราชอาณาจักร และทรงห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินทางเข้าประเทศ ขุนนางฝรั่งเศสทั้งสองทนความกดดันไม่ได้จึงเดินทางออกนอกอาณาจักรเวียดนามไปในที่สุด มีพระราชโองการจับกุมมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสจำนวนมากมากักขังไว้ในคุก แต่ทว่าขุนนางเล วัน เสวียต แห่งไซ่ง่อนได้ทูลทัดทานการลงพระอาญาชาวตะวันตก เนื่องจากเขามีความเห็นว่าเวียดนามยังคงต้องการความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกในด้านการทหาร พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงทรงต้องยอมทำตามคำของของเล วัน เสวียต ปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งหลายให้ลงเรือสำเภากลับยุโรปไป แต่ทว่ามิชชันนารีเหล่านั้นต่างลักลอบกลับไปยังสถานศาสนาของตนเองในเวียดนาม

กบฏของเล วัน โคย และอานามสยามยุทธ[แก้]

ใน ค.ศ. 1832 องต๋ากุนเล วัน เสวียต ถึงแก่อสัญกรรมด้วยความชราภาพ เป็นโอกาสให้จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่ภาคใต้ของเวียดนาม ทรงใช้โอกาสนี้ยกเลิกตำแหน่ง ซาดิ่ญถั่ญ และ บั๊กถั่ญ ให้ขึ้นกับราชสำนักโดยตรง พระจักรพรรดิจึงทรงมีอำนาจโดยตรงตลอดทั่วพระราชอาณาจักร และทรงแบ่งอาณาจักรออกเป็นสามสิบจังหวัดหรือ ติ๋ญ (Tỉnh) โดยแต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชการซึ่งพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งโดยตรง หลังจากที่ขุนนางชุดใหม่ได้เข้าปกครองเวียดนามใต้แล้ว ก็พบว่าเล วัน เสวียต ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นได้สะสมกำลังทหารอาวุธไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีทรัพย์สินร่ำรวยและเป็นที่นิยมของราษฎร ขุนนางเหล่านั้นได้ทูลความต่อพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงทรงมีคำตัดสินให้เล วัน เสวียต เป็นกบฏ มีพระราชอาญาลงโทษให้ลบหลู่และทำลายสุสานของเล วัน เสวียต และประหารชีวิตบรรดาญาติมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเล วัน เสวียต ไปจำนวนมาก เล วัน โคย (Lê Văn Khôi, 黎文𠐤) ผู้เป็นบุตรชายบุญธรรมของเล วัน เสวียต จึงก่อการกบฏต่อต้านจักรพรรดิมิญ หมั่ง ขึ้นใน ค.ศ. 1833 ซึ่งกบฏของเล วัน โคย นั้นประสบความสำเร็จอย่างดีมีราษฎรฝักใฝ่มาเข้าพวกจำนวนมาก เนื่องจากชาวใต้นั้นมีความจงรักภักดีต่อเล วัน เสวียต อยู่เดิม และบรรดาชาวคาทอลิกหรือบาทหลวงชาวตะวันตกต่างก็ให้การสนับสนุนเล วัน เสวียต

เล วัน โคย ได้ประกาศสิ่งที่จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงวิตกมากที่สุดสองประการ นั่นคือ ประกาศว่าจะสนับสนุนให้พระโอรสของเจ้าชายรัชทายาทกั๋ญขึ้นครองบัลลังก์อย่างถูกต้องแทนที่พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง และประกาศว่าหากตนได้เป็นใหญ่จะยกเลิกการกดขี่คริสต์ศาสนา ทำให้บรรดามิชชานารีฝรั่งและชาวคาทอลิกหันมาเข้าพวกกบฏของเล วัน โคย นำโดยบาทหลวงโฌแซ็ฟ มาร์ช็อง (Joseph Marchand) ชาวฝรั่งเศส กองกำลังกบฏสามารถยึดเมืองไซ่ง่อนและจังหวัดข้างเคียงทั้งหกจังหวัดได้สำเร็จ

อานามสยามยุทธ[แก้]

ในขณะนั้นทางราชอาณาจักรเขมรอุดงมีสมเด็จพระอุทัยราชานักองค์จันครองราชสมบัติอยู่ โดยสมเด็จพระอุทัยราชาทรงฝักใฝ่เวียดนามและทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของเล วัน เสวียต พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ก็มีพระราชประสงค์ที่จะผนวกอาณาจักรเขมรเข้ากับเวียดนามตามนโยบายรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของพระองค์ เมื่อทางอาณาจักรเวียดนามเกิดการกบฏครั้งใหญ่ขึ้นในภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพเข้ารุกรานอาณาจักรเขมรเพื่อที่จะขับสมเด็จพระอุทัยราชาออกจากราชสำนักเขมร และนำนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วง เจ้าชายเขมรสองพระองค์ซึ่งฝักใฝ่สยามขึ้นครองราชสมบัติแทน พร้อมกันนั้นทรงให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) นำทัพเรือไปโจมตีเวียดนามภาคใต้ โดยนัดหมายให้ทั้งทัพบกและทัพเรือพบกันที่เมืองไซ่ง่อนเพื่อทำการยึดเมือง นอกจากนี้ยังโปรดฯให้พระมหาเทพ (ป้อม) และพระราชรินทร์ (ขำ) ยกทัพไปทางลาวภาคกลางเพื่อโจมตีเวียดนามทางจังหวัดเหงะอานซึ่งอยู่ติดกับลาว

