สมสุข กัลย์จาฤก
สมสุข กัลย์จาฤก | |
---|---|
เกิด | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 |
อาชีพ | นักเขียน |
คู่สมรส | ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก |
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2561 |
สมสุข กัลย์จาฤก เป็นนักประพันธ์บทละครวิทยุ บทละครโทรทัศน์ บทภาพยนตร์ชาวไทย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2561
ประวัติ
[แก้]สมสุขมีชื่อเดิมว่า สมสุข สินศุข เกิดเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ที่บางลำพู จังหวัดพระนคร กรุงเทพพระมหานคร เป็นบุตรีของเชื้อ (ศินสุข) อินทรทูต กับเพ็ญ สินศุข โดยนามสกุลนั้นในช่วงแรก สะกดด้วย "ศ" เป็น "สินศุข" ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 มีการเปลี่ยนแปลงและกำหนดภาษาไทยแบบใหม่ จึงสะกดใหม่ด้วย "ส" เป็น "สินสุข"[1]
สมสุขจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ และเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในแผนกอักษรศาสตร์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่เรียนได้เพียงหนึ่งปีก็ต้องหยุดเรียนเนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังสงครามสงบในปี พ.ศ. 2490 สมสุขเข้ารับราชการในสำนักพระราชวัง เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายธุรการ ต่อมาสมรสกับประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ข้าราชการกรมแพทย์ทหารเรือและนักแสดงละครวิทยุคณะกันตถาวร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 หลังจากนั้นในระหว่างที่ติดตามสามีไปแสดงละครวิทยุตามสถานีวิทยุต่าง ๆ สมสุขจะใช้เวลาว่างอ่านบทละครวิทยุที่วางทิ้งไว้โดยรอบ ต่อมา เอิบ กันตถาวร เจ้าของคณะกันตถาวรเริ่มมีปัญหาสุขภาพ และประดิษฐ์ต้องการก่อตั้งคณะวิทยุของตนเอง เขาและสมสุขจึงร่วมกันก่อตั้ง "คณะกันตนา" ขึ้นในปี พ.ศ. 2494 โดยสมสุขช่วยสามีด้วยการเขียนบทละครวิทยุทั้งที่ไม่เคยสร้างงานประพันธ์มาก่อน[2] โดยบทละครวิทยุเรื่องแรกที่เขียนคือ "ระย้า" จากนวนิยายของ สด กูรมะโรหิต[3]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 คณะกันตนาได้รับรางวัลถ้วยทองคำ จากการส่งละครวิทยุ "สิ่งที่ได้จากสมรภูมิ" เข้าประกวดที่สถานีวิทยุ ปตอ.[2] ปีเดียวกันสมสุขประพันธ์บทละครวิทยุขนาดยาวต้นฉบับเรื่องแรก คือเรื่อง "หญิงก็มีหัวใจ" และแสดงเป็นนางเอก จนได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างมาก ทำให้สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขาวดำ (ททบ.5 ในปัจจุบัน) นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ โดยมีเพ็ญแข กัลย์จาฤก พี่สาวของประดิษฐ์ แสดงเป็นนางเอกแทนสมสุขที่หันไปเขียนบทอยู่เบื้องหลัง
สมสุข กัลย์จาฤก เคยประพันธ์บทละครวิทยุให้กับคณะกันตนาหลายแนวเนื้อหา ส่วนมากใช้นามปากกา "กุสุมา สินสุข" นอกจากนี้ยังมีนามปากกาอื่น ๆ เช่น "ขวัญข้าว" "เข็มขาว" "ภักดี ปฏิภาณ" "นิรัตติศัย" "จิตรลดา" รวมทั้ง "ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก" และมีหลายเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จนได้รับความนิยม[3]
ตำแหน่ง
[แก้]- ประธานกรรมการ บริษัท กัลย์จาฤก โฮลดิ้งส์ จำกัด
- กรรมการบริษัท ประดิษฐ์-สมสุข กัลย์จาฤก โฮลดิ้งส์ จำกัด
- กรรมการมูลนิธิ ประดิษฐ์-สมสุข กัลย์จาฤก
- กรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิศิลปินแห่งชาติ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์
- ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย เพื่อการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (พ.ศ. 2540)
- ประธานกิติมศักดิ์ ชมรม “สร้างสรรค์งานประพันธ์ในสื่อสมัยใหม่”
