สมาคมดาราศาสตร์ไทย
สมาคมดาราศาสตร์ไทย (อังกฤษ: Thai Astronomical Society) ชื่อย่อว่า สดท. เดิมชื่อ สมาคมนักดาราศาสตร์ เป็นสมาคมทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ ของประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาดาราศาสตร์ สนับสนุนการค้นคว้า งานวิจัย และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ
สมาคมดาราศาสตร์ไทยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในประเทศไทย เช่น กิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร การจัดค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก การบรรยายพิเศษประจำเดือน และการจัดทำวารสาร "ทางช้างเผือก"[1] เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร ปรากฏการณ์ และบทความทางดาราศาสตร์ให้แก่ทั้งสมาชิกและบุคคลทั่วไป
ปัจจุบันสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้มี นายอารี สวัสดี เป็นนายกสมาคม[2]
ประวัติ
[แก้]ระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน พ.ศ. 2521 ได้มีการสัมนาดาราศาสตร์ ณ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนั้นเป็นนักดาราศาสตร์ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์จากหลายสถาบันทั่วประเทศ เช่น อาจารย์ผู้สอนวิชาดาราศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยครู อาจารย์ผู้สอนดาราศาสตร์ในโรงเรียนบางแห่งของกรมสามัญศึกษา นักวิทยาศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น
ผู้เข้าสัมมนาทั้งหมดมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีสมาคมทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ จึงมีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อก่อตั้งสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 12 คน[3] ดังนี้
- นายระวี ภาวิไล ประธาน
- นายสมหวัง ตัณฑลักษณ์ รองประธาน
- นายประยูร ร่มโพธิ์
- นายขาว เหมือนวงศ์
- นายสุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์
- นายระวิ สงวนทรัพย์
- นายกนก จันทร์ขจร
- นายสุมิตร นิภารักษ์
- นายพรชัย ศรีวลีรัตน์
- นางกุหลาบ ลิบรัตนสกุล
- นายนิพนธ์ ทรายเพชร เลขานุการ
- น.ส.ยุพา วานิชชัย ผู้ช่วยเลขานุการ
คณะทำงานได้ประชุมร่างระเบียบข้อบังคับและนำเสนอขออนุญาตจัดตั้งสมาคมดาราศาสตร์ไทย จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคม ได้ตามใบอนุญาตเลขที่ ต.275/2523 ออกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ในชื่อว่า สมาคมนักดาราศาสตร์[3]
สัญลักษณ์ของสมาคม
[แก้]ตราสัญลักษณ์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ใช้เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเป็นภาพจำลองจากภาพแกะสลักไม้ ฝีมือจิตรกรชาวฝรั่งเศส เป็นภาพขณะที่กำลังทรงกล้องโทรทรรศน์เพื่อทอดพระเนตรจันทรุปราคา ที่พระที่นั่งเย็น ริมทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี[3]
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- http://thaiastro.nectec.or.th เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (ไทย)