เมื่อทัพฝ่ายสยามนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทางมาถึงยังเขมร ฝ่ายสมเด็จพระอุทัยราชาก็ได้เสด็จหนีจากนครพนมเปญลงไปยังเมืองไซ่ง่อน ทัพสยามจึงเข้าครองนครพนมเปญโดยง่าย และฝ่ายทัพเรือนำโดยเจ้าพระยาพระคลังก็สามารถตียึดเมืองบันทายมาศได้ และเดินทัพเรือขึ้นไปตามคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế) เข้ายึดเมืองโชฎกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc) ของเวียดนามได้ โดยมีเป้าหมายต่อไปคือนครไซ่ง่อน ทัพบกและทัพเรือสยามผสมเข้าโจมตีเมืองไซ่ง่อน จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงแต่งตั้งให้เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือที่รู้จักในพงศาวดารไทยว่า องเตียนกุน (ông tương quân, 翁將軍) ให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจิ๊นเตยเตื๊องเกวิน (Trấn Tây tướng quân, 鎭西將軍) เป็นผู้นำทัพเรือเวียดนามเข้าต้านทานทัพสยาม ทัพเรือเวียดนามสามารถตอบโต้การรุกรานได้ทำให้ทัพสยามต้องล่าถอย

เมื่อฝ่ายสยามล่าถอยไปแล้ว สมเด็จพระอุทัยราชาจึงเสด็จกลับมายังพนมเปญอีกครั้ง จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงแต่งตั้งให้องเตียนกุนเจือง มิญ สาง เป็นข้าหลวงผู้แทนของจักรพรรดิมิญ หมั่ง ในการดูแลปกครองเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาครองราชสมบัติภายใต้อิทธิพลของเจือง มิญ สาง จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปีต่อมา ค.ศ. 1834 สมเด็จพระอุทัยราชาทรงไม่มีพระโอรสมีแต่พระธิดา พระจักรพรรดิจึงทรงให้พระธิดาองค์ที่สองพระนามว่า นักองค์มี (Ang Mei) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตรีแห่งเขมรและเป็นหุ่นเชิดของเวียดนามต่อไป เป็นกษัตรีองค์มี จักรพรรดิมิญ หมั่ง มีพระราชประสงค์ที่จะผนวกอาณาจักรเขมรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามโดยสิ้นเชิงทั้งในทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการยุติข้อพิพาทกับสยามในเรื่องอิทธิพลเหนือเขมรที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปี จึงทรงประกาศให้ผนวกอาณาจักรเขมรเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของเวียดนามมีชื่อว่า เจิ๊นเต็ย (Trấn Tây, 鎮西) เจือง มิญ สาง มีคำสั่งให้ชาวเขมรทุกคนเปลี่ยนมาพูดภาษาเวียดนาม แต่งกายอย่างเวียดนาม และดำเนินชีวิตตามหลักลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมเวียดนาม เป็นนโยบายการกลืนชาติ (assimilation) เพื่อทำให้ชาวเขมรกลายเป็นชาวเวียดนาม (Vietnamization) รวมทั้งทำลายวัดวาอารามและสึกพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขมรเป็นอย่างมาก

เมื่อเกิดอานามสยามยุทธขึ้นจักรพรรดิมิญหมั่งทรงแต่งตั้งให้เจ้าสานอดีตขุนนางเมืองพวนไปเป็นเจ้าปกครองเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง เมื่อฝ่ายสยามยกทัพมาถึงหลวงพระบาง[3]แล้วเจ้าสานจึงแปรพักตร์เข้าสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายสยาม ทัพฝ่ายสยามเข้าโจมตีและยึดเมืองเชียงขวางได้สำเร็จขับไล่กองกำลังเวียดนามซึ่งรักษาเมืองอยู่ออกไปได้ในค.ศ. 1834 ฝ่ายสยามเห็นว่าหากเวียดนามโจมตีเมืองพวนอีกครั้งจะไม่อาจป้องกันได้ จึงกวาดต้อนเจ้าสานและชาวไทพวนทั้งหมดกลับไป ฝ่ายเวียดนามจึงเข้าปกครองเมืองพวนหรือจังหวัดเจิ๊นนิญอีกครั้ง จักรพรรดิมิญหมั่งทรงแต่งตั้งให้เจ้าโปบุตรชายของเจ้าน้อยเมืองพวนไปครองเมืองพวนชื่อว่าเจ้าอิสระเชษฐา เมื่อสิ้นสุดรัชกาลจักรพรรดิมิญหมั่งอำนาจของเวียดนามในดินแดนเมืองพวนเชียงขวางเสื่อมลงเวียดนามถอนกำลังออกจากเชียงขวาง การปกครองอาณาจักรเชียงขวางของเวียดนามจึงสิ้นสุดลง

ปลายรัชสมัย[แก้]

ใน ค.ศ. 1835 เล วัน โคย ผู้นำกบฏได้เสียชีวิตลง ทัพฝ่ายเวียดนามสามารถปราบกบฏลงได้สำเร็จ พวกกบฏและญาติมิตรกว่าพันคนถูกสังหารและฝังรวมกันไว้ในสุสานขนาดใหญ่ ทั้งเล วัน กู่ และบาทหลวงมาร์ช็องถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

กบฏของเล วัน โคย มีมิชชันนารีตะวันตกให้การสนับสนุน ทำให้จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงเห็นว่าชาวตะวันตกและชาวคริสเตียนนั้นเป็นภัยอย่างมหันต์ต่อพระราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 1836 มีพระราชโองการจับกุมและประหารชีวิตมิชชันนารีและชาวคริสเตียนทั้งฝรั่งและชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์จำนวนมากทั่งพระอาณาจักร ซึ่งดำเนินไปเป็นเวลาสามปีจนกระทั่ง ค.ศ. 1838

ค.ศ. 1839 ในขณะที่เกิดสงครามฝิ่น จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงแต่งคณะทูตไปยังฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้า แต่พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปทรงไม่รับทูต เนื่องจากทางกรุงโรมวาติกันทักท้วงมาว่าราชสำนักเวียดนามเป็นศัตรูต่อคริสต์ศาสนา

นโยบายการกลืนชาติของพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง สร้างความไม่พอใจแก่ชาวกัมพูชาเป็นอย่างมาก ในค.ศ. 1841 นักองค์แบน พระเชษฐภคินีของนักองค์มีซึ่งฝักใฝ่สยาม นักองค์แบนทรงถูกจับได้ว่าทรงวางแผนจะหลบหนีไปยังสยาม และยังเกิดการกบฏของชาวเขมรชื่อว่า ลัม ซัม (Lam Som) ขึ้นในจังหวัดจ่าวิญ (Trà Vinh) ในเวียดนามภาคใต้ ทำให้จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงไม่ไว้วางพระทัยชาวเขมรอีกต่อไป ทรงมีพระราชโองการให้สำเร็จโทษนักองค์แบนด้วยการถ่วงน้ำ ปลดนักองค์มีออกจากราชสมบัติและจับกุมองค์มีพร้อมทั้งพระขนิษฐาทั้งสองมาที่เมืองเว้ และให้กองทัพเวียดนามเข้าปราบกบฏของนายลัมซัม ท่ามกลางวิกฤตการณ์เหล่านี้ พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ได้เสด็จสวรรคตลงเสียก่อน

สวรรคต[แก้]

สุสานจักรพรรดิมิญ หมั่ง ที่เมืองเว้
สุสานจักรพรรดิมิญ หมั่ง
สุสานจักรพรรดิมิญ หมั่ง

พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง เสด็จสวรรคตที่พระราชวังเมืองเว้ ค.ศ. 1841 พระชนมายุ 50 ชันษา ทรงได้รับพระนามที่ศาลบรรพกษัตริย์ว่า พระจักรพรรดิทั้ญโต๋ (Thánh Tổ, 聖祖) พระสุสานพระนามว่าเฮี้ยวลัง (Hiếu Lăng, 孝陵) เจ้าชายเหงียน ฟุก เมียน ตง (Nguyễn Phúc Miên Tông, 阮福綿宗) พระโอรสองค์โตที่ประสูติแต่พระนางโห่ถิฮวา (Hồ Thị Hoa, 胡氏華) ขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นจักรพรรดิเถี่ยว จิ (Thiệu Trị, 紹治)

อ้างอิง[แก้]

  1. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 234
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 53
  3. 3.0 3.1 3.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  • Keat Gin Ooi. Southeast Asia : a historical encyclopedia from Angkor Wat to Timor. Santa Barbara, Calif. : ABC-CLIO, 2004.
  • Xinzhong Yao. The Encyclopedia of Confucianism. Routledge, 11 พ.ค. 2558.
  • John Stewart Bowman. Columbia Chronologies of Asian History and Culture. Columbia University Press, 13 ส.ค. 2556.
  • Choi Byung Wook. Southern Vietnam under the reign of Minh Mạng : (1820-1841) : central policies and local response. Ithaca, NY Southeast Asia Program Publications, Southeast Asia Program, Cornell Univ. 2004.
ก่อนหน้า จักรพรรดิมิญ หมั่ง ถัดไป
สมเด็จพระจักรพรรดิซา ล็อง สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเวียดนาม
(เหงียน)

(ค.ศ. 1820 - ค.ศ. 1841)
สมเด็จพระจักรพรรดิเถี่ยว จิ