- ผู้ก่อตั้งกองทุนประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ และการศึกษาวิจัยทางด้าน สื่อสารมวลชน และสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
ผลงาน
[แก้]- แนวชีวิตรัก : “หญิงก็มีหัวใจ” "กว่าจะได้หัวใจเธอ" “เมียจำเป็น” "ถิ่นผู้ดี" “บันทึกรักพิมพ์ฉวี” "ร้ายก็รัก" ฯลฯ
- แนวสะท้อนสังคม : "ซูซี่ซิงซิงผู้ฉาวรัก" "แม่น้ำ" "เปลือกนางบุญ" "แชร์ชีวิต" "ปมด้อย" "ผู้หญิงคนหนึ่ง" ฯลฯ
- แนวภูตผี : "สุสานคนเป็น" "ปอบผีฟ้า" "นางแมวผี" ผีพยาบาท" "ตุ๊กตาผี" "เจ้าสาวในชุดสีดำ" "ปะการังสีดำ" "ระฆังผี" "เงินปากผี" "ตุ๊กแกผี" ฯลฯ
- แนวลี้ลับ สยองขวัญ :"เงาไม้" "ห้องหุ่น" "เกล็ดมรกต" "คนทะเล" "เกาะลับแล" "หุ่นพิฆาต" ฯลฯ
- แนวลูกทุ่งพื้นบ้าน : "เจ้าซอใจซื่อ" "ใจแม่" "เหล็กน้ำพี้" "เล่นแร่แปรธาตุ" "ขวัญใจไอ้ทุย" "ทิมมวยไทย" ฯลฯ
- แนวบู๊แอคชั่น : "เย้ยฟ้าท้าดิน" "สัจจะในชุมโจร" "จ้าวนักเลง" "เจ้าพ่อ" "แผ่นดินเกิด" "แหลมวิปโยค" ฯลฯ
- แนวตลกเบาสมอง : "ผู้ชายอย่างนี้ก็มีด้วย" "ไก่แก่แม่ปลาช่อน" "รักซะอย่าง" "เศรษฐีกำมะลอ" "พ่อบ้านเมียเผลอ" "พ่อหม้ายลูกติด" ฯลฯ
- แนวจิตวิทยา :“สาวสองหน้า" "จิตรกรฆาตกร" "หมาดำ" ฯลฯ
- แนววิทยาศาสตร์ :“สุรีรัตน์ล่องหน” “ดอกไม่อวกาศ” “ดร.สมิต” "อสุรกาย" "มนุษย์ประหลาด"
รางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2522 รางวัลยอดเยี่ยมด้านศิลปะแห่งญี่ปุ่น โดยกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น จากบทละครวิทยุ "แม่น้ำ" ฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2525 รางวัลเมขลา สาขาบทประพันธ์ละครโทรทัศน์ดีเด่น จากเรื่อง "เจ้าซอใจซื่อ"
- พ.ศ. 2526 รางวัลดาวเทียมทองคำ สาขาบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง "ผู้หญิงคนหนึ่ง"
- พ.ศ. 2527 รางวัลขันลงยา สาขารางวัลดีเด่นโทรทัศน์ส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ จากเรื่อง “ทิมมวยไทย”
- พ.ศ. 2556 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 27 ประจำปี พ.ศ. 2555 สาขารางวัลเกียรติยศคนทีวี จากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ มูลนิธิจำนง รังสิกุล และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2557 ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการสื่อบันเทิง
- พ.ศ. 2559 รางวัลมายา มหาชน 2016 สาขารางวัลบุคคลเกียรติยศแห่งปี
- พ.ศ. 2561 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) พ.ศ. 2561[4]
- พ.ศ. 2568 รางวัลนาฏราช รางวัลเกียรติยศด้านวิทยุ[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""สมสุข กัลย์จาฤก"แห่ง "อาณาจักรกันตนา"". ผู้จัดการออนไลน์. 23 กุมภาพันธ์ 2019. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2025.
- ↑ 2.0 2.1 กัลย์จาฤก, สมสุข (5 มกราคม 2022). "สมสุข กัลย์จาฤก วัย 94 ปีผู้อยู่เบื้องหลังบทละครกันตนากว่า 300 เรื่องตลอด 70 ปี". เดอะคลาวด์ (Interview). สัมภาษณ์โดย ทรงกลด บางยี่ขัน. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2025.
- ↑ 3.0 3.1 กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น (2542). 72 ปี สมสุข กัลย์จาฤก กัลยาผู้จาฤก กันตนา. กรุงเทพฯ: เยียร์บุ๊คพับลิชเซอร์.
- ↑ ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม (2561). ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ (PDF). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. pp. 250–267. ISBN 978-616-543-592-5.
- ↑ "สรุปผลรางวัล "นาฏราช" ครั้งที่ 16 ประจำปี 2567". คมชัดลึก. 19 พฤษภาคม 2025. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2